หลังจากที่ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 รวมทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง ธุรกิจน้ำมันเริ่มกลับมาแข่งขันกันมากขึ้น มีทั้งปรับโฉมปั้มน้ำมันให้ทันสมัย และเสริมด้วยธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน เช่น ค้าปลีก ร้านกาแฟ ร้านอาหาร
“บัตรสะสมคะแนน” กลายเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่ธุรกิจน้ำมันแต่ละแห่งนำมาใช้เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า ทั้งกระตุ้นยอดขาย ไปพร้อมกับเก็บข้อมูล วิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า และนำข้อมูลไปวางแผนการตลาดได้อีกด้วย
หากจะย้อนกลับไปในอดีต เชลล์ในประเทศไทย ถือเป็นเจ้าแรกที่นำระบบสะสมแต้มมาใช้
เดือนมกราคม 2540 ได้ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ และห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ตั้งบริษัทขึ้นมา และออกบัตรที่ชื่อว่า “สมาร์ทโบนัส”
สมัยนั้นใครอยากจะสมัครบัตรใบนี้ ต้องเสียค่าสมัคร 100 บาท มีร้านค้าที่ร่วมออกแต้ม 16 บริษัท
ในตอนนั้นถ้าเติมน้ำมันเชลล์ 200 บาท ได้ 2 แต้ม ทุก 100 บาทต่อไปได้ 1 แต้ม ร้านสะดวกซื้อซีเล็ค ซื้อทุก 100 บาท ได้ 1 แต้ม
7 เดือนต่อมา ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ประกอบกับสมาร์ทโบนัสประสบปัญหาขาดทุนเพราะเอาเงินไปทุ่มการตลาดมากเกินไป
ขณะที่ตัวเลขสมาชิก ตั้งเป้าไว้ที่ 1 ล้านราย แต่ได้สมาชิกจริงๆ แค่ 3 แสนรายเท่านั้น
นอกจากนี้ สมาชิกบัตรสมาร์ทโบนัสบางรายบ่นว่า ของรางวัลที่จัดเตรียมไว้ให้แลกนั้น แต้มที่จะใช้สูงเกินไป ทำให้ไม่มีกำลังใจที่จะสะสมแต้ม
ปรากฏว่าห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ใช้วิธีแจกคูปองช่วงลดราคา จนยอดขายดีเหลือเชื่อ
ผ่านไป 1 ปี 10 เดือน เมื่อสถานการณ์ไม่ดีขึ้น สุดท้ายวันที่ 9 พฤศจิกายน 2541 สมาร์ทโบนัสไปไม่ไหว ประกาศปิดกิจการ และให้ลูกค้ารีบแลกของรางวัล ทำเอาผู้ถือบัตรเดือดร้อนกันเป็นแถว
สมัยนั้น ผอ.สคบ. ถึงกับกล่าวว่า บัตรสมาชิกแบบนี้มีรูปแบบจากต่างประเทศ แต่ในไทยไม่นิยม เพราะคนไทยชอบแบบลดราคาเดี๋ยวนั้น หรือสะสมแล้วแลกของรางวัลเดี๋ยวนั้นเลย ไม่ชอบต้องมาสะสมแล้วค่อยเก็บไว้แลก
ยิ่งมาเจอเศรษฐกิจไม่ดีอีก ก็ไปไม่ไหว เลยต้องยุบกิจการ
บัตรสะสมแต้มปั้มน้ำมันกลับมาอีกครั้งเมื่อปี 2551 เมื่อปั้มบางจากเปิดตัว “บัตรบางจากแก๊สโซฮอล์คลับ” สำหรับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอลล์
ก่อนที่ปี 2555 จะเปิดตัว “บัตรบางจากดีเซลคลับ” สำหรับผู้ใช้รถเครื่องยนต์ดีเซล เช่น รถกระบะ รถบรรทุก
ที่น่าจับตามองที่สุดคือ กลุ่ม ปตท. ที่ครองจำนวนปั้มน้ำมันมากที่สุดในประเทศ มีนาคม 2556 เปิดตัว “พีทีทีบลูการ์ด” บัตรสะสมคะแนนใช้เป็นเงินสดกับปั้มน้ำมันและร้านค้ากลุ่ม ปตท. เช่น คาเฟ่อะเมซอน จิฟฟี่ เทคซัสชิคเก้น ฯลฯ
นอกจาก บางจาก และ ปตท. แล้ว ยังมีปั้มน้ำมันค่ายอื่นๆ ออกบัตรสมาชิกตามมา เช่น ปั้มเชลล์ ก็กลับมาทำ “บัตรเชลล์ คลับ สมาร์ท”, ปั้มเอสโซ่ก็ทำ “บัตรเอสโซ่สไมล์” หรือปั้มพีทีก็มี “บัตรพีทีแมกซ์การ์ด” เป็นต้น
ขณะที่ปั้มน้ำมันซัสโก้ ไม่มีบัตรพลาสติก มีแต่โปรแกรมสะสมคะแนน “ซัสโก้ สมาร์ท เมมเบอร์” เพียงแค่บอกเบอร์มือถือเพื่อสะสมคะแนน
ส่วนปั้มคาลเท็กซ์ หันมาร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัล ให้คะแนนสะสมกับบัตรเดอะวันการ์ดแทน ทุก 1 ลิตร รับ 1 คะแนนเดอะวันการ์ด
หรือใช้คะแนนเดอะวันการ์ด 8 คะแนน แลกรับส่วนลด 1 บาทต่อ 1 ลิตร โดยใช้บัตรประชาชนมาแสดง
ทุกปั้มน้ำมัน สมัครสมาชิกบัตรฟรี เงื่อนไขในการใช้บัตรไม่ต่างกัน
คือ หลังเติมน้ำมันเสร็จ เมื่อชำระเงินด้วยเงินสดหรือบัตรเครดิต ต้องนำบัตรสมาชิกมาให้พนักงานบันทึกคะแนน โดยจะได้รับใบบันทึกรายการเป็นหลักฐาน
เงื่อนไขในการสะสมคะแนน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละปั้มน้ำมัน เช่น ถ้าเป็นปั้มน้ำมันขนาดใหญ่ อย่าง ปตท. บางจาก เชลล์ หรือเอสโซ่ น้ำมันแก๊สโซฮอลล์ ทุก 1 ลิตร ได้ 1 คะแนน
ส่วนน้ำมันดีเซล ทุก 4 ลิตร ได้ 1 คะแนน หากเป็นน้ำมันชนิดพิเศษ จะได้คะแนนสะสมเพิ่มขึ้น
ปั้มน้ำมันส่วนใหญ่ไม่กำหนดขั้นต่ำในการสะสมคะแนน แต่จะจำกัดจำนวนครั้งและแต้มที่ได้รับสูงสุด จะเติม 1 ลิตรก็ได้ 1 คะแนน
ยกเว้นปั้มเอสโซ่ กำหนดให้เติมน้ำมันขั้นต่ำ 5 ลิตรถึงจะได้ 1 คะแนน เพราะฉะนั้นคนที่เติมน้ำมัน 100 บาทก็จะไม่ได้สักคะแนนเดียว
แต่ถ้าเป็นปั้มน้ำมันขนาดเล็ก เช่น พีที หรือ ซัสโก้ จะง่ายหน่อย ทุก 1 ลิตร ได้ 1 คะแนน ไม่ว่าจะเป็นเบนซิน แก๊สโซฮอล์ หรือดีเซล
คนที่ขับรถกระบะหรือรถบรรทุกจะชอบมาก เพราะสะสมคะแนนได้ง่ายและรวดเร็วกว่า
นอกจากนี้ ในบางปั้มน้ำมันเวลาซื้อน้ำมันเครื่องยังสะสมแต้มได้ด้วย หรือถ้ามีร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ ร้านอาหารในเครือ ถือเป็นตัวช่วยที่ทำให้ได้คะแนนสะสมเพิ่มขึ้น
ส่วนการแลกคะแนนสะสม พบว่าถ้าเป็นปั้มน้ำมันขนาดใหญ่ เช่น ปั้ม ปตท. หรือปั้มเชลล์ คะแนนสะสมทุก 500 คะแนน ใช้เติมน้ำมันได้ 100 บาท
ปั้มบางจาก และ เอสโซ่ กำหนดให้ใช้คะแนนขั้นต่ำ 250 คะแนน แลกส่วนลดน้ำมัน 50 บาท
แต่ถ้าเป็นปั้มน้ำมันขนาดเล็ก เช่น พีที หรือ ซัสโก้ พบว่าแม้จะสะสมคะแนนง่าย แต่เวลาแลกคะแนนกลับได้ส่วนลดน้ำมันน้อยกว่า
เช่น 500 คะแนน ได้ส่วนลดเพียง 50 บาทเท่านั้น หรือปั้มพีที 150 คะแนน ได้ส่วนลด 15 บาท
อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่ใช้บัตรสะสมคะแนนแทบจะทุกปั้ม มีข้อสังเกตอยู่หลายประการ คือ
1. แม้ทุกปั้มจะสมัครสมาชิกฟรี แต่ก็ควรตัดสินใจเลือกสะสมคะแนนตามความสะดวกของเรา หรือ ตามเป้าหมายของเราจริง ๆ เพียงปั้มเดียวไปเลย เพื่อจะได้สะสมคะแนนรวดเร็วขึ้น แลกส่วนลดน้ำมันหรือของรางวัลได้ไวขึ้น
เช่น เราอาจจะเลือกเติมปั้มน้ำมันที่เราใช้บริการเป็นประจำ เพราะบางครั้งปั้มน้ำมันที่เราเห็นว่าให้คะแนนสะสมดีกว่า อาจจะไม่ได้อยู่ในเส้นทางที่เราผ่านเป็นประจำ จะเสียเวลาหากต้องออกนอกเส้นทาง
2. น้ำมันที่ได้คะแนนสะสมมากที่สุด คือ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 เพราะราคาถูกที่สุดในตลาด ยกตัวอย่างเช่น เติมน้ำมัน 200 บาท จะได้ 9-10 คะแนน รองลงมาคือ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 จะได้ 7-8 คะแนน
วิธีดูว่า น้ำมันชนิดนี้จะได้ประมาณกี่คะแนน ให้นำจำนวนน้ำมันที่เติมทั้งหมด หารด้วยราคาน้ำมันที่เราเติม ณ ขณะนั้น ก็จะได้ตัวเลขคร่าวๆ โดยที่เศษของคะแนนสะสมขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละปั้มน้ำมัน
3. บัตรที่ร้านค้าแจกคะแนนสะสมมากที่สุด คือ บัตรของปั้ม ปตท. นอกจากจะมีสถานีบริการน้ำมันกว่า 1,700 แห่ง แล้ว ยังสะสมได้ที่ร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ 140 สาขา ร้านคาเฟ่อะเมซอนอีก 1,800 สาขา ทุก 20 บาทได้ 1 คะแนน
ส่วนปั้มบางจาก กว่า 1,000 แห่ง ยังสะสมแต้มได้ที่ร้านกาแฟอินทนิล และร้านสะดวกซื้อสพาร์ ทุก 25 บาทได้ 1 คะแนน ขณะที่ปั้มพีที กว่า 1,500 แห่ง ยังสะสมแต้มได้ที่ร้านกาแฟพันธุ์ไทย ทุก 20 บาทได้ 1 คะแนน
4. สำหรับเครื่องยนต์ดีเซล เช่น รถกระบะ รถบรรทุก ปั้มน้ำมันที่ให้คะแนนสะสมเยอะที่สุด คือ ปั้มพีที และปั้มซัสโก้ เพราะ 1 ลิตรเท่ากับ 1 คะแนน ขณะที่ปั้มน้ำมันอื่น 4 ลิตรเท่ากับ 1 คะแนน
แต่ส่วนลดของสองปั้มน้ำมันนี้ ถือว่ายังน้อยกว่าเจ้าอื่น เพราะทุก 500 คะแนน แลกส่วนลดน้ำมันได้แค่ 50 บาทเท่านั้น ขณะที่ปั้มน้ำมันอื่น เช่น ปตท. บางจาก เอสโซ่ และเชลล์ ทุก 500 คะแนน แลกส่วนลดน้ำมันได้ 100 บาท
5. ส่วนลดน้ำมันที่แลกง่ายที่สุด คือ ปั้มน้ำมันพีที เพียงแค่ 150 คะแนน แลกส่วนลดน้ำมันได้ 15 บาท แต่อัตราส่วนถือว่าแพงอยู่ รองลงมาคือปั้มน้ำมันบางจาก และเอสโซ่ 250 คะแนน แลกส่วนลดน้ำมันได้ 50 บาท
6. การแลกคะแนนสะสมไปยังพันธมิตรรายอื่น พบว่า คะแนนจากปั้มน้ำมัน ปตท. 500 คะแนน แลกเป็นเดอะวันการ์ด ของกลุ่มเซ็นทรัลได้ 500 คะแนน
กลับกัน คะแนนเดอะวันการ์ด 1,000 คะแนน แลกเป็นของปั้ม ปตท. ได้เพียง 500 คะแนน
ส่วนปั้มน้ำมันเอสโซ่ พบว่า 500 คะแนน แลกแต้มคลับการ์ดของเทสโก้ โลตัส 10,000 คะแนน (มูลค่า 100 บาท) กลับกัน แต้มคลับการ์ด 10,000 คะแนน แลกเป็นปั้มเอสโซ่ได้ 500 คะแนน หรือ แอร์เอเชียบิ๊ก ของแอร์เอเชีย 500 คะแนน
ขณะที่ปั้มเชลล์ ทุก 600 คะแนน แลกบัตรของขวัญห้างสรรพสินค้า 100 บาท ซึ่งมีให้เลือก 3 แห่ง คือ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ และ เทสโก้ โลตัส
7. คะแนนสะสมของปั้มน้ำมัน จะเป็นคนละส่วนกับคะแนนบัตรเครดิต เพราะฉะนั้นหากชำระด้วยบัตรเครดิต พร้อมยื่นบัตรสมาชิกปั้มน้ำมัน นอกจากจะได้คะแนนจากปั้มน้ำมันแล้ว ยังได้คะแนนสะสมจากบัตรเครดิตตามปกติ
8. สิ่งสำคัญก็คือ ควรศึกษารายละเอียดการให้คะแนนได้จากเงื่อนไขแต่ละปั้มน้ำมันที่ออกมา ว่าสะสมคะแนนได้กี่ครั้งต่อวัน กี่ลิตรต่อครั้ง และกี่ลิตรหรือกี่คะแนนต่อเดือน รวมทั้งคะแนนสะสมที่ได้รับมีอายุกี่ปี ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 3 ปี
บัตรสมาชิกปั้มน้ำมัน นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภค แม้หลายคนจะมองว่า เสียเวลารอคอยใบบันทึกรายการ เพื่อแลกคะแนนเพียงไม่กี่คะแนน แต่อีกมุมหนึ่งก็ถือเป็นการคืนกำไรเล็กๆ น้อยๆ จากผู้ค้าน้ำมันก็แล้วกัน