xs
xsm
sm
md
lg

จะ “เช็กบิล” Uber ถามผู้โดยสารแล้วหรือยัง?

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

การเกิดขึ้นของบริการ Uber และ Grab ซึ่งเป็นระบบการเรียกรถรับจ้างวิธีใหม่ นั้นเป็นปัญหาทั่วโลก และในประเทศไทยมานานแล้ว

นั่นเพราะบริการในรูปแบบดังกล่าวนั้น เป็นการ “ท้าทาย” และ “ชนตรง” และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นภัยคุกคามกับแท็กซี่ดั้งเดิมในเกือบทุกประเทศทั่วโลกที่มีบริการนี้

รูปแบบการให้บริการของ Uber หรือ Grab Car นั้นแตกต่างจากแท็กซี่ทั่วไป คือ เป็นลักษณะของแนวคิดของธุรกิจแบบ “แบ่งปันทรัพยากรส่วนตัวมาให้บริการสาธารณะ” หรือที่เรียกว่า Sharing Economy

เช่นถ้าเรามีบ้านแล้วห้องเหลือๆ หรือจะไม่อยู่ในช่วงเวลาไหน ก็เอาบ้านเอาห้องที่ว่างนั้นออกให้คนเช่าอย่างของ Airbnb หรือเรามีรถ มีเวลาว่าง เราก็ไปขับรถให้คนอื่นนั่ง เช่น Uber หรือ Grab นี่แหละ ซึ่งการให้บริการในรูปแบบดังกล่าวนั้นเป็นไปได้เพราะเทคโนโลยีการติดต่อกันด้วยแอปลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ทำให้การเชื่อมโยงของผู้คนระหว่างผู้อยากจะให้บริการ หรือผู้ต้องการใช้บริการสามารถหากันเจอได้ง่ายขึ้นและตัวบริษัทแม่นั้นเป็นเหมือน “นายหน้า” ที่มีหน้าที่แค่จัดหาระบบที่แข็งแรงและเชื่อถือได้ในการเชื่อมต่อให้ผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการสามารถติดต่อกันได้โดยมีระบบหรือแพลตฟอร์มเป็นตัวกลางเรื่องการรับจ่ายเงินและบริการสนับสนุนต่างๆ

ธุรกิจรูปแบบนี้กำลังสร้างแรงสะเทือนและความขัดแย้งกับธุรกิจแบบเก่าไม่ใช่แค่ที่เมืองไทย แต่หลายประเทศในโลกนั้นเริ่มมีการออกกฎหมายหรือระเบียบออกมาเพื่อ “แบน” Airbnb หรืออย่าง Uber เอง ก็มีการประท้วงของแท็กซี่ท้องถิ่นจนเป็นเรื่องเป็นราวถึงปะทะกันหลายประเทศแล้วเช่นในฝรั่งเศสหรือแม้แต่อเมริกาประเทศต้นกำเนิดของบริการนี้

ในประเทศไทยก็มีข่าวเนืองๆ ว่า มีการกระทบกระทั่งถึงขนาดจะวางมวยกันระหว่างผู้ให้บริการ Uber กับแท็กซี่ หรือรถรับจ้างของท้องถิ่นเช่นรถแดงในเชียงใหม่ หรือที่เป็นข่าวฮือฮา คือกรมการขนส่งทางบกก็มีการล่อซื้อใช้แอพเรียก Uber เข้าไปดำเนินการจับกุมหลายรายในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

หากจะกล่าวกันตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา รถรับจ้างแบบ Uber หรือ Grab นี้ก็ถือว่าผิดกฎหมายแน่นอน เพราะเป็นการนำรถที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นรถรับจ้างสาธารณะมาให้บริการต่างรถแท็กซี่ รวมถึงคนขับเองบางครั้งก็อาจจะไม่มีใบขับขี่รถรับจ้างสาธารณะด้วย

เรียกว่าในสายตาของ “กฎหมาย” แล้ว Uber หรือ Grab นี้ไม่ต่างจากรถแท็กซี่ป้ายดำเลย

แต่ทำไมบริการของ Uber จึงเป็นที่นิยมอย่างมากไปทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ได้รับผลตอบรับไปในทางบวกจากประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้โดยสารกลุ่มลูกค้า

นั่นเพราะเมื่อเปรียบเทียบกับบริการแท็กซี่ที่ “ถูกกฎหมาย” ในประเทศไทยแล้ว Uber และ Grab นั้นตอบสนองความต้องการได้ดีกว่า และผู้โดยสารไม่ต้องพบกับปัญหาเดิมๆ ที่เคยประสบพบเจอและอดทนกันมากับบริการของแท็กซี่พื้นฐาน

เช่นเรื่องของการปฏิเสธผู้โดยสาร แบบเรียกไปใกล้ก็ไม่ไป ไกลก็ไม่ไป ต่อรองจะให้เหมา เลือกรับผู้โดยสารไม่ยอมรับคนไทยในบางย่าน โกงมิเตอร์ ขับรถไม่สุภาพขับรถประมาทหวาดเสียวน่าเป็นอันตราย ไปจนถึงการก่ออาชญากรรมต่างๆ ทั้งทำร้าย ชิงทรัพย์ หรือละเมิดทางเพศต่อผู้โดยสารแบบที่เป็นข่าวกันมานับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งปัญหาทั้งหลายนี้ กรมการขนส่งทางบกก็เหมือนจะช่วยอะไรประชาชนไม่ได้เลย นอกจากให้ประชาชนร้องเรียน ซึ่งก็ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง ทั้งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยยังไม่มีมาตรการป้องกันใดๆ ที่เป็นรูปธรรมต่อปัญหาทั้งหลายที่กล่าวไปข้างต้น

ในขณะที่บริการของ Uber นั้น หากคนขับเข้าระบบเริ่มขับแล้วเขาห้ามปฏิเสธผู้โดยสารไม่ว่าจะกรณีใด การรับส่งเป็นไปด้วยการใช้ GPS นำทาง สะดวกสบายไม่ต้องนั่งบอกทางกันให้ยุ่งยาก

ส่วนความปลอดภัยของผู้โดยสาร จากการที่ได้คุยกับคนขับ Uber ก็ได้ข้อมูลมาว่า ทางบริษัทมีการคัดกรองผู้ที่จะมารับรถอย่างเข้มงวด ตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และการมีคดีฟ้องร้องทั้งทางแพ่ง ทางอาญา รวมถึงเรื่องอื่นๆ เรียกว่าถ้าประวัติไม่ดีจริงๆ ก็จะไม่ได้มาขับ แตกต่างจากกรณีของแท็กซี่ถูกกฎหมาย ซึ่งบางครั้งก็มีข่าวว่าคนขับเคยมีคดีติดคุกมาก็ออกมาขับรถได้ก็มี

นอกจากนี้มารยาทในการขับขี่ส่วนใหญ่ของคนขับเท่าที่มีประสบการณ์และฟังจากผู้ใช้บริการประจำ ก็เห็นว่าที่พบกันก็ขับรถดี มีมารยาท ไม่ขับประมาทหวาดเสียว ทั้งตัวรถก็สะอาดสะอ้าน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนที่มาขับ Uber นั้นเป็นคนชั้นกลางที่มีฐานะพอสมควร มีรถเป็นของตัวเอง บางคนก็มีงานมีการดีๆ ทำ เช่น เป็นพนักงานบริษัท เป็นนักธุรกิจส่วนตัวซึ่งมีเวลาว่างก็มาขับรถหารายได้เสริมอีกทาง

คุณภาพโดยรวมของผู้ให้บริการ Uber นี้จึงทำให้ผู้โดยสารที่เอือมระอากับแท็กซี่หลากสีที่ถูกกฎหมายนั้นประทับใจที่ทำให้มีทางเลือกมากกว่าต้องไปกราบกรานง้องอนแท็กซี่แบบสักแต่ถูกกฎหมายแต่ไม่มีการควบคุม และประชาชนเหล่านั้นก็กลายเป็น “แรงต้าน” หากภาครัฐจะใช้มาตรการอะไรที่จะมากระทบกระเทือนการให้บริการหรือดำเนินการอย่างจริงจังทางกฎหมายกับ Uber

อย่างเช่นที่มีการล่อจับ Uber ในตอนนี้ ก็มีเสียงเรียกร้องว่า แทนที่จะเอาเวลามาล่อจับ Uber ก็ช่วยไปล่อจับพวกแท็กซี่ไม่รับคนไทย แท็กซี่เรียกไม่ไป แท็กซี่เติมแก๊สบ้างเถอะพ่อคุณ

เพราะความพึงพอใจของประชาชนที่เป็นลูกค้าของ Uber นั้นเป็นของจริง และเป็นผู้บริโภค ที่ภาครัฐควรจะคุ้มครองประโยชน์ให้มากที่สุด ไม่ใช่การอ้างกฎหมาย ปกป้องบริการไร้ประสิทธิภาพและมีปัญหาเรื้อรัง เพียงเพราะสักแต่ว่ามันถูกกฎหมาย แม้ในทางความเป็นจริงนั้นกฎหมายที่ว่าแทบไม่สามารถบังคับใช้จริงจังได้เลย

ดังนั้น เมื่อมีการโยนหินถามทางมาจากกรมการขนส่งทางบก ว่าจะมีแนวคิดที่จะสั่ง “ระงับ” บริการเรียกรถผ่านแอพ Uber และ Grab ด้วยมาตรา 44

ก็ได้ “ก้อนอิฐ” คือกระแสสังคมที่ตอบโต้กลับไปอย่างดุเดือดจากฝั่งผู้ใช้บริการ โดยทาง Uber หรือ Grab เองไม่ต้องลงมาทะเลาะกับหน่วยงานภาครัฐเลย

ดีว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกมาปฏิเสธทันควัน ว่ายังไม่มีความคิดที่จะต้องใช้ “ยาแรง” ขนาดนั้นในเวลานี้

การแพลมจะใช้มาตรา 44 ซึ่งเป็น “ยาแรง” จัดการกับบริการที่เป็นประโยชน์กับสาธารณชน กลับยิ่งจะเป็นเป้าให้คนเสื่อมศรัทธากับการใช้ “อำนาจพิเศษ” ของรัฐบาล ทำให้เสียคะแนนนิยมโดยไม่จำเป็น

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลและฝ่ายภาครัฐควรจะทำ คือหาทางให้บริการที่เกิดขึ้นเพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และให้ประโยชน์ต่อประชาชนสามารถดำเนินต่อไปได้โดยถูกกฎหมาย และมีกระบวนการกำกับดูแลที่ยอมรับได้จากทุกฝ่ายไม่ให้มีปัญหากระทบกระทั่งกับบริการในรูปแบบเดิมมากกว่า.
กำลังโหลดความคิดเห็น