xs
xsm
sm
md
lg

ศาล-อัยการโซเชียล

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

เทคโนโลยีโซเชียลมีเดียในโลกปัจจุบัน นอกจากจะส่งผลกระทบในด้านการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนไปทั่วทุกวงการ ตั้งแต่โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ ธุรกิจการค้าแล้ว ปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่เริ่มชัดเจนขึ้นทุกวันนี้ ซึ่งถือว่ากระทบกระเทือนถึงระดับ “อำนาจรัฐ” และ “กฎหมายบ้านเมือง”

ก็คือการที่โลกโซเชียลเริ่มมีลักษณะเป็น “กระบวนยุติธรรม” เชิงสังคมที่เป็นระบบมากขึ้น

เป็น “ศาล Facebook” ที่นับวันจะยิ่งมีอิทธิพลหรือเป็นที่พึ่งของประชาชน จนทางภาครัฐต้องวิ่งตามเต้นตาม

แถมเป็นศาลที่ไม่กลัวใคร ไม่ไว้หน้าใครหน้าไหนทั้งนั้น

เช่นข่าวดังเมื่อช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา คงไม่มีข่าวใดจะเป็นกระแสแรงเกินกว่า ข่าว “อัยการ” ขอให้ตำรวจพาไปร้านลาบที่บางแสน

คลิปที่ถูกส่งไปทั่วในโลกโซเชียล แถมยังถูกรื้อเอา “คดีเก่า” ที่เคยมีประวัติเมาแล้วขับและก่อเหตุ “เบ่ง” ในลักษณะเช่นนี้มาก่อนในปี 2558 ทำให้หน่วยงานต้นสังกัดต้องรีบออกมาชี้แจงอย่างทันควันในเช้าวันแรกของการทำงาน และดำเนินการสอบสวนหาข้อเท็จจริงโดยเร็วที่สุด มีการเปิดเผยชื่ออัยการที่มีปัญหาผู้นั้น และย้ายให้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นการชั่วคราวในระหว่างการดำเนินการสอบสวน

ไม่ว่าในที่สุดแล้ว จะมีการลงโทษอัยการผู้นั้นหรือไม่อย่างไร แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีแห่งโลกโซเชียลว่า ปัจจุบันนี้หูตาของประชาชนนั้นอยู่ในโทรศัพท์มือถือ ที่พร้อมจะนำภาพที่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากมุมไหน ถ้าเป็นเรื่อง “ผิดปกติ” ขึ้นแล้ว ก็รับรองได้ว่าอีกไม่นานคนจะรู้กันทั่ว

โดยไม่สนใจว่าบุคคลในภาพจะเป็นใคร มีตำแหน่งมาจากไหน ร่ำรวย หรือมีอิทธิพลอย่างไร

เรียกว่าบุคคลระดับอัยการซึ่งเป็นตำแหน่งราชการที่ได้รับการยกย่องว่ามีเกียรติ ไม่แพ้ผู้พิพากษา ยังเจอกระแสโลกโซเชียล “ดำเนินคดี” เอาได้ ซึ่งอย่าว่าแต่อัยการเลย แม้แต่ผู้พิพากษาเองก็ยังเคยถูกโลกโซเชียลตรวจสอบเอาในลักษณะเดียวกัน แต่เรื่องนั้นคลี่คลายออกมาว่าท่านผู้นั้นเป็นผู้ป่วย มีปัญหาทางจิต เรื่องจึงจบไปด้วยการที่สังคมพยายามทำความเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องของการใช้ตำแหน่งหน้าที่ทำกร่างในทางมิชอบ

หรือก่อนหน้านี้ ก็เพิ่งมีข่าวไปว่า นักธุรกิจมีอายุขับรถเบนซ์ ถูกเด็กมัธยมขี่มอเตอร์ไซค์ชนท้าย โดยที่เป็นความผิดของฝ่ายคนขับรถนั่นเองที่เลี้ยวโดยไม่เปิดไฟ แต่ปรากฏว่าฝ่ายคนขับเบนซ์นั้นแสดงความกราดเกรี้ยวเอากับเด็กที่ยอมรับผิดโดยดี ถึงขนาดกระชากคอเสื้อและตบหน้า เรื่องจึงมาเป็นกระแสในโซเชียล ส่งผลให้มีการดำเนินคดี และกระแสโจมตี จนคนขับรถเบนซ์นั้นต้องออกคลิปมาขอโทษสังคม
ทั้งกรณีอัยการเบ่งกับตำรวจ หรือคนขับรถเบนซ์ตบหัวเด็กนั้น เป็นเรื่องของการลุแก่โทสะและอำนาจ ซึ่งเป็นอำนาจที่มาจากตำแหน่งหน้าที่ หรือฐานะทางการเงิน กระทำต่อคนที่คิดว่าเป็นฝ่ายด้อยกว่า ไม่ว่าจะด้อยกว่าในทางสถานะตำแหน่ง หรือโดยวัยและฐานะ

เรื่องแบบนี้ถ้าเกิดขึ้นสัก 5-10 ปีก่อน ที่โซเชียลมีเดียยังไม่แพร่หลาย เราก็พอเดาจุดจบกันได้ ว่าทั้งอัยการผู้นั้นและคนขับเบนซ์ก็คงจะลอยนวลต่อไป อย่างที่คงไม่มีใครสามารถเอาเรื่องได้ และอาจจะย่ามใจไปทำเรื่องแบบนี้ได้อีก เพราะมั่นใจความมีความได้เปรียบทางตำแหน่งหรือสถานะที่จะเป็นเกราะคุ้มภัยให้ แม้ว่าตัวเองจะเป็นฝ่ายผิดก็ตาม

แต่เกราะที่ว่านั้นก็แตกทำลายไปแล้ว ด้วยพลังของสิ่งที่เรียกว่า “โซเชียลเน็ตเวิร์ก” และ “กระแสสังคม”

อย่างไรก็ตาม หากมองกันให้ลึกลงไป โซเชียลเน็ตเวิร์กนั้นไม่ใช่สิ่งที่มีพลังด้วยตัวของมันเอง แต่ที่แท้แล้วเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง คือ “พลังทางสังคม” มากกว่า

“พลังทางสังคม” ซึ่งเป็นเครื่องมือในการควบคุมความประพฤติของผู้คนในสังคมมาตั้งแต่ยุคก่อน ผ่านจารีตประเพณีและวิถีประชา จนกระทั่งสังคมของมนุษย์ขยายตัวใหญ่ขึ้น จนไม่สามารถจะรวบรวมพลังทางสังคมได้อย่างมีพลังเข้มแข็งพอที่จะตรวจสอบหรือลงโทษสมาชิกในสังคม ลองนึกดูว่า ในเมืองที่มีขนาดใหญ่ การที่จะรวมพลังทางสังคมกัน “ลงโทษ” ใครสักคนหนึ่งนั้นเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้

จึงเกิดมี “อำนาจรัฐ” ขึ้นมาใช้อำนาจแทน และควบคุมประชาชนด้วยกฎหมายผ่านกระบวนการยุติธรรม

แต่ในวันนี้ สังคมถูกเชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยี เกิดเป็นเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ก ซึ่งเป็นการทำให้พลังการตรวจสอบของสังคมกลับขึ้นมามีอำนาจอีกครั้ง และอาจจะมีอำนาจเหนือกว่า “รัฐ” เสียด้วยซ้ำ

เพราะอย่างที่ความเป็นจริงยอมรับกันว่า บางครั้งหากใครได้รับความไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะจากอำนาจรัฐ จากกระบวนการยุติธรรม หรือจากผู้ที่มีอิทธิพลหรือมีอำนาจเหนือกว่า การขอเข้ารับ “ความยุติธรรม” จากโลกโซเชียลนั้นได้ผลรวดเร็วทันใจกว่า

และกระบวนการทำงานของ “กระบวนการยุติธรรม” ของโลกโซเชียลนั้น ก็คล้ายๆ กับกระบวนการยุติธรรมของจริง
คือจะมี “เพจ” หรือกลุ่มคนที่ทำหน้าที่เป็นเหมือน “อัยการ” ที่จะคอยรับเรื่องร้องทุกข์จากผู้คน ซึ่งเพจแนวนั้นจะเรียกว่าเพจ “สายมืด”

ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี ก็เช่นเพจ “แหม่มโพธิ์ดำ” หรือ “อยากดังเดี๋ยวจัดให้”

ถ้าเพจที่รับเรื่องเหล่านั้นเห็นว่า คนที่ร้องเรียนไปไม่ได้รับความเป็นธรรมในสายตาเพจเหล่านั้น หรือใครทำตัวเป็นอันธพาลเป็นภัยหรือรบกวนสังคม เรื่องก็จะถูกนำมาขยายให้สังคมรับรู้ ผ่านภาพและคลิปที่เป็นหลักฐาน และถ้าเป็นเรื่องที่สังคมรู้สึกกระทบกระเทือนใจขึ้นมา เรื่องก็จะถูกแชร์ออกไป ต่อไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นกระแสสังคม

นั่นเท่ากับหมายความว่าชาวเน็ตทุกคน เป็นเหมือน “ผู้พิพากษา” และ “ลูกขุน” ในตัวของตัวเอง ที่จะทำหน้าที่ “พิพากษา” คดีต่างๆ ที่เพจสายมืดเหล่านั้น หรือที่ถูกแชร์กันมาในกระแสสังคมว่าจะมีความเห็นไปทางไหน อย่างไร

เมื่อเหล่าผู้พิพากษาออนไลน์ตัดสินแล้ว คราวนี้ก็จะเป็นทางภาครัฐ หรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่จะ “ตื่น” ขึ้นมาจัดการให้เป็นกรณีๆ ไป และถ้าเป็นไปได้ ฝ่ายที่เรียกร้องความเป็นธรรมต่อบรรดาเพจสายมืด ก็จะได้รับความเป็นธรรมตามที่สมควร ส่วนผู้กระทำผิด ก็จะถูกดำเนินการต่อไปตามกฎหมายหรือกระบวนการต่างๆ

กระบวนการยุติธรรมโดยกระบวนการลงโทษทางสังคมผ่านระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้นมีแง่ดีในทางที่ว่า เป็นเครื่องมือในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้ฝ่ายที่ด้อยโอกาสกว่า ให้สามารถเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตัวเองได้ง่ายดาย หากมั่นใจว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก และเรื่องของตนนั้นจะกระทบใจ ก่อกระแสให้สังคมเห็นใจและมอบความเป็นธรรมให้

แต่ในอีกทางหนึ่ง กระบวนการยุติธรรมระบบโซเชียลนี้ ก็หมิ่นเหม่อย่างยิ่งที่จะเป็นการใช้ “ศาลเตี้ย” หรือการ “ล่าแม่มด” ที่ละเมิดสิทธิส่วนตัวของคนที่อาจจะเป็นฝ่ายผิด แต่การลงโทษทางสังคมนั้น บางครั้งอาจจะเกินสัดส่วนความผิดก็ได้

รวมถึงการที่บรรดาเพจ “สายมืด” ทั้งหลายนั้นกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลและมีอำนาจขึ้นมา เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเขาจะไม่ลุแก่อำนาจนั้นเข้าชี้นำสังคมโดยมีวาระแอบแฝง

ทั้งนี้ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ หรือมองปรากฏการณ์นี้ในแง่มุมใด นี่คือวิถีแห่ง “กระบวนการยุติธรรม” ด้วยกระแสสังคมที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ และกำลังจะเข้ามาแทนที่ เป็นกระบวนการเชิงสังคมที่มีอิทธิพลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมภาครัฐอย่างแน่นอน.
กำลังโหลดความคิดเห็น