นครราชสีมา ถือเป็นจังหวัดเศรษฐกิจสำคัญ นอกจากจะเป็นประตูสู่ภาคอีสานแล้ว การค้า การลงทุน ทั้งด้านการเกษตร และอุตสาหกรรมรายใหญ่ ไม่เว้นแม้กระทั่งค้าปลีก ต่างก็มาลงทุนที่นี่
จากเดิมเมืองโคราช มี “เดอะมอลล์ โคราช” และ “เทอร์มินอล 21 โคราช” เปิดให้บริการอยู่แล้ว ไม่นับรวมศูนย์การค้าเก่าแก่อย่าง “คลังพลาซา” ที่เปิดให้บริการ 3 สาขา ยาวนานกว่า 60 ปี
“เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา” ถือฤกษ์วันลอยกระทง 3 พฤศจิกายน 2560 เปิดให้บริการเป็นวันแรก นับเป็นปฐมบทแห่งการแข่งขันด้านค้าปลีกบนชุมทางที่ราบสูงแห่งนี้
แน่นอนว่าคนโคราชตื่นเต้นที่จะมีแหล่งช้อปปิ้งแห่งใหม่เพิ่มเติม เราเองก็อยากรู้ว่าความเปลี่ยนแปลงของศูนย์การค้าแต่ละแห่งเป็นอย่างไร เขารับมือน้องใหม่อย่างเซ็นทรัลพลาซาไว้อย่างไรบ้าง
งานนี้ขอเดินทางไปโคราช พิสูจน์ด้วยตาตัวเอง …
- เดอะมอลล์ นครราชสีมา : ชู “ห้างฯ ของคนโคราช”
รถทัวร์สาย กรุงเทพฯ-นครราชสีมา นำพาเราออกจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 สังเกตว่านับตั้งแต่นั่งรถออกจากกรุงเทพฯ เดอะมอลล์เริ่มทำการตลาดแบบชนิดที่ว่า นับตั้งแต่ยังไม่ออกจากโคราชด้วยซ้ำ
เพราะไปจับมือกับ นครชัย 21 ผู้ให้บริการเดินรถกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เจ้าล่าสุด ให้ลูกค้าบัตรสมาชิก M Card แลก 400 คะแนน ลดค่าตั๋วโดยสารนครชัย 21 ได้ 50 บาท ทำให้ค่าโดยสารปกติ 191 บาท จ่ายจริง 141 บาทเท่านั้น
แม้การกดรับสิทธิ์ผ่านรหัสบนมือถือจะขลุกขลัก เพราะขึ้นข้อความ “การกดรับสิทธิ์ล้มเหลว” หลายครั้ง สุดท้ายเมื่อใช้วิธีรับสิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชั่น M Card ถึงสามารถใช้ส่วนลดได้อย่างทุลักทุเล
3 ชั่วโมง 45 นาที รถทัวร์นครชัย 21 พาเรามาถึง เดอะมอลล์ โคราช ซึ่งเป็นจุดจอดส่งผู้โดยสารอีกแห่งหนึ่ง
ภายนอกไม่ต่างไปจากเดิมมากนัก เพราะเพิ่งรีโนเวตห้างฯ ด้วยงบลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท ไปเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา หลังเปิดให้บริการมาตั้งแต่ 10 สิงหาคม 2543 หรือเมื่อ 17 ปีก่อน
แต่สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง คือการงัดกลยุทธ์ “บ้านของคนโคราช” มาตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา ต่อกันด้วย “ห้างฯ ของคนโคราช” เพื่อมัดใจลูกค้า ไม่ให้ไหลออกไปยังเซ็นทรัล ที่ถือเป็นคู่แข่งตัวจริง
ว่ากันว่า นายหญิงอย่าง “คุณแอ๊ว” ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร เดอะมอลล์กรุ๊ป ลงพื้นที่มาดูแลด้วยตัวเอง พร้อมส่งผู้บริหารมืออาชีพมาสนับสนุนเดอะมอลล์โคราชไม่ให้ขาด
คนทั่วไปที่ไม่ใช่คนโคราช อาจมีน้อยคนนักทราบว่า คุณแอ๊ว เป็นเพื่อนกับ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” นักการเมืองเจ้าของพื้นที่ มาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยเปอร์ดูว์ สหรัฐอเมริกา โดยที่สุวัจน์เรียนวิศวะ ส่วนคุณแอ๊วเรียนเภสัช
ต่อมาสมัย รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน ที่มีนโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า สุวัจน์เป็นคนชักชวนคุณแอ๊วให้มาสร้างศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน กลายมาเป็นเดอะมอลล์โคราชในปัจจุบัน
กลยุทธ์ของเดอะมอลล์ นอกจากการขนสินค้ามาลดราคากันตั้งแต่หน้าห้างฯ ยันในห้างแล้ว ยังมีโปรโมชั่นแรง ๆ ตามมาอีก เช่น แลกบัตรศูนย์อาหาร 100 บาท รับเพิ่มอีก 100 บาท ที่ช่วงสิบเอ็ดโมงเช้ายังมีคนต่อคิวยาวจำนวนมาก
ส่วนพื้นที่โดยรอบ นอกจากบริเวณหน้าห้างจะมีถนนคนเดิน “ม่วนแซ่บมาร์เก็ต” ทุกเสาร์-อาทิตย์แล้ว ยังได้นำพื้นที่เล็ก ๆ หลังห้างฯ ติดกับลำตะคอง มาเป็นแหล่งแฮงเอาท์แห่งใหม่ ใช้ชื่อว่า “ลำตะคอง วิลเลจ”
ภายในประกอบด้วยลานเบียร์ ฟู้ดทรัค ร้านอาหาร บรรยากาศแบบโอเพ่นแอร์ แม้เทศกาลลอยกระทงจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ยังคงเปิดให้นั่งชิลล์กันได้อยู่ทุกเย็น ทราบมาว่าเดอะมอลล์คงจะเปิดไปเรื่อย ๆ เพื่อรับกับช่วงฤดูหนาว
การเข้ามาของเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา พบว่า เดอะมอลล์เป็นห้างฯ ที่ปรับตัวได้ไวที่สุด อาจเป็นเพราะประสบการณ์การทำห้างฯ แบบมืออาชีพจากกรุงเทพฯ มาใช้กับโคราช จังหวัดใหญ่เป็นอันดับสองรองจากกรุงเทพฯ
อีกทั้งไลฟ์สไตล์คนโคราชที่มีความเป็นคนเมืองกึ่งภูธร เดอะมอลล์เข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นอย่างดี รวมทั้งการมีส่วนร่วมกับท้องถิ่นแบบชนิดที่ว่าไม่ให้ขาด ทำให้กลายเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อมากที่สุด
- เทอร์มินอล 21 : SKY DECK ในวันที่กลายเป็นของตาย
ปีที่แล้ว (2559) ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า “เทอร์มินอล 21 โคราช” เปิดตัวขึ้น พร้อมกับหอคอยชมเมืองที่ชื่อว่า "สกาย เด็กซ์" สูง 110 เมตรจากพื้นดิน กลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของคนโคราชในเวลานั้น
เทอร์มินอล 21 โคราช เป็นช้อปปิ้งมอลล์ของ “อนันต์ อัศวโภคิน” เจ้าของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 32 ไร่ บริเวณสามแยกมิตรภาพ ออกแบบให้เป็นท่าอากาศยานแห่งการชอปปิ้ง
นอกจากหอคอยชมเมืองโคราช สูงที่สุดในภาคอีสานแล้ว ภายในยังมี บันไดเลื่อนภายในศูนย์การค้าที่ยาวที่สุดในไทย หรือจะเป็น หอไอเฟลจำลองที่สูงถึง 72 ฟุต หรือเทียบเท่าตึก 5 ชั้น
ผ่านไป 1 ปี สิ่งเหล่านี้กลายเป็นของตาย หลังจากคนโคราชกำลังเห่อห้างฯ ใหม่ ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 4-5 กิโลเมตร
ถึงกระนั้นแมกเนตหลักอย่าง "ฟู้ดแลนด์ ซูปเปอร์มาร์เก็ต" เปิด 24 ชั่วโมงยังคงให้บริการอยู่
รวมทั้งศูนย์อาหาร "เพียร์ 21" ที่มีจุดขายตรงที่อาหารราคาถูก เมื่อเทียบกับสถานที่มูลค่าพันล้าน ยังคงมีลูกค้าประจำเข้ามาทานอาหารนอกบ้านอย่างเนืองแน่นเช่นกัน
สกาย เด็กซ์ (SKY DECK) ตั้งอยู่บนชั้น 5 ของศูนย์การค้า ตรงข้ามกับฝั่งโรงภาพยนตร์เอสเอฟซีนีมา
จากเดิมวันเปิดห้างฯ ประชาชนต่อแถวเป็นคิวยาว วันนี้เราสามารถเดินเข้าไปรอเจ้าหน้าที่เรียกขึ้นลิฟท์ เพื่อชมหอคอยกันได้สบายๆ
คนน้อยประมาณสิบคนในยามค่ำ ก็ได้บรรยากาศชมเมืองไปอีกแบบหนึ่ง เจ้าหน้าที่ รปภ. 2-3 คนคอยดูแลอย่างใกล้ชิด
เราได้เห็นเมืองโคราชในยามค่ำคืน ด้วยสังคมกึ่งเมืองกึ่งภูธร ทำให้หลังหนึ่งทุ่มเมืองเริ่มที่จะเงียบ
อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา นั้น ไม่ใช่ว่าเทอร์มินอล 21 โคราชจะไม่ทำอะไรเลย อย่างขณะนี้ได้ออกโปรโมชั่นนำหางตั๋วหนังเอสเอฟ ซีนีมา แลกคืนเป็นเงินสดได้ เริ่มต้นที่ 60 บาท สูงสุด 100 บาท
ล่าสุด ยังออกโปรโมชั่น “แสตมป์คืนเงิน” โดยซื้อสินค้าภายในศูนย์การค้าครบทุก 300 บาท รับแสตมป์ 1 ดวง เพื่อสะสมแลกคูปองแทนเงินสด สูงสุด 1,000 บาท หากใช้บริการในวันจันทร์ – พฤหัสบดี รับแสตมป์เพิ่มเป็น 2 เท่า
สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เทอร์มินอล 21 โคราช กลับมาคึกคักได้ คือการจัดอีเวนต์อย่างที่เดอะมอลล์ โคราช ทำอยู่ ก่อนหน้านี้เครือบางกอกโพสต์ก็จัดฟรีคอนเสิร์ตในเทอร์มินอล ฮอลล์ ชั้น 4 คนถึงได้หนาแน่นในตอนนั้น
แต่เมื่อที่นี่เต็มไปด้วยแหล่งจัดประชุม แหล่งจัดงานแสดงสินค้า ที่ทุกห้างฯ อย่างเดอะมอลล์ โคราช หรือ เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา ก็มี ขึ้นอยู่กับว่าเทอร์มินอล 21 โคราช จะงัดอีเวนต์แบบใดที่จะดึงคนเข้าห้างฯ ให้ได้มากที่สุด
- เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา : เหมือนจะจัดเต็ม แต่ก็ยังไม่เต็มที่
ด้วยความที่ห้างฯ อยู่ไกลจากตัวเมืองราว 4-5 กิโลเมตร เราเลยลองถามมอเตอร์ไซค์รับจ้างบริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ว่า จากที่นี่คิดค่าโดยสารเท่าไหร่ ได้คำตอบมาว่าน่าจะคิดไม่เกิน 100 บาท ประมาณสัก 80 บาท
ถึงกระนั้น ตอนที่ออกจากเทอร์มินอล 21 จะไปเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่นั่นคิด 60 บาท เท่าที่ได้พูดคุยคนขับเล่าว่า ในวันเปิดตัวห้างฯ วันแรก รถติดไปจนถึงแยกจอหอเลยทีเดียว
แต่ในวันที่เราไปสำรวจนั้น พบว่าแม้จะใกล้เวลา 3 ทุ่มแล้ว แต่ก็ยังมีรถเข้าห้างฯ อยู่ เพราะจุดเด่นของที่นี่คือการแสดงไฟขนาดย่อมๆ ที่ชื่อว่า “โคราช อิลลูมิแนนซ์ เฟสติวัล” ซึ่งมีผู้คนเข้ามาชมไฟและถ่ายรูปไม่ขาดสาย
ติดกันจะเป็นโซนคนเดินที่มีชื่อว่า “ตลาดด๊ะดาด” ในรูปแบบครีเอทีฟ มาร์เก็ต ตกแต่งด้วยไฟสีขาวนวล อาจเรียกได้ว่าห้างใหม่ฯ แห่งนี้ใช้สีสันของไฟตกแต่งเป็นตัวดึงดูดลูกค้าเลยก็ว่าได้
เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา ศูนย์การค้าแห่งที่ 31 ของเซ็นทรัลพัฒนา ใช้งบลงทุนเกือบ 1 หมื่นล้านบาท บนพื้นที่ 65 ไร่ ริมถนนมิตรภาพ เยื้องมหาวิทยาลัยวงศ์ชวลิตกุล
บริเวณนั้นใกล้กับมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ด้านข้างจะเป็นถนน 30 กันยาซอย 2 หากเข้าไปในซอยจะพบกับทางสามแพร่ง เลี้ยวซ้ายไปออกถนนสุรนารายน์ แถวๆ คลังวิลล่าได้
ใครที่มาห้างฯ ไม่ทัน ด้านหน้าห้างฯ ยังได้นำร้านสะดวกซื้ออย่าง “แฟมิลี่มาร์ท” มาไว้ที่ริมถนนมิตรภาพ บริเวณทางออกก่อนถึงถนน 30 กันยาซอย 2 เปิด 24 ชั่วโมง เผื่อใครอยากจะกินของแปลก ๆ ที่ไม่มีขายในเซเว่นอีเลฟเว่น
เมื่อเข้าไปด้านในศูนย์การค้า พบว่าการตกแต่งทำได้ตามมาตรฐานศูนย์การค้ากลุ่มเซ็นทรัลทั่วไป มีทั้งท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์ สาขาที่สองในภาคอีสาน มีทั้งโรงภาพยนตร์เอสเอฟเอ็กซ์ ซีนีมา แต่ร้านค้าเช่าและธนาคารยังเปิดไม่หมด
แต่ที่แตกต่างไปจากที่อื่น ตรงที่ร้านบีทูเอส ถูกออกแบบมาให้เป็น “ธิงค์ สเปซ” โดยมีร้านกาแฟเจ้าดังของโคราชอย่าง “คลาส คาเฟ่” มาเปิดสาขาที่นี่
แต่เห็นราคาเครื่องดื่มแต่ละอย่างแล้วพอ ๆ กับสตาร์บัคส์ตรงชั้น 1 ยังไงยังงั้น
ส่วนพื้นที่ศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้า พบว่ามี “โคราช ฮอลล์” พื้นที่ 7,000 ตารางเมตร เริ่มชิมลางด้วยเทศกาลหนังสือโคราช นับเป็นคู่แข่งที่ใหญ่กว่า เอ็มซีซีฮอลล์ เดอะมอลล์โคราช และเทอร์มินอล ฮอลล์
หน่วยงาน หรือองค์กรไหน จะได้ใช้สถานที่จัดประชุมหรือแสดงสินค้านั้นไป ขึ้นอยู่กับความเก่งของพนักงานขายพื้นที่ว่า จะช่วงชิงกับอีกสองเจ้าที่เหลือซึ่งอยู่มานานได้หรือไม่
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งก็คือ "ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล" เปิดสาขาแรกในภาคอีสาน
เพราะศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาสาขาอื่น อย่าง อุบลราชธานี อุดรธานี หรือ ขอนแก่น จะเป็นห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ซึ่งสินค้าที่นำมาขายจะแตกต่างกัน
พบว่า ยังเปิดไม่ครบทุกแผนก หลักๆ เฉพาะเสื้อผ้ากับเครื่องสำอาง อีกหลายแผนก เช่น อุปกรณ์รถยนต์ ห้องน้ำ ของขวัญ อุปกรณ์ดูแลผู้สูงอายุ เครื่องนอน อุปกรณ์ครัว โต๊ะอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก ยังไม่มีเข้ามา
อีกอย่างหนึ่ง “มินิ โมโน” แบรนด์สินค้ากิฟท์ช้อป ราคาเริ่มต้นที่ 60 บาทของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ก็มาเปิดให้บริการที่สาขานี้ด้วย จากปกติเราจะพบไม่บ่อยนักเพราะมีอยู่แค่ไม่ถึง 10 สาขา
เมื่อห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลกล้าที่จะเข้ามาเปิดสาขาที่นี่ ขึ้นอยู่กับว่าจะมีกำลังซื้อขนาดไหน เพราะราคาเสื้อผ้าหรือของแบรนด์เนมก็แพงเอาเรื่องเหมือนกัน เมื่อเทียบกับเดอะมอลล์ สินค้าจะใกล้เคียงโรบินสันมากกว่า
แต่ที่น่าสนใจก็คือ แบรนด์เสื้อผ้าญี่ปุ่นยอดนิยมอย่างเช่น “ยูนิโคล่” ซึ่งเปิดสาขาอีกแห่ง ที่เซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา จัดลดราคาพิเศษ 3 วัน พร้อมของแถมและลุ้นเที่ยวญี่ปุ่น
ปรากฏว่า ยอดขายยูนิโคล่เข้าเป้า ถึงวันละ 2.5 ล้านบาท ผู้จัดการสาขางานนี้คงได้ยิ้มแก้มปริ
นอกจากนี้ คอนโดมิเนียมด้านหลังห้างฯ อย่าง “เอสเซ็นท์ นครราชสีมา” ของบริษัทลูกอย่าง ซีพีเอ็น เรสซิเดนท์ สูง 21 ชั้น รวม 380 ห้อง ราคาเริ่มต้นเพียง 1.59 ล้านบาท ปรากฏว่าผ่านไป 3-4 วัน ปิดการขายเรียบร้อยแล้ว
เท่าที่คุยกับเศรษฐีโคราชรายหนึ่ง นอกจากจะมีชาวโคราชแล้ว ยังมีอำเภออื่น และจังหวัดติดกันอย่างบุรีรัมย์ และชัยภูมิ ให้ความสนใจจองคอนโดด้วย เสียค่าใบจอง 4,000 บาท มีทั้งซื้อเพื่ออยู่อาศัยเอง และเก็งกำไรนำไปขายต่อ
แม้จะมีคนจองคอนโดอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง แต่ก็ต้องดูกันต่อไปว่า จะมีสักกี่คนที่ได้เป็นเจ้าของห้องชุดนั้นไป และใครจะยอมทิ้งใบจองคอนโด ถึงกระนั้นเราจะได้เห็นดีมานด์และซัพพลายอย่างแท้จริง
สิ่งที่ยังขาดอีกอย่างหนึ่งคือ "สะพานลอย" เพราะศูนย์การค้าอยู่ติดถนนใหญ่ที่มีทั้งช่องทางหลักกับช่องทางขนาน เวลาข้ามถนนมันจะลำบาก เพราะฉะนั้นถ้าไม่เสียดายเงิน นั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างมาเถอะ ...
- คลังพลาซา จอมสุรางค์ : “คลังพลาซาไม่เคยคิดแข่งขันกับใคร”
ในบรรดาศูนย์การค้าสามเจ้าใหญ่ที่กำลังแข่งขันกันบนถนนมิตรภาพ แต่ยังมีอีกแห่งหนึ่งที่ดูเหมือนว่าจะแตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง ก็คือ “คลังพลาซา จอมสุรางค์” ศูนย์การค้าเก่าแก่ใจกลางเมืองโคราช เปิดเมื่อปี 2534
แม้ว่าจะรีโนเวตห้างฯ โฉมใหม่ไปเมื่อประมาณ 2-3 ปีก่อน แต่การแข่งขันอย่างร้อนแรงของยักษ์ใหญ่ ทำให้ไม่อาจต้านทานความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ เริ่มมีผู้เช่าบางรายย้ายออกไป
ล่าสุดคือ ธนาคารกสิกรไทย ก่อนหน้านี้ย้ายสาขาถนนจอมสุรางค์ ไปอยู่ที่เทอร์มินอล 21 แล้วเปลี่ยนเป็นออฟฟิศของบริษัท ลิสซิ่งกสิกรไทย ทำให้ลูกค้าไม่ได้รับความสะดวกแล้ว ยังยุบสาขาคลังพลาซา จอมสุรางค์ ไปอีก
ที่เห็นได้ชัดที่สุด ก็คงจะเป็นบริเวณชั้น 5 คลังไอที ที่พบว่าร้านจำหน่ายโทรศัพท์มือถือหายไปกว่าครึ่ง ไม่นับรวมพื้นที่เช่าที่ยังว่างอีกมาก ถึงขนาดมีชาวโซเชียลบางรายอัดวีดีโอคลิปที่นี่โจมตีรัฐบาล คสช. ว่าเศรษฐกิจแย่มาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังมีแฟนประจำของคลังพลาซา บอกกับเราว่า “คลังพลาซาไม่ได้ย่ำแย่ขนาดนั้น” เพราะคนที่มาเดินคลังพลาซาส่วนใหญ่จะมาแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะสินค้าอุปโภค บริโภค ราคาถูกกว่าห้างอื่นในละแวกเดียวกัน
“เสี่ยเหลียง” ไพรัตน์ มานะศิลป์ รองประธานกรรมการ บริษัท คลังพลาซา จำกัด เคยกล่าวกับสื่อมวลชนใน จ.นครราชสีมา มาตลอดว่า “คลังพลาซาไม่คิดแข่งขันกับใคร”
เขาอธิบายว่า คลังพลาซาทำเพื่อกลุ่มลูกค้าคนเมือง มีเวลาน้อย เพราะถ้ามีเวลามากลูกค้าก็ต้องไปห้างใหญ่ แต่ลูกค้าของคลังพลาซาคือคนที่มาซื้อของ คนโคราชจะรู้จักคลังพลาซาอยู่แล้วว่าเราขายอะไร
ปัจจุบัน คลังพลาซามีศูนย์การค้าอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ คลังพลาซา อัษฎางค์, คลังพลาซา จอมสุรางค์ และ คลังวิลล่า สุรนารายน์ ย่านมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ในรูปแบบคอมมูนิตีมอลล์
นอกจากนี้ กำลังก่อสร้างศูนย์การค้าแห่งที่ 4 ภายใต้ชื่อ “คลัง สเตชั่น” ในรูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์ บริเวณห้าแยกหัวรถไฟ (ห้าแยกนิ้งหน่อง)
โดยเช่าที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย 17 ไร่ เป็นระยะเวลา 30 ปี งบลงทุน 750 ล้านบาท เจาะกลุ่มลูกค้าผู้ใหญ่และวัยทำงาน ในย่านหนองไผ่ล้อม ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่
มีทั้งสถานที่ราชการ การไฟฟ้า วิทยุการบิน บ้านพักทหาร ให้เลือกซื้อของใกล้บ้านโดยไม่ต้องเข้ามาในเมือง มีกำหนดเปิดให้บริการกลางปี 2561
ส่วนคลังพลาซา สาขาอื่น พบว่าไม่ได้หยุดนิ่งเช่นกัน อย่าง "คลังพลาซา อัษฎางค์" มีแผนจะสร้างอาคารที่จอดรถและเพิ่มจำนวนร้านอาหาร คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังก่อสร้างคลังสเตชั่นแล้วเสร็จ
ในยุคที่ยักษ์ใหญ่ 3 เจ้าอย่างกลุ่มเซ็นทรัล เดอะมอลล์กรุ๊ป และกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เข้ามาช่วงชิงค้าปลีกเมืองโคราช ขณะที่ห้างฯ เก่าแก่อย่างคลังพลาซา เลือกที่จะสร้างความแตกต่างด้วยความเป็นห้างทางเลือก
น่าคิดว่า ในระยะยาวแต่ละห้างฯ เจ้าไหนจะครองใจคนโคราชมากกว่ากัน การเปิดศูนย์การค้าใหม่ก็เหมือนกับหลายพื้นที่ ในช่วงแรกลูกค้าประจำในพื้นที่อาจจะหันไปใช้บริการศูนย์การค้าแห่งใหม่บ้างในระยะเวลาอันสั้น
ก่อนที่คนในพื้นที่จะพิจารณาว่า ห้างฯ ไหนจะเข้ากับไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวันมากที่สุด ถึงกระนั้นจะเป็น “ของจริง” ว่าผู้เข้าแข่งขันแต่ละรายใครจะอึดกว่ากัน และใครจะครองใจลูกค้าคนโคราช และชาวภาคอีสานมากกว่ากัน...