xs
xsm
sm
md
lg

ทริปรถทัวร์ ขอนแก่น-เชียงคาน-เชียงใหม่ (2) : ผู้บ่าวขาเลาะ 23 ชั่วโมง ลองของ “รถเสริม” ช่วงสงกรานต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ความเดิมตอนที่แล้ว : ขอนแก่น - เชียงคาน - เชียงใหม่ (1) : ครั้งแรกกับถนนข้าวเหนียว – ชมพระอาทิตย์ตกดินที่เชียงคาน คลิกที่นี่

17 เมษายน 2560, 08.20 น.

การมาเยือนเชียงคานในครั้งนี้เราอยู่กันได้ไม่นาน เพราะต้องออกเดินทางต่อ แม้แขจะแอบเคืองแบบขำๆ ที่ชักชวนให้อยู่เที่ยวต่ออีกวันแล้วเราปฏิเสธไป แต่ก็เข้าใจดีว่าต่างคนต่างก็มีแผนการเดินทางเป็นของตัวเอง

เพื่อนที่มาด้วยจะไปต่อที่อื่น ส่วนเราเองเกิดนึกตั้งใจว่าจะไปเชียงใหม่ ด้วยเส้นทางที่ไม่เคยไป เผื่อจะได้ประสบการณ์เดินทางอะไรใหม่ๆ บ้าง

จ่ายเงินค่าห้องพัก ก่อนที่จะร่ำลาคุณพ่อ คุณแม่ พร้อมกับแข ก่อนออกจากบ้านพักไป คิดเอาไว้ว่ารอบหน้าอยากมีโอกาสพาเพื่อนสมัยมัธยมฯ ไปเยี่ยมแขด้วย

เราเดินมาทางหลังวัดศรีคุณเมือง ไปยังสามแยกเชียงคาน เห็นรถสองแถวจอดอยู่ใต้ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ เพื่อนถามว่า “ไปเมืองเลยไหม” เมื่อตอบตกลงเราทั้งสองคนก็ขึ้นไปบนรถ รถสองแถวก็ออกจากเชียงคานทันที

ลมเย็นๆ บนรถสองแถว ทำให้ย้อนไปถึงสมัยเด็กๆ ต้องนั่งรถสองแถวไปโรงเรียนทุกวัน ลมเย็นๆ ริมทางพัดมาที่ใบหน้า แต่เมื่อระยะทางจากเชียงคานไปถึงเมืองเลยเกือบๆ 50 กิโลเมตร และรถสองแถวก็หวานเย็นจริงๆ

กระทั่งรถนครชัยขนส่งจากเชียงคาน มุ่งหน้านครราชสีมา แซงหน้าเราไป ก็นึกอยากเขกหัวตัวเองว่าทำไมไม่รอรถแอร์ คงจะนั่งสบายกว่านี้

แต่ตอนนั้นพอดีรถสองแถวถึงก่อน เลยคิดว่าเรานั่งรถสองแถวกันแบบขำๆ ไป

มาถึง บขส. เมืองเลยตอนสิบโมงเศษๆ เราแยกย้ายกับเพื่อนที่นั่น ตัดสินใจเดินหารถโดยสารไปต่อพิษณุโลก หากจะรอรถไปเชียงใหม่โดยตรงอย่างเพชรประเสริฐ คงต้องรอจนถึงตอนเย็นหรือค่ำ

ตอนที่นั่งรถสองแถว คิดแผนไว้หลายทาง เช่น นั่งรถสายขอนแก่นไปลงชุมแพ หรือนั่งรถเมล์ไปลงหล่มสัก แต่เอาเข้าจริงจากเมืองเลย ไปลงชุมแพก็กินเวลาสองชั่วโมงครึ่ง แถมต้องไปวัดดวงที่ชุมแพต่ออีกก็คงจะเสียเวลามากเกินไป

จากเมืองเลยไปถึงพิษณุโลก มีรถโดยสารให้บริการเพียงเจ้าเดียว คือ นครไทยเดินรถ ต้นทางมาจาก จ.อุดรธานี แต่เนื่องด้วยช่วงนี้ยังอยู่ในช่วงเทศกาล แน่นอนว่ามีผู้โดยสารตกค้างจำนวนมาก เราก็กลายเป็นหนึ่งในนั้น

ทีแรกจะมีรถ ป.2 (ค่าโดยสาร 207 บาท) เข้ามาในช่วงเที่ยงวัน และช่วงบ่ายโมง แต่ตั๋วเต็มหมด ผู้โดยสารที่มาก่อนได้ตั๋วนั้นไป ขณะเดียวกันยังมีชาวต่างชาติเข้ามาถาม ก็ต้องคอยตอบด้วยภาษาอังกฤษแบบกระท่อนกระแท่น

กระทั่งเกือบ 11 โมงเช้า นายท่าบอกกับเราว่า “รอบเที่ยง รอบบ่ายโมงมีคนจองหมดแล้ว มีรถ ป.1 บ่ายสองโมงครึ่งว่างอยู่ จะได้ไม่ต้องรอ” จึงตัดสินใจซื้อตั๋ว ป.1 ด้วยราคา 266 บาทมาแทน

ช่วงเวลา 3 ชั่วโมงที่ต้องรอคอย สิ่งที่ทำได้คือ หาที่เดินเล่นใกล้ๆ เลยคิดว่าไปตากแอร์เย็นๆ ที่บิ๊กซีเลยดีกว่า

ทีแรกแบกกระเป๋าเดินเท้าไป คิดว่าระยะทางใกล้ๆ แต่เอาเข้าจริงด้วยอากาศร้อนทำให้รู้สึกว่าไกลกว่าที่คิด

กระทั่งรถสกายแลปที่จะไปเข้าวินที่บิ๊กซีผ่านมาพอดี เลยให้เขามาส่งในราคา 20 บาท

บิ๊กซี สาขาเมืองเลย เปิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2555 นับนิ้วดูแล้วก็ 5 ปี เป็นอาคารชั้นเดียว

ด้านใน มีโรงภาพยนตร์เล็กๆ ชื่อว่า MVP อยู่ในตัวห้าง เห็นวัยรุ่นเมืองเลยเข้าคิวดูหนัง Fast And Furious 8 อย่างคึกคัก

แต่เนื่องด้วยบิ๊กซีสาขานี้เป็นสาขาเล็ก หลังกินข้าวเสร็จ เดินไปรอบๆ ห้างเพียงครึ่งชั่วโมงก็ครบแล้ว

ในเมื่ออากาศร้อน ทำอะไรมากไม่ได้ก็นั่งเฉยๆ บนม้านั่งหน้าทางเข้าห้างฯ ฆ่าเวลาให้หายใจไปวันๆ นี่แหละ

บ่ายโมงครึ่ง เรานั่งสามล้อสกายแลปกลับไปที่ บขส. เมืองเลยอีกครั้ง เราพบว่ามีผู้คนตกค้างจำนวนมาก ทราบว่าคนที่มาที่หลังจะได้นั่งรถไปพิษณุโลกรอบสองทุ่ม

โชคดีที่มาแต่สายๆ ได้ตั๋วรอบบ่ายสองโมงครึ่งก็ดีเท่าไหร่แล้ว

แต่เมื่อรถต้นทางมาจากอุดรธานี จะมาถึง บขส. เมืองเลยแบบตรงเวลาเป๊ะคงเป็นไปไม่ได้

ที่สุดแล้วรถ ป.1 ที่เราจะขึ้น ก็มาถึงตอนบ่ายสามโมงเศษๆ ก่อนที่จะออกมาจากตัวเมืองเลยในเวลาต่อมา

รถทัวร์ใช้เส้นทางสายสระบุรี - หล่มสัก – เลย ผ่าน อ.ภูเรือ ก่อนถึง อ.ด่านซ้าย ถนนเริ่มเล็กลงเรื่อยๆ ขึ้นเขาไปเรื่อยๆ หากนั่งฝั่งคนขับก็จะได้เห็นทัศนียภาพของขุนเขาที่สวยงาม

ภายในรถไม่ได้แจกอะไรมาก นอกจากน้ำดื่ม 1 ขวด กับคุกกี้ห่อละ 5 บาท 1 ซอง

ทีแรกออกจากเมืองเลยยังไม่รู้สึกหิว พอนั่งรถนานๆ ไปชักจะเกิดอาการเบื่อและหิวโหย นึกเสียดายที่ไม่น่ากินขนมที่ซื้อมาจากบิ๊กซี

1 ชั่วโมงครึ่งผ่านไป มาถึง อ.ด่านซ้าย รถทัวร์จอดรับผู้โดยสารที่ศาลาหน้าป้อมตำรวจตรงสี่แยกบ้านเดิ๋น

จากจุดนี้หากเลี้ยวขวาไปอีก 35 กิโลเมตรก็จะเป็น อ.นาแห้ว สุดชายแดนไทย-ลาว แต่ต้องไปด้วยรถส่วนตัวเท่านั้น

รถทัวร์ขึ้นเขาที่สูงชันไปทาง อ.นครไทย จ.พิษณุโลก อีก 45 กิโลเมตร ซึ่งกว่าจะถึงพิษณุโลกก็อีก 140 กิโลเมตร เราจึงนั่งรถเมล์คันนี้อย่างใจเย็น

ไม่นานนักรถก็เข้าเขต อ.นครไทย จ.พิษณุโลก เข้าสู่ภาคเหนือของไทยอย่างเป็นทางการ

แต่เนื่องจากเกือบตลอดเส้นทางเป็นถนนเส้นเล็กๆ เวลาขึ้นเขาพอได้กลิ่นเบรกไหม้เป็นกษัย

มาถึงสามแยกบ้านแยง อ.นครไทย ออกถนนพิษณุโลก - หล่มสัก ซึ่งเป็นถนนสี่เลน ก็หกโมงเย็นเศษๆ แล้ว

รถเคลื่อนไปอย่างช้าๆ ผ่านบ้านทรัพย์ไพวัลย์ ผ่าน อ.วังทอง ตะวันก็ตกดินแล้ว มาถึงสถานีขนส่งผู้โดยสารพิษณุโลก (บขส. 2) สี่แยกอินโดจีนก็ประมาณ 1 ทุ่มเศษๆ

เบ็ดเสร็จจาก บขส. เมืองเลย ใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมงพอดี

สรุปแล้วออกจากเชียงคาน ตลอดทั้งวันยังไปได้แค่ครึ่งทางเท่านั้น

17 เมษายน 2560, 19.10 น.

ถึงสถานีขนส่งผู้โดยสารพิษณุโลก (บขส. 2) เริ่มออกตามหารถทัวร์ไปเชียงใหม่

เริ่มจากนครชัยแอร์ (จะมีรถมาจากอุบลราชธานี หรือจากระยอง พัทยา) ได้รับคำตอบว่า “เต็มทุกเที่ยว ต้องรอตอนตีสอง”

ระหว่างนั้นผ่านเคาน์เตอร์บริษัทหนึ่ง ก็ชักชวนให้ไปกับเขา บอกว่า “รถออกห้าทุ่ม ถือว่าเร็วที่สุดแล้ว”

แต่ก็เดินไปถามนครชัยทัวร์ (จะมีรถมาจากนครราชสีมา) ก็บอกว่า “ต้องรอดูตอนเที่ยงคืน ไม่แน่ใจว่ามีรถหรือเปล่า”

เราเดินย้อนกลับมาที่เคาน์เตอร์บริษัทนั้น เขาบอกว่า ค่าโดยสาร 400 บาท เพราะเป็นรถเสริม

ด้วยความที่ไม่มีทางเลือกจึงยอมจ่ายเงิน ทั้งๆ ที่หากราคาปกติจริงๆ ราคาจะอยู่ที่ 347 บาทเท่านั้น

จากนั้นจึงไปหาข้าวกิน แล้วหาที่พักชั่วคราวตรงตึกแถวรอบ ๆ สถานี

คราวที่แล้วเราพักแรมกันที่ห้องพักแห่งหนึ่ง เป็นห้องแอร์ 350 บาท คราวนี้เราแค่อาบน้ำ ชาร์จแบตมือถือ พักผ่อนแค่ 3-4 ชั่วโมง เลยคิดว่าห้องพัดลมดีกว่า

จึงตัดสินใจไปติดต่อห้องเช่าแห่งหนึ่ง ในราคา 200 บาท

ปรากฏว่าสภาพห้องพักไม่มีอะไรเลยนอกจากเตียงนอน โต๊ะเครื่องแป้งว่างๆ ทีวี ที่นอนแม้เหมือนจะซักแล้วแต่ก็ดูเก่าไปตามกาลเวลา

สิ่งเดียวที่ทำได้คือชาร์จแบตมือถือ อาบน้ำ (ใส่เสื้อตัวเดิม) แล้วนอนเฉยๆ ฆ่าเวลากันไป

สี่ทุ่มเศษ เราออกจากหอพักไปยังชานชาลาอีกครั้ง สังเกตเห็นรถทัวร์เจ้าหนึ่งนำรถเสริมมาให้บริการในเส้นทาง พิษณุโลก - กรุงเทพฯ ตอนสี่ทุ่ม ช่วงนั้นคิดว่าเดี๋ยวห้าทุ่มก็มามั้ง

ปรากฏว่าห้าทุ่มผ่านไป จนแล้วจนรอดรถก็ยังไม่มา
(หมายเหตุ : ขออนุญาตปกปิด เพื่อความปลอดภัยในสวัสดิภาพของผู้เขียน)
กระทั่งห้าทุ่มสี่สิบ คนขายตั๋วประกาศว่ารถเสริมถึงแล้ว เป็นรถทัวร์รับจ้างไม่ประจำทางทะเบียนพิษณุโลกนี่แหละ

แต่กว่าจะเดินรถได้ย่อมมีขั้นตอนขอใบอนุญาต บังเอิญว่าทางสำนักงานขนส่งจังหวัดพิษณุโลก ตั้งโต๊ะออกใบอนุญาตรถเสริมพอดี

อ่านเฟซบุ๊กผ่านๆ เจอเรื่องเล่าที่หมอชิต ระบุว่า มีผู้ประกอบการรถเสริม หรือที่เรียกกันภายในว่า “รถ 30” (รถโดยสารไม่ประจำทาง) รายหนึ่งมาช่วยวิ่ง ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่กรมขนส่งฯ สั่งไม่ให้วิ่ง อ้างว่าไม่มีจีพีเอสนู่นนี่นั่น

(เรื่องนี้เคยถามคนขับรถตู้สายหนึ่ง ถึงระบบจีพีเอสที่นำมาติดบนรถโดยสาร เขาบอกว่าราคาไม่ใช่ถูกๆ เริ่มต้นที่หลักหมื่นบาทขึ้นไป)

สุดท้ายเจ้าของรถเสริมจึงกล่าวว่า “งั้นพี่ไปเรียกคนลงให้หมด แล้วลงทุกคันด้วย เพราะผมไม่ไปแล้ว รถทีมผมสั่งกลับทั้งหมด พี่ก็หารถมาขนคนไปเองแล้วกัน”

เจ้าหน้าที่กรมขนส่งฯ ทำหน้างงๆ แล้วหันหลังกลับไป

นับว่าโชคดีที่ไม่เข้มงวดกว่านี้ ไม่เช่นนั้นผู้โดยสารตกค้างนับพันคนที่อยู่เต็มหมอชิต แล้วอยากกลับบ้านเหลือทนคงได้รุมประชาทัณฑ์!

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่ารถเสริมมาถึงแล้วจะออกไปได้ทันที คนขับรถต้องไปขอใบอนุญาตจากทางขนส่งฯ มาแปะหน้ารถ

แล้วต้องให้นักเรียนอาชีวศึกษาถือกระดานคลิปบอร์ดตรวจสอบความปลอดภัยทั้งรถโดยสารและพนักงานขับรถ

เที่ยงคืนเศษๆ รถทัวร์จากอุดรธานี ออกจากเมืองเลยรอบสองทุ่มมาถึงที่นี่ ผู้โดยสารอีกส่วนหนึ่งก็มาซื้อตั๋วและขึ้นรถ ในใจหงุดหงิดว่าเมื่อไหร่รถจะออกสักที สงสัยอยู่ว่ารอคนเต็มออกหรือไม่

00.40 น. รถออกจากสถานีขนส่งพิษณุโลก คิดว่าน่าจะไปเส้นทางอุตรดิตถ์ - เด่นชัย แล้วไปออกลำปาง

แต่ผิดคาด ย้อนไปทางถนนเลี่ยงเมือง เลี้ยวขวาแยกหนองอ้อ เลี้ยวซ้ายแยกเอ็กซ์เรย์ แล้วเลี้ยวซ้ายแยกบ้านกร่าง เข้าถนนสิงหวัฒน์ ไปทาง จ.สุโขทัย

นึกในใจว่า จะไปทางนั้นทำไม อ้อมไปตั้งเกือบร้อยกิโลเมตรนะนั่น ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนตัวเองถูกหลอกพิกล แต่ตอนนั้นทำอะไรไม่ได้ นอกจากหลับบนที่นั่งแบบหลับๆ ตื่นๆ ด้วยความเพลีย

รถทัวร์ส่งคนที่ค่ายวชิรปราการ 1 คน น่าจะเป็นทหาร และที่ บขส. ตากอีก 2 คน ก่อนเลี้ยวขวาที่แยกทางหลวง ออกถนนพหลโยธินประมาณตีสาม-ตีสี่

ที่น่าแปลกใจที่สุดก็คือ นอกจากค่าโดยสารแพงกว่าปกติแล้ว ยังไม่มีอะไรให้กินด้วย แม้แต่น้ำสักขวดก็ยังไม่มีให้ดื่ม แต่ก็พยายามเข้าใจว่าเป็นรถเสริม มีหน้าที่ส่งผู้โดยสารอย่างเดียว จึงไม่ได้นึกถึงตรงนี้

แม้จะเป็นการเดินทางที่ดูจะผิดหวังมากที่สุด แต่ในความผิดหวังมักจะมีอะไรสวยงามให้ได้ชมบ้าง ช่วงเช้ามืดประมาณตีห้า เราได้เห็นท้องฟ้าค่อยๆ สว่างขึ้นทีละนิด จากเทือกเขาทางทิศตะวันออก ระหว่างเส้นทางมุ่งหน้าไปลำปาง

18 เมษายน 2560, 06.00 น.

รถมาถึงแยกนาก่วม จ.ลำปางเกือบ 6 โมงเช้า คนที่จะลงลำปางก็ต้องมาลงรถตรงจุดนี้ ไม่เข้า บขส. หลังจากนั้นอีก 95 กิโลเมตรจะถึงเชียงใหม่ แต่ถึงกระนั้น รถเสริมก็ขอเวลาเติมน้ำมันสัก 10 นาทีก่อน

ในใจคิดมาตลอดว่า เมื่อไหร่จะถึง ... แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มากนอกจากนั่งเฉยๆ

บนถนนหนทางซูเปอร์ไฮเวย์ เห็นรถทัวร์คันอื่นขับแซงเป็นสิบคัน โดยรถที่เรานั่งอยู่ช้องทางซ้ายสุดขับออกไปอย่างช้าๆ

เมื่อเข้าสู่เขตอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาน หมอกหนาในตอนเช้าเข้ามาปกคลุมแทนที่

ทีแรกนึกว่าหมอกควันจากการเผาป่า แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน

พี่ที่อยู่เชียงใหม่บอกว่า เมื่อวานฝนตกปรอยๆ ตลอดทั้งวัน จึงน่าจะเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมหมอกถึงลงหนาจัดตั้งแต่เชียงใหม่ยันลำพูน

07.30 น. เรามาถึงเชียงใหม่ ... แต่ที่งงก็คือ รถไม่ได้เข้าสถานีขนส่งเชียงใหม่อาเขต กลับติดไฟแดงที่แยกศาลเด็ก

ก่อนที่จะตรงไป มุ่งหน้าสะพานป่าตัน คืองงเป็นไก่ตาแตก คิดว่าจะไปจอดที่ถนนนิมมานเหมินทร์หรือไง

แน่นอนว่ามีผู้โดยสารที่ร่วมชะตากรรมจากพิษณุโลกอยู่ด้วยหนึ่งคน ไม่ได้ถามชื่อ หอบกระเป๋าเสื้อผ้า กระเป๋ารองเท้าและโน้ตบุ๊ค นั่งเบาะด้านหน้า ถามเราว่ารถจะหมดระยะเมื่อไหร่ เราก็บอกว่าไม่ทราบ

เขาเดินไปถามคนขับก็ตอบว่าจะไปส่งที่อาเขต กระทั่งรถค่อยๆ เลี้ยวซ้าย เข้าถนนเชียงใหม่ - แม่ริม ก่อนที่จะหยุดลงตรงสถานีขนส่งช้างเผือก!

แสดงว่าคนขับคงไม่รู้ว่า ขนส่งอาเขตกับขนส่งช้างเผือกมันคนละที่กัน!

สิ้นสุดกันทีกับรถเสริมราคา 400 บาท

ด้วยความที่ไม่มีทางเลือก เราจึงต้องเสียเวลาไปอีก 15 นาที แถมเสียเงินค่ารถแดงอีก 20 บาท เพื่อไปสถานีขนส่งอาเขต ห่างจากตรงนี้ไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร

เท่าที่พูดคุยกับผู้โดยสารที่ร่วมชะตากรรม บอกว่าเอารถไปจอดไว้ที่อาเขต ลงจากรถเสร็จว่าจะขับรถไปทำงานเลย

ด้วยความที่เรารู้สึกว่าลำบากมาด้วยกัน จึงช่วยออกค่ารถแดง 20 บาทให้ ก่อนจากกันไปด้วยรอยยิ้ม

เนื่องจากเพื่อนรุ่นพี่ที่รามคำแหง เอื้อเฟื้อที่พัก แต่เขาออกไปทำงานตั้งแต่เจ็ดโมงครึ่ง สิ่งหนึ่งที่ทำได้ก็คือ ล้างหน้า แปรงฟัน โดยที่ไม่ได้อาบน้ำ เสื้อผ้าชุดเดิม แล้วฝากกระเป๋าเสื้อผ้าไว้ที่ขนส่งอาเขต ตอนเย็นๆ ค่อยกลับมาเอา

ที่สถานีขนส่งอาเขต 3 จะมีร้านรับฝากกระเป๋าอยู่เจ้าหนึ่งตรงชานชาลา ใกล้กับซุ้มขายตั๋วของนครชัยทัวร์ (เจ้าที่เป็นรถไปโคราช) คิดค่าฝากกระเป๋า 30 บาท ฝากไว้ได้ทั้งวัน แต่ต้องมารับกลับไม่เกิน 1-2 ทุ่มของทุกวัน

ช่วงเวลาที่อยู่ในเชียงใหม่ ไม่ค่อยมีอะไรมาก ไปนั่งกินข้าว ถ่ายรูปเล่นที่ประตูท่าแพ ต่อด้วยเดินเท้าหารถแดงไปห้างเมญ่า ดื่มกาแฟ นั่งชาร์จแบตมือถือที่ศูนย์ซีเอเอ็มพี (CAMP) และหาก๋วยเตี๋ยวซุปกระดูกหมูกินที่ศูนย์อาหารชั้นล่าง

คนที่ไปเมญ่าวันนั้นแล้วเห็นผู้เขียน ต้องขออภัยด้วยที่กลิ่นตัวอาจไม่น่าอภิรมย์เท่าใดนัก

สุดยอด @ นิมมาน ร้านบะหมี่ที่มีจุดเด่นคือน้ำซุปกระดูกหมู จริงๆ เมนูแนะนำคือบะหมี่ซุปกระดูกหมู แต่เราสั่งบะหมี่เกี๊ยวหมูแดง (45 บาท) น้ำซุปเข้มข้น หวานน้ำต้มกระดูกหมู ถ้าไม่ชอบทานหวานจัดแทบไม่ต้องปรุงเพิ่ม #เขาว่าอร่อย #เราว่าอร่อย #เชียงใหม่ #ChiangMai #ChiangmaiEat

โพสต์ที่แชร์โดย Kittinun Nakthong (@kittinunn) เมื่อ



18 เมษายน 2560, 12.30 น.

ช่วงบ่ายเกิดนึกอยากไปเที่ยวดอยสุเทพ เพราะไม่ได้ไปมานาน จึงโบกรถแดง 20 บาท ไปลงที่สวนสัตว์เชียงใหม่

ทีแรกจะเข้าห้องน้ำในสวนสัตว์และเดินเล่นสักเล็กน้อย แต่พอมาเห็นค่าบัตรผู้ใหญ่ 100 บาทแล้ว หันหลังกลับแทบไม่ทัน

เดินมาที่ท่ารถแดง เห็นชาวต่างชาติสองคนนั่งรอคิวรถที่จะขึ้นไปบนดอยสุเทพ ช่วงนั้นไม่มีคนขึ้นไป พอเราจะไป คนขับรถขอคนละ 150 บาท แล้วรถจะออกทันที

ด้วยความที่เราสงสารเขา จึงจ่ายไป 150 บาท เขาเอาเงินชูให้ฝรั่งดู แต่ทั้งสองคนไม่ยินยอมแล้วเดินหนี

คนขับรถจึงบอกว่า “งั้นผมคิดพี่ร้อยนึงละกัน ผมจะออกรถเลย” ผมจ่ายให้ 100 บาท โดยขอเขานั่งเบาะหน้าเพื่อจะได้ถ่ายรูป

เมื่อรถจะออก มีเสียงไล่หลังจากโชเฟอร์ที่เหลือ คิดฝรั่งสองคนเพียงแค่คนละ 50 บาทเท่านั้น

ไม่ได้รู้สึกโกรธหรอก ออกจะเห็นใจคนขับรถแดงด้วยซ้ำ ต่อให้มีเสียงวิจารณ์ว่าบริการไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ชีวิตของเขาไม่ต่างจากคนหาเช้ากินค่ำทั่วไป ในยามที่การท่องเที่ยวซบเซารายได้ก็ลดน้อยถอยลงไปด้วย

รถแดงได้ขึ้นเขาไปด้านบนดอยสุเทพประมาณ 15 นาที ยังมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมวัดพระธาตุดอยสุเทพอย่างคึกคักเช่นเคย เราไม่รอช้าขึ้นเคเบิลคาร์ไปด้านบนสุด

พระธาตุดอยสุเทพยังคงเหมือนเดิมทุกประการ!

ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ จุดชมวิวดอยสุเทพ ปกติแล้วมักจะนิยมไปถ่ายรูปมุมสูงของเมืองเชียงใหม่จากศาลาเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งอยู่ระหว่างเส้นทางดอยสุเทพ

แต่ก็มีจุดชมวิวอยู่ที่ด้านตะวันออกของวัด ตรงจุดนี้มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,048 เมตร มองเห็นทัศนียภาพ รันเวย์ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ รวมทั้งทิวเขาขุนตานที่ทอดยาวมาไกลสุดลูกหูลูกตา





เราใช้เวลานั่งพักตรงนี้พอสมควร พยายามใช้กล้องมือถือถ่ายคลิป แต่ผลที่ได้ก็คือ เครื่องบินเล็กไปหน่อย

ครั้นจะซูมอีกภาพก็แตก ไม่สวยอีก เลยคิดว่าถ่ายภาพพาโนรามาอย่างเดียวน่าจะโอเคกว่าแล้วมั้ง

ออกจากพระธาตุดอยสุเทพ ด้านหน้าจะมีรถแดงให้บริการ บอกราคาเด่นชัด เริ่มต้นที่ 40 บาท ถึงสวนสัตว์เชียงใหม่ ถ้าจะนั่งไปถึงกาดหลวงคิด 80 บาท

เราจึงนั่งรถยาวไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะไปเอากระเป๋าที่อาเขต

เมื่อถึงกาดหลวง หรือ ตลาดวโรรส เราเดินไปหาของฝากที่ “ร้านเกษมสโตร์” ที่นั่นจะมีซอสที่ในพันทิปเคยพูดถึง คือ ซอสอร่ามภิญโญ และซอสเพชรรัตน์

เป็นซอสที่ไม่มีขายที่ไหนในประเทศไทยนอกจากเชียงใหม่

แทบอยากจะพรีออเดอร์มาขาย เหมือนคนที่หิ้วคิทแคทชาเขียว หรือโตเกียวบานานาจากญี่ปุ่น แต่ใครจะซื้อล่ะ?

คราวที่แล้ว ซอสอร่ามภิญโญหมด มาคราวนี้ไม่ผิดหวัง ซอสห่อกระดาษถุงสีน้ำตาล มีฉลากแบบโบราณๆ ราคาถูกมาก ขวดละ 29 บาท

เป็นซอสเปรี้ยวคล้ายจิ๊กโฉ่ว ใช้ปรุงรสอาหารหรือเหยาะทานกับไข่เจียว

"ซอสอร่ามภิญโญ" ซอสปรุงรสที่เก่าแก่และดั้งเดิมในเชียงใหม่ ทำจากขิงสด ตะไคร้สด กระเทียม พริกขี้หนู พริกไทย เม็ดผักชี ยี่หว่า กระวาน กานพลู อบเชยไทย-เทศ ฯลฯ มาหมักรวมกัน ใช้สำหรับปรุงรสอาหารต่างๆ เหยาะจิ้มเมนูไข่ ซาลาเปา ขนมจีบ และปรุงรสน้ำก๋วยเตี๋ยวแทนซีอิ้วดำได้อีกด้วย รสชาติจะคล้ายจิ๊กโฉ่วแต่ไม่เปรี้ยวมาก เอาไปเหยาะข้าวสวยกินกับไข่ดาวได้ดี อร่อยลงตัว ขวดนี้ 300 ซีซี ราคาเพียง 29 บาท ห่อด้วยกระดาษสีน้ำตาล ได้มาจากร้านเกษมสโตร์ ตรงกาดหลวง (ตลาดวโรรส) แต่ของมาไม่บ่อย บางครั้งไปแล้วไม่มีของ เป็นซอสที่ลิมิเต็ดอีดิชั่นจริงๆ #chiangmaieats #chiangmaisauce #เขาว่าอร่อย #ซอสเชียงใหม่

โพสต์ที่แชร์โดย Kittinun Nakthong (@kittinunn) เมื่อ



ซอสอีกแบบหนึ่ง คือ “ซอสเพชรรัตน์” ก่อนหน้านี้เคยซื้อแต่บราวน์ซอส ขวดละ 60 บาท ไว้จิ้มกินกับนักเก็ตไก่

เพิ่งเห็นว่ายังมีอีกแบบหนึ่ง คือ ซอสสเต็ก แต่ตอนนั้นยังไม่เคยซื้อ ว่าจะหาโอกาสมาซื้อคราวหน้า

ถามว่า เวลาจะเอาซอสพวกนี้กลับกรุงเทพฯ ทำยังไง ... ให้หาซื้อพลาสติกกันกระแทกห่อหุ้มกับขวด ใส่กล่องไปรษณีย์ แล้วเอาเศษกระดาษยัด

อย่าให้มีช่องว่าง เพราะถ้าเกิดการโยนหรือกระแทกขวดจะแตกเอาได้

ออกจากกาดหลวง นั่งรถแดงไปที่อาเขต ได้เวลาลุ้นระทึกตั๋วรถทัวร์กลับกรุงเทพฯ อีกครั้ง

เพราะคราวที่แล้วไปวัดดวงกันที่หน้างาน แต่คราวนี้ขอซื้อตั๋วล่วงหน้าหนึ่งวัน ด้วยความหวังว่าน่าจะมีเหลือให้สักใบ

ปรากฏว่า นอกจากนครชัยแอร์เต็มแล้ว สมบัติทัวร์ก็เต็มเหมือนกัน

ส่วนกรีนบัส สังเกตเห็นข้อความ “โชครุ่งทวีทัวร์ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กรุงเทพฯ” ที่หน้าเคาน์เตอร์ แต่คิวยาวมาก กลัวได้คำตอบว่า “ตั๋วเต็ม” ก็กลัว

ลองเข้าไปที่เว็บไซต์กรีนบัส (www.greenbusthailand.com) เห็นรถเที่ยวเวลา 10.30 น. ปลายทางกรุงเทพฯ (ประชานิเวศน์) ที่นั่งว่างเหลืออยู่เพียบ

ก็คิดว่า เอาวะ ... ลงหมอชิตไม่ได้ ถึงกรุงเทพฯ ก็ยังดี

ระหว่างยืนรอคิว ตัดสินใจจองตั๋วผ่านเว็บไซต์ ค่าโดยสาร 488 บาท ทีแรกระบบจองตั๋วเออเรอร์ ทำรายการไม่สำเร็จ

พอกลับมาทำรายการอีกครั้งก็พบว่าใช้ได้ ซื้อตั๋วสำเร็จ ได้รหัส 7 หลัก เมื่อถึงคิวก็แจ้งรหัสเพื่อรับตั๋วทันที

สรุปคือ เย็นวันนั้นได้ตั๋วล่วงหน้ากลับบ้านสบายๆ จึงโทรศัพท์ไปหาเพื่อนรุ่นพี่

ปลายสายถามว่าอยากกินอะไรเป็นพิเศษไหม จึงตอบกลับไปว่า “อยากอาบน้ำเต็มแก่แล้ว” ก่อนไปรับกระเป๋าคืน แล้วนั่งรถแดงกลับที่พักของเพื่อนรุ่นพี่

การผจญภัยในวันนั้นโดยสรุปคือ นั่งรถจากเชียงคาน 23 ชั่วโมงถึงเชียงใหม่ จากพิษณุโลกน้ำไม่อาบต่อเนื่อง 23 ชั่วโมงถึงช่วงเย็นของอีกวัน

แถมผ่านไปเกือบ 2 วัน กว่าหัวจะได้หนุนหมอนอีกครั้ง

น้ำจากฝักบัวไหลเข้าที่ลำตัวในวันนั้น รู้สึกเหมือนได้เล่นน้ำตก

ถือเป็นวันหนึ่งที่อาบน้ำแล้วรู้สึกสดชื่นที่สุด ราวกับมีชีวิตใหม่ ...

(อ่านต่อฉบับหน้า)


กำลังโหลดความคิดเห็น