xs
xsm
sm
md
lg

กระแส “ไม่เอาประชาธิปไตย” มาจากไหน? (1)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พระบาท นามเมือง

ควันหลงจากกรณี “หมุดคณะราษฎร” หรือ “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” หายสาบสูญไปนั้น มีความน่าสนใจในเชิงปฏิกิริยาของสังคมต่อเรื่องที่เกิดขึ้น

แน่นอนว่าฝ่ายที่ออกมาติดตามทวงถามหาหมุดที่หายไปนั้น เราก็พอจะคาดเดากันได้ ส่วนใหญ่ก็จะได้แก่นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวที่มักมีถ้อยคำต่อท้ายว่า “ประชาธิปไตย” ทั้งหลายทั้งแหล่นั่นเอง

แต่แรงตอบสนองที่มาจากอีกฝั่งอีกฝ่ายนั้นน่าสนใจมากกว่า คือ ฝ่ายที่พอใจหรือสะใจต่อการที่หมุดคณะราษฎรดังกล่าวหายไป ซึ่งคนในกลุ่มในฝั่งดังกล่าวนั้นบางคนก็เคยเปรยๆว่า อยากให้มีมือดีสักคนมารื้อมาถอนเอาหมุดที่เป็นเหมือนตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ออกไปเสีย พอมีใครสักคนไปทำกันเข้าจริงๆ ก็สมประโยชน์ จนออกมาแสดงความสะใจกันเต็มพื้นที่โซเชียลเน็ตเวิร์กไปหมด

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า หมุดดังกล่าวนั้นเป็นตัวแทนของ “การเปลี่ยนแปลงการปกครอง” และเป็นตัวแทนของ “ระบอบประชาธิปไตย”

หมุดทองเหลืองที่หายไปนี้ จึงต้องแบกรับเอาทั้งความชอบความชังสิ่งที่เป็นนัยสัญลักษณ์ประวัติถึง นั่นคือทั้งตัวตนของ “คณะราษฎร” และการปกครองในระบอบ “ประชาธิปไตย”

อันที่จริงแล้ว หมุดประวัติศาสตร์นี้ฝังตัวเงียบอยู่ในพื้นดิน ณ จุดที่เชื่อว่าพระยาพหลฯ ท่านมายืนอ่านประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มานานหลายสิบปีแล้ว

แต่เพิ่งจะมาถูกเชิดขึ้นเป็นตัวแทนเอาเมื่อในช่วงสิบกว่าปี ในทศวรรษแห่งความขัดแย้งทางการเมืองนี่เอง

นั่นเพราะมีฝ่ายหนึ่งที่เชื่อว่าตนเองเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” ใช้มันเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้หรือทำกิจกรรมทางการเมือง มีการรวมตัวเข้ามาทำกิจกรรมหรืออาจจะถึงขนาดเป็นพิธีกรรมกันในเหตุการณ์สำคัญๆ โดยเฉพาะวันครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อย่างเอิกเกริกเป็นเรื่องเป็นราว

หรือลองสังเกตดูว่าในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ก็จะเห็นว่าคนที่ชอบประกาศตัวว่าเป็นฝ่าย “ประชาธิปไตย” ก็มักจะใช้ภาพของหมุดคณะราษฎรนี้เป็นภาพแทนตัวในโอกาสสำคัญๆ หรือมีประเด็นขัดแย้งทางการเมืองที่ต้องการสื่อว่า “ฉันนี่แหละอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย”

การทำ “กิจกรรม” ทั้งในโลกจริงหรือในโลกไซเบอร์นี้เอง ที่เหมือนเป็นการขุดเอาหมุดที่เป็นโบราณวัตถุชิ้นหนึ่งที่บ่งบอกถึงเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในบ้านเมือง มาโยนเข้าเป็นวัตถุสัญลักษณ์แห่งความขัดแย้งทางการเมืองชิ้นหนึ่ง

เมื่อกลุ่มหนึ่งเชิดชู “หมุด” กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มแรกก็หมิ่นชัง “หมุด” อันเดียวกันนี้เอง เป็นปฏิกิริยามุมกลับของกันและกัน

ดังได้กล่าวไปข้างต้น ว่าหมุดนี้ได้แบกเอาสัญลักษณ์ของทั้งสองสิ่งเอาไว้ คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น คนที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรก็ย่อมเห็นว่าหมุดนี้เป็นสัญลักษณ์ของการ “ชิงสุกก่อนห่าม” บ้าง ของการชิงพระราชอำนาจมาจากพระมหากษัตริย์บ้าง

ความรู้สึก ความเห็น และมุมมองของผู้คนเกี่ยวกับคณะราษฎรนั้นเป็นเรื่องที่ยังถกเถียงกันได้ เหมือนประเด็นทางประวัติศาสตร์ทั่วไปที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์หรือตีความให้ค่ากันไปตามแต่มุมมอง

แต่ที่น่าสังเกต คือ ผู้คนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยกันอย่างจริงจังไปเลย ก็เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ

แนวโน้มของการเหม็นเบื่อหรือปฏิเสธประชาธิปไตยนี้แพร่หลายเข้มข้นขึ้นมาได้อย่างไร

ในเมื่อทางทฤษฎีรัฐศาสตร์แล้ว เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอาจจะไม่ใช่ระบอบที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นระบอบที่แย่น้อยที่สุด

และในเมื่อคนไทยเรา “เคย” หวงแหนประชาธิปไตยกันจนเอาชีวิตเข้าแลก มาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 พฤษภาทมิฬ 2535 ไปจนถึงแม้แต่ในความขัดแย้งทางการเมืองแห่งทศวรรษ ที่คนแตกแยกเป็นสองสีสองฝ่าย แต่ทั้งสองฝ่ายก็ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อ “ประชาธิปไตย” ในทัศนะของตัวเองทั้งสิ้น

ก็ดูง่ายๆ จากชื่อของกลุ่มมวลชนทั้งสองสี ต้องมีคำว่า “ประชาธิปไตย” อยู่ในชื่อทั้งสิ้น ตั้งแต่สมัยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไปจนถึง กปปส.ที่ย่อมาจาก “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรืออีกฝ่ายก็เรียกตัวเองว่า นปช. หรือ “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ”

เห็นได้ว่า สมัยก่อน ใครๆ ก็รัก “ประชาธิปไตย” กันทั้งนั้น แต่ด้วยเหตุใด ในปัจจุบันนี้ ผู้คนจำนวนหนึ่งออกมาปฏิเสธ “ประชาธิปไตย” กันอย่างเปิดเผยมากขึ้นเล่า

หรือแม้แต่ในการปกครองปัจจุบัน ที่หากกล่าวกันในเชิงทฤษฎีแล้วก็คือการปกครองแบบเผด็จการด้วยคณะทหารหรือฝรั่งเรียกทับศัพท์ด้วยว่าภาษาสเปนว่า “ฆุนตา” (Junta) แต่ทำไมประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจึงดูไม่เดือดร้อนอะไรกับการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยดังกล่าวเลย

แม้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะประกาศใช้บังคับแล้ว และคณะ คสช.ก็ปกครองประเทศมาแล้วร่วม 3 ปี ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานที่สุดในรอบหลายสิบปีของการเมืองไทยที่ประเทศมีคณะปกครองด้วยทหารโดยไม่มีรัฐบาลหรือรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่มีการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วแต่อย่างใด

ผิดจากสมัย รสช. 2535 และ คมช. 2549 อย่างสิ้นเชิง

อะไรทำให้ประชาชนจำนวนมากอยู่ในสภาพเบื่อหน่ายต่อประชาธิปไตย ซึ่งจริงๆ ก็คล้ายกับการเกาะไปในแนวหรือเทรนของโลกในทศวรรษนี้ที่สวิงออกไปทาง “ขวา” กระนั้นสำหรับประเทศอื่นๆ ในโลกนั้น สิ่งที่เขาปฏิเสธคือการหันไปสู่แนวคิดแบบอนุรักษนิยม แต่ก็ไม่ใช่การปฏิเสธ “ระบอบประชาธิปไตย” ซึ่งแตกต่างจากแนวโน้มที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้ และเหมือนว่าจะดำเนินต่อไปอย่างมีนัยสำคัญมากขึ้นทุกที

ถ้าจะกล่าวง่ายๆ ว่า “ประชาธิปไตย” นั้นไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องของประเทศไทยอย่างนั้นหรือ ก็ไม่อาจสรุปได้เช่นนั้น

แต่มันต้องเกิดความผิดพลาดขึ้นที่ไหนอย่างไรเป็นแน่แท้ ที่ทำให้กระแสปฏิเสธประชาธิปไตยนี้จุดติดและลามแพร่หลายไปในหมู่ผู้คนทั่วไปได้อย่างนี้ ซึ่งถ้าเราหา “ข้อผิดพลาด” นั้นไม่พบ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ “ประชาธิปไตย” ที่สมบูรณ์ตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปทางการเมืองรอบใหม่นี้ก็ไม่มีทางยั่งยืน

เพราะในเมื่อใจของคนเกือบครึ่งเกือบค่อนไม่ได้ต้องการประชาธิปไตยเสียแล้ว จะหมายให้เขาช่วยก่อร่างสร้างหรือรักษาไว้จะเป็นไปได้อย่างไร

ขอยืนยันว่าเราปฏิเสธ “ประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นระบอบการปกครองหลักของโลก ระบอบที่มีข้อเสียน้อยที่สุด อีกทั้ง เคารพในความเป็นมนุษย์ของผู้คนมากที่สุดไปไม่ได้หรอก

แต่อะไรทำให้เกิดความรู้สึกปฏิเสธประชาธิปไตยในหมู่ประชาชนคนไทยใน พ.ศ.นี้ คือสิ่งที่ต้องค้นหาสาเหตุไปด้วยกัน ซึ่งเรื่องนี้คงต้องคุยกันยาวๆ ในตอนต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น