xs
xsm
sm
md
lg

“หัวก้าวหน้า” กับเสรีภาพในการกราบไหว้

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

เป็นที่ลุ้นกันทั้งสองฝ่ายว่า ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนของนิสิตใหม่แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของปีนี้จะมี “ดราม่า” หรือกลายเป็นเรื่องทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์หรือไม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ ที่มี “เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล” นิสิตคณะรัฐศาสตร์ชื่อดัง รับบทบาทเป็นประธานสภานิสิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เนติวิทย์ที่มีชื่อเสียงมาจากการแสดงบทบาทต่อต้านระบบหรือระเบียบที่เขาเห็นว่าเป็นเรื่องคร่ำครึล้าหลัง มาตั้งแต่ครั้งเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษา

จนเป็น “ขวัญใจ” ของชาวหัวก้าวหน้าทั้งหลาย ซึ่งรวมไปถึงบรรดากลุ่ม “เสื้อแดง” ที่มีแนวคิดในการต่อต้านจารีตหรือขนบประเพณี ที่พวกเขาเห็นหรือเชื่อว่าเป็นตัวขัดขวาง “ประชาธิปไตย” หรือเป็นฐานแห่งอำนาจของฝ่ายจารีต “อำนาจเก่า” ที่อยู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตย

การเคลื่อนไหวของเนติวิทย์ จึงได้รับการติดตามจากคนกลุ่มนี้ รวมถึงสื่อมวลชนที่ไปทาง “สายนี้” ด้วย

ก็ไม่แปลกใจอะไรนักที่ทำไมถึงมี “สื่อมวลชน” ให้ความสำคัญกับพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณซึ่งเป็นประเพณีภายในของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และก็ไม่แปลกใจที่ว่าทำไมจึงเกิดความปั่นป่วนขึ้นในพิธีดังกล่าว เมื่อมีนิสิตในกลุ่มสภานิสิตซึ่งเป็นเพื่อนของเนติวิทย์ พยายามลุกขึ้นมากลางพิธีนั้น จนถูกอาจารย์ท่านหนึ่งเข้าล็อกคอ และอาจารย์อีกท่านพยายามไปยึดโทรศัพท์มือถือจากเด็กที่กำลังถ่ายคลิปไว้

ต้องแยกแยะก่อนว่า สำหรับเรื่องนี้นั้น อาจารย์เองแม้ว่าจะมีเจตนาที่จะควบคุมสถานการณ์ของพิธีการไม่ให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย แต่ก็เป็นฝ่ายผิดที่ “วิธีการ” ที่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ทำให้เรื่องเอิกเกริกบานปลายกลายเป็นเรื่องราวให้เป็นข่าวใหญ่กันไป

ส่วนเรื่องที่ว่าเป็น “กับดัก” ของฝ่ายนิสิตเนติวิทย์และคณะหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่น่าจะคาดหมายกันได้ นับตั้งแต่การยื่นข้อเสนอให้มีพื้นที่สำหรับการถวายสัตย์ปฏิญาณที่ไม่ใช้วิธีการหมอบกราบ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่เล็งเห็นผลได้ว่ายากที่ฝ่ายจุฬาฯ จะตอบรับ เพราะมันจะทำให้เกิดเป็นภาพอันลักลั่นและประดักประเดิด

เมื่อเรื่องมัน “ตั้งเค้า” มาอยู่ ทางฝ่ายอาจารย์เองก็น่าจะคาดหมายและรับมือได้

ดังนั้นการ “รับมือ” ของฝ่ายอาจารย์ ก็คงต้องยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดจริงๆ

อย่างไรก็ตาม บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะมาชี้ผิดชี้ถูกใคร แต่อยากจะตั้งข้อสังเกตถึง “วิธีคิด” บางอย่างของชาวหัวก้าวหน้า ในมุมมองที่เกี่ยวกับ “เสรีภาพ”

ฝ่ายของเนติวิทย์เชื่อว่า การหมอบกราบไหว้ถวายบังคมนั้นเป็นการไม่เสมอภาค ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นเขาจึงเสนอให้เลิกประเพณีการถวายสัตย์ปฏิญาณด้วยการกราบถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล เป็นการยืนคำนับแทน

แต่ต้องไม่ลืมว่า พิธีการดังกล่าวนั้น เป็นพิธีการภาค “สมัครใจ” ไม่มีการบังคับ

ดังนั้นถ้าผู้จัดเขาวางรูปแบบงานไว้อย่างไร ก็เป็น “เสรีภาพ” ของนิสิตแต่ละคนนั่นเองที่จะพิจารณาว่าจะ “เห็นด้วย” กับรูปแบบการจัดงานหรือไม่ ถ้าไม่เห็นด้วย ก็ไม่ต้องเข้าร่วมก็ได้ ซึ่งไม่มีผลต่อการศึกษาแต่อย่างใด

หรือหากเห็นว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณด้วยการยืนคำนับนั้นเป็นอารยะหรือทำให้รู้สึกว่ามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากกว่า และเชื่อว่าแนวคิดของตัวเองนั้นถูกต้อง น่าจะมีคนเห็นด้วยจำนวนหนึ่ง ก็ทำไมถึงไม่จัดพิธีในแบบของตัวเองแยกไปอีกวันหนึ่งเสียเลย ให้ผู้ที่อยากเลือกกราบถวายบังคมก็ร่วมพิธีกับจุฬาฯ ใครอยากใช้วิธียืนคำนับถวายความเคารพ ก็ให้ไปร่วมพิธีกับเนติวิทย์และคณะอีกวันหนึ่ง

การที่จะมาเข้าร่วมในพิธีที่เขาวางรูปแบบไว้แล้วโดยไม่บังคับ แต่มากะเกณฑ์ให้ผู้จัดจะต้องทำตามรูปแบบที่ตัวเองเสนอ หรือปรับให้เหมาะกับตัวเอง อุปมาก็เหมือนคนเดินเข้าไปในร้านซูชิหรือซาซิมิที่เขากินปลาดิบกันอยู่ แล้วโวยวายว่าการกินปลาดิบนั้นไม่ถูกตามหลักสุขอนามัย ขอให้ทำซูชิหรือซาซิมิ “ปลาสุก” มาบริการตัวเองและพรรคพวก

ลองคิดภาพตามดูสิครับว่ามันสมเหตุสมผลหรือไม่

นอกจากนี้ การเข้าไปสร้างความปั่นป่วนในพิธีที่นิสิตส่วนใหญ่เขายินยอมพร้อมใจในการถวายสัตย์ปฏิญาณ ด้วยการกราบถวายบังคมนั้น เป็นการละเมิดต่อ “เสรีภาพ” ของนิสิตที่เห็นด้วยหรือต้องการจะแสดงความเคารพด้วยการกราบถวายบังคมหรือไม่

คนที่เขาแยกแยะว่า การหมอบกราบไหว้บุคคลที่ควรบูชานั้นเป็นความสมัครใจที่มาจากเจตจำนงของความกตัญญูรู้คุณ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับเรื่องสิทธิเสรีภาพหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เลย เขาเพียงแต่อยากแสดงออกซึ่งการถวายความเคารพที่เขาเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีงามเหมาะสม

“เสรีภาพ” ในการหมอบกราบแสดงความเคารพของเขา เป็นสิ่งที่ควรได้รับการเคารพหรือปกป้อง ให้สามารถดำเนินพิธีการดังกล่าวไปตามความเชื่อของเขาโดยไม่ถูกใครเข้ามารบกวนความสงบหรือไม่

การกระทำของฝ่ายก้าวหน้าที่จะบังคับให้คนอื่นต้อง “ก้าวหน้า” หรือมี “เสรีภาพ” มี “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ในแบบที่ตัวเองเห็นดีเห็นควรนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการใช้อำนาจแบบ “เผด็จการ” โดยการก้าวล่วงใน “เสรีภาพ” ทางความคิดความเชื่อของผู้อื่น

ฝ่าย “ก้าวหน้า” ไม่อยากให้คนบังคับให้ตัวเองไปหมอบกราบอย่างไร (ย้ำอีกครั้งว่าเขาก็ไม่ได้ไปบังคับให้นิสิตทุกคนต้องเข้าร่วมพิธี) ฝ่ายที่เชื่อในจารีตประเพณีก็น่าจะมีสิทธิในการหมอบกราบโดยไม่มีใครมารบกวนในพิธีการด้วยเช่นกัน

เพราะการเรียกร้อง “เสรีภาพ” ไม่ควรที่จะเกิดจากการลิดรอนเสรีภาพของผู้อื่น.
กำลังโหลดความคิดเห็น