รหัสคิวอาร์ (Quick Response Code) หรือคิวอาร์โค้ด แม้จะมีบทบาทในเมืองไทยมาได้สักระยะ โดยเฉพาะการใช้ควบคู่กับสมาร์ทโฟนในการเข้าถึงข้อมูล รวมทั้งเชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะแอปพลิเคชั่นไลน์ (Line)
แต่สำหรับธุรกรรมทางการเงิน แม้เราจะพบเห็นฟังก์ชั่นคิวอาร์โค้ดในแอปพลิเคชั่นของธนาคารหรือกระเป๋าเงิน (Wallet) การโอนเงิน รับเงิน ชำระเงิน หรือแม้กระทั่งฝากเงินเข้าบัญชี แต่ก็เป็นไปในลักษณะ “ต่างคนต่างทำ”
การบูรณาการระบบชำระเงิน จึงเป็นหน้าที่ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่พยายามกำหนดนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน (Regulatory Sandbox) ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
หนึ่งในนั้นก็คือ “ระบบคิวอาร์โค้ด” ที่เมื่อเร็วๆ นี้ได้แถลงความร่วมมือการใช้มาตรฐานคิวอาร์โค้ดเพื่อการชำระเงิน ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย เครือข่ายรับบัตรชั้นนำระดับโลก 5 แห่ง และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางการเงิน
คาดว่าการชำระเงินผ่านระบบคิวอาร์โค้ด จะสามารถใช้ได้ภายในไตรมาส 4 ของปี 2560
แต่ที่ไม่ต้องรอก็คือ “พร้อมเพย์คิวอาร์โค้ด” (PromptPay QR Code) รหัสคิวอาร์โค้ดสำหรับรับเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ ที่ลงทะเบียนผูกเลขที่บัญชีธนาคาร กับเลขที่บัตรประชาชนหรือเบอร์มือถือเอาไว้
ธนาคารไทยพาณิชย์ คิกออฟเป็นรายแรก ด้วยการให้วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ติดป้ายห้อยคอพร้อมเพย์คิวอาร์โค้ด เพื่อให้ลูกค้าจ่ายค่าโดยสารแทนเงินสด นำร่องกับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง 200 คันทั่วกรุงเทพฯ
พร้อมเพย์คิวอาร์โค้ดรหัสนี้ ไม่ได้จำกัดเพียงแค่แอปพลิเคชั่น SCB Easy เวอร์ชั่นล่าสุดเท่านั้น แต่ยังรองรับแอปฯ ของธนาคารอื่น ที่ใช้ได้ก็มีธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และ ล่าสุดธนาคารธนชาต
ส่วนธนาคารกสิกรไทย ได้เปิดตัวแอปพลิเคชั่น K-PLUS SHOP สำหรับร้านค้า รับจ่ายเงินด้วยคิวอาร์โค้ด นำร่องสยามสแควร์ ตลาดนัดจตุจักร และเดอะแพลทินัม แฟชั่นมอลล์ ประตูน้ำ
ในข่าวประชาสัมพันธ์ ระบุว่า ลูกค้าสามารถใช้ฟีเจอร์อ่านคิวอาร์โค้ด ที่อยู่บนแอปพลิเคชั่นโมบายแบงกิ้งใดก็ได้ ยิงที่คิวอาร์โค้ดของร้านก็สามารถชำระเงินให้กับร้านค้าได้ทันที
อย่างไรก็ตาม สำหรับธนาคารอื่นที่มองเห็นโอกาสตรงนี้ ได้พยายามสร้างเครื่องมือให้ลูกค้าสามารถสร้างคิวอาร์โค้ดไปใช้ในกิจการเล็ก ๆ ของตนเอง เช่น ร้านค้า ร้านอาหารขนาดเล็ก ร้านขายของตามตลาดนัดต่าง ๆ
เพราะเป็นวิธีรับเงินจากลูกค้าที่มีต้นทุนต่ำมาก เพียงแค่พิมพ์สติกเกอร์ หรือกระดาษรูปคิวอาร์โค้ดติดไว้หน้าร้าน ถูกกว่าการติดตั้งเครื่องรูดบัตรที่เสียค่าธรรมเนียมหลายต่อ ทั้งค่าเช่าเครื่อง และหักเปอร์เซ็นต์การรับบัตรเสียอีก
เช่น ธนาคารกรุงไทย ได้เพิ่มเมนู “สร้าง QR CODE เพื่อรับเงิน” ในแอปพลิเคชั่น KTB Netbank โดยกรอกหมายเลขพร้อมเพย์ (เลขที่ประจำตัวประชาชน หรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือ) เพื่อสร้างคิวอาร์โค้ดเป็นไฟล์รูปภาพได้ทันที
นอกจากนี้ ยังมีสตาร์ทอัพร้านค้าออนไลน์ฝีมือคนไทยอย่าง Page 365 ได้สร้างเว็บไซต์ https://promptpay.io/ เพื่อใช้สร้างคิวอาร์โค้ดโดยเฉพาะ รวมทั้งยังส่งคิวอาร์โค้ดให้เพื่อนในโปรแกรมแชทได้ทันที
แต่การนำไปใช้ จำเป็นต้องคำนึงถึงวิธีการพิมพ์คิวอาร์โค้ดให้สามารถใช้งานได้โดยไม่ติดขัด เช่น ความละเอียดของภาพคิวอาร์โค้ด ไม่ควรต่ำกว่า 300 DPI สำหรับการพิมพ์ และไม่เกิน 72 DPI สำหรับหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ไม่ใช่แค่ประเทศไทย ที่ตื่นเต้นกับการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด
ที่สิงคโปร์ นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง กล่าวปราศรัยเนื่องในวันชาติสิงคโปร์ ว่า จะพยายามบูรณาการระบบชำระเงินร่วมกันเพื่อลดความซับซ้อน และเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ประเทศอัจฉริยะ (Smart Nation)
เขายกตัวอย่างเมื่อครั้งไปเยือนนครเซี่ยงไฮ้ของจีนเมื่อสองปีก่อน เขาเห็นประชาชนซื้อเกาลัดที่ร้านของชำริมถนนโดยไม่ใช้เงินสด แต่ใช้คิวอาร์โค้ดจากแอปพลิเคชั่น WeChat
“ในเมืองใหญ่ของจีน เงินกลายเป็นสิ่งล้าสมัย บัตรเครดิตและบัตรเดบิตจะใช้ยากขึ้น ทุกคนใช้แต่ WeChat Pay หรือ Alipay ชำระเงินเกือบทั้งหมด ทั้งซื้อของว่างตามแผงลอยข้างทาง จ่ายค่าแท็กซี่ หรือแม้กระทั่งให้ทิปพนักงาน
แต่นักท่องเที่ยวจีนมาเยือนสิงคโปร์กลับต้องใช้เงินสด เขาถามกลับว่า “เดี๋ยวนี้สิงคโปร์กำลังจะล้าหลังแล้วหรือ” (How can Singapore be so backward?’)”
ธนาคารกลางของสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore หรือ MAS) เพิ่งเปิดตัวระบบชำระเงิน “เพย์นาว” (PayNow) ไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยใช้เบอร์มือถือ หรือเลขประจำตัวประชาชน เพื่อโอนเงินระหว่างกัน
สำนักงานประเทศอัจฉริยะและรัฐบาลดิจิตอล (Smart Nation and Digital Government Office หรือ SNDGO) กล่าวว่า ภายใน 6 เดือน จะผลักดันระบบคิวอาร์โค้ดให้ผู้บริโภคและธุรกิจขนาดเล็กรับเงินผ่านระบบเพย์นาวได้ง่ายขึ้น
แม้พร้อมเพย์คิวอาร์โค้ดดูเหมือนจะน่าตื่นเต้น แต่สำหรับผู้ใช้พร้อมเพย์รายหนึ่ง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเรา ตั้งข้อสังเกตว่า พร้อมเพย์คิวอาร์โค้ด ต้องใช้กล้องมือถือสแกนอย่างเดียว อัพโหลดรูปคิวอาร์โค้ดไม่ได้
“กรณีช้อปออนไลน์ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ใครจะใช้ เพราะมันจ่ายไม่ได้ ตอนแรกกะเอาให้แบบ ส่งให้ลูกค้ากดโอนได้เลย” เมื่อถามไปว่า แค่กรอกเบอร์โทรจะยากอะไร เขาก็กล่าวว่า “ไม่อยากให้เบอร์โทร”
แน่นอนว่า ความวิตกกังวลหลัก ๆ ที่ไม่ต่างจากในช่วงเปิดบริการพร้อมเพย์ใหม่ ๆ ได้แก่ ความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว หากจะต้องบอกเบอร์มือถือ หรือเลขที่บัตรประชาชนให้คนที่ไม่รู้จัก
แต่สำหรับคนที่มีอาชีพเป็นพ่อค้าแม่ค้า บางคนยอมเปิดเผยเบอร์มือถือเพื่อติดต่อลูกค้าเป็นประจำอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะเป็นปัญหามากนัก นอกเสียจากจะใช้วิธีแยกเบอร์มือถือที่ใช้ทำธุรกิจ กับเบอร์มือถือส่วนตัวแยกออกจากกันต่างหาก
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีคนเห็นว่า ให้สแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อจ่ายเงินเพราะไม่อยากให้เบอร์โทร แต่เอาเข้าจริงหากมีแอปพลิเคชั่นอ่านบาร์โค้ด ยังไงก็สามารถแกะรหัสพร้อมเพย์ โดยเฉพาะเบอร์มือถือหรือเลขที่บัตรประชาชนได้อยู่ดี
รวมทั้งแอปพลิเคชั่นบางธนาคาร เวลาสแกนคิวอาร์โค้ดแล้วจะเข้าไปที่เมนูโอนเงินพร้อมเพย์ ซึ่งจะปรากฏชื่อ นามสกุล และเบอร์มือถือ หรือเลขที่บัตรประชาชนอยู่ดี เพราะฉะนั้นจึงมีประโยชน์ในแง่ของการอำนวยความสะดวก
สอดคล้องกับ นายปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ เปิดเผยกับไทยพีบีเอส ระบุว่า การใช้คิวอาร์โค้ด มีความเสี่ยงว่าเงินในบัญชีอาจหายหรือถูกโอนไปโดยไม่รู้ตัว หากไม่มีทักษะการใช้สมาร์ทโฟนที่ดีพอ
โดยเฉพาะการปล่อยให้บุคคลอื่นเห็น หรือรู้จักรหัส (PIN) 6 หลักเพื่อยืนยันตัวตน
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากการถูกไวรัสโทรจันที่แฝงในแอพลิเคชั่นต่าง ๆ โดยเฉพาะระบบแอนดรอยด์ที่อาจเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล สะสมพฤติกรรมการทำธุรกรรม แล้วไปประมวลผลเป็นบิ๊กดาต้าทางการค้าของธนาคาร
เขาแนะนำให้เก็บรักษาความลับรหัส (PIN) 6 หลักเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการกดรหัสในพื้นที่สาธารณะ และไม่ควรปล่อยให้มียอดเงินในบัญชีออมทรัพย์ ซึ่งผูกกับโมบายแบงก์กิ้งมากเกินไปเพื่อป้องกันความเสี่ยง
ขณะที่ เฟซบุ๊กเพจ Drama-addict ก็แนะให้ระวังมิจฉาชีพที่สวมรอยคิวอาร์โค้ดคนอื่นเป็นของตัวเอง โดยยกตัวอย่างที่จีน มิจฉาชีพแอบเอาสติ๊กเกอร์คิวอาร์โค้ดของตัวเองมาแปะทับของร้านค้าแถวนั้นทุกร้าน
“พอลูกค้าจ่ายเงินซื้อของ เงินไม่เข้าบัญชีแม่ค้าสักราย แต่เข้าบัญชีมิจฉาชีพหมด พอการเงินรูปแบบใหม่มา เดี๋ยวอาชญากรรมรูปแบบใหม่ก็มาแน่ ต้องเตรียมตัวรับมือมันไว้ด้วย”
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เมื่อธนาคารพาณิชย์ต่างส่งเสริมระบบชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดมากขึ้น โดยเฉพาะพร้อมเพย์คิวอาร์โค้ด เราจะได้ก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) เพิ่มมากขึ้นในอนาคตอันใกล้
บางคนเคยผ่านการช้อปออนไลน์ด้วยวิธีต่าง ๆ ทั้งผ่านระบบตะกร้าอีคอมเมิร์ช ชำระผ่านเลขบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต หรือที่ง่ายที่สุด เห็นสินค้าผ่านโซเชียลเกิดถูกใจก็ทักแชท โอนเงินผ่านแอปฯ แล้วส่งอี-สลิปให้แม่ค้าอย่างง่ายดาย
เราอาจจะเคยเห็นร้านสะดวกซื้อชื่อดังอย่าง “เซเว่นอีเลฟเว่น” รับชำระเงินผ่านระบบ Alipay อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวจีน กระทั่งกลุ่มทรูผลักดันให้คนไทยชำระเงินผ่านแอปฯ “ทรูมันนี่ วอลเลท” โดยใช้โปรโมชั่นจูงใจ
หรือร้านค้าชั้นนำก็ใช้ระบบวอลเลทบนสมาร์ทโฟน เชื่อมต่อระหว่างร้านค้ากับเงินอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ร้านกาแฟสตาร์บัคส์ (Starbucks Coffee) ในไทย ก็พัฒนาแอปฯ ให้ผูกบัตรสตาร์บัคส์การ์ด แล้วใช้ชำระเงินโดยไม่ต้องใช้บัตรตัวจริง
ระบบคิวอาร์โค้ดกำลังจะพลิกวิถีชีวิตคนไทย ให้เงินสดกลายเป็นสิ่งล้าสมัยเหมือนอย่างที่จีนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคจะยอมเปิดใจ เปลี่ยนทัศนคติ ใช้สมาร์ทโฟนจ่ายแทนเงินสดเป็นประจำในชีวิตประจำวันหรือไม่
เพราะบางคนยังมองว่าการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องยุ่งยาก เมื่อเทียบกับเงินสด หรือบางคนกลัวความปลอดภัย กลัวถูกแฮกบัญชีธนาคาร กลัวขาดความเป็นส่วนตัว เป็นโจทย์ใหญ่ที่หลายฝ่ายจะต้องพิจารณา.