xs
xsm
sm
md
lg

กระแส “ไม่เอาประชาธิปไตย” มาจากไหน? (2)

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

ในที่สุดแล้ว กระแส “เรือดำน้ำ” ก็จุดไม่ติด ไปไม่ไกลอย่างที่คิด

แม้กลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลยังคงหยิบมาเป็นประเด็นจิกกัดกันอย่างครื้นเครงอยู่ได้ในโลกโซเชียล แต่สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ใช่คอการเมืองฝั่งนั้นแล้ว นอกจากความไม่พอใจและข้อกังขาเมื่อแรกมีประเด็นขึ้นมาใหม่ๆ แล้ว ก็ไม่ได้มีอะไรต่อยอดออกไปจากนั้น

ไม่มีกระแสขับไล่รัฐบาล ไม่มีแม้แต่การกดดันไปยังนายกรัฐมนตรีให้ปลด “พี่ใหญ่” ออกไปให้พ้น อย่างที่คิดว่าจะเป็นกระแสลุกลามแต่อย่างใด

เรียกว่า ประชาชนส่วนใหญ่อาจจะไม่พอใจการจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” ไม่มั่นใจในความโปร่งใสของกระบวนการ แต่ถ้าว่ากระทบกับรัฐบาล อยากล้มรัฐบาลไหม คงตอบกันได้ว่า “ไม่”

คนส่วนใหญ่ในประเทศยังยินดีกับการปกครองต่อไปในระบอบ คสช.ไม่ได้มีการเร่งเร้าให้ต้องมีการเลือกตั้งในเร็ววันแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญใหม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ขึ้นใช้บังคับแล้วก็ตาม

แตกต่างจากยุคสมัยก่อนหน้านี้ ที่แทบไล่รัฐบาล “รักษาการ” ที่ตั้งโดยคณะรัฐประหารให้ไปพ้นๆ เพื่อจะได้มีการเลือกตั้งและกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มใบในเร็ววัน

อาจถือว่ารัฐบาลปัจจุบันนี้ เป็นรัฐบาลทหาร ที่ปกครองในรูปแบบอำนาจเบ็ดเสร็จ ที่ได้รับฉันทามติหรือความเห็นชอบจากประชาชนให้ปกครองประเทศได้ยาวนานที่สุดในรอบหลายสิบปี

จึงกลับไปสู่ข้อสังเกตที่เคยตั้งไว้เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนว่า หรือว่าในขณะนี้ความรู้สึก “ไม่ต้องการประชาธิปไตย” กลายเป็นกระแสหลักของคนในประเทศแล้วจริงๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรมีการวิเคราะห์กันยาวๆ

เพราะ “โดยทฤษฎี” แล้ว การปกครองแบบประชาธิปไตย ถือเป็นการปกครองที่ดีที่สุด หรืออย่างน้อยก็มีข้อเสียน้อยที่สุด ด้วยว่าเป็นการปกครองในระบอบที่การใช้อำนาจมีการยึดโยงกับประชาชนอย่างคำพูดนิยามระบอบประชาธิปไตยที่ว่า “ประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน”

แต่เมื่อเรานำเอา “นิยามประชาธิปไตย” ข้อนี้มาใช้เป็นเครื่องชี้วัด “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” แล้ว เราก็คงจะประเมินได้ว่า เหตุใดการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจึงยังไม่ “ได้ใจ” ปวงชนชาวไทย จนกระทั่งผู้คนส่วนใหญ่ไม่เห็นความจำเป็น ไปจนถึงปฏิเสธ “ประชาธิปไตย”

นั่นก็เพราะที่ผ่านมา การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยตลอด 80 กว่าปีนั้น แทบไม่มีอะไรเลยที่สามารถชี้ให้เห็นว่าเป็นการปกครอง “ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” เลย

เพราะด้วยรูปแบบประชาธิปไตยทางอ้อมผ่านผู้แทน ที่จะต้องมีการเลือกตั้งผู้เข้าไปทำหน้าที่แทนประชาชนในการปกครองประเทศ เป็นรัฐบาลและรัฐสภานั้น

อาจจะถือว่า “เป็นของ” ประชาชนก็เฉพาะก่อนที่จะมีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่านั้น เมื่อหย่อนบัตรเลือกตั้งลงในหีบเสียแล้ว อำนาจนั้นก็ขาดออกไปจากมือของประชาชนในทันที กลายเป็นของ “นักการเมือง” ที่ชนะการเลือกตั้ง

อย่างที่มีการเรียกกันว่า ประชาธิปไตยใน 4 วินาทีนั่นแหละ

และยังไม่นับว่า “เสียง” ที่เลือก “นักการเมือง” เข้าไปใช้อำนาจแทนประชาชนนั้น บางส่วนมาจากการซื้อสิทธิขายเสียง ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังอย่างยาวนานของประเทศมาตลอด ไม่ว่าจะด้วยรูปแบบเก่าแก่ตรงไปตรงมา เช่น การจ่ายเงินซื้อเสียงกันแบบตรงๆ เสียงหนึ่งจะมีราคาร้อยยี่สิบหรือสามร้อยห้าร้อยก็ว่ากันไป

หรือการซื้อเสียงทางอ้อมแบบใหม่ ผ่านรูปแบบการปรนเปรอประชาชนด้วยนโยบายที่จ่ายเงินแผ่นดินไปให้ประชาชนแบบง่ายๆ คล่องๆ ผ่านรูปแบบของสวัสดิการหรือการดำเนินนโยบายแบบประชานิยม

การที่คนส่วนหนึ่งนั้นตัดสินใจเลือก “ผู้ไปทำหน้าที่แทน” ด้วยผลประโยชน์ ไม่ว่าจะทางตรงทางอ้อม ก็ทำให้การแสดงเจตนาผ่านการเลือกตั้งนี้บิดเบี้ยวไป จนยากที่จะเรียกได้ว่า เป็นการปกครองโดยประชาชน แต่เป็นการปกครอง “โดยเงิน” ที่สร้างความชอบธรรมผ่านการเลือกตั้ง และเสียงของประชาชนบางกลุ่มบางส่วนมากกว่า

นี่เป็นเรื่องจริงที่ไม่ต้องปฏิเสธกันเสียให้ยาก แต่ก็มีคนส่วนหนึ่งพยายามชี้ว่า เมื่อ “นักการเมือง” มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าการเลือกตั้งนั้นจะบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ ก็ถือว่ามีความชอบธรรมเพราะมาจากประชาชน

นอกจากนั้น คนกลุ่มนี้ก็ยังเที่ยวเอา “ความชอบธรรม” จากการเลือกตั้งที่ว่านั้นมาตะคอกใส่หน้าให้ผู้คน “หุบปาก” อย่าวิจารณ์นโยบายรัฐบาล อย่าทำเป็นมาตรวจสอบความชอบธรรมสุจริตอะไรอีกต่อไป เพราะท่านนักการเมืองเหล่านั้นเป็นตัวแทนโดยชอบธรรมจากประชาชน ตามการปกครองในระบอบ “ประชาธิปไตย”

ก็ไปตีความประชาธิปไตยกันในทางง่ายแบบนี้ ก็คงจะยากที่ใครจะรู้สึกว่า การปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นการปกครอง “โดยประชาชน” หรือ “ของประชาชน”

อันนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงระบบการเลือกตั้งที่มีปัญหาในเรื่องการนับหรือรับรู้ “เสียงข้างมาก” ของประชาชนอีกด้วย ซึ่งเป็นปัญหาที่ต่อให้มีการเลือกตั้งในอุดมคติได้จริง ไม่มีการซื้อสิทธิเลย การ “รับรู้เสียงข้างมาก” ผ่านรูปแบบการเลือกตั้งในระบบเก่าๆ ที่ผ่านมา ที่ใช้หลัก “ใครชนะก็ชนะขาด” หรือ Winner Takes All ก็ยังมีปัญหา

เสียงข้างมากแบบผู้ชนะ แม้แต่ชนะเสียงเดียว ก็ชนะขาดไปหมดนั้นไม่สะท้อนเสียงที่แท้จริงของประชาชน กลายเป็นว่าประชาชนในเขตเลือกตั้งนั้น “เห็นชอบ” ให้นาย ก หรือพรรค ข เป็นตัวแทน และไปดำเนินนโยบายทั้งหมดแทนคนในเขตนั้น เท่ากับเสียงอื่นๆ ที่ไม่ได้เลือกนาย ก หรือ พรรค ข นั้นไม่มีความหมาย

ปัญหามันจะยากขึ้นไปอีก หากพิจารณาในสถานการณ์ของการเลือกตั้งที่หลากหลาย สมมติมีคู่แข่ง 3 ราย คือ พรรค ก พรรค ข และพรรค ค ซึ่งผลการเลือกตั้งออกมาเป็นว่า พรรค ก ได้ 1,000 คะแนน พรรค ข ได้ 800 คะแนน พรรค ค ได้ 300 คะแนน ตามกติกาการเลือกตั้งแบบผู้ชนะได้ไปหมดหรือชนะขาด ถือว่าคนจากพรรค ก เป็นตัวแทนเขตเลือกตั้งนั้น แต่จะกล่าวได้เต็มปากจริงหรือว่า เขามาจาก “เสียงข้างมาก” ของผู้คนในเขตนั้น และถ้าสมมติผู้แทนคนนั้นไปโหวตเห็นชอบให้เก็บภาษีเพิ่ม จะถือได้หรือไม่ว่าคนในเขตนั้นส่วนมาก “เห็นด้วย” กับการตัดสินใจดังกล่าว ยินดีเสียภาษีเพิ่มกันทุกคนไป

ปัญหาเรื่องระบบการเลือกตั้งที่ทอดทิ้งเสียงข้างน้อยนี้ ไม่ใช่เกิดในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นจุดอ่อนของประชาธิปไตยในระบบผู้แทนผ่านการเลือกตั้ง ที่หลายประเทศก็พยายามปรับปรุงระบบการเลือกตั้ง และการรับรู้คะแนนเสียงของประชาชนให้สามารถสะท้อนทั้งเสียงข้างมากข้างน้อยได้ใกล้เคียงความเป็นจริงให้ได้มากที่สุด ซึ่งตามรัฐธรรมนูญใหม่นี้ กรธ.ก็ได้พยายามนำเอาการเลือกตั้งระบบสัดส่วนแบบใหม่มาปรับใช้แล้ว ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรนั้น ก็ต้องมาดูกันที่การเลือกตั้งคราวหน้า

แต่เพราะการเลือกตั้งระบบเดิมที่ไม่สะท้อนเสียงของประชาชนที่ไม่ได้เป็นเสียงข้างมาก ให้เป็นเสียงที่ไม่มีความหมายนี้เอง ทำให้ความรู้สึกว่า “ประชาธิปไตยเป็นการปกครองโดยประชาชน” สำหรับฝ่ายเสียงข้างน้อยนั้นถูกลดทอนไป เกิดความรู้สึกว่า “บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา” เป็นของพวกเขาที่เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง จะเอาไปปู้ยี่ปู้ยำอย่างไรก็ได้

ทั้งฝ่ายที่ชนะก็เอาแต่พร่ำหลักการว่า ประชาธิปไตยคือการออกเสียงของคนส่วนใหญ่ผ่านการเลือกตั้ง เมื่อผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งทำอะไรหรือตัดสินใจไปแล้ว คนทั้งประเทศต้องเคารพเชื่อตาม ถ้าขืนไปโต้แย้งก็หาว่าเป็นเสียงข้างน้อยไม่ยอมรับกติกา ไม่เคารพเสียงข้างมาก

ในที่สุด “การเลือกตั้ง” ก็จะเท่ากับเป็นการยกอำนาจให้แก่คนกลุ่มหนึ่งคือ “นักการเมือง” ไปโดยเด็ดขาดจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่คราวหน้า โดยที่ฝ่ายชนะการเลือกตั้งก็จะสะสมความได้เปรียบมากขึ้นทุกที ทั้งเครือข่าย อำนาจ พลังทุน และความนิยมจากประชาชนที่เกิดจากการบริหารด้วยนโยบายแบบประชานิยม

อย่างที่เราได้เห็นตัวอย่างจากพรรคฝ่ายอำนาจเก่า ที่มั่นใจในระบอบการเลือกตั้ง ว่าเลือกตั้งกี่ครั้งเขาก็ชนะ และยิ่งชนะก็จะชนะต่อไป จนอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถล้มได้ลง มีมวลชนของตัวเองที่เข้มแข็ง

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว “ประชาธิปไตย” แบบไทยๆ ก็คงจะไม่ใช่ระบอบการปกครองที่เป็นไปเพื่อ “ประชาชน” ทั้งประเทศ แต่เป็นไปเพื่อ “คนบางกลุ่ม” และบรรดาประชาชนคนที่เห็นดีเห็นงามและได้ประโยชน์จากคนกลุ่มนั้น

ด้วยเหตุนี้เมื่อถึงเวลาที่ “ประชาธิปไตย” ถูกพรากเอาไป หรือถูกอำนาจอื่นมา “เว้นวรรค” ประชาชนส่วนหนึ่งอันเป็นส่วนมาก ที่ไม่ได้รู้สึกว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นการปกครองโดยประชาชนหรือเพื่อประชาชนแล้ว ก็คงเฉยๆ หรือ “อย่างไรก็ได้” ใครจะมาปกครองก็เหมือนๆ กัน ไม่รู้สึกว่าถูกแย่งอำนาจอะไรอย่างไรไป

ก็เพราะ “บ้านเมืองไม่ใช่ของเรา” มาตั้งแต่ยุคมีประชาธิปไตยที่ถือการเลือกตั้งเป็นสรณะแล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น