คนไทยรู้จักทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือ มอเตอร์เวย์ นับตั้งแต่เปิดให้บริการสายแรก หมายเลข 7 กรุงเทพฯ – ชลบุรี (สายใหม่) ตั้งแต่ถนนศรีนครินทร์ ถึงทางแยกต่างระดับคีรี ระยะทาง 82 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2541
ต่อมา ปี 2542 มอเตอร์เวย์ หมายเลข 9 วงแหวนรอบนอกตะวันออก หรือ ถนนกาญจนาภิเษก ช่วง บางปะอิน – บางพลี ระยะทาง 64 กิโลเมตร เปิดให้บริการเป็นลำดับถัดมา ปัจจุบันมียานพาหนะใช้บริการรวมกันกว่า 6 แสนคันต่อวัน
นอกจากจะเก็บค่าผ่านทางแล้ว จุดเด่นสำคัญคือ ควบคุมการเข้าออกโดยทางแยกต่างระดับ อนุญาตให้ใช้ทางเฉพาะรถยนต์ 4 ล้อขึ้นไป ไม่มีรถจักรยานยนต์ ไม่มีจุดตัดทางแยกและสัญญาณไฟจราจร และมีรั้วกั้นตลอดเส้นทาง
สำหรับเงินค่าผ่านทางที่เก็บไป กรมทางหลวงจะนำฝากกระทรวงการคลัง เพื่อนำมาใช้บำรุงรักษาทาง สะพาน และระบบอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ไฟส่องสว่าง กล้อง CCTV รถกู้ภัย โทรศัพท์ฉุกเฉิน เป็นต้น
รวมถึงนำไปใช้ก่อสร้างขยายโครงข่ายมอเตอร์เวย์ในสายอื่น ๆ ช่วยลดภาระบประมาณแผ่นดิน และรักษาวินัยทางการเงินของภาครัฐ อีกทั้งยังส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ
อันที่จริงกรมทางหลวงวางแผนที่จะมีมอเตอร์เวย์ทั้งหมด 13 เส้นทาง โดยจัดทำแผนแม่บทมาตั้งแต่ปี 2540 แต่ปรากฏว่าผ่านไป 20 ปี มีเพียง 2 เส้นทาง เพราะวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ประกอบกับรัฐต้องลงทุนค่อนข้างสูง
มาถึงปี 2559 ได้เปิดตัวแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) รวมทั้งสิ้น 21 เส้นทาง ระยะทางรวม 6,612 กิโลเมตร โดยได้เพิ่มมอเตอร์เวย์เชื่อมระหว่างภูมิภาคเพิ่มเติม
เมื่อเศรษฐกิจบ้านเราฟื้นตัวหลังจากที่บอบช้ำเมื่อปี 2540 ประกอบกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการกระตุ้นการลงทุน จึงก่อสร้างมอเตอร์เวย์เพิ่มอีก 3 เส้นทาง ได้แก่
หมายเลข 7 ช่วง พัทยา - มาบตาพุด ระยะทาง 32 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 14,200 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562 โดยใช้กองทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางของ 2 เส้นทาง (หมายเลข 7 และหมายเลข 9) ไปดำเนินการ
หมายเลข 6 ช่วง บางปะอิน - นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 84,600 ล้านบาท ตามแผนคาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2562 และเปิดให้บริการในปี 2563
หมายเลข 81 ช่วง บางใหญ่ – กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร ตามกำหนดจะเปิดให้บริการในปี 2563 แต่ติดปัญหาค่าเวนคืนที่ดินเพิ่มขึ้น ต้องของบประมาณเพิ่มอีก 14,317 ล้านบาท ทำให้บางช่วงก่อสร้างไม่ได้
และยังมีอีก 2 โครงการจะผลักดันในปี 2561 ได้แก่ หมายเลข 8 ช่วง นครปฐม – ชะอำ ระยะทาง 109 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 80,600 ล้านบาท จะเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) อนุมัติ
ส่วน หมายเลข 8 ช่วง หาดใหญ่ – ชายแดนไทย-มาเลเซีย ระยะทาง 62 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 35,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมโครงการ และศึกษาให้เอกชนร่วมลงทุนแบบพีพีพี
ที่น่าสนใจก็คือ ความพยายามในการผลักดันมอเตอร์เวย์เพิ่มเติมอีกหลายเส้นทาง ที่ผ่านไปเมื่อไม่นานมานี้ก็คือ หมายเลข 61 ช่วง ชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง) – ปราจีนบุรี (ทางหลวงหมายเลข 359) ระยะทาง 125 กิโลเมตร
เริ่มต้นจากถนนสุขุมวิท บริเวณ อ.บางละมุง เป็นถนนขนาด 8 ช่องจราจร ถึงทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 บริเวณทางแยกต่างระดับศรีราชา ระยะทาง 9 กิโลเมตร จากนั้นจะลดเหลือ 6 ช่องจราจร
จากนั้นเมื่อถึงทางแยกต่างระดับบ่อวิน จะเป็นถนนยกระดับ ระยะทาง 11 กิโลเมตร ขนานไปกับทางหลวงหมายเลข 331 ผ่านทางแยกต่างระดับมาบเอียง ผ่านแยกมาบปู แล้วก็ลดลงมาเป็นถนนระดับดิน
ผ่านทางหลวงหมายเลข 344 (ชลบุรี - แกลง) ที่ทางแยกต่างระดับหนองใหญ่ บ้านห้วยมะระ, ทางหลวงหมายเลข 3340 (หนองเสม็ด – บ่อทอง) ที่ทางแยกต่างระดับบ่อทอง บ้านคลองมือไทร แล้วจะลดเหลือถนน 4 ช่องจราจร
เข้าสู่เขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ผ่านทางหลวงหมายเลข 3259 (อ่างเก็บน้ำสียัด - หนองคอก) ที่ทางแยกต่างระดับสนามชัยเขต แล้วสิ้นสุดที่ทางหลวงหมายเลข 359 (เขาหินซ้อน - สระแก้ว) ที่ทางแยกต่างระดับศรีมหาโพธิ์ บ้านหว้าเอน
โครงการนี้มีมูลค่าลงทุนประมาณ 7 หมื่นล้านบาท รองรับปริมาณการขนส่งจากโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบัง เชื่อมกับเส้นทางการขนส่งไปยังชายแดนไทย - กัมพูชา ด่านอรัญประเทศ จ.สระแก้ว
อีกทั้งในอนาคต หากเชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์ หมายเลข 6 ที่ จ.นครราชสีมาแล้ว จะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างภาคอีสานกับภาคตะวันออก นอกเหนือจากทางหลวงหมายเลข 304 และ 348
แต่ถึงจุดนั้น ยังต้องเจออุปสรรคสำคัญ คือ แนวเส้นทางที่พาดผ่านอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลก หากจะก่อสร้างไปถึงนครราชสีมาได้จริงคงต้องศึกษาความเหมาะสมอีกครั้ง
อีกโครงการหนึ่งที่กำลังศึกษาอยู่ในขณะนี้ คือ หมายเลข 6 ช่วง นครราชสีมา - ขอนแก่น ระยะทางประมาณ 169 กิโลเมตร ขณะนี้กำลังศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปเมื่อไม่นานมานี้
โดยแนวเส้นทางเริ่มต้นจาก อ.ขามทะเลสอ จ.นครราชสีมา โดยพื้นที่ศึกษาครอบคลุมไปถึง จ.ชัยภูมิ และ จ.มหาสารคาม เพื่อหาเส้นทางที่เหมาะสม คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี จึงจะได้เห็นหน้าตามอเตอร์เวย์สายนี้
หลังจากนั้น จะศึกษาต่อในช่วง ขอนแก่น - หนองคาย ระยะทาง 160 กิโลเมตร ตามแผนใหญ่ที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือไจก้า ได้ศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 2540 แต่การดำเนินงานมีความล่าช้า
ถ้าถามว่า ที่ผ่านมา มอเตอร์เวย์มีรายได้เท่าไหร่ ข้อมูลจากกรมทางหลวง ระบุว่า ปัจจุบันค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์จัดเก็บในอัตรา 1.25 บาทต่อกิโลเมตร โดยมี 2 เส้นทางที่จัดเก็บ คือ มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 และหมายเลข 9
ที่ผ่านมา กองทุนมอเตอร์เวย์ มีรายได้จากค่าธรรมเนียมประมาณ 16-18 ล้านบาทต่อวัน หรือคิดเป็น 5,000-6,000 ล้านบาทต่อปี การนำเงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์มาก่อสร้างทำให้มีเส้นทางเพิ่มขึ้น มีรายได้กลับมาสู่กองทุนมากขึ้น
ในอนาคตอันใกล้เราอาจจะได้เห็นมอเตอร์เวย์สายใหม่ทยอยเปิดให้บริการ แม้จะเป็นการดีที่เราจะได้ใช้ทางหลวงที่มีคุณภาพ ทำความเร็วได้มากกว่า แต่ก็ต้องแลกกับค่าผ่านทางที่ต้องจ่ายแต่ละครั้งเป็นหลักร้อยบาทเลยทีเดียว