หมายเหตุจากผู้เขียน : ตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์นี้เป็นต้นไป บทความของเราจะตีพิมพ์ตอนใหม่เป็นประจำทุกสัปดาห์ ติดตามได้ที่ bit.ly/mgrbackofficestory ขอขอบคุณคุณผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามอ่านและติชมบทความของเราด้วยดีเสมอมา
ความเดิมตอนที่แล้ว : ทริปรถทัวร์ ขอนแก่น-เชียงคาน-เชียงใหม่ (1) : ครั้งแรกกับถนนข้าวเหนียว-ชมพระอาทิตย์ตกดินที่เชียงคาน
ความเดิมตอนที่แล้ว : ทริปรถทัวร์ ขอนแก่น-เชียงคาน-เชียงใหม่ (2) : ผู้บ่าวขาเลาะ 23 ชั่วโมง ลองของ “รถเสริม” ช่วงสงกรานต์
เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่เราได้ตั๋วรถทัวร์กลับกรุงเทพฯ โดยบังเอิญ แม้คราวนี้จากการวัดดวงที่สถานีขนส่งเชียงใหม่ อาเขต ทั้งนครชัยแอร์และสมบัติทัวร์ รถโดยสารมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ เต็มทุกที่นั่งก็ตาม
แต่สุดท้ายเราลองเสี่ยงดวงเข้าเว็บไซต์กรีนบัส แล้วก็ได้ตั๋วรถทัวร์ เส้นทางจากเชียงใหม่ ผ่านลำปาง อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เข้ากรุงเทพฯ ในราคา 488 บาท เท่านั้น
กรีนบัส (Green Bus) หรือ บริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด ถือเป็นเจ้าของสัมปทานรถประจำทางรายใหญ่ในภาคเหนือมานาน 50 ปี ครอบคลุม 8 จังหวัด ทั้งเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา ลำปาง น่าน แพร่ และตาก
ขณะเดียวกัน ยังได้เปิดเดินรถเส้นทางข้ามภาค แม่สาย-บึงกาฬ เมื่อปี 2558 จากเหนือสุดในสยาม เชื่อมต่อจังหวัดภาคอีสานตั้งแต่ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย และบึงกาฬ ใช้เวลา 18 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ยังได้เข้าซื้อกิจการ บริษัท โชครุ่งทวีทัวร์ จำกัด จำนวน 200 ล้านบาท ในปี 2556 มีสัมปทานเส้นทางกรุงเทพฯ และภาคใต้ หนึ่งในนั้นคือเส้นทาง กรุงเทพฯ - พิษณุโลก – เชียงใหม่ ที่เดินรถเพียงรายเดียว
ถ้าพูดถึงโชครุ่งทวีทัวร์ ในปี 2551 หรือเมื่อ 9 ปีก่อน เคยไปเชียงใหม่ครั้งแรกในชีวิต โดยนั่งรถไฟชั้น 3 ไปลงพิษณุโลก ก่อนที่จะต่อรถทัวร์จาก บขส.พิษณุโลก (สมัยนั้นยังอยู่บนถนนสิงหวัฒน์ ไม่ได้ย้ายไปสี่แยกอินโดจีนในปัจจุบัน)
จำได้ว่า ออกจาก บขส. พิษณุโลก 5 ทุ่ม แวะทานข้าวต้มกลางทาง ก่อนจะเผลอหลับระหว่างรถขึ้นเขา ลงเขา สมัยนั้นถนนยังสองเลนสวนทาง ถึงสถานีขนส่งเชียงใหม่อาเขต (หลังเก่า) ในตอนเช้ามืด โดยมีเพื่อนรุ่นพี่มารับ
คุณภาพของโชครุ่งทวีทัวร์ในคราวนั้น รถทัวร์ก็ธรรมดา มีผ้าห่มแบบชาวบ้านให้ห่ม มีน้ำเปล่าขวดหนึ่ง ขนมถุงหนึ่ง นอกนั้นก็ให้ลงไปทานข้าวต้ม เลยสี่แยกอินโดจีน กินเสร็จก็ขึ้นไปหลับบนรถต่อ
ที่แตกต่างจากรถทัวร์เจ้าอื่น คือ รถทัวร์สายกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ จะไปเส้นทางนครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก ลำปาง
แต่เจ้านี้จะอ้อมไปทางอินทร์บุรี ตากฟ้า สากเหล็ก วังทอง พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เด่นชัย ลำปาง
ในช่วงที่สายการบินโลว์คอสต์แข่งกันลดราคาตั๋วเครื่องบินอย่างดุเดือด มักจะไปเชียงใหม่โดยเครื่องบิน ไม่ได้ขึ้นรถทัวร์
แต่ถ้าไปจังหวัดใกล้เคียง อาทิ พะเยา หรือ เชียงราย ถึงได้นั่งรถกรีนบัส บริการก็มีมาตรฐานโดดเด่นในระดับหนึ่ง
มาคราวนี้เมื่อกรีนบัสขยายเส้นทางไปถึงกรุงเทพฯ ก็อยากจะรู้ว่าการบริการเป็นอย่างไร เผื่อจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
จากที่เราคุ้นเคยกันดีกับ นครชัยแอร์ และ สมบัติทัวร์ ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องการบริการที่มีมาตรฐานเมื่อเทียบกับเจ้าอื่น
สำหรับเส้นทางกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ กรีนบัสใช้ชื่อว่า “รถบลูไนน์” เช่นเดียวกับเส้นทางกรุงเทพฯ - เชียงของ และ กรุงเทพฯ - แม่สาย ซึ่งได้สัมปทานมาจากโชครุ่งทวีทัวร์ พร้อมกับตกแต่งรถทัวร์ขึ้นมาใหม่เป็นสีน้ำเงินสด สะดุดตาทุกมุม
19 เมษายน 2560, 10.30 น.
หลังจากพักผ่อนจากที่พักของเพื่อนรุ่นพี่ ก็ถึงเวลากลับกรุงเทพฯ เราแบกกระเป๋าเรียกอูเบอร์ ซึ่งที่เชียงใหม่มีให้บริการ
เป็นที่นิยมจนกระทั่งเป็นข่าวว่ามีการล่อซื้อจากขนส่ง และถูกกลุ่มคนขับรถแท็กซี่รวมทั้งรถแดงโจมตีบ่อยครั้ง
เพื่อนรุ่นพี่เล่าให้ฟังว่า อูเบอร์ที่นี่มีรถที่หลากหลาย แม้กระทั่งรถกระบะยังมีเลย ทีแรกสังเกตจากรุ่นรถ ไม่เชื่อว่าจะมีอยู่จริง แต่พอทำไปทำมา พบว่ากลายเป็นรถกระบะแบบสี่ประตู
บทสนทนาระหว่างเรากับอูเบอร์ จึงกลายเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ระบบขนส่งมวลชนในเชียงใหม่ ซึ่งเขาก็มีความคิดแบบหนึ่ง
แม้จะมองว่าไม่ถูกกฎหมายแต่ยุคนี้โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว
เรามาถึงสถานีขนส่งอาเขตได้สักพัก ก็รอรถเมล์กลับกรุงเทพฯ ตามที่เราได้ซื้อตั๋ว
ทีแรกเกรงว่าจะขึ้นชานชาลาผิด แต่พอถามพนักงานกรีนบัส ก็ได้รับคำตอบว่า “ให้รออยู่ที่นี่นั่นแหละ เดี๋ยวรถเมล์จะมารับ”
10.40 น. รถเมล์สีน้ำเงินที่ชื่อว่า “บลูไนน์” สายกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ก็มาถึง เวลานั้นผู้โดยสารที่อยู่บนรถมีเพียงแค่ 4 คนเท่านั้น
ก่อนที่รถจะออกจากสถานีขนส่งเชียงใหม่ อาเขต มุ่งหน้าไปทางลำปาง ระหว่างนั้น พนักงานก็แจกน้ำดื่มขวดเล็กหนึ่งขวดและขนม ในตอนนั้นก็เผลอหลับไป
กระทั่งก่อนถึงสี่แยกนาก่วม อ.เมืองลำปาง มีตำรวจทางหลวงเรียกให้จอดตรวจบัตรประชาชน แปลกใจว่าทำไมมีผู้โดยสารแค่ 4 คน
พนักงานก็บอกว่า ยังมีผู้โดยสารที่ลำปางอีก แต่ที่น่าสังเกตคือ ยังมีผู้โดยสารกลางทาง ตำรวจก็ขอข้อมูลผู้โดยสาร
เข้าใจว่าเป็นมาตรการในการสกัดจับยาเสพติดอย่างหนึ่ง
มาถึงสถานีขนส่งลำปาง บรรยากาศในรถเริ่มคึกคักขึ้นมาบ้าง เมื่อมีผู้โดยสารจำนวนมากขึ้นรถเกือบจะเต็มคันรถ ก่อนที่รถจะออกจากสถานี ย้อนกลับไปสี่แยกภาคเหนือ (สี่แยกห้าเชียง) ใช้ทางเลี่ยงเมืองไปออกถนนวชิราวุธดำเนิน
บนถนนสายนี้เป็น 4 ช่องจราจร กระทั่งผ่านไปสักพักมาถึง อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ถนนบีบเหลือ 2 ช่องจราจร ซึ่งเป็นทางขึ้นลงเขาที่คดเคี้ยว ก่อนจะเข้าสู่ อ.ลอง จ.แพร่ ช่วงนั้นรถใช้ความเร็วไม่ได้มากเนื่องจากมีโค้งอันตราย
เมื่อมาถึงป้ายรถเมล์บ้านแม่แขม เกิดเรื่องระทึกขึ้น เมื่อมีชายสองคนได้ขึ้นรถพร้อมสัมภาระ ตำรวจทางหลวงได้ควบคุมตัวชายสองคนดังกล่าวลงมาที่ศาลาริมทาง โดยมีทหารเดินเข้ามา กระทั่งตำรวจนายหนึ่งส่งสัญญาณให้ออกไป
เกือบจะได้ “ข่าวเด็ดเจ็ดสี” ก่อนกลับบ้านแล้วไงตรู ...
ด้วยถนนที่คับแคบ ระยะทางที่ไกล และใช้เวลายาวนาน ก็เลยเผลอหลับไปอีกรอบ มาถึง อ.เด่นชัย จ.แพร่ รถก็ได้เลี้ยวขวาที่สามแยกเด่นชัย มุ่งหน้าไปยัง จ.อุตรดิตถ์
19 เมษายน 2560, 14.50 น.
2 ชั่วโมงจากเชียงใหม่ถึงลำปาง และ 3 ชั่วโมงจากลำปางถึงอุตรดิตถ์ รถได้แวะรับผู้โดยสารที่สถานีขนส่งผู้โดยสารอุตรดิตถ์อีก 2-3 คน ในตอนนั้นขอพนักงานลงไปเข้าห้องน้ำ เพราะบนรถทัวร์ทำกิจธุระไม่สะดวก
เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน เคยเห็นสถานีขนส่งอุตรดิตถ์ระหว่างตื่นขึ้นมางัวเงีย จำได้ว่าด้านข้างจะเป็นท่ารถของนครชัยแอร์ มาจากระยองและอุบลราชธานี
มาวันนี้ สภาพเมื่อเกือบสิบปีก่อนเป็นยังไง ปัจจุบันก็เป็นอย่างนั้น
รถจอดได้สักพักก็ออกจากสถานี มุ่งหน้าไปยังพิษณุโลก พนักงานแจ้งว่าจะแวะจอดรับประทานอาหารที่ร้านอาหารอิ่มอร่อย ที่ จ.พิษณุโลก ก่อนที่จะแจกคูปองอาหาร เพื่อนำไปแลกอาหารมารับประทานได้ 1 จาน
1 ชั่วโมงต่อมา รถได้แวะจอดที่ร้านอาหารอิ่มอร่อย ก่อนถึงทางเลี่ยงเมืองพิษณุโลก ร้านค่อนข้างเงียบ มีให้เลือกระหว่างก๋วยเตี๋ยวกับข้าวแกง
ด้วยความที่นึกอะไรไม่ออกจึงสั่งก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้น เส้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ความรู้สึกเหมือนกับที่บ้านชงมาม่ามาให้กิน เพราะใส่กะหล่ำปลีไปด้วย รสชาติจึงแปลกกว่าการชงมาม่าด้วยตัวเองผ่านกระติกน้ำร้อน
ถือเป็นเมนูซิมเปิล ที่หากคิดถึงวัยเด็กคงนึกอยากจะลองทานดู
รถทัวร์ให้ผู้โดยสารพักรับประทานอาหาร 20 นาที ระหว่างนั้นออกไปเติมน้ำมัน ก่อนจะกลับมารับผู้โดยสารขึ้นรถ แล้วออกจากปั้มน้ำมัน มุ่งหน้าไปยังสถานีขนส่งผู้โดยสารพิษณุโลก สี่แยกอินโดจีน ในเวลาไม่นานนัก
ที่พิษณุโลก มีผู้โดยสารจากลำปางลงจากรถส่วนหนึ่ง และผู้โดยสารจากพิษณุโลกจะเข้ากรุงเทพฯ ประมาณ 1-2 คน ก่อนที่รถจะออกจากสถานี ไปทาง อ.วังทอง แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนวังทอง – สากเหล็ก
สภาพถนนในตอนนั้นยังเป็นสี่ช่องจราจร ด้วยความที่เริ่มเพลียจึงเผลอหลับไป ตื่นขึ้นมาอีกทีประมาณ 1 ทุ่มเศษๆ พบว่าอยู่ที่สี่แยกไดตาล อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์
19 เมษายน 2560, 19.10 น.
8 ชั่วโมงครึ่งจากเชียงใหม่ รถทัวร์แวะจอดพักให้ยืดเส้นยืดสาย 10 นาที ที่ปั้มน้ำมัน ปตท. สี่แยกไดตาล ถนนสายตากฟ้า-สากเหล็ก กิโลเมตรที่ 68
เวลานั้นใครใคร่เข้าห้องน้ำก็เข้า ใครใคร่จะซื้อของที่เซเว่นอีเลฟเว่นก็เข้า
ออกจากปั้มน้ำมัน เราจะต้องลุยกับสภาพถนนก็อย่างที่บอก คือขุรขระเป็นโลกพระจันทร์ตลอดเส้นทาง เนื่องจากมีรถบรรทุกใช้เส้นทางนี้จำนวนมาก แล้วแขวงการทางที่นี่ทำถนนแบบใช้ไปซ่อมไป
จาก อ.ไพศาลี มุ่งหน้าไปทาง อ.ตากฟ้า รถทัวร์ทำความเร็วได้ไม่มากนัก เพราะไหนจะต้องสะดุดกับผิวจราจรขุรขระ ไหนจะต้องต่อท้ายรถสิบล้อที่ขับอย่างช้าๆ ต้องรอให้รถคันหน้าว่างก่อนถึงจะแซงขึ้นไปได้
ในคอลัมน์นี้บอกไปก่อนหน้านั้นแล้วว่า ถนนช่วงอินทร์บุรีถึงสากเหล็กน่าอเนจอนาถยิ่งนัก 15 ปีก่อนพื้นปูนยังแตกร้าว เป็นหลุมเป็นบ่อยังไง ปีนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น แถมไม่ได้ขยับขยายเป็นถนนสี่เลนตลอดสายอีกต่างหาก
อยากรู้ว่า “ประเทศไทย 4.0 ของจริง” จากรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นยังไง ให้ขับรถมาดูถนนเส้นนี้
นั่งทรมานมานานกว่า 1 ชั่วโมงครึ่ง ในที่สุดประมาณ 20.30 น. ก็มาถึงทางแยกต่างระดับอินทร์บุรี ออกถนนสายเอเชียมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ นับนิ้วดูแล้วจากพิษณุโลก กินเวลาไปตั้ง 3 ชั่วโมงครึ่ง
ทั้งๆ ที่ระยะทางจากช่วงนี้แค่ 200 กว่ากิโลเมตรเท่านั้นเอง ถ้าทำถนนดีๆ ไปพิษณุโลกไม่ถึง 2 ชั่วโมงเท่านั้น
มาถึงถนนสายเอเชียด้วยความเร็วคงที่ รถจะแวะส่งผู้โดยสารที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ต่อด้วยนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ก่อนที่จะจอดที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 เวลา 22.35 น.
เบ็ดเสร็จรวมกันแล้ว จากเชียงใหม่ไปถึงกรุงเทพฯ ใช้เวลา 12 ชั่วโมง
แตกต่างจากรถทัวร์ไปเชียงใหม่สายอื่น ๆ ปกติถ้าไม่ติดช่วงเทศกาล อย่างช้าที่สุดก็เพียงแค่ 10 ชั่วโมงเศษเท่านั้น เคยนั่งสมบัติทัวร์จากเชียงใหม่ 8 โมงเช้า ถึงรังสิตราว 6 โมงเย็น
สมมติถ้าออก 10 โมงครึ่งเหมือนรถบลูไนน์ ไม่เกิน 2 ทุ่มถึงหมอชิตแล้ว
ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป
เปรียบเทียบราคาแล้ว รถบลูไนน์ 488 บาท ราคาไม่แตกต่างไปจากรถ ป.1 ของเจ้าอื่น เช่น สมบัติทัวร์ มาตรฐาน ม.1 ข. (Star) ซึ่งวิ่งเส้นทางนครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก ลำปาง เผลอๆ จะเสียเปรียบอีกด้วย
ยกเว้นถ้าไปเปรียบกับรถทัวร์ชั้นปรับอากาศพิเศษของสมบัติทัวร์ หรือนครชัยแอร์อย่าง Gold Class ค่าโดยสาร 569 บาท และ First Class ค่าโดยสาร 759 บาท แบบนี้ดูเหมือนบลูไนน์จะคุ้มค่ากว่า
แม้การให้บริการจะเป็นไปตามมาตรฐานกรีนบัส แต่ถ้ามองจากระยะทางและระยะเวลาที่ล่าช้าไปประมาณ 2 ชั่วโมง แม้อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก แต่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับช่วงเทศกาล ในยามที่ไม่มีรถเข้ากรุงเทพฯ จริงๆ
เพราะเอาเข้าจริง ในวันนั้นมีผู้โดยสารออกจากสถานีขนส่งอาเขตกันน้อยมาก และไม่รู้ว่าจะอยู่ได้หรือไม่ แต่ก็ยังให้บริการมานานถึง 4 ปี นับตั้งแต่เทคโอเวอร์จากเจ้าเดิม
ถามว่า 12 ชั่วโมงนานเกินไปไหมเมื่อเทียบกับรถไฟเส้นทางเชียงใหม่ ถือว่าเร็วกว่ารถเร็วขบวนที่ 102 (รถไฟฟรี) ออกจากสถานีเชียงใหม่ 6 โมงครึ่ง แต่ถึงกรุงเทพฯ จริงๆ เกือบ 5 ทุ่ม
แต่ก็คงไม่อยากเปรียบเทียบ เพราะคนละเรื่องกัน
รถบลูไนน์ (โชครุ่งทวีทัวร์) ของกรีนบัส ให้บริการวันละ 1 เที่ยว จากสถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิต ชั้น 1 รถจะออกประมาณ 7 โมงเช้า ถึงเชียงใหม่โดยประมาณ 18.20 น.
ซึ่งเวลาซื้อตั๋วรถทัวร์ผ่านเว็บไซต์ หากเลือกต้นทาง กทม. (หมอชิตใหม่) จะไม่เจอ ต้องเลือก กทม. (ประชานิเวศน์) ถึงจะเจอปลายทาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเวลา 05.30 น. จะเป็นเวลาที่รถออกจากอู่ประชานิเวศน์ไปยังหมอชิตใหม่
ปัจจุบัน เส้นทางเชียงใหม่มีผู้ประกอบการรถทัวร์แข่งขันให้บริการจองตั๋วทางอินเตอร์เน็ตมากขึ้น อาทิ นครชัยแอร์ ที่ชำระผ่านร้านสะดวกซื้อ รวมทั้งผ่านบัตรเครดิต ซึ่งมีผู้คนนิยมใช้บริการมากที่สุด เพราะมีชื่อเสียงในเรื่องบริการ
ขณะที่ สมบัติทัวร์ ก่อนหน้านี้ให้ลูกค้าโทรศัพท์ไปที่คอลล์เซ็นเตอร์ และชำระเงินที่ร้านสะดวกซื้อ แต่ภายหลังได้เปิดอีกบริษัทหนึ่ง คือ บางกอกบัสไลน์ โดยใช้ช่องทางการจองผ่านเว็บไซต์ไทยรูท ดอทคอม
ขณะที่ ไทยรูท ดอทคอม เอง นอกจากจะมีบางกอกบัสไลน์แล้ว ยังมีลิกไนท์ทัวร์ นิววิริยะยานยนต์ทัวร์ และสยามเฟิสท์ทัวร์ให้บริการด้วย โดยรับรหัสการจองและชำระเงินผ่านร้านสะดวกซื้อ
ส่วน บขส. มี บริษัท พีเอ็นเอส อินโนเวชั่น จำกัด เป็นผู้ได้รับอนุญาตจำหน่ายตั๋วโดยสารผ่านเว็บไซต์ pns-allthai.com และ busticket.in.th โดยชำระผ่านช่องทางร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า และผ่านบัตรเครดิต
ไปเช็กราคารถทัวร์ บขส. พบว่าค่าโดยสารถูกที่สุดเป็นรถ ม.4 ค. 53 ที่นั่ง ราคาเพียง 379 บาทเท่านั้น แต่ใช้เวลาเดินทาง 11 ชั่วโมง มากกว่ารถของนครชัยแอร์ที่ไม่จอดแวะที่ไหนเลย และสมบัติทัวร์
การเข้ามาเทคโอเวอร์โชครุ่งทวีทัวร์ของกรีนบัส แม้เส้นทางสัมปทานที่ได้รับอาจจะดูอ้อมไปบ้าง ยากต่อการแข่งขัน แต่ในอนาคตหากถนนสายอินทร์บุรี-สากเหล็กได้รับการพัฒนา รถทัวร์สายนี้น่าจะทำความเร็วได้มากกว่านี้
โดยสรุปก็คือ ถ้าไม่ติดตรงที่เส้นทางที่อ้อม และถนนโลกพระจันทร์จะทำให้ถึงที่หมายช้า รถบลูไนน์ถือเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ
โดยเฉพาะค่าโดยสารในราคาที่พอรับได้เมื่อเทียบกับบริการ เหมาะสำหรับคนที่ไม่รู้สึกเร่งรีบ
ถ้าต้องการถึงจุดหมายปลายทางที่เร็วๆ ยังคงแนะนำนครชัยแอร์ แต่ถึงกระนั้นในช่วงเทศกาลที่รถหลายบริษัทเต็มทุกเที่ยว ได้รถบลูไนน์เป็นที่พึ่งก็ดีเท่าไหร่แล้ว
ดีกว่าไปวัดดวงบริษัทอื่น ที่ไม่รู้ว่าจะต้องเจออะไรแย่ๆ ตามมา.