xs
xsm
sm
md
lg

จะเอา “พร้อมเพย์” ไปประยุกต์ใช้กับร้านค้า-แท็กซี่ได้ยังไง?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง

ขอบคุณภาพ : ปรัชญา อรเอก
หลังจากที่ธนาคารของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ 21 แห่ง เปิดให้บริการโอนเงินรายย่อยระหว่างบุคคล “พร้อมเพย์” ไปเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา โดยให้ลูกค้าผูกบัญชีธนาคารเข้ากับเลขที่บัตรประชาชนหรือเบอร์มือถือ แล้วใช้วิธีการโอนเงินพร้อมเพย์เพื่อประหยัดค่าธรรมเนียม

ข้อมูลจาก นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 9 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมา แม้จะมีลูกค้าผูกบัญชีไปแล้ว 24 ล้านบัญชี แบ่งออกเป็น ผูกบัญชีกับเลขที่บัตรประชาชน 19 ล้านบัญชี ผูกกับเบอร์มือถือ 4-5 ล้านบัญชี และเมื่อจำแนกการผูกบัญชีด้วยเลขที่บัตรประชาชนพบว่า ผูกกับธนาคารของรัฐ 10 ล้านบัญชี และผูกกับธนาคารพาณิชย์ 9 ล้านบัญชี

แต่ก็พบว่า มีรายการทำธุรกรรมผ่านระบบพร้อมเพย์อยู่ที่ 20,000 – 30,000 รายการต่อวันเท่านั้น

เมื่อเทียบกับการโอนเงินรายย่อยข้ามธนาคาร (Online Retail Fund Transfer หรือ ORFT) ที่มีธุรกรรมเฉลี่ย 1 ล้านรายการต่อวัน ทั้งที่การโอนผ่านระบบเดิมนั้น เสียค่าธรรมเนียม 25 - 35 บาทต่อรายการ เทียบกับการโอนเงินพร้อมเพย์ ต่ำกว่า 5,000 บาท ไม่เสียค่าธรรมเนียม ส่วนเกินคิดค่าธรรมเนียมเริ่มต้นที่ 2 - 10 บาทเท่านั้น

เท่าที่สังเกตการใช้พร้อมเพย์ในช่วงที่ผ่านมา ตัวเลขการผูกบัญชีกับเลขที่บัตรประชาชนที่สูงถึง 19 ล้านบัญชี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกรมสรรพากร มีนโยบายคืนภาษีสำหรับผู้ที่ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด. 90 หรือ ภงด. 91) ผ่านระบบพร้อมเพย์ โดยใช้เลขที่บัตรประชาชน แทนการส่งเช็คคืนภาษี ซึ่งจะดำเนินการล่าช้ากว่า 45 วัน

แม้กระแสสังคมจะออกมาด่าว่า กรมสรรพากรบีบบังคับให้ใช้พร้อมเพย์ ทั้ง ๆ ที่ประชาชนยังไม่มั่นใจในความปลอดภัย กลัวว่ารัฐบาลจะเข้ามาดูข้อมูลบัญชีของเราบ้าง หรือจะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลบ้าง เพราะเลขที่บัตรประชาชน หรือ เบอร์มือถือ เป็นข้อมูลส่วนบุคคล และอีกสารพัดเหตุผลที่ยังคาใจ

แต่สุดท้ายหลายคนก็ “จำใจ” สมัครพร้อมเพย์เพื่อรับเงินคืนภาษีอยู่ดี

เอาเข้าจริงเมื่อดูจากตัวเลขคนที่ผูกบัญชีเข้ากับเบอร์มือถือ พบว่ามีอยู่ประมาณ 4-5 ล้านบัญชี แม้จะเป็นตัวเลขที่น้อยนิด แต่ก็แสดงให้เห็นว่ายังมีประชาชนอีกส่วนหนึ่ง มั่นใจที่จะลงทะเบียนพร้อมเพย์ โดยใช้เบอร์มือถือรับเงินโอน โดยเฉพาะผู้ประกอบการร้านค้า ผู้ค้าปลีก ค้าส่ง หรืออาชีพบริการ

บางธนาคารก็ส่งเสริมการใช้พร้อมเพย์โดยไม่ต้องรอภาครัฐ เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ไปจับมือกับผู้ให้บริการแท็กซี่ เช่น แกร๊บแท็กซี่, ออลไทยแท็กซี่ รวมทั้งสตาร์ทอัพอย่าง สกูตาร์ และ อีท เรนเจอร์ จ่ายค่าโดยสารหรือค่าบริการด้วยพร้อมเพย์ โดยติดสติกเกอร์ “SCB พร้อมเพย์” ที่หน้ารถ และมี “เบอร์มือถือ” สำหรับโอนเงินผ่านพร้อมเพย์

โดยให้ลูกค้าที่สมัครผูกบัญชีพร้อมเพย์กับธนาคาร ให้โอนจ่ายค่าแท็กซี่ที่เข้าร่วมกับธนาคารได้ฟรี โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม และโอนไปบัญชีพร้อมเพย์อื่น ๆ ได้ฟรีทุกวงเงินจนถึงวันที่ 1 พ.ค. 2560 ทราบมาว่า ก่อนหน้านี้ทางออลไทยแท็กซี่ ได้ให้คนขับรถของออลไทยแท็กซี่ไปเปิดบัญชีพร้อมเพย์เพื่อรับจ่ายค่าโดยสารผ่านการโอนเงินพร้อมเพย์ได้โดยตรง



คุณปรัชญา อรเอก ผู้ประกาศข่าวช่องเนชั่นทีวี เล่าประสบการณ์ว่า พบเห็นรถแท็กซี่ที่รับค่าโดยสารผ่านระบบพร้อมเพย์ ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์นำป้ายคาดที่นั่งมาติด คนขับยังสับสนคิดว่าต้องมีบัญชีไทยพาณิชย์เท่านั้น ก็อธิบายว่า “ไม่ใช่ บัญชีธนาคารไหนก็ได้โอนได้เลย” ทีแรกคนขับก็งง กระทั่ง SMS แจ้งเตือนว่าได้รับเงินแล้วก็เพิ่งจะเข้าใจ

คนขับรถแท็กซี่คันดังกล่าวระบุว่า ชอบที่ไม่ต้องใช้เงินสด สังคมในอนาคตต้องไม่ใช้เงินสด ไม่ต้องพกเงินเยอะ ไม่ต้องห่วงปล้นจี้ ส่วนคุณปรัชญาเองก็ชอบ เพราะแม้ระบบพร้อมเพย์เหมาะสำหรับบัญชีรับเงิน แต่การโอนจะโอนเข้าบัญชีพร้อมเพย์จากบัญชีไหนก็ได้ 5,000 บาทแรก ไม่ต้องเสียค่าโอน ส่วนเกินก็ถูกกว่าโอนเงินข้ามธนาคารแบบปกติมาก ๆ



ส่วนพ่อค้าขายของออนไลน์รายหนึ่ง ก็โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ลองใช้พร้อมเพย์โอนเงินระหว่างธนาคาร พบว่าโอนเงินง่าย จากธนาคารหนึ่งไปอีกธนาคารหนึ่ง ไม่เสียค่าธรรมเนียม อีกทั้งเริ่มมีลูกค้ามาถามแล้วว่า “มีบัญชีพร้อมเพย์ไหม?” เพราะโอนเงินต่างบัญชีถูกมาก พ่อค้าแม่ค้าลองพิจารณากันดู

คงมีคนสงสัยว่า ถ้าจะเอา “พร้อมเพย์” ประยุกต์ใช้กับร้านค้าเพื่อรับเงินโอนจากลูกค้าต้องทำอย่างไร?

อันที่จริง บริการพร้อมเพย์นั้นเหมาะกับร้านค้ามาก ๆ เพราะโดยปกติร้านค้าก็จะต้องบอกเบอร์มือถือแก่ลูกค้า สำหรับโทรศัพท์ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมอยู่แล้ว (แม้ในปัจจุบันจะนิยมคุยกันผ่านไลน์ หรือเฟซบุ๊กแมสเซนเจอร์ก็ตาม) และร้านค้าบางแห่งมักจะแยกเบอร์มือถือที่ใช้สำหรับร้านค้า กับเบอร์มือถือที่ใช้ส่วนตัวแยกกันต่างหาก

วิธีการง่ายๆ คือ เอาเบอร์มือถือของร้านค้า กับบัญชีธนาคารไปสมัครผูกบัญชีพร้อมเพย์ หากต้องการแยกบัญชีเพื่อไม่ให้ปนกัน ก็เปิดบัญชีใหม่โดยไม่ต้องทำบัตรเดบิตใด ๆ แล้วสมัครแอปพลิเคชั่นธนาคารบนมือถือพร้อมกันไปด้วย หรือถ้าจะเพิ่มความมั่นใจให้สมัครบริการ SMS Alert เพื่อแจ้งเตือนเงินเข้า เงินออกจากบัญชีไปด้วย

เมื่อลูกค้าต้องการชำระเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ เพียงแจ้งเบอร์มือถือสำหรับโอนเงินพร้อมเพย์ จะทำเป็นป้ายอะครีลิคเล็ก ๆ ติดเอาไว้ที่เคาน์เตอร์ก็ได้ แล้วเมื่อลูกค้าทำรายการชำระผ่านแอปพลิเคชั่นมือถือแล้ว เมื่อได้รับ SMS แจ้งเตือนว่ามีเงินเข้า ก็ถือว่าชำระเงินเสร็จสิ้น ทุกสิ้นวันค่อยโอนเงินไปยังบัญชีที่ใช้หมุนเวียนประจำวันก็ได้

ถ้ามีเงินหน่อยก็ซื้อมือถือที่ผูกกับเบอร์มือถือของทางร้านแยกต่างหาก ไม่ต้องแพงมาก เอาไว้รอรับ SMS จากลูกค้า และติดตั้งแอปพลิเคชั่นของธนาคารเอาไว้เช็กยอด และโอนเงินที่เราได้รับจากลูกค้าทุกสิ้นวันก็ได้ อาจจะมีค่า SMS Alert นิดหน่อย เดือนละ 10-20 บาท แต่การรับเงินผ่านพร้อมเพย์ ร้านค้าแทบไม่ต้องถูกหักค่าธรรมเนียมอะไรเลย

เทียบกับ หากร้านค้ารับบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิตที่ผูกกับบัญชีธนาคาร เวลาลูกค้าใช้บัตรชำระแทนเงินสด ร้านค้าจะถูกธนาคารหักค่าธรรมเนียมรูดบัตร 2-3% บางธนาคารต้องบังคับยอดลูกค้าขั้นต่ำ ถ้าไม่ถึงก็เสียค่าเช่าเครื่องรูดบัตรประมาณหลักร้อยบาท บางร้านค้าถึงกำหนดให้รูดบัตรขั้นต่ำ 300-500 บาท

ส่วนคนขับรถแท็กซี่ โดยเฉพาะแท็กซี่ส่วนบุคคล ถ้าไม่อยากรอแบงก์ไทยพาณิชย์ จะผูกบัญชีกับธนาคารไหนก็ได้ แล้วติดสติกเกอร์ตรงกระจกรถด้านคนนั่งว่า “แท็กซี่คันนี้รับพร้อมเพย์” (เป็นคำที่ธนาคารไทยพาณิชย์ใช้ แต่คิดว่าคงไม่หวงอะไร) ด้านในรถก็ระบุเบอร์โทรคนขับแท็กซี่ เวลาผู้โดยสารจ่ายเงินก็รอรับ SMS เงินเข้าจากธนาคารเท่านั้น

หวังว่าคงได้ไอเดียในการนำพร้อมเพย์ไปประยุกต์ใช้กับร้านค้า หรือคนขับรถแท็กซี่ เพื่อสร้างสังคมไร้เงินสด แม้จะต้องใช้ระยะเวลาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ที่เคยชินกับการใช้เงินสดก็ตาม.




กำลังโหลดความคิดเห็น