xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤต UBER ที่เชียงใหม่ “รถวิ่งน้อยลง - รอนาน - จ่ายแพงขึ้น” ฤาอาจถึงยุคขาลง?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


หลังจากที่บริการเรียกรถรับจ้างผ่านแอปพลิเคชันอย่าง "อูเบอร์" (UBER) และ "แกร๊บคาร์" (GRAB CAR) กำลังมีอิทธิพลต่อผู้บริโภคอย่างมากนั้น เราก็มักจะได้ยินข่าวความขัดแย้งกับโชเฟอร์แท็กซี่ หรือรถสาธารณะอื่นๆ และการกวดขันจับกุมจากเจ้าพนักงานขนส่งในข้อหาใช้รถผิดประเภทอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นที่เชียงใหม่ หรือเมืองพัทยา จ.ชลบุรี มักจะมีข่าวว่ากลุ่มผู้ขับขี่รถรับจ้างสาธารณะไปปิดล้อมคนขับรถอูเบอร์อยู่บ่อยครั้ง

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสมาเยือนเชียงใหม่อีกครั้ง ข่าวคราวความขัดแย้งระหว่างโชเฟอร์แท็กซี่ รถแดง กับรถบ้านที่นำมาวิ่งอูเบอร์และแกร๊บคาร์ไม่ค่อยพบเห็น แต่ก็พบว่า รถแดงเริ่มมีการปรับตัวโดยลดการเอารัดเอาเปรียบผู้โดยสารคนไทยน้อยลง ส่วนคนขับรถอูเบอร์และแกร๊บคาร์ก็ปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดจากการถูกปิดล้อมด้วยรถแดงและรถแท็กซี่ เช่น การนัดแนะผู้โดยสารให้ไปขึ้นรถที่จุดเฉพาะ แทนการรอรถจากถนนใหญ่ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกปิดล้อม

ที่สถานีขนส่งอาเขต 3 รถแดงประกาศเสียงตามสายเชิญชวนให้มาใช้บริการด้วยคำว่า “รถแดงราคาประหยัด 20 บาท” พร้อมบอกสถานที่สำคัญ เช่น ตลาดวโรรส ประตูท่าแพ เมื่อสอบถามว่า “ไปแยกรินคำไหม” (ละแวกศูนย์การค้าเมญ่าและถนนนิมมานเหมินทร์) โชเฟอร์เขาชี้ให้ดูแผนที่ว่า ราคา 20 บาท จะไปได้ในรัศมีคูเมืองเชียงใหม่ คือ ถนนบุญเรืองฤทธิ์ และถนนมณีนพรัตน์เท่านั้น จึงตอบคนขับไปว่า “ขอลงที่โรงพยาบาลเชียงใหม่-รามก็แล้วกัน”

จากที่ใช้บริการ เส้นทางของรถแดงคันนี้ เมื่อออกจากสถานีขนส่งอาเขต จะไปตามถนนแก้วนวรัฐ ข้ามสะพานนครพิงค์ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนวิชยานนท์ ผ่านตลาดวโรรส (กาดหลวง) เลี้ยวขวาเข้าถนนท่าแพ เลี้ยวซ้ายที่ประตูท่าแพ ไปตามถนนคชสาร เลี้ยวขวาเข้าถนนราชเชียงแสน ผ่านประตูเชียงใหม่ ต่อด้วยถนนช่างหล่อ แล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนบุญเรืองฤทธิ์ ผ่านโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ ประตูสวนดอก

ปรากฎว่าเมื่อถึงประตูสวนดอก คนขับแจ้งว่าจะไปส่งที่หลังมอ (หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ก่อน เลยเสียเวลานั่งรถไป-กลับตามถนนสุเทพ ผ่านกองบิน 41 มีคนลงจากรถที่กาดต้นพะยอม และย่านหลังมออีก 2 คน แต่ก็พยายามไม่วอกแวกเพราะตกลงไว้แล้วว่าจะลงตรงนั้น ก็ไม่มีปัญหาอะไร กลับมาประตูสวนดอก ถึงจุดหมาย ลงจากรถก็จ่าย 20 บาทแค่นั้น ส่วนคนที่ลงกาดต้นพะยอมและหลังมอรู้สึกจะจ่าย 40 บาท เพราะเห็นผ่านกระจกส่งแบงก์ยี่สิบสองใบ

ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่แฟร์สำหรับเรา เพราะอย่างน้อยคนขับบอกไปตามตรงว่าราคานี้ไปส่งได้แค่ไหน บอกค่าโดยสารก่อนเพื่อตัดสินใจ ดีกว่าต้อนให้ขึ้นรถแล้วตีหัวเข้าบ้านด้วยการฟันค่าโดยสารเกินจริง แต่ถ้าจะเหมาไปที่ไกลๆ เช่น ดอยสุเทพ ไปกัน 4 คน คิดเที่ยวเดียว 400 บาท เพื่อนก็บอกว่ารู้สึกแพงไป แม้คนขับรถแดงจะอธิบายว่า ไม่ต้องเสียเวลาไปลงรถที่หน้าราชมงคลล้านนา แล้วต้องรอให้รถเต็มคันเพื่อขึ้นดอยสุเทพก็ตาม

ขณะที่นักท่องเที่ยวก็มีทางเลือก จากระบบขนส่งมวลชนที่พัฒนาขึ้น เช่น รถประจำทางปรับอากาศ 3 เส้นทาง ของเทศบาลนครเชียงใหม่ ค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย เช่น สาย B1 ไปมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสวนสัตว์เชียงใหม่, สาย B2 ไปท่าแพ และสนามบินเชียงใหม่, สาย B3 ไปสถานีขนส่งช้างเผือก และศูนย์ราชการ แต่ก็มีข้อจำกัดก็คือ ความถี่การให้บริการที่ช้า เส้นทางที่อ้อม รถหมดเพียงแค่ 6 โมงเย็น ทำให้ผู้คนไม่ค่อยนิยมใช้บริการ

นอกจากนี้ การเช่ารถจักรยานยนต์ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของนักท่องเที่ยวที่สนใจ ร้านให้เช่ารถจักรยานยนต์แห่งหนึ่งย่านสถานีขนส่งอาเขต คิดค่าเช่าเริ่มต้นที่ 300 บาทต่อวัน พร้อมหมวกกันน็อก แต่สามารถเดินทางไปได้ทุกที่เท่าที่อำนวย ซิกแซกในช่วงการจราจรติดขัด และถนนซอยขนาดเล็ก เสียเฉพาะค่าน้ำมันประมาณ 140 บาทเท่านั้น แตกต่างจากรถแดงที่ไปเฉพาะจุดต่อจุด หรือหากจะแวะไปหลายจุดก็ใช้วิธีเหมาเป็นรายวัน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูง

มาถึงบริการรถเรียกรถยอดนิยมอย่างอูเบอร์และแกร๊บคาร์ คนที่พำนักในเชียงใหม่เล่าให้ฟังอย่างไม่สู้ดีว่า รถอูเบอร์ช่วงนี้มีน้อย และราคาแพงกว่าแต่ก่อน เนื่องจากเพิ่งจะมีการเรียกสอบประวัติขึ้นมาใหม่ ส่วนค่าโดยสารพบว่า มีการบวกเพิ่มในช่วงที่มีความต้องการมากที่สุด ยิ่งรถน้อย ยิ่งฝนตก รถติด ราคายิ่งแพงขึ้นเป็นทวีคูณ ทำให้อีกตัวเลือกหนึ่งก็คือ แกร๊บคาร์ กลายเป็นบริการเรียกรถที่น่าสนใจในขณะนี้ทันที

ตอนนี้ดูเหมือนว่า แกร๊บคาร์กำลังทำการตลาดในเชียงใหม่อย่างหนัก โดยมีผู้คนนิยมนำรถส่วนตัวออกมาวิ่งให้บริการ ล่าสุดออกแคมเปญสำหรับการชำระเงินที่เรียกว่า "แกร๊บเพย์" (Grab Pay) โดยหักเงินจากบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตผูกบัญชีธนาคารที่ลงทะเบียนไว้ จะได้รับส่วนลด 50 บาททันที หรือจะเป็นการรณรงค์ติดสติกเกอร์ตามสถานบันเทิง เช่น ย่านนิมมานเหมินทร์ ย่านมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ระบุว่า "เมาไม่ขับกลับ Grab" เป็นต้น

วิกฤตอูเบอร์เชียงใหม่ในครั้งนี้ ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นระยะสั้นหรือระยะยาว เพราะไม่มีใครบอกว่ารถที่ผ่านการตรวจประวัติจะเข้ามาอีกเมื่อใด และจำนวนเท่าไหร่ แต่หากปล่อยไว้โดยที่ผู้บริโภคเห็นว่ารถที่มีให้บริการยังน้อย คนที่เห็นว่ามีตัวเลือกในการเรียกรถมากกว่าหนึ่งแอปฯ อาจมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปใช้แกร๊บคาร์แทน นอกจากคนที่ยังเชื่อมั่นในแบรนด์อูเบอร์ อาจจะยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อให้ได้บริการที่ดีกว่าแท็กซี่และรถแดง

นักศึกษารายหนึ่ง (ขอสงวนชื่อและนามสกุล) ที่เคยเรียนเชียงใหม่ แล้วไปต่อปริญญาโทที่กรุงเทพฯ เล่าให้ฟังว่า ตนเรียนหนังสืออยู่กรุงเทพฯ ใช้บริการอูเบอร์เป็นประจำ เพราะมีประสบการณ์ที่เลวร้ายจากแท็กซี่มิเตอร์ ที่พอขึ้นไปแล้วปรากฎว่าแท็กซี่เกิดเพลิงไหม้ห้องเครื่อง แล้วควันลอยเต็มห้องโดยสาร วันหนึ่งเคยเรียกรถอูเบอร์จากจุฬาฯ ไปฝั่งพระนครในราคา 40 บาท สภาพรถยังใหม่ ก็เกิดความประทับใจ แต่ก็ใช้อูเบอร์กับแกร๊บสลับกัน ขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นขณะนั้น

แต่เมื่อกลับมาที่เชียงใหม่ ใช้บริการอูเบอร์ครั้งแรก จากตัวเมืองกลับบ้าน ประมาณ 20 กิโลเมตร จ่ายไปประมาณ 100 บาท เขากล่าวว่าใช้เวลารอรถนาน จากที่เปิดแอปพลิเคชัน มีรถอยู่เพียง 7-8 คัน เมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ จะเห็นรถจำนวนมากวิ่งกันเต็มไปหมด เมื่อถามเขาก็กล่าวว่า สุ่มเสี่ยงกับการถูกขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ตั้งด่านจับ อีกทั้งกลุ่มรถแดงและแท็กซี่ท้องถิ่นไล่ล่า เลยไม่ค่อยมีใครกล้าออกมาวิ่ง ตัวเขาเองก็เพิ่งถูกขนส่งเรียกไปตักเตือนก่อนเสียค่าปรับ

แต่คนขับอูเบอร์มองว่า ไม่ใช่ความผิดของเรา เมื่อคนเขาไม่ปรับปรุงตัว แท็กซี่และรถแดงยังคิดราคาเหมา อีกทั้งคนขับสี่ล้อแดงบางคนขายรถแดงเพื่อมาซื้อรถยนต์ไปขับอูเบอร์แทน โดยขายเป็นรถกระบะดัดแปลงในราคา 3-4 แสนบาท แล้วนำเงินที่ได้ไปดาวน์รถเก๋ง 6-7 แสนบาทเพื่อไปขับอูเบอร์ และหากเทียบกับสมัยก่อน มีงานวิจัยออกมาระบุว่า มีการขายใบอนุญาตในราคา 1 แสนบาท ซึ่งใบอนุญาตต้องวิ่งเต้นและบวกค่าใช้จ่ายพอสมควร

อีกอย่างหนึ่ง เพื่อนของตนเรียกอูเบอร์มารับที่สนามบินเชียงใหม่ ถูกคนขับรถแท็กซี่และสี่ล้อแดงปิดล้อม จึงเตี้ยมว่าให้คนขับรถอูเบอร์เป็นลุงแทน สุดท้ายก็เลยยอมปล่อย เป็นเรื่องที่ป่าเถื่อนและไม่น่าจะเกิดขึ้น กลายเป็นอาชีพต้องห้ามในเมืองเชียงใหม่ คนที่เรียกอูเบอร์คือ คนที่อยู่ในซอย เดินออกมาไม่ได้ และคนที่มีจุดหมายปลายทางที่แน่นอน ต่างจากรถแดงที่เรียกค่าโดยสาร 30 บาทคือราคาที่ต่อรองแล้ว ชาวต่างชาติยังคงจ่ายหลักร้อยบาทเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลอีกด้านหนึ่งเราได้รับ ทั้งจากคนที่พำนักอยู่ในเชียงใหม่ และคนเชียงใหม่ที่เคยขับอูเบอร์ ก่อนจะมาขับแกร๊บคาร์ ได้ความว่า รถอูเบอร์น้อยลงเพราะหลายสาเหตุ นอกจากมีการเรียกสอบประวัติคนขับรถที่มีอยู่เดิมแล้ว อีกส่วนหนึ่งมองว่า แกร๊บคาร์ให้ค่าตอบแทนดีกว่า ปกติเป็นอูเบอร์จะถูกหักส่วนแบ่งรายได้จากค่าโดยสาร 25% เช่น ค่าโดยสาร 200 บาท จะหักส่วนแบ่ง 50 บาท ทำให้บางคนสมัครไว้ 2 บัญชี เลือกเปิดเฉพาะแกร๊บคาร์เท่านั้น

คนขับรถแกร๊บคาร์ ที่เคยขับอูเบอร์รายหนึ่ง เล่าให้ฟังระหว่างนั่งรถไปขนส่งอาเขต ว่า อูเบอร์มักจะไม่ค่อยปกป้องผลประโยชน์ของคนขับรถเท่าที่ควร สถานที่ไปส่งหากอยู่เลยถนนวงแหวนรอบสอง หรือไปต่างอำเภอ ค่าโดยสารที่ได้มักจะไม่คุ้มค่าเชื้อเพลิง เช่น เรียกไปรีสอร์ตหรูแห่งหนึ่ง ระยะทางไป-กลับ 60 กิโลเมตร ค่าโดยสารคิดเพียง 270 บาทเท่านั้น ทั้งๆ ที่หากเหมาสี่ล้อแดงจะคิดราคาหลักพันบาทขึ้นไป ถ้าไม่ไปก็ไม่ง้อลูกค้าเนื่องจากมันไกล ต้องตีรถเปล่ากลับตัวเมือง

ครั้งหนึ่งจึงขอความร่วมมือผู้โดยสารจีน ขอบวกเพิ่มอีกเล็กน้อย รวมทั้งหมด 350 บาท โดยยกตัวอย่างถึงความจำเป็นเพราะไม่คุ้มค่าเชื้อเพลิง เจรจาคุยกันเสียดิบดีก่อนขึ้นมา อีกทั้งตอนที่ไปสมัครก็เคยถามเจ้าหน้าที่อูเบอร์ ตอบกลับมาว่า สามารถทำได้ แต่พอไปถึงปลายทางซึ่งเป็นโรงแรมแห่งหนึ่ง นักท่องเที่ยวจีนรายนั้นกลับไม่ยอมจ่ายส่วนต่าง ตนต้องทวงถาม แล้วเกิดการโต้เถียงกันวุ่นวาย สุดท้ายพนักงานโรงแรมต้องควักเงินส่วนตัวจ่ายให้

แต่เรื่องราวก็ยังไม่จบ นักท่องเที่ยวจีนรายนี้กลับไปร้องเรียนกับทางอูเบอร์ แล้วทางอูเบอร์ก็หักเงินค่าโดยสารทั้งหมด 350 บาท จากคนขับรถ เขาก็ไม่พอใจจึงเดินเข้าไปสอบถามที่สำนักงาน เจ้าหน้าที่อ้างว่า เราไม่มีนโยบายเรียกเก็บค่าโดยสารเพิ่ม ทั้งๆ ที่ตอนสมัครแต่แรก เจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งบอกว่าสามารถทำได้ กลายเป็นว่านโยบายไม่ชัดเจน ทำให้เขาหมดคำพูดกับทางอูเบอร์ ปัจจุบันหันมาขับแกร๊บคาร์แทน

เขาเสนอว่า การกำหนดค่าโดยสารควรที่จะมีการคิดราคาสำหรับเรียกรถในสถานที่ไกล ๆ เช่น ต่างอำเภอ หรือพ้นถนนวงแหวนรอบสอง ให้แตกต่างกันในระดับที่พวกเขาอยู่ได้ เพื่อให้คนขับรถรู้สึกว่าไม่สูญเปล่า หากต้องหักค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าสึกหรอ แล้วต้องตีรถเปล่ากลับมารับผู้โดยสารในตัวเมือง ในมุมมองของผู้บริโภคอาจจะรู้สึกว่า ราคาถูกกว่ารถแดง หรือแท็กซี่เชียงใหม่ แต่ภาระจะตกไปอยู่กับคนขับรถอูเบอร์หรือแกร๊บคาร์ที่ต้องรับผิดชอบแทน

ความท้าทายของบริการเรียกรถผ่านแอปฯ ในขณะนี้ก็คือ เมื่ออาชีพนี้ถูกบอกต่อถึงรายได้ที่สูง 5-8 หมื่นบาทต่อเดือน หักค่าใช้จ่ายแล้วมีกำไรต่อเดือน 3-4 หมื่นบาท ก็ทำให้มีคนสนใจมาขับรถจำนวนมาก ต่อไปเมื่อมีจำนวนรถมากขึ้น แต่ผู้โดยสารยังคงผันแปรตามสภาพเศรษฐกิจและฤดูการท่องเที่ยว อีกทั้งรถแดงและแท็กซี่คงไม่หยุดนิ่งที่จะเคลื่อนไหวต่อไป เมื่อพวกเขาอยู่ไม่ได้ ความขัดแย้งจะหนักมากยิ่งขึ้นกว่านี้

อีกอย่างหนึ่ง เมื่อมีผู้คนใช้บริการและบอกต่อเป็นจำนวนมาก ผู้บริโภคก็มักจะคาดหวังการบริการเอาไว้สูง แต่เมื่อคนขับรถมีจำนวนมาก ลูกค้าที่ขึ้นมามีเป็นร้อยพ่อพันธุ์แม่ บางทีเจอผู้โดยสารที่มีพฤติกรรมแย่ อาจจะเกิดเรื่องราวระหว่างผู้โดยสารกับคนขับรถ หากฝ่ายผู้ให้บริการเลือกที่จะเชื่อฟังผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการสอบสวนให้รอบด้าน เพราะคิดว่าเรื่องจะได้จบลงโดยเร็ว ขวัญและกำลังใจของคนขับจะอยู่ที่ไหน

เป็นสิ่งที่อูเบอร์ และแกร๊บคาร์ จะต้องทำให้ “ผู้โดยสารพอใจ คนขับอยู่ได้ แอปฯ มีรายได้” ไปพร้อมกัน แม้ในทางกฎหมาย เฉกเช่นพระราชบัญญัติรถยนต์ ปี 2522 ที่ใช้กันมา 38 ปี จะไม่เอื้อให้นำรถบ้านมาวิ่งรับส่งผู้โดยสารก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น