ปลายเดือนมีนาคม 2560 สายลมอุ่นเคลื่อนตัวเข้าพัดพาไอเย็นที่ปกคลุมมหานครอันเยือกเย็น
กิ่งของต้นหลิวเต้นระบำเหนือลำธารสายน้อย ฝ่ายดอกหยิงชุนสีเหลืองสดก็ผลิบานต้อนรับฤดูใบไม้ผลิที่เดินทางมาถึงแล้ว
ผมยืนมองจัตุรัสเทียนอันเหมินจากมุมที่คุ้นเคย ด้านหลังของผมคือรูปประธานเหมา เจ๋อตง เหนือประตูเทียนอันเหมิน คลื่นนักท่องเที่ยวทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติทยอยกันหลั่งไหลเข้าไปยังประตูบานใหญ่สีแดง ที่แต่ละบานตอกหมุดทองคำเอาไว้ 81 ชิ้น มองเผินๆ สิ่งรอบกายคล้ายจะเหมือนเดิม แต่มีความรู้สึกอะไรบางอย่างที่บอกผมว่า “ปักกิ่งทุกวันนี้ไม่ใช่เมืองที่ผมเคยรู้จัก”
หลังใช้ชีวิตอยู่ในมหานครแห่งนี้ระหว่างปี 2545-2551 จนแทบกลายเป็นบ้านหลังที่สอง ผมต้องเดินทางกลับมาที่นี่ทุกปี ปีละ 2-3 ครั้ง หรือบางปีมากกว่านั้นแล้วแต่ภารกิจ แต่แค่สองปีหลังมานี้ที่จำนวนสมาชิกในครอบครัวเล็กๆ ของผมขยายตัวจากสองเป็นสี่ ทำให้ผมห่างเหินปักกิ่งไปพักใหญ่
ที่หน้าประตูเทียนอันเหมิน ผมเจอ “เอ๋” นักศึกษาปริญญาโทด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยชิงหัว สถาบันอุดมศึกษาระดับจอหงวนของจีน
หลังจากเรียนจบนิติศาสตร์ที่จุฬาฯ เอ๋ ก็สนใจเกี่ยวกับเมืองจีน และเคยใช้ชีวิตอยู่ในหลายเมือง ก่อนมาลงเอยกับชีวิตของนักเรียนระดับบัณฑิตศึกษาที่ปักกิ่ง
เอ๋อัพเดตวิถีชีวิตที่ปักกิ่งให้ผมฟังหลายเรื่อง โดยหลายเรื่องในหลายเรื่องนั้นเป็นสิ่งที่ผมได้ฟังแล้วก็ได้แต่อ้าปากค้าง
“เดี๋ยวนี้ที่ปักกิ่งโบกแท็กซี่ตามริมถนนยากนะครับพี่”
“ทำไมล่ะ?”
“เดี๋ยวนี้เขาเรียกผ่านแอปพลิเคชันกันหมด อย่างพวก ‘ตีตีต่าเชอ’ เขาไม่ค่อยโบกรถกันแล้ว”
“ตีตีต่าเชอ (滴滴打车)” เป็นแอปพลิเคชันเรียกรถแท็กซี่ คล้ายๆ แกร็บแท็กซี่ (Grab Taxi) ที่บ้านเราคุ้นเคย
เดือนกุมภาพันธ์ 2558 (ค.ศ.2015) ภายหลังจากก่อตั้งและเปิดให้บริการได้ไม่ถึง 3 ปีดี “ตีตีต่าเชอ” ก็ควบรวมกับไคว่ตี้ต่าเชอ (快的打车) ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันเรียกแท็กซี่ในจีนอีกยี่ห้อหนึ่ง จนกลายเป็นบริษัทผู้ให้บริการการขนส่งผ่านสมาร์ทโฟนที่ใหญ่ที่สุดในโลกในทันที ด้วยจำนวนผู้ใช้บริการกว่า 300 ล้านคนในกว่า 300 เมืองทั่วประเทศจีน
ปัจจุบัน ตีตีชูสิง (滴滴出行) หรือเดิมทีชื่อ ตีตีไคว่ตี้ (滴滴快的) บริษัทที่เกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการเมื่อสองปีก่อน ไม่เพียงปฏิวัติวิธีการเดินทางของคนเมือง แต่ยังขยายบริการแตกแขนงออกไปมากมาย จนหาญกล้าเข้าไปซื้อกิจการของ อูเบอร์จีน (Uber China) ในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว (2559) และกลายเป็นบริษัทที่ถูกประเมินมูลค่าไว้สูงถึง 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือหากตีมูลค่าเป็นเงินไทยก็มากกว่า 1.2 ล้านล้านบาท!!!
ที่น่าสนใจที่สุดคือ ตีตีชูสิง ถือเป็นบริษัทสตาร์ทอัพบริษัทเดียวในจีนที่มี 3 ยักษ์ใหญ่แห่งโลกออนไลน์ของจีนถือหุ้นอยู่ คือทั้ง อาลีบาบา ไป่ตู้ และเทนเซ็นต์ รวมไปถึงบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของโลกอย่างแอปเปิลยังลงขันร่วมด้วยอีก 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
แต่ก็ใช่ว่าเส้นทางของตีตีชูสิงจะราบเรียบและโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะนอกจากจะโดนรัฐบาลจีนจับตามอง และเรียกไปคุยให้จัดการอุดช่องโหว่ที่ละเมิดกฎหมายแล้ว เนื่องจากแอปฯ ตีตีชูสิงเปิดและครอบคลุมให้บริการอื่นๆ ที่สุ่มเสี่ยงว่าจะผิดกฎหมายหลายข้อของจีน เช่น เป็นช่องทางให้รถโดยสารส่วนบุคคลสามารถรับผู้โดยสารได้ ธุรกรรมผ่านบริการไม่เข้าสู่ระบบภาษี (คล้ายๆ กับที่อูเบอร์โดนอยู่ในบ้านเรา ณ ปัจจุบัน) รวมไปถึงถูกแจ้งว่าธุรกิจอาจละเมิดกฎหมายการผูกขาดการค้า (反垄断法) เพราะตีตีชูสิงกินส่วนแบ่งตลาดแอปฯ เรียกแท็กซี่มากถึงราวร้อยละ 80 รัฐบาลจีนยังอยู่เบื้องหลังในการผลักดันให้เกิดแอปฯ เรียกแท็กซี่คู่แข่งขึ้นมาด้วย
แต่มาตรการดังกล่าวของรัฐบาลจีนก็มิอาจปิดกั้นความต้องการของผู้บริโภค และความนิยมในหมู่ผู้โดยสารทั่วประเทศได้ โดยในปี 2558 เพียงปีเดียว มีผู้โดยสารเรียกใช้บริการแท็กซี่ผ่านตีตีชูสิงมากถึง 1,400 ล้านครั้ง ขณะที่เดือนธันวาคม 2559 ที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียวก็มีผู้ใช้บริการมากถึง 200 ล้านครั้งเข้าไปแล้ว
“A-P-P (คนจีนเรียกแอปพลิเคชันว่า เอพีพี) เรียกแท็กซี่ก็ดีนะ สะดวกดีนะสำหรับทั้งผู้โดยสาร หรือคนขับแท็กซี่อย่างผม ผมก็ใช้อยู่นี่ไง” คนขับแท็กซี่ชาวปักกิ่งวัย 50 กว่าๆ บอกผม ระหว่างที่รถแท็กซี่กำลังเลี้ยวเข้าถนนเจี้ยนกั๋วเหมินไว่ พร้อมกับนิ้วที่ชี้ไปบนสมาร์ทโฟนยี่ห้อออปโป้ที่ติดอยู่บนคอนโซล
คืนวันเดียวกัน ... หลังจากที่เครื่องไชน่าแอร์ไลน์พาผมกลับมาถึงกรุงเทพ
ผมกดคิวเรียกแท็กซี่ที่สุวรรณภูมิเพื่อกลับบ้านย่านรัชดาภิเษก พอโชเฟอร์ชายวัยกลางคนเปิดกระโปรงท้ายให้ผมยกกระเป๋าเดินทางใส่ ได้ยินจุดหมายปลายทางที่อยู่ใกล้เกินกว่าความคาดหมาย ก็ทำหน้าเหมือนท้องผูก ถ่ายไม่ออกมาหลายวัน
บอกตรงๆ ผมเพียงหวังว่า “ไทยแลนด์ 4.0” ในบริบทของปัญหารถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะ ในสายตาของรัฐบาล คสช. คงไม่ได้หมายความถึง การแค่ไล่จับอูเบอร์ จัดระเบียบรถตู้ ติดกล้องซีซีทีวีกับปุ่มเตือนภัยฉุกเฉินในแท็กซี่เท่านั้นนะ