ในวันที่ 5 มกราคม 2561 กรมทางหลวงจะเริ่มทดลองใช้การเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางระบบปิด ช่วงชลบุรี ถึง พัทยา หลังจากปรับปรุงทางแยกต่างระดับคีรี ให้ถนนบายพาสเชื่อมต่อกับถนนมอเตอร์เวย์
ทางแยกต่างระดับคีรี ก็คือจุดสิ้นสุดทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 กรุงเทพฯ-ชลบุรี (สายใหม่) ที่บรรจบกับถนนบายพาส ชลบุรี-พัทยา หรือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 36 เดิม
สมัยก่อน ใครที่ใช้ถนนมอเตอร์เวย์จากกรุงเทพฯ จะต้องจ่ายเงิน 2 ด่าน ได้แก่ ด่านลาดกระบัง 30 บาท และด่านพานทองอีก 30 บาท รวม 60 บาท ก่อนไปบรรจบกับถนนบายพาส ชลบุรี-พัทยา
ขณะที่ถนนบายพาส ชลบุรี-พัทยา เริ่มต้นจากทางแยกต่างระดับหนองไม้แดง ถนนสุขุมวิท และถนนบางนา-บางปะกง อ.เมืองฯ จ.ชลบุรี บรรจบกับทางแยกต่างระดับโป่ง แล้วต่อไปยังจังหวัดระยอง
ภายหลัง กรมทางหลวงได้เปลี่ยนทางหลวงหมายเลข 36 ให้ไปเริ่มต้นที่ แยกกระทิงลาย อ.บางละมุง จ.ชลบุรี แล้วช่วงถนนบายพาส ชลบุรี-พัทยา ให้เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ช่วงชลบุรี-พัทยา แทน
โดยกิจการร่วมค้า ออลมอเตอร์เวย์ ประกอบด้วย สี่แสงการโยธา, ฟาติมา อาร์.บี.ดี.เอส อินเตอร์เนชั่นแนล และ สมาร์ทแทรฟิค ดำเนินการก่อสร้างด่านเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางถาวร ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2556 เป็นต้นมา
ก่อนหน้านี้กรมทางหลวง จัดเก็บค่าผ่านทางแบบระบบปิดมาแล้วตั้งแต่ 18 เมษายน 2559 หลังก่อสร้างด่านเก็บเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางถาวร ด่านบางบ่อ ด่านบางปะกง ด่านพนัสนิคม และด่านบ้านบึง แล้วเสร็จ
โดยรถที่มาจากกรุงเทพฯ จากเดิมจ่ายเงินที่ด่านลาดกระบัง และด่านพานทอง เปลี่ยนเป็น จะต้องรับบัตรที่ด่านลาดกระบัง ก่อนจ่ายเงินที่ด่านบางบ่อ 25 บาท ด่านบางปะกง 30 บาท ด่านพนัสนิคม 45 บาท ด่านบ้านบึง 55 บาท
ด่านสุดท้ายคือด่านพานทอง 60 บาท ก่อนที่จะตรงไปยาวๆ ถึงเมืองพัทยา
ยกเว้นผู้ใช้บัตร เอ็มพาส หรือ อีซี่พาส ให้ใช้ช่องเฉพาะบัตร M PASS เข้าระบบ และออกจากระบบเพื่อหักค่าผ่านทางโดยอัตโนมัติ ส่วนมากมักจะอยู่ในช่องขวาสุดของด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง
หลังวันที่ 5 มกราคม 2561 รถที่มาจากลาดกระบังจะปล่อยผ่านที่ด่านพานทอง ก่อนที่จะจ่ายเงินที่ด่านใหม่ อาทิ ด่านบางพระ ด่านหนองขาม ด่านโป่ง และด่านพัทยา โดยยังเก็บค่าผ่านทาง 60 บาทเหมือนด่านพานทอง
แต่หลังเทศกาลสงกรานต์ ปี 2561 จะคิดค่าผ่านทางเพิ่มขึ้น ได้แก่ ด่านบางพระ 60 บาท ด่านหนองขาม 80 บาท ด่านโป่ง (ออกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 36 ไป จ.ระยอง) 100 บาท และด่านพัทยา (พัทยาเหนือ) 105 บาท
โดยด่านพานทอง ซึ่งเปิดใช้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2541 หรือเมื่อ 19 ปีก่อน จะต้องถูกรื้อทิ้ง
คนที่จะมุ่งหน้าไปยังพัทยา ต้องทำใจหน่อย โดยเฉพาะคนที่อยากจะหาปั้มน้ำมันเข้าห้องน้ำ หรือแวะพักกลางทาง เพราะหลังจากผ่านศูนย์บริการมอเตอร์เวย์ที่บางปะกงไปแล้ว จะไม่มีที่พักริมทางอีกเลย
ผ่านไปอีกทีก็ตอนที่ออกจากมอเตอร์เวย์ที่ด่านโป่ง หรือด่านพัทยาไปแล้ว ถึงจะหาปั้มน้ำมันริมทางได้
แต่ไม่ใช่ว่ากรมทางหลวงจะไม่คิดถึงเรื่องนี้เลย เพราะมีที่ดินสร้างที่พักริมทางเตรียมเอาไว้แล้ว บริเวณใกล้กับด่านหนองขาม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ขนาดพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ คาดว่าจะก่อสร้างได้ในเร็ว ๆ นี้
แรก ๆ คงมีคนสงสัยว่า แล้วถนนบายพาส ชลบุรี-พัทยา ที่สัญจรอยู่เดิม ถ้าเข้าสู่ระบบมอเตอร์เวย์ ชลบุรี-พัทยา จะต้องเสียเงินหรือไม่? ถ้าจะออกไปยังร้านค้าข้างทางต้องทำอย่างไร?
ในการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ ชลบุรี-พัทยา จะแบ่งออกเป็น ช่องทางมอเตอร์เวย์ ฝั่งละ 4 ช่องจราจร และช่องทางบริการชุมชน (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3701 กับ 3702) อีกฝั่งละ 2 ช่องจราจร ขนานกันตลอดสาย
เพราะฉะนั้น คนที่มาจากทางแยกต่างระดับหนองไม้แดง ถนนบางนา-บางปะกง ถ้าไม่อยากเสียเงิน ให้เบี่ยงออกซ้ายก่อนถึงด่านจ่ายบัตรเข้าระบบมอเตอร์เวย์ เมื่อขึ้นสะพานขนานก็จะเข้าสู่ทางบริการชุมชนในที่สุด
ส่วนคนที่มาจากลาดกระบัง ถ้าไม่อยากเสียเงินเพิ่มที่ด่านโป่ง เมื่อผ่านทางออกด่านบ้านบึงไปแล้ว จะมีป้ายคำว่า “ทางแยกต่างระดับคีรี” และ “บางแสน ศรีราชา” ให้ออกไปจ่ายเงิน 60 บาทที่ด่านบางพระ
โดยจากด่านบางพระ สามารถไปถนนข้าวหลาม มุ่งหน้าสู่ถนนสุขุมวิท และหาดบางแสนได้ หรือจะตรงไปอ่างเก็บน้ำบางพระ เขาเขียว ศรีราชา โดยใช้ทางบริการชุมชนที่ขนานกับมอเตอร์เวย์ชลบุรี-พัทยาได้เช่นกัน
ยกเว้นช่วงด่านโป่ง-พัทยา ไม่มีทางบริการชุมชน คนที่ใช้ทางบริการชุมชนก็ต้องวนขึ้นสะพานไปออกถนนสุขุมวิทที่ทางแยกต่างระดับกระทิงลาย แล้วถึงตรงไปมุ่งหน้าเมืองพัทยา ซึ่งจะอ้อมไปอีกอย่างในอดีต
ส่วนคนที่มาจากระยอง เมื่อข้ามสะพานทางแยกต่างระดับโป่ง ถ้าไม่อยากเสียค่าผ่านทาง เมื่อลงสะพานต่างระดับแล้ว ก่อนถึงด่านจ่ายบัตรเข้าระบบมอเตอร์เวย์ ให้ออกซ้ายไปใช้ทางขนานได้เช่นกัน
แต่เมื่อผ่านถนนข้าวหลามไปแล้ว ที่ทางแยกต่างระดับคีรี ถ้าตรงไปก็จะไปออกชลบุรี นอกเสียจากต้องเบี่ยงซ้ายไปรับบัตรเข้าระบบมอเตอร์เวย์ที่ด่านบางพระ เพื่อเข้าสู่ระบบมอเตอร์เวย์ เพื่อไปกรุงเทพฯ และสนามบินสุวรรณภูมิ
ข้อเสียของทางบริการชุมชน ที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดก็คือ จะเป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจร ซึ่งมีสภาพคับแคบ มีจุดกลับรถลอดใต้มอเตอร์เวย์เป็นระยะ อีกทั้งยังต้องติดไฟแดง เมื่อถึงจุดตัดถนนในบางช่วงที่ไม่มีสะพานข้ามถนน
หากมอเตอร์เวย์ระบบปิด บังคับใช้อย่างจริงจัง ช่วงแรก อาจจะเกิดความสับสนแก่ผู้ใช้ทางที่ต้องเสียเงินเพิ่ม แต่ในระยะยาวเมื่อไม่มีทางเลือก เพราะทางบริการชุมชนคับแคบ การจราจรติดขัด ก็ยอมใช้บริการเพื่อความคล่องตัว
ผลกระทบที่จะตามมาก็คือ ผู้ประกอบการที่อยู่สองข้างทาง เช่น ปั้มน้ำมัน ร้านอาหาร ของที่ระลึก ฯลฯ เมื่อรถยนต์ไม่ผ่านตรงหน้า และไม่สามารถเลี้ยวเข้าไปใช้บริการได้ ก็จะทำให้ขาดรายได้ สุดท้ายก็ต้องปิดกิจการ
นอกจากนี้ การที่มอเตอร์เวย์ผ่าอยู่ตรงกลาง กลายเป็นการตัดขาดชุมชนสองข้างทางโดยสิ้นเชิง หากผู้ใดฝ่าฝืนเดินหรือขี่รถจักรยานยนต์เข้าไปในเขตทาง ปรับไม่เกิน 5,000 บาท จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทราบมาว่า วิธีการนี้จะนำมาปรับใช้กับ โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 5 ช่วง บางปะอิน - นครสวรรค์ ซึ่งเป็นโครงการในอนาคต โดยใช้เขตทางถนนสายเอเชีย ซึ่งมีเขตทางกว้างรองรับไว้ล่วงหน้าแล้ว
ฟังดูแล้วอาจน่ากลัว แต่ก็ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ยากจะหลีกเลี่ยง
หมายเหตุ : ในบทความนี้ ค่าผ่านทางที่ปรากฏเป็นค่าผ่านทางเฉพาะรถยนต์ 4 ล้อ สำหรับยานพาหนะอื่นๆ เช่น รถ 6 ล้อ หรือรถ 10 ล้อ โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มติมที่ www.motorway.go.th