โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากกว่า 4,685 โครงการ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงดำเนินการมาตลอดที่ทรงครองสิริราชสมบัติกว่า 70 ปี
หนึ่งในนั้นที่คนกรุงเทพฯ สัมผัสและจับต้องได้ก็คือ "การแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานคร"
ไม่ว่าพระองค์จะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเมื่อใด ก็จะทรงห่วงใยชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกร เฉกเช่นเมื่อครั้ง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ “สมเด็จย่า” ทรงพระประชวร และเสด็จฯ มาประทับที่โรงพยาบาลศิริราช
ระหว่างที่พระองค์เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยม ได้ทอดพระเนตรจากโรงพยาบาลศิริราช ไปทางสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า พบว่ารถที่จะขึ้นสะพานมีจำนวนมาก การจราจรติดขัดตั้งแต่ถนนราชดำเนินกลาง ยาวไปถึงถนนหลานหลวง
และเมื่อมองมายังฝั่งธนบุรี สะพานข้ามทางแยกอรุณอมรินทร์ และแยกบรมราชชนนีมีระยะทางใกล้กัน รถที่ลงจากสะพานอรุณอมรินทร์เบี่ยงเข้าช่องซ้ายไปยังถนนบรมราชชนนีได้ลำบาก
ต่อมา พระองค์ทรงพระประชวร เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ก็ได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับโครงข่ายถนนจตุรทิศ สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มอีก 1 แห่ง และทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี
กระทั่งมีการก่อสร้าง ทางคู่นานลอยฟ้าบรมราชชนนี ต่อด้วยสะพานพระราม 8 และพัฒนาโครงข่ายถนนจตุรทิศ โดยใช้ถนนราชดำเนินนอก ถนนศรีอยุธยา และสร้างถนนแนวใหม่เหนือบึงมักกะสัน ไปถึงถนนพระราม 9
ปัจจุบัน ทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี สะพานพระราม 8 โครงข่ายถนนจตุรทิศ ช่วยบรรเทาปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ ในชั่วโมงเร่งด่วนยังประยุกต์โดยจัดการจราจรแบบพิเศษ ถึงชานเมืองภายในเวลา 15 นาที
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกแห่งหนึ่งก็คือ "ถนนวงแหวนอุตสาหกรรม" หรือ "สะพานภูมิพล 1 และ สะพานภูมิพล 2" เชื่อมระหว่างถนนสุขสวัสดิ์ ฝั่งพระประแดง, ถนนปู่เจ้าสมิงพราย ฝั่งสำโรง และถนนพระราม 3
พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมทางหลวงชนบทสร้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรเขตอุตสาหกรรมในย่านนี้ และทรงติดตามโครงการนี้ระหว่างการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด
เมื่อเปิดให้สัญจรไปมา ประชาชนและภาคธุรกิจในกรุงเทพฯ และ จ.สมุทรปราการ เดินทางสะดวกขึ้น แบ่งเบาภาระสะพานพระราม 9 บนทางด่วนเฉลิมมหานครอย่างเห็นได้ชัด และยังไม่จำเป็นต้องใช้แพขนานยนต์ที่พระประแดงอีก
หากย้อนกลับไปในอดีต ถนนรัชดาภิเษกที่ปัจจุบันกลายเป็นย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพฯ ก็เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ถือเป็น “ถนนวงแหวน” ต้นแบบเลยก็ว่าได้
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2513 พระองค์ได้มีรับสั่งถาม พ.ท.ประถม บุรณศิริ ผู้อำนวยการกองวางแผน กรมทางหลวง ในสมัยนั้น ว่า จะจัดระบบทางหลวงอย่างไร จึงจะรับมือปัญหาการจราจรของกรุงเทพฯ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
พ.ท.ประถม ได้กราบบังคมทูล ว่าการแก้ไขปัญหาสมควรที่จะใช้ระบบ Ring & Radial คือต้องมีวงแหวนรอบกรุงเทพฯ และมีถนนออกจากศูนย์กลางไปรอบตัวตัดกับวงแหวนเหล่านั้น
โดยกำหนดให้เป็นทางหลวงที่ควบคุมการเข้า-ออก (Access Controlled) และตรงจุดตัดที่สำคัญจะทำเป็นทางแยกต่างระดับทุกแห่ง จากนั้นพระองค์มีพระราชดำริเห็นชอบด้วย และยังทรงพระราชทานข้อเสนอแนะเพิ่มเติมบางประการ
มาถึงปี พ.ศ. 2514 รัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร ได้เข้าเฝ้าเพื่อกราบบังคมทูลเรื่องพระราชพิธีรัชดาภิเษก เนื่องในวโรกาสที่พระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 25 ปี ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2514
พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการจัดระบบจราจรทางบก (คจร.) กล่าวว่า รัฐบาลจอมพลถนอม กราบบังคมทูลว่าจะขอสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ถวายแด่พระองค์ แต่พระองค์ทรงรับสั่งว่า
“ขอเถิดอนุสาวรีย์อย่าเพิ่งสร้าง สร้างถนนดีกว่า สร้างถนน เรียกว่า วงแหวน เพราะมันเป็นความฝัน เป็นความฝันมาตั้งนานแล้ว เกือบ 40 ปี อยากสร้างถนนวงแหวน…”
ถนนวงแหวนจึงสร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริ หลังจากที่ทรงได้เห็นแบบอย่างการจราจรในประเทศสหรัฐอเมริกา คราวที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนอย่างเป็นทางการ
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 16 มีนาคม พ.ศ. 2514 ให้จัดสร้าง “ถนนวงรอบ” ขึ้น เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในวโรกาสพระราชพิธีรัชดาภิเษก
โดยได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานชื่อถนนวงรอบว่า “ถนนรัชดาภิเษก”
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงวางศิลาฤกษ์ที่สะพานกรุงเทพ ตัดกับถนนเจริญกรุง เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2514
การก่อสร้างใช้แนวถนนเดิม เช่น ถนนวงศ์สว่าง สะพานพระราม 7 ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนมไหสวรรย์ สะพานกรุงเทพ ถนนนางลิ้นจี่ตอนปลาย สลับกับการตัดถนนสายใหม่เชื่อมถึงกัน และมีพิธีเปิดถนนรัชดาภิเษกใน พ.ศ. 2519
แต่ในตอนนั้น การตัดถนนรัชดาภิเษกมีอุปสรรค เพราะยังไม่ครบวง โดยเฉพาะช่วงแยกอโศก ถึงถนนพหลโยธิน รัฐบาลชุดต่อมาได้เร่งรัดดำเนินการก่อสร้างจนเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2536
มาถึง "ถนนวงแหวนรอบนอก" เดิมเคยมีถนนสายตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี และต่อมาถึงได้มีถนนบางบัวทอง-บางขุนเทียน กระทั่งมีการก่อสร้างถนนบางปะอิน-บางบัวทอง เชื่อมเข้ามาอีกเส้นหนึ่ง ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2538
ในปี พ.ศ. 2539 กรมทางหลวงขยายถนนช่วงบางบัวทอง-บางขุนเทียน เพิ่มจาก 4 ช่องจราจรเป็น 12 ช่องจราจร โดยเพิ่มช่องทางขนานอีก 3 ช่องจราจรทั้งฝั่งขาเข้า และฝั่งขาออก ก่อนจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2543
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตชื่อ “ถนนกาญจนาภิเษก” มาจากพระราชพิธีที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี
กรมทางหลวงจึงได้เปลี่ยนหมายเลขสายทาง จากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 37 มาเป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 9
อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างถนนกาญจนาภิเษก ให้เป็นวงแหวนรอบกรุงเทพมหานครที่สมบูรณ์ ยังคงเป็นอุปสรรค เพราะต้องใช้งบประมาณที่สูง ทั้งเวนคืนที่ดินและก่อสร้างจำนวนมาก
กรมทางหลวงจึงได้ก่อสร้างถนนกาญจนาภิเษก ช่วงบางปะอิน ถึงบางพลี ให้เป็น “ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง” (มอเตอร์เวย์) ระยะทาง 63 กิโลเมตร เปิดใช้ในปี พ.ศ. 2541 โดยจัดเก็บค่าผ่านทางที่ด่านทับช้าง และด่านธัญบุรี
แต่เมื่อถึงช่วงบางพลี ถึงบางขุนเทียน แม้ว่ากรมทางหลวงจะสร้างถนนยกระดับจากทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน ถึงถนนสุขสวัสดิ์รอไว้แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ก่อสร้างในส่วนของทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ต้องใช้งบประมาณที่สูง
กระทั่งมติคณะรัฐมนตรี ให้โอนโครงการวงแหวนกาญจนาภิเษกด้านใต้ ช่วงบางพลี-สุขสวัสดิ์ รวมทั้งช่วงสุขสวัสดิ์-พระราม 2 ที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย รับผิดชอบ
การทางพิเศษฯ ได้ก่อสร้างทางพิเศษช่วงสุขสวัสดิ์-บางพลี และก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกว่า “สะพานกาญจนาภิเษก” เปิดให้สัญจรครั้งแรก วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ก่อนจะเก็บค่าผ่านทาง
ถือได้ว่าในวันนั้น กรุงเทพฯ มีถนนวงแหวนครบทั้ง 2 แห่งโดยสมบูรณ์
แม้การก่อสร้างจะพบกับอุปสรรค แต่ในที่สุด “ถนนวงแหวน” ที่เป็นความฝันของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเมื่อครั้งอดีต เสร็จสมบูรณ์ สร้างประโยชน์สุขแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนจวบจนปัจจุบัน
นอกจากนี้ โมเดล “ถนนวงแหวน” ยังถูกนำมาใช้ในจังหวัดหัวเมืองใหญ่ๆ ที่มีการเจริญเติบโตของเมือง และมีปัญหาการจราจรติดขัด ช่วยให้สามารถเดินทางจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่งของเมืองได้ โดยไม่ต้องผ่านเข้าไปในตัวเมือง
เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ 20 กว่าปีก่อน กรมทางหลวงก่อสร้างถนนวงแหวนเลี่ยงเมืองเชียงใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่บ้านขุนเล อ.หางดง ผ่าน อ.สารภี อ.สันกำแพง อ.ดอยสะเก็ด อ.สันทราย สิ้นสุดที่บ้านดอนแก้ว อ.แม่ริม
ต่อมาได้พัฒนาถนนเลียบคลองชลประทาน ขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจร โดยมีคลองชลประทานเป็นเกาะกลางถนน ให้กลายเป็นถนนวงแหวนรอบนอก (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 121) ระยะทางตลอดทั้งสายรวม 52 กิโลเมตร
เดิมตัวเมืองเชียงใหม่ มีการพัฒนาถนนวงแหวนรอบใน โดยใช้แนวเส้นทางเดิม จากท่าอากาศยานเชียงใหม่ ไปตามถนนมหิดล ถนนซูเปอร์ไฮเวย์ และถนนนิมมานเหมินทร์ แต่ยังติดกองบิน 41 ที่ไม่ได้เปิดให้สัญจรได้ตลอดเวลา
ยังมีอีกหน่วยงานหนึ่ง คือ “กรมทางหลวงชนบท” ได้ก่อสร้างถนนวงแหวนรอบกลาง จากหน้าสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี อ้อมถึงเทศบาลแม่เหียะ พร้อมทางลอด 7 แห่ง ระยะทางรวม 26 กิโลเมตร แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2548
นอกจากนี้ เฉพาะกรมทางหลวง ยังมีอีกหลายจังหวัดที่นำโมเดลถนนวงแหวนรอบเมืองมาใช้เป็นทางเลี่ยงเมือง รวมแล้ว 12 จังหวัด ได้แก่
- เชียงใหม่ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 121)
- พิษณุโลก (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 126)
- อุดรธานี (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 216)
- ขอนแก่น (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 230)
- อุบลราชธานี (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 231)
- ร้อยเอ็ด (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 232)
- บุรีรัมย์ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 288)
- นครราชสีมา (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 290)
- สุพรรณบุรี (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 357)
- สระบุรี (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 362)
- ตรัง (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 419)
- สุราษฎร์ธานี (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 420)
นับเป็นสายพระเนตรอันยาวไกลที่ได้นำรูปแบบ “ถนนวงแหวน” จากต่างประเทศมาใช้ในการพัฒนาเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ให้สามารถเชื่อมโยงระหว่างชานเมืองฝั่งตะวันออก กับฝั่งตะวันตกได้โดยสะดวก
รวมทั้ง เป็นต้นแบบให้จังหวัดต่าง ๆ พัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนมีทางเลือก แบ่งเบาภาระจากถนนสายหลักมากยิ่งขึ้น และกระจายความเจริญเติบโตสู่รอบนอกของจังหวัดหัวเมืองมากขึ้น.