ในยุคที่ทุกสิ่งทุกอย่างมาอยู่บนหน้าจอมือถือ ทุกคนเสพติดข่าวสารจากเฟซบุ๊กหรือไลน์มากเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อมีเหตุบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกสะเทือนใจ แล้วมีเลขบัญชีเข้ามาเกี่ยวข้อง ชาวเน็ตที่รู้สึกสงสารก็มักจะโอนเงินให้ทันที
ทั้ง ๆ ที่บางครั้งอาจกลายเป็นเรื่อง “โอละพ่อ” เพราะที่บรรยายออกมาผ่านตัวหนังสือ พอมาดูสภาพที่แท้จริงกลายเป็นคนละเรื่อง
ไม่ต่างอะไรกับแชทหาผู้หญิงหน้าตาดี พอมาเจอตัวจริง “ปลวก” ยังต้องเรียกพี่
กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นใน จ.นครปฐม มีเว็บไซต์ “ข่าวสดปลอม” ที่หนังสือพิมพ์ข่าวสดตัวจริงยังปวดหัวว่าใครทำ เขียนข่าวว่า
“เด็กคนหนึ่งไม่มีแม้แต่เงินทำป้ายหน้าศพให้พ่อ ไม่มีเงินใส่ซองพระ พระไม่มาสวด เหลือตัวคนเดียว”
กระทั่งมีคนนครปฐมที่เห็นข่าวนี้แล้วรู้สึกสะเทือนใจ ประกาศเปิดรับบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือเด็กคนนี้ โดยใช้บัญชีตัวเองที่ทำอาชีพค้าขายนี่แหละ แล้วคนก็แห่แหนโอนเงินบริจาค
อย่างน้อย ๆ มีคนโอนเงินไปแล้วกว่า 170 คน
คนนครปฐมตัวจริงอีกคนหนึ่ง ไปหาถึงที่งานศพ ปรากฏว่าญาติพาเด็กชายคนที่เป็นข่าวมาแสดงตัว พร้อมกับกล่าวว่า “เว็บไซต์นั้นไปเขียนข่าวแบบนี้ได้ยังไง ทำครอบครัวเขาเสียหาย”
ยืนยันว่า เด็กคนดังกล่าวมีญาติดูแล มีพระภิกษุสงฆ์สวดมนต์ทุกคืน แต่ไม่มีคนฟังเพราะวันนั้นฝนตก แถมยังไฟดับ ส่วนรูปหน้าศพที่ไม่พบนั้น ยังจัดทำไม่เสร็จ และวันนั้นฝนตกจึงออกไปเอาไม่ได้
ส่วนที่บางคนเปิดรับบริจาคเป็นเรื่องเป็นราวนั้น เขาเห็นว่า ข่าวไปไวเดี๋ยวนี้ ตรวจสอบไม่ดี ผู้ใหญ่บ้านที่นี่ก็บอกว่าไม่จริง
หลายคนก็คงได้บทเรียนจากเรื่องนี้ ว่าข่าวปลอมทำความเสียหายมากกว่าที่คิด แต่สำหรับคนบริจาค ถ้าคิดแบบไม่ใจแคบ นึกเสียว่าให้เงินไปเป็นทุนการศึกษาแก่น้องเขาก็แล้วกัน
ทั้ง ๆ ที่บ้านเรายังมีเด็กด้อยโอกาสอีกมาก แต่สื่อรายงานไปแล้ว ยังไม่เข้าถึงอารมณ์คนบริจาค
เรื่องนี้ คนนครปฐมที่เปิดรับบริจาค ถ้ามีเจตนาบริสุทธิ์ใจไม่มีอะไรแอบแฝง ให้เงินน้องเขาทุกบาททุกสตางค์นั้นไม่ผิด เด็กคนนั้นไม่ผิด คนที่รู้ความจริงไม่ผิด ขนาดคนทำข่าวยังงงอยู่เลยว่า คนทำเว็บปลอม ข่าวปลอม ไปเอาประเด็นน้องเขามาจากไหน
ผิดที่ “ข่าวปลอม” กับ “เว็บปลอม” ที่ทำให้เว็บไซต์ตัวจริงยังปวดหัว
ทุกวันนี้มีค่ายสื่อยักษ์ใหญ่อย่างข่าวสด หรือ ไทยรัฐ ประสบปัญหาข่าวปลอม โดยแอบอ้างเป็นเว็บไซต์ข่าวชื่อดังเพื่อความน่าเชื่อถือ แล้วตำรวจ ปอท. ยังจับกุมคนทำเว็บปลอมมาดำเนินคดีไม่ได้
ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกว่า “คนเราบริโภคสื่อกันมากขึ้น แต่ยังขาดความรู้เท่าทันสื่ออีกเยอะมาก”
การเปิดรับบริจาคกรณีนี้ ลักษณะคือเอาบัญชีธนาคารที่มีอยู่มาเปิดให้ผู้มีจิตศรัทธาโอนเงิน กรณีนี้เป็นธนาคารกสิกรไทย ที่มีผู้ใช้แอปพลิเคชั่นอันดับ 1 ในกลุ่มธนาคาร พบว่าเกือบทั้งหมดโอนเงินผ่านแอปพลิเคชั่น
ทีนี้ ด้วยความนึกอยากรู้ว่า คนเราเวลาทำบุญผ่านโซเชียล เขาทำบุญกันเท่าไหร่ ก็เลยลองเอารายชื่อคนที่บริจาคเงินในกรณีนี้ เป็นกลุ่มตัวอย่าง 178 คน ยอดเงินบริจาครวม 43,370 บาท
พบว่า มีคนบริจาคต่ำสุด 80 บาท สูงสุด 1,000 บาท
และเมื่อนำรายชื่อ จำนวนเงินทั้งหมดมาวิเคราะห์ พบว่ามีคนบริจาคเงิน 100 บาท มากที่สุดถึง 63 คน คิดเป็น 35% หรือคิดเป็นจำนวนเงินรวมกันก็ 6,300 บาท
รองลงมาคือ บริจาคเงิน 200 บาท 58 คน แม้คนจะน้อยกว่า แต่จำนวนเงินรวมกัน 11,600 บาท คิดเป็น 33%
อันดับ 3 บริจาคเงิน 500 บาท 22 คน จำนวนเงินรวมกัน 11,000 บาท คิดเป็น 12%
อันดับ 4 บริจาคเงิน 300 บาท 22 คน จำนวนเงินรวมกัน 6,600 บาท คิดเป็น 12%
ส่วนคนที่บริจาคเงิน 1,000 บาท มีอยู่ 4 คน จำนวนเงินรวมกัน 4,000 บาท คิดเป็น 2% เท่านั้น
แม้ผลการสำรวจจะเป็นกลุ่มตัวอย่างเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้น แต่เมื่อมองตามความเป็นจริงสะท้อนให้เห็นว่า ยุคนี้คนเราทำบุญง่ายดาย
เพราะอิทธิพลของสมาร์ทโฟน ที่มีคนเสพข่าวจากเฟซบุ๊ก จากไลน์ รวมทั้งธุรกรรมทางการเงิน มีแอปพลิเคชั่นธนาคาร
ทำให้คนเราโอนเงินหากันได้อย่างง่ายดายเพียงไม่กี่วินาที พร้อมหลักฐานเป็นอี-สลิป (E-Slip) เป็นไฟล์รูปภาพสำหรับส่งต่อหรือแชร์ถึงกันได้ด้วย
ด้วยความง่ายแบบนี้เอง คนก็เลยแห่กันทำบุญผ่านช่องทางนี้กันเพียบ
และเมื่อคนบริจาคเงิน 100 - 200 บาทมากที่สุด รวมกัน 58% สะท้อนให้เห็นว่า คนเราสบายใจที่จะทำบุญด้วยจำนวนเงินเพียงเท่านี้ โดยที่ไม่ต้องคิดอะไรมาก
เพราะการทำบุญแบบนี้ เหมือนการเรี่ยไรทั่วไป ไม่มีใบเสร็จรับเงิน ลดหย่อนภาษีไม่ได้
อีกประการหนึ่ง สิ่งที่น่าวิเคราะห์ก็คือ คนที่ประกาศขอรับบริจาคเงิน หรือคนที่บริจาคเงิน จะต้องมีความรู้สึกว่าตัวเองรับรู้เรื่องราวจากข้อความแล้วรู้สึกสะเทือนใจ แล้วตัดสินใจโอนเงินเพื่อบริจาคทันที
แล้วทีนี้ พอเรื่องราวมันไม่เป็นเช่นนั้น เพราะข่าวที่เผยแพร่ดันเป็นข่าวปลอม สะท้อนให้เห็นว่า คนเราบริโภคสื่อมากขึ้น รับรู้เรื่องราวมากขึ้น โดยที่ไม่รู้ว่าในเวลานั้นอะไรจริง อะไรไม่จริง
แต่เมื่อน้องคนนี้ พ่อเสียชีวิตจริง แม่แยกทางไปนานแล้ว อาศัยอยู่กับปู่ ญาติพี่น้อง
อาจเกิดความรู้สึกว่า “ยังน่าสงสาร” อยู่ดี คนบริจาคส่วนใหญ่อาจยังไม่เสียความรู้สึก
อย่างไรก็ตาม จากบทเรียนที่เสพข่าวความน่าสงสาร ทั้งต่อคน และสัตว์เลี้ยงพวกหมา แมว และมีการขอรับความช่วยเหลือ พบว่า การบริจาครูปแบบนี้ ถ้าไม่ได้ทำกันเป็นเรื่องเป็นราว มีองค์กรหรือคณะกรรมการดูแล ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นเพียงแค่ช่วงที่ปรากฎเป็นเรื่องราว ผ่านไปนานๆ เรื่องพวกนี้ก็จะถูกลืมไปหมดแล้ว
เพราะโลกโซเชียลเดี๋ยวนี้มาไว ไปไว กระแสอะไรมาก็จะเกิดขึ้นไม่นาน ไม่มีความยั่งยืนเท่าที่ควร
โลกโซเชียล คือการเชื่อมต่อคนที่ไม่รู้จักกันให้รู้จักกัน กับคนที่รู้จักกันแต่ไม่ชอบขี้หน้าให้ห่างจากกัน ด้วยการ Unfriend หรือ Block การทำบุญลักษณะแบบนี้ ต้องแยกแยะให้ได้ว่า มีทั้งคนที่มีเจตนาบริสุทธิ์จริง ๆ กับคนที่เป็นมิจฉาชีพ
พูดกันโดยรวม อยากจะให้คนที่จะทำบุญ ระมัดระวังและรอบคอบกันให้มากๆ เพราะอาจจะมีคนหยิบฉวยความน่าสงสารมาหลอกลวง ให้คนโอนเงินเข้าบัญชี แล้วเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง สุดท้ายปิดเฟซบุ๊กหนี
ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นมาแล้วกับกรณีบริจาคเงินที่เป็นคดีความก่อนหน้านี้ ไม่ต่างอะไรกับพวกแชร์ลูกโซ่ หรือพวกกลุ่มใบ้หวยแอบอ้างเป็น ผอ.กองสลาก ใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางหลอกลวง พอได้เงินจำนวนหนึ่งก็ปิดเฟซบุ๊กหนี มีการแจ้งความและจับกุมไปแล้วก่อนหน้านี้
สิ่งที่ต้องระวังก็คือ สำหรับคนที่เปิดรับบริจาค ควรที่จะพิสูจน์เรื่องราวว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่เสียก่อน การใช้บัญชีธนาคาร และการเปิดเผยยอดเงินบริจาคควรทำอย่างโปร่งใส มีการเปิดเผยรายการเดินบัญชีสม่ำเสมอ
ส่วนคนที่คิดจะบริจาค ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ควรที่จะตรวจสอบเรื่องราวว่าจริงหรือไม่กับผู้ได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งคนที่เปิดรับบริจาคน่าเชื่อถือหรือไม่ แล้วถึงค่อยตัดสินใจ เงินจะได้ไปถึงความช่วยเหลือนั้น ๆ
เงินที่บริจาคจะได้ไม่สูญเปล่า และไม่เสียความรู้สึกไปด้วย.