เป็นข่าวกรอบเล็กๆ ชิ้นหนึ่งที่คิดว่าในอนาคตอันใกล้ทุกคนจะต้องตื่นตัวแน่ เมื่อวันก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2560
หนึ่งในนั้น คือการหารือเรื่องการเพิ่มตัวเลขของเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐาน (เบอร์บ้าน) จาก 9 หลัก เป็น 10 หลัก เพื่อขยายเบอร์บ้านอีก 100 ล้านเลขหมาย และเบอร์มือถืออีกกว่า 760 ล้านเลขหมาย
โดยเบอร์บ้านจะต้องใส่เลข 1 เพิ่มเข้าไปหลัง เลข 0 จะทำให้หมายเลขโทรศัพท์บ้านในกรุงเทพปริมณฑลขึ้นต้นด้วย 012 และต่างจังหวัดขึ้นต้นด้วย 013 , 014, 015 และ 017 เป็นต้น
เช่น เบอร์โทรศัพท์ของกองบรรณาธิการ MGR Online หมายเลข 02-629-4488 ก็จะต้องเปลี่ยนเป็น 012-629-4488 แทน มองดูแล้วแม้มองผิวเผินจะไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเพราะจำเพิ่มอีกเลขตัวเดียว
ในโซเชียลต่างฮือฮากันว่า ประยุทธ์จะเปลี่ยนเบอร์บ้าน ทำเอาบางคนโวยวายด่ารัฐบาลไปตามเรื่อง แต่แท้ที่จริงแล้ว กสทช. กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และทีโอทีเขา “คุยกันมานานแล้ว”
เพียงแต่ประยุทธ์บอกว่า การปรับโครงสร้างด้านดิจิทัล ต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ เพราะจะช่วยให้คนเข้าถึงข้อมูลอย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้สังคม
สรุปคือ ... ประยุทธ์แกโดนด่าฟรี
จริงๆ แล้วต้องมาดูเบื้องหลังมาจาก ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 13/2560 เมื่อ 11 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา ก็มีการพูดถึงเรื่องนี้เช่นกัน
แต่ก่อนอื่น ... ปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันก็คือ เบอร์บ้านขึ้นต้นด้วย 02 กำลังจะขาดแคลน!
หลายคนอาจมองว่า เดี๋ยวนี้ไม่มีใครใช้เบอร์บ้านกันแล้ว แต่ในความเป็นจริง ถึงแม้คนธรรมดาจะหันมาใช้เบอร์มือถือติดต่อกัน แต่ภาคธุรกิจเกิดใหม่จำนวนมาก ต่างก็ต้องการเบอร์พื้นฐาน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ
ทีนี้ ผู้ประกอบการเบอร์พื้นฐาน หรือเบอร์บ้าน ไม่ใช่มีแค่ทีโอทีกับทรู หรือทีทีแอนด์ที (เจ๊งแล้ว) ในอดีต แต่ยังมีผู้ให้บริการหน้าใหม่ที่มาจากเน็ตบ้านเข้ามาแย่งชิงเลขหมาย เช่น ทรูอินเตอร์เน็ต สามบีบี และ กสท.โทรคมนาคม
หลังวันที่ 29 ต.ค. 2560 ถึงแม้ทรูต้องยกเบอร์บ้านขึ้นต้นด้วย 026, 027, 028 และ 029 ให้ทีโอทีดูแลเพราะหมดสัมปทาน แต่ทรูอินเตอร์เน็ตก็ยังมีเบอร์บ้านขึ้นต้นด้วย 020 และ 021 เหลืออยู่อย่างน้อย 1.3 ล้านเลขหมายให้บริการ
ในที่ประชุม กทค. เขาถกเถียงกันว่า รหัส 02 กำลังจะขาดแคลนแล้ว เลยคิดว่าจะเอารหัส 04 (ภาคอีสาน) ที่ยังเหลืออยู่ เช่น 046, 047, 048 และ 049 รวมแล้ว 4 ล้านเลขหมาย เอามาใช้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มจากรหัส 02
ทีนี้ กรรมการ กสทช. อย่าง ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ เห็นว่า ที่ผ่านมาเลขหมายเบอร์บ้านเหลืออีกเยอะ แต่ถูกเว้นเลขหมายเพราะจัดระเบียบไม่เป็นระบบ ที่น่ากังวลคือ ถ้าจะกระโดดเอารหัส 04 มาใช้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะสับสนหรือไม่?
เขาเสนอว่า ถ้ารหัส 02 ไม่พอ ให้เอารหัส 03 (ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก) ที่ยังไม่ได้ใช้ ได้แก่ 030 และ 031 รวมแล้ว 2 ล้านเลขหมายให้ใช้ไปก่อนได้ แล้วค่อยมากระโดดรหัส 04
ที่น่าสนใจคือ "หมอลี่" นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. อีกคนหนึ่ง เห็นว่า แผนที่ กสทช. จะเอามาใช้นั้นเป็นมาตรการชั่วคราว เพราะมีเป้าหมายที่จะเพิ่มเลขหมายเบอร์บ้าน จาก 9 หลักเป็น 10 หลักอยู่แล้ว
ในช่วงเปลี่ยนผ่าน กสทช. ได้หารือกับกระทรวงดิจิตอลฯ กับทีโอทีอย่างต่อเนื่อง โดยทีโอทีจะต้องอัปเกรดชุมสายให้ทันสมัยอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือ เบอร์บ้านกับเบอร์มือถือเริ่มขาดแคลน
ทีแรก กสทช. จะเอารหัส 03 มาใช้ ซึ่งมีอยู่ 2 ล้านเลขหมาย แต่ไม่แน่ใจว่าถึงปี 2564 จะพอหรือไม่ จึงเลือกหมวดที่มีความมั่นใจว่าจะจัดสรรเพียงพอ เพื่อประชาสัมพันธ์ไปในคราวเดียว
ท้ายที่สุด มติที่ประชุมให้เห็นควรเพิ่มรหัส 030 และ 031 บรรจุในแผนเลขหมายโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) โดยให้สิทธินำไปใช้ก่อน เนื่องจากมีความต่อเนื่องใกล้เคียงกับหมวด 02 เดิม
อาจมีคนสงสัยว่า การเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์บ้านจาก 9 หลักจะเริ่มได้ตอนไหน?
กระบวนการนี้ กสทช. จะมอบหมายให้ทีโอที ปรับปรุงโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี หลังจากนั้น กสทช. จะเสนอสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) บริหารจัดการคลื่นไม่ให้รบกวนกันอีก 2 ปี
คาดว่าภายในปี 2564 จะประกาศเพิ่มเลขหมายเบอร์บ้านเสร็จสิ้น ผู้ใช้งานจะสามารถใช้เบอร์เก่าและเบอร์ใหม่ที่เพิ่มหมายเลขควบคู่กันได้ทั้ง 2 เบอร์ก่อน เป็นเวลา 1 เดือน จากนั้นถึงจะเปลี่ยนใช้เบอร์ใหม่ถาวร
ย้อนกลับไปเมื่อ 11 ปีก่อน เราเคยเปลี่ยนเบอร์มือถือจาก 9 หลัก เป็น 10 หลัก โดยเพิ่มเลข 8 ลงไป เช่น จาก 01 เป็น 081 เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2549 หลังผู้ใช้มือถือเพิ่มขึ้น จนปะปนกับรหัสโทรศัพท์ทางไกล
ช่วงนั้น ค่ายมือถือทั้ง 3 ค่าย ใช้วิธีให้ลูกค้าโทรออกเบอร์มือถือ 9 หลัก และ 10 หลักควบคู่กันเป็นเวลา 3 เดือน กระทั่งหลังวันที่ 1 ธ.ค. 2549 จะโทรออกเบอร์มือถือต้องกดเบอร์ 10 หลักเท่านั้น
ในตอนนั้นค่ายมือถืออำนวยความสะดวกด้วยการติดตั้งโปรแกรมแปลงเบอร์มือถือจาก 9 หลักเป็น 10 หลักลงในซิมการ์ด (สมัยนั้นอินเตอร์เน็ตมือถือยังเป็น Wap อยู่เลย) ให้สามารถแปลงโดยอัตโนมัติ
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงในคราวนั้น ประชาชนและภาคธุรกิจต้องเปลี่ยนข้อมูลส่วนตัวกันเยอะ ทั้งเปลี่ยนนามบัตร เปลี่ยนโฆษณาเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือเปลี่ยนหัวใบเสร็จ (ถ้ามี)
แต่การเปลี่ยนเบอร์บ้านที่อาจจะมีขึ้นในปี 2564 คงต้องเปลี่ยนกันวุ่นวาย โดยเฉพาะนิติบุคคลต้องพิมพ์นามบัตร พิมพ์หัวกระดาษ หัวใบเสร็จ แม้กระทั่งเปลี่ยนโฆษณาองค์กรซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ (ยกเว้นบางองค์กรมีเบอร์สายด่วน 4 หลัก)
คงต้องดูกันต่อไปทั้งฟากฝั่ง กสทช. กระทรวงดิจิตอลฯ รวมถึงภาครัฐในเวลานั้นจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างไร สิ่งสำคัญก็คือ ประชาชนและภาคธุรกิจ อย่าเพิ่งรีบตื่นตัวมากไป
นับนิ้วดูแล้ว อย่างน้อยอีก 4 ปีนู่นถึงจะเปลี่ยนเบอร์บ้านใหม่เป็น 10 หลัก ถึงเวลาเดี๋ยวภาครัฐ และ กสทช. เขาจะบอกล่วงหน้าเอง
ใครพิมพ์นามบัตร พิมพ์หัวกระดาษ หัวใบเสร็จเอาไว้ก็ใช้แบบเดิมไปก่อน ไม่ต้องรีบ.