xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ “มาเลเซีย” รูดบัตรไม่ต้องเซ็นชื่อ แล้วย้อนมาดูประเทศไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง

ภาพจากภาพยนตร์โฆษณา PIN & PAY ของธนาคารกลางมาเลเซีย
ในขณะที่บ้านเรากำลังส่งเสริมการใช้บัตรเดบิต ตามนโยบาย National E-Payment เริ่มจากเปลี่ยนบัตรเดบิตเป็นแบบชิปการ์ด เพิ่มร้านค้ารับบัตรเดบิต และแจกโชคแก่ผู้ใช้บัตรเดบิต

แต่สำหรับประเทศที่เคยได้ชื่อว่ามีการทุจริตบัตรเครดิต และบัตรเดบิตอันดับต้นๆ อย่างเช่น “มาเลเซีย” เพิ่งจะเปลี่ยนแปลงวิธีรูดบัตร โดยยกเลิกการเซ็นชื่อบนเซลล์สลิป ที่เอื้อต่อการทุจริตบัตรอิเล็กทรอนิกส์

วิธีการนี้เรียกว่า “พิน แอนด์ เพย์” (PIN & PAY) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยธนาคารกลางมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia) ร่วมกับสถาบันการเงินราว 30 แห่ง



กำหนดให้ผู้ถือบัตรที่ต้องการใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือพรีเพดการ์ด ชำระค่าสินค้าหรือบริการ ต้องกดรหัสลับยืนยันตัวตน (PIN) 6 หลักเพื่อยืนยันการทำรายการ แทนการลงลายมือชื่อบนเซลล์สลิปที่เราคุ้นเคย

ถ้านึกไม่ออกว่ารหัส PIN 6 หลักมาจากไหน ก็เป็นรหัสเดียวกับรหัสเอทีเอ็ม ที่มาเลเซียจะใช้ 6 หลัก

เวลาพนักงานคิดเงิน เมื่อลูกค้าต้องการใช้บัตรชำระแทนเงินสด พนักงานจะเสียบบัตรเข้ากับเครื่องรูดบัตร ก่อนจะกล่าวกับลูกค้าว่า “Please enter your PIN” (กรุณากดรหัสลับ) ลูกค้าจะกดรหัส 6 หลัก ก่อนรับสลิปเป็นอันเสร็จสิ้น

นอกจากนี้ ยังมีผลไปถึงตู้คีออสบริการตัวเอง เช่น ปั้มน้ำมัน หน้าจอจะแจ้งให้ป้อนรหัสลับ 6 หลักเช่นกัน





แต่กรณีที่นำบัตรไปทำรายการแบบไร้สัมผัส (Contactless) เช่น วีซ่า เพย์เวฟ หรือ มาสเตอร์การ์ด เพย์พาส ยอดใช้จ่ายต่ำกว่า 250 ริงกิต (1,955 บาท) ไม่ต้องกดรหัสลับ เช่น ซื้อของในห้างสรรพสินค้า หรือร้านกาแฟ

วัตถุประสงค์ที่ออกนโยบายนี้ เพื่อต้องการให้ผู้ถือบัตรเกิดความปลอดภัย กรณีบัตรหายหรือถูกขโมย เพราะคนร้ายจะไม่สามารถใช้บัตรรูดซื้อของได้เลยหากไม่ทราบรหัสลับจากผู้ถือบัตร

ขณะเดียวกัน การยืนยันตัวตนด้วยรหัสลับ จะรวดเร็วกว่าการใช้ปากกาและกระดาษเซ็นชื่อ ลดเวลาที่แคชเชียร์ทำรายการรูดบัตรให้ลูกค้า รวมทั้งลดต้นทุนการใช้กระดาษ โดยแทนที่ด้วยสำเนาการทำรายการแบบดิจิตอล

ผลที่เกิดขึ้น หลายธนาคารในมาเลเซียประกาศให้ลูกค้าขอรับรหัส PIN 6 หลัก บางธนาคารอย่างซีไอเอ็มบี ออกผลิตภัณฑ์บัตรเดบิตใหม่ โดยจะยกเลิกใช้บัตรเอทีเอ็มแบบเดิมในวันที่ 1 มกราคม 2561



วิธีการนี้แม้จะเป็นเรื่องใหม่ในมาเลเซีย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลก เพราะออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ต่างก็ใช้รหัสลับแทนลายเซ็น

แต่มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศ ยังคงใช้วิธีเซ็นชื่อบนเซลล์สลิป

เพราะฉะนั้น ผู้ถือบัตรที่ออกให้สถาบันการเงินในมาเลเซีย หากนำไปใช้ในต่างประเทศ ยังคงต้องเซ็นชื่อบนเซลล์สลิป จากเครื่องรูดบัตรที่ไม่รองรับระบบ PIN เช่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฯลฯ

ปัจจุบัน มาเลเซียมีผู้ถือบัตรอิเล็กทรอนิกส์รวมกันทุกประเภท 25 ล้านใบ เทียบกับประเทศไทย มีผู้ถือบัตรอิเล็กทรอนิกส์รวมกัน 84 ล้านใบ แบ่งเป็นบัตรเอทีเอ็ม 11 ล้านใบ, บัตรเดบิต 50 ล้านใบ และบัตรเครดิต 23 ล้านใบ

ปีที่แล้ว คนมาเลเซียใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 383.8 ล้านรายการ มูลค่ารวม 1.18 แสนล้านริงกิต (9.27 แสนล้านบาท) ขณะที่บัตรเดบิตใช้จ่าย 107.5 ล้านรายการ มูลค่ารวม 2.2 หมื่นล้านริงกิต (1.76 แสนล้านบาท)

ส่วนคนไทย ปีที่แล้วใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 409 ล้านรายการ มูลค่ารวม 1.39 ล้านล้านบาท ขณะที่บัตรเดบิตใช้จ่ายเพียง 70 ล้านรายการ มูลค่ารวม 1.59 แสนล้านบาท ถือว่าน้อยกว่ามาเลเซีย

ย้อนกลับไปในอดีต คนไทยจะได้ยินมาว่า มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการโจรกรรมข้อมูลบัตรเพื่อนำไปปลอมแปลงบัตรแล้วใช้รูดสินค้าหรือกดเงินสดจำนวนมาก ด้วยวิธีการที่เรียกว่า “สกิมมิง” โดยทำกันเป็นขบวนการ

ในไทยมีการจับกุมกันไปหลายราย กระทั่งในไทยเองได้พัฒนาบัตรมาเป็นระบบชิป EMV แทนแบบแถบแม่เหล็กเดิม เพื่อป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลบัตร โดยมีธนาคารกรุงเทพนำร่องมาตั้งแต่ปี 2552 หรือเมื่อ 8 ปีก่อน

ก่อนที่ทุกธนาคารจะหยุดจำหน่ายบัตรแถบแม่เหล็ก ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2559 ผู้ถือบัตรแบบแถบแม่เหล็กยังสามารถใช้ได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 จะไม่สามารถใช้บัตรได้อีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาร้านค้าส่วนใหญ่ในไทยยังคงเซ็นชื่อในเซลล์สลิปเพื่อยืนยันการทำรายการ มีเพียงบัตร Union Pay ที่ออกโดยบางธนาคารเท่านั้นที่ใช้ระบบ ชิป แอนด์ พิน (CHIP & PIN) 6 หลัก

แต่เริ่มมีห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าบางแห่ง เช่น ท็อปส์ มาร์เก็ต ใช้วิธีการจ่ายแบบ E-Signature โดยบัตรวีซ่า เมื่อช้อปผ่านบัตรต่ำกว่า 700 บาท และบัตรมาสเตอร์การ์ด ช้อปผ่านบัตรต่ำกว่า 1,500 บาท ไม่ต้องเซ็นสลิป

ขณะที่เซเว่นอีเลฟเว่นหลายสาขา เริ่มรับบัตรเครดิตวีซ่า มียอดขั้นต่ำในการรูดบัตร 300 บาท หากรูดน้อยกว่า 700 บาทไม่ต้องเซ็นสลิป ทีแรกนึกสงสัยว่าทำแบบนี้มีมาตรการอย่างไร เท่าที่ค้นหาคำตอบได้ มีเพียงธนาคารกรุงเทพ อธิบายว่า

“เป็นวิธีการใหม่ที่วีซ่า มาสเตอร์การ์ด และ อเมริกัน เอ๊กซ์เพรส ได้ริเริ่มขึ้นเพื่อช่วยให้กระบวนการในการชำระเงิน มีความคล่องตัวและรวดเร็วขึ้น โดยยอดชำระเงินที่น้อยกว่า 700 บาทด้วยบัตรวีซ่า หรือ น้อยกว่า 500 บาทดัวยบัตรมาสเตอร์การ์ด และอเมริกัน เอ๊กซ์เพรส ผู้ถือบัตรไม่จำเป็นต้องเซ็นชื่อในเซลส์สลิป และไม่ต้องรอสำเนาเซลส์สลิปจากร้านค้า ช่วยให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในขั้นตอนการชำระเงินทั้งกับลูกค้าและร้านค้า

การป้องกันและรักษาความปลอดภัยของข้อมูลในระบบการชำระเงินยังคงเป็นมาตรฐานเดิม โดยรายการใช้จ่ายนั้น ๆ ยังคงผ่านการประมวลผลและอนุมัติรายการอย่างสมบูรณ์ผ่านธนาคารเหมือนเช่นรายการปกติทั่วไป หากมีการทุจริต หรือบัตรถูกขโมยไปใช้โดยบุคคลอื่นนั้น ผู้ถือบัตรยังคงต้องรักษาบัตรให้อยู่กับตัวเองตลอดเวลา ห้ามให้ผู้อื่นนำไปใช้แทนอย่างเด็ดขาด และหากเกิดกรณีบัตรหาย ผู้ถือบัตรจะต้องแจ้งธนาคารทันที

ขั้นตอนการตรวจสอบรายการใช้จ่ายจะถูกดำเนินการตามปกติ และผู้ถือบัตรไม่ต้องรับผิดชอบในรายการที่ไม่ได้ทำโดยผู้ถือบัตรเอง”


แต่อีกด้านหนึ่ง ในประเทศไทยกลุ่มผู้ประกอบการเครื่องรูดบัตรเดบิตมีอยู่สองเจ้าแข่งกัน คือ “กลุ่มไทย เพย์เมนท์ เน็ตเวิร์ค” (TPN) ที่มีธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และยูเนี่ยน เพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล



โดยธนาคารกรุงเทพได้นำระบบชิป แอนด์ พิน 6 หลัก เข้ามาใช้กับเครื่องรูดบัตรของทีพีเอ็น เปลี่ยนบัตรเดบิตบีเฟิสต์ สมาร์ท ให้เป็นของยูเนี่ยน เพย์ ทำให้ขณะนี้พบว่าแต่ละสาขาเฉพาะบัตรยูเนี่ยน เพย์ ส่วนบัตรวีซ่าเดบิตไม่ค่อยจะมี

ทำเอาคนที่ตั้งใจจะใช้บัตรเดบิตช้อปออนไลน์ถึงกับบ่นในพันทิปว่า บัตรยูเนี่ยน เพย์ ใช้จ่ายอะไรไม่ค่อยได้ จะไปรูดซื้อของหรือช้อปออนไลน์ก็ลำบาก เพราะร้านค้ารับบัตรมีน้อย ส่วนใหญ่รับแต่บัตรวีซ่าและมาสเตอร์การ์ดทั้งนั้น

อีกเจ้าหนึ่งคือ “กลุ่มไทย อัลไลแอนซ์ เพย์เมนท์ ซิสเต็ม” (TAPS) ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารธนชาต ลดค่าธรรมเนียมรูดบัตรเดบิตเหลือ 0.55%

หลังจากนั้น ธนาคารกรุงไทยก็ไม่ได้ผลิตบัตรยูเนี่ยนเพย์อีก แต่ก็มีธนาคารขนาดเล็กออกบัตรเดบิตยูเนี่ยนเพย์เพิ่มอีกสองธนาคาร ได้แก่ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และ ธนาคารเกียรตินาคิน เป็นต้น

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้อยากจะบอกว่า ขณะที่มาเลเซียกำลังกำหนดมาตรฐานการรูดบัตรเสียใหม่ เพื่อลบภาพลักษณ์ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องทุจริตบัตรอิเล็กทรอนิกส์ให้มีมาตรฐานเทียบเท่าประเทศที่พัฒนาแล้ว

แต่สำหรับประเทศไทย ยังคงแบ่งค่าย แบ่งก๊ก ตั้งหน้าตั้งตาขายเครื่องรูดบัตรแก่ร้านค้า แจกโชคให้ผู้ใช้บัตรเดบิต แต่ร้านค้ายังคงตั้งแง่รูดบัตรขั้นต่ำ มาตรฐานการรูดบัตรที่ไม่เหมือนกัน ทำเอาคนถือบัตรเดบิตเองยังสับสน จนไม่อยากจะหยิบมาใช้

นี่แหละ ... ประเทศไทย 4.0 ของจริงต้องแบบนี้
เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2558 ธนาคารแอมแบงก์ ของมาเลเซีย นำโดย นายแอนโทนี ชิน หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการลูกค้ารายย่อย ประสบความสำเร็จในการทำรายการระบบพินแอนด์เพย์เป็นรายการแรก โดยได้ทดสอบที่ร้านหนังสือ ป๊อปปูลาร์ บุ๊กสโตร์ ในย่านอเวนิว เค กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย
จุดเติมน้ำมันด้วยตัวเอง (Self-Service fuel terminal) ก็ยังบังคับให้ใช้รหัส PIN 6 หลักเพื่อยืนยันการชำระเงิน
ตราสัญลักษณ์ PIN & PAY สำหรับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดในมาเลเซีย

กำลังโหลดความคิดเห็น