ดังที่มีผู้กล่าวไว้ว่า ขณะนี้รัฐบาลทหารนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ปกครองประเทศมากว่า 3 ปี อาจจะกำลังอยู่ในช่วงขาลง
โดยที่ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่ ถ้าไม่เอาแต่ฟังสื่อฝ่ายเชลียร์หรือโพลปั้นแต่งก็คงต้องยอมรับความจริงว่าในตอนนี้ ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลกำลังลดน้อยถอยลงอย่างเห็นได้ชัด มีนัยสำคัญ
กระแสที่ต่อเนื่องมายาวนาน จากความล้มเหลวในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ตลอดจนความคลางแคลงใจในความ “สะอาด” ของคนในรัฐบาล ซึ่งแม้เมื่อมีการปรับ ครม.ออกมาแล้ว อาจจะมีการเลือกสรรเอาคนใหม่ๆ ที่เป็นพลเรือนหรือผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์เข้ามาร่วมรัฐบาลในตำแหน่งต่างๆ บ้าง แต่ก็ยังหนีภาพของ “ครม.สีเขียว” ที่เต็มไปด้วยคณะพรรคขุนทหารไปได้ไม่พ้น
และที่ร้ายที่สุด คือ สำหรับ “บุคคลสำคัญในรัฐบาล” ที่เป็นตัวปัญหาให้ประชาชนตั้งคำถามและคลางแคลงใจ ก็ยังนั่งอยู่ในตำแหน่งอย่างดีเช่นเดิมไม่ไปไหน ส่อให้เห็นว่า ที่แท้ความความเกรงใจใน “พี่พ้องน้องเพื่อน” ก็ยังมาก่อนความรู้สึกของประชาชน
ที่ซ้ำร้าย คือในสัปดาห์นี้ “แผล” ของรัฐบาล ก็เหวอะหวะขึ้นด้วยฝีมือของตัว “นายกฯ” และคนในรัฐบาลเองทั้งสิ้น
เริ่มตั้งแต่การที่นายกฯ ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ ขึ้นเสียงตะคอกเอากับประชาชนชาวประมงที่มาร้องเรียนปัญหาของตัวเอง เพื่อขอให้รัฐบาลแก้กฎหมายขยายเวลาทำประมงที่จังหวัดปัตตานี
แม้จะอ้างว่าเป็นเพราะว่าฝ่ายผู้มาเรียกร้องนั้นพูดเสียงดังใส่ก่อน และแม้ว่าจะมีการมาขอโทษกันภายหลัง แต่ “ความรู้สึก” ของประชาชน ที่ไม่ใช่แต่เฉพาะคนถูกตวาดตะคอกนั้น ก็เสียไปแล้ว
รวมถึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงความบกพร่องในการควบคุมอารมณ์หรือการขาดไร้ความอดกลั้นของตัวนายกรัฐมนตรีด้วย
ตามมาด้วยเรื่องที่อาจจะลุกลาม กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว คือการใช้ความรุนแรง “จัดการ” อย่างเด็ดขาด ต่อมวลชนจากอำเภอเทพา ที่หมายจะมายื่นหนังสือคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อนายกรัฐมนตรี
มีการจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่งฟ้องศาลฝากขังด้วยสารพัดข้อหา ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์แฮชแทก “#เทใจให้เทพา” ไปทั่วโซเชียลมีเดีย ก่อนที่แกนนำทั้งหมดจะได้รับการประกันตัวโดยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ใช้ตำแหน่งทางวิชาการมาเป็นประกัน
และที่เหมือนกับเป็นการ “สาดน้ำมัน” ลงในกองไฟ ก็คือกรณีที่ “เสธ.ไก่อู” พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ในฐานะโฆษกรัฐบาล ออกมาพูดชี้นำให้ร้ายไปในทางที่ว่า แกนนำต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินคนหนึ่ง คือนายมุสตาร์ซีดีน วาบา หรือ “แบร์มุส” ซึ่งเป็นครูสอนศาสนา ที่หายตัวไปไม่ได้กลับบ้านนั้น อาจจะหนีไปเที่ยวกับผู้หญิงที่ไม่ใช่คนในครอบครัว
การพูดจาหรือใช้ท่าทีแบบ “ไม่แคร์” ความรู้สึกของประชาชนนี้จะว่าไปก็เป็นเรื่องความวัวไม่ทันหาย เพราะเมื่ออาทิตย์ที่แล้วก็มีเรื่องของผู้ใหญ่ในรัฐบาล “ปากเบา” พูดถึงความตายของ “น้องเมย” นักเรียนเตรียมทหาร ที่ทำให้ถูกด่ากันทั่วเมืองแบบรอบวง จนต้องรีบออกมาแก้ข่าวขอโทษกัน
พฤติกรรมลุแก่อำนาจและไม่เห็นหัวประชาชนของคนในรัฐบาลที่แสดงออกมาในช่วงอาทิตย์นี้ จึงเกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองอย่างปฏิเสธไม่ได้
เพราะสิ่งที่คณะผู้ปกครองต้องยอมรับและตระหนัก ก็คือว่า การที่รัฐบาลซึ่งมีที่มาโดยไม่ถูกต้องจากการทำรัฐประหารนั้น สามารถใช้อำนาจปกครองประเทศอยู่ได้นั้น ก็ด้วยมีความชอบธรรมจาก “ฉันทามติ” หรือได้รับความเห็นชอบของประชาชนส่วนใหญ่
การย่ามใจใช้อำนาจ หรือใช้ท่าทีที่ไม่เกรงต่อใจกับ “ประชาชน” นั้น หากสะสมต่อไป ก็อาจจะทำให้เกิด “แรงเหวี่ยง” ซึ่ง “พลิก” แผนทางการเมืองที่อาจจะวางไว้ได้
จากที่เคยมองกันว่า “นายกฯ” คนแรกที่มีที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ คงหนีไม่พ้น “คนเดิม” แบบแบเบอร์ เพราะความที่รัฐธรรมนูญนั้นเปิดช่องเอื้อไว้ไม่รู้กี่ทาง ทั้งให้ ส.ว.ที่ คสช.แต่งตั้งเองกับมือ มีส่วนในการออกเสียงให้ความเห็นชอบผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี หรือเปิดโอกาสให้ “คนนอก” มาเป็นนายกฯ ได้ โดยไม่ต้องเป็น ส.ส.หรือแม้แต่ไม่ต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อว่าที่นายกฯ ของพรรคการเมืองก็ตาม
เงื่อนไขเหล่านี้เอื้อให้ “นายกฯ คนปัจจุบัน” กลับมาเป็นนายกฯ ภายหลังการเลือกตั้งได้ทั้งสิ้น
แต่ที่เหนือกว่าเงื่อนไขเหล่านั้น คือ ความนิยมจากการสนับสนุนของประชาชนส่วนใหญ่ บวกกับความอ่อนแอของพรรคการเมืองทั้งหมดที่เหลือในระบบ รวมถึงพรรคใหญ่ทั้งสองพรรค ที่ในปัจจุบันก็เหมือนจะยังหา “หัว” ไม่เจอกันทั้งคู่
หากจะเป็นอย่างไร หากรัฐบาลยังคงเร่งโหมความไม่พอใจ และปล่อยความไม่ไว้วางใจของประชาชนดำเนินไปเช่นนี้เรื่อย ๆ ภายในเวลาอีกราวๆ หนึ่งปี ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งตามโรดแมปที่วางไว้
กระแสการ “จับมือกัน” ของพรรคใหญ่สองพรรคที่ใครๆ ก็คิดกันว่าไม่มีทางเป็นไปได้ ก็ไม่อาจจะกล่าวเช่นนั้นได้เต็มปากอีกต่อไป
อย่าลืมว่า ในทางการเมืองนั้นมีคำกล่าวว่า ไม่มีมิตรแท้ ไม่มีศัตรูถาวร แต่สิ่งที่มีแน่ๆ คือ “ศัตรูร่วมกัน”
ถ้าพรรคใหญ่ทั้งสองพรรคนั้น เห็นว่า คสช.เป็น “ศัตรูร่วมกัน” อันควรที่จะ “จับมือกันชั่วคราว” เพื่อล้มให้ลงก่อน พอสิ้นซากแล้วค่อยไปว่ากันเองทีหลังก็ยังได้ เช่นนี้จะเป็นอย่างไร
และถ้าความคิดเช่นนี้ เกิดขึ้นพร้อมกับกระแสที่ประชาชนส่วนใหญ่ ทุกสี ทุกฝ่าย ลุกขึ้นมาประสานเสียงพร้อมใจกัน “ไม่เอา” รัฐบาลทหาร หรือตัว “นายกฯ” ขึ้นมา เพราะเอือมระอาแล้ว กับการบริหารประเทศที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซ้ำยังใช้อำนาจโดยไม่เห็นหัวประชาชนแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น
ยิ่งถ้าพรรคใหญ่สองพรรค เกิดจับมือกันได้จริงๆ พร้อมทั้งสามารถหาใครสักคนหนึ่งมาชูขึ้นให้เป็น “คนกลาง” ที่ไม่ได้มาจากทั้งสองพรรค ให้มาเป็นนายกฯ ของรัฐบาลร่วมสองพรรค
ใครสักคนที่ประชาชน “ยอมรับ” ได้ร่วมกัน หรืออย่างน้อยก็ยอมรับได้มากกว่า “นายกฯ คนปัจจุบัน”
เพราะในที่สุดแล้ว หากปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง อย่างไรเสียก็หนี “เสียงจากประชาชน” ที่แสดงออกผ่านการลงคะแนนในบัตรเลือกตั้งไปได้ไม่พ้น
จะเป็นอย่างไร ถ้าประชาชนทุกสี ทุกฝ่าย พร้อมใจกันกับสองพรรคใหญ่ “คว่ำ” ระบบทหารให้ล่ม เพื่อเซ็ตซีโร่ระบบการเมืองกลับไปสู่การที่ไม่มี “สีเขียวและท็อปบู๊ต” เข้ามายุ่มย่ามกำหนดชะตากรรม
อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้ หากรัฐบาลยังไม่ตระหนักว่าเรื่องที่ผ่านมา 2-3 สัปดาห์นี้จะเป็นบทเรียนให้ต้องแก้ไข
อย่าลืมภาษิตเก่า ที่กล่าวกันว่า ผู้ปกครองประเทศก็เหมือนเรือ ประชาชนเหมือนน้ำ เรือเคลื่อนลอยไปได้ด้วยน้ำ ก็สามารถจมลงเพราะน้ำได้เช่นกัน.