xs
xsm
sm
md
lg

โลกและโซเชียลมีเดียในปี 2570

เผยแพร่:   โดย: พรมแดนสื่อใหม่ (New Media, New Frontier)

ภาพจากเฟซบุ๊ก Mark Zuckerberg
วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


ผมเพิ่งเดินทางกลับจากฮ่องกง … ฮ่องกงวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อสิบปีก่อนพอสมควร นักท่องเที่ยวจีนดูลดจำนวนลง ถนนแคนตันที่เคยคลาคล่ำไปด้วยนักช้อปชาวจีนยืนต่อแถวเพื่อแย่งกันซื้อแบรนด์เนมหรูอย่าง หลุยส์ วิตตอง ดิออร์ แชแนล หรือ แอร์เมส แถวสั้นลงอย่างน่าใจหาย

ระหว่างที่นั่งคีบฮะเก๋ากันในร้านติ่มซำย่านเซ็นทรัล พี่คนไทยที่ทำงานอยู่ในภาคการเงินของฮ่องกงมาร่วม 20 ปี ตั้งแต่ฮ่องกงกลับคืนจากอังกฤษ สู่อ้อมอกของจีน เล่าให้ผมฟังว่า ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวจีนมาเยือนฮ่องกงน้อยลงมาก จากผลกระทบทางด้านการเมือง ทำให้ธุรกิจหลายอย่างยอดขายตกฮวบฮาบ โดยปลายปีที่ผ่านมา ร้านจิวเวลรีชื่อดังอย่าง Chow Tai Fook, Chow Sang Sang ถึงกับต้องปลดพนักงานกันระนาว

สิบปีที่ผ่านมา ไม่มีใครเคยคิดว่าฮ่องกงจะถูกกระทบกระแทกจากการแผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจการเมืองของจีนแผ่นดินใหญ่มากขนาดนี้ พอๆ กับการที่ไม่มีใครเคยคาดคิดว่า สื่อสังคมออนไลน์ หรือ โซเชียลมีเดีย จะเปลี่ยนโฉมสังคมของมนุษยชาติไปอย่างมโหฬาร

กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2560 มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุดของเฟซบุ๊ก นึกครึ้มอกครึ้มใจอะไรไม่ทราบ นั่งเขียนบันทึกที่หากตีพิมพ์ออกมาก็คงมีความยาวหลายสิบหน้ากระดาษ ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยใช้หัวข้อว่า Building Global Community หรือแปลเป็นไทยได้ว่า การสร้างชุมชนโลก

ซัคเกอร์เบิร์กเริ่มต้นด้วยคำถามว่า ในการเดินทางเพื่อเชื่อมต่อโลกทั้งใบเข้าด้วยกัน เขาและทีมงานมักจะหารือกันถึงเครือข่ายสังคมที่พวกเขากำลังสร้างและพัฒนา โดยวันนี้เขาอยากจะเน้นไปตรงจุดที่เป็นคำถามสำคัญที่สุดนั่นคือ เรากำลังสร้างโลกที่ทุกคนต้องการจริงหรือไม่?
ภาพจากเฟซบุ๊ก Mark Zuckerberg
“ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เฟซบุ๊กมุ่งเป้าไปที่การเชื่อมโยงเพื่อนและครอบครัว และบนพื้นฐานดังกล่าว เป้าหมายต่อไปของเราก็คือการพัฒนา Social Infrastructure เพื่อชุมชน เพื่อให้การสนับสนุนพวกเรา เพื่อทำให้พวกเราปลอดภัย เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมของพลเมือง และการอยู่ร่วมกันของทุกคน” ชายหนุ่มผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในโลกของเรา ณ ปัจจุบันบอก

พร้อมกันนั้นเขายังกล่าวด้วยว่า ภารกิจในการสร้างชุมชนโลกนั้นเป็นโครงการที่ใหญ่โตเกินกว่าองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือ บริษัทใดบริษัทหนึ่งจะทำได้ แต่ทางเฟซบุ๊กที่เขากุมบังเหียนอยู่นั้นจะร่วมตอบคำถามเพื่อแก้ปัญหา 5 ด้านหลักดังต่อไปนี้คือ

หนึ่ง การสร้างชุมชนที่เกื้อกูลต่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันดั้งเดิม (Supportive communities) ในห้วงที่สถาบันหลักต่างๆ กำลังเสื่อมถอยลง และประชากรในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ก็ลดน้อยถอยลงอย่างรวดเร็ว โดยจากเดิมช่วงสิบปีที่ผ่านมาเฟซบุ๊กได้ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับความสัมพันธ์ส่วนบุคคล (Personal relationships) แต่สิบปีข้างหน้าเฟซบุ๊กจะร่วมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถาบัน (Institutional relationships) กับรัฐบาลที่เป็นผู้ออกและควบคุมกฎเกณฑ์ต่างๆ

สอง การสร้างชุมชนที่ปลอดภัย (Safe Community) จากภยันตรายต่างๆ ทั้ง ภัยธรรมชาติ ภัยการก่อการร้าย โรคภัยไข้เจ็บ โรคระบาด วิกฤตผู้อพยพ รวมไปถึงปัญหาโลกร้อน โดยเฟซบุ๊กจะทุ่มงบประมาณใช้เทคโนโลยีในการสร้างเครื่องมือ และโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยให้กับโลก (Global safety Infrastructure) ให้มากขึ้น ซึ่งซัคเกอร์เบิร์กได้ยกตัวอย่างฟีเจอร์ Safety Check ในเฟซบุ๊ก (ซึ่งเคยประสบความผิดพลาด และก่อปัญหาการแพร่ข้อมูลข่าวสารเท็จ กรณีขึ้นแจ้งเตือนว่ามีเหตุระเบิดใน กทม. เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559)

“ในช่วงสองปีที่ผ่านมามีการเรียกใช้งาน ‘เซฟตี้เช็ค (Safety Check)’ เกือบ 500 ครั้งแล้ว และมีผู้คนใช้งานมันเพื่อแจ้งข่าวกับครอบครัวและเพื่อนฝูงว่าพวกเขาปลอดภัยดีมากกว่าหนึ่งพันล้านครั้ง เมื่อมีเหตุภัยพิบัติ รัฐบาลในหลายประเทศมักจะโทรหาเราเพื่อย้ำเตือนว่า ‘เซฟตี้เช็ค’ ได้เปิดใช้งานในประเทศของพวกเขา” ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กระบุ และว่ามีอีกหลายอย่างที่เฟซบุ๊กกำลังจะทำ โดยเฉพาะการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ เพื่อให้ระบบการแจ้งเตือนรวดเร็วและแม่นยำกว่าที่เป็นอยู่

สาม การสร้างชุมชนที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เท่าเทียม (Informed Community) โดยประเด็นสำคัญสองจุดที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือ ความหลากหลายในความคิดและความเห็น (Diversity of viewpoints) และ ความเที่ยงตรงของข้อมูล (Accuracy of information) โดยอันหลังซัคเกอร์เบิร์กวงเล็บไว้ด้วยว่าก็คือ ปัญหาข่าวปลอม (Fake News) นั่นเอง

หัวข้อที่สามนี้เองที่กระทบกระแทกกับแวดวงอุตสาหกรรมข่าวสารทั้งในประเทศไทย และทั่วโลกมากที่สุด โดยซัคเกอร์เบิร์กระบุว่า ความยากลำบากที่สุดของการสร้างชุมชนที่ได้ข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วน นั้นคือ การทำให้คนเห็นภาพรวมทั้งหมด (Complete Picture) มิใช่เพียงแค่ความเห็นในมุมที่แตกต่าง (Alternate perspectives) ทั้งนี้เมื่อเทียบกับสื่ออื่น เฟซบุ๊กจะต้องนำเสนอเนื้อหาที่มีความหลากหลายมากกว่า

อย่างไรก็ตามเขาบอกว่า จุดเด่นและจุดด้อยของโซเชียลมีเดียก็คือ เป็นข้อมูลในรูปแบบสั้นกระชับ ซึ่งก่อให้เกิดการแพร่กระจายขยายเสียงสะท้อนไปมากมายหลายครั้ง (หมายความว่า มีการแชร์และส่งต่อกันไปอย่างกว้างขวาง) ซึ่งความสั้นกระชับนี้เองทำให้เกิดความเรียบง่าย และไม่ก่อให้มีการรบกวน หรือบิดเบือนข้อมูลมากนัก อย่างไรก็ตามจุดด้อยของมันก็คือ ข้อมูลสำคัญนั้นถูกตัดทอนลงไป และอาจผลักให้ผู้รับสารกลายเป็นผู้มีทัศนะสุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง

ประเด็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การใช้ภาษาเร้าอารมณ์ในการพาดหัว (Sensational Headlines) หรือ อีกนัยหนึ่งก็คือ การพาดหัวแบบคลิกเบต ซึ่งกระตุ้นและผลักให้คนกลายเป็นพวกสุดโต่ง มากกว่าที่จะอ่านเนื้อหา และคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล โดยโซเชียลมีเดียหลักอย่างเฟซบุ๊กนั้นกำลังดำเนินการเพื่อจัดการกับเรื่องนี้อยู่

สี่ การสร้างชุมชนที่พลเมืองมีส่วนร่วม (Civically-Engaged Community) โดยหัวข้อนี้มีโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมสองส่วนหลักที่ต้องถูกพัฒนาขึ้นมา ส่วนแรกคือ การกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมทางการเมือง เช่น การไปลงคะแนนเลือกตั้ง การมีส่วนร่วมกับประเด็นและผู้แทน การแสดงความเห็น การรวมกลุ่มกันเพื่อแสดงจุดยืน และส่วนที่สองคือ การสร้างกระบวนการใหม่ที่พลเมืองทั่วโลกจะสามารถมีส่วนในการตัดสินใจร่วมกัน (Collective decision-making)

“ในการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อเร็วๆ นี้ในทั่วโลก ไม่ว่าจะในอินเดีย หรืออินโดนีเซีย ข้ามไปยังยุโรปและสหรัฐอเมริกา เราจะเห็นได้ว่าผู้ลงสมัครที่มีฝูงชนติดตามและมีส่วนร่วมในเฟซบุ๊กจำนวนมากกว่ามักจะได้รับชัยชนะ เหมือนกับสถานการณ์ในช่วงทศวรรษที่ 1960 ที่โทรทัศน์เป็นช่องทางพื้นฐานในการติดต่อสื่อสารของพลเมือง ในศตวรรษที่ 21 โซเชียลมีเดียก็จะเป็นเช่นเดียวกัน” ซีอีโอเฟซบุ๊กระบุ

ห้า การสร้างชุมชนที่ยอมรับความหลากหลายและแตกต่าง (Inclusive Community) โดยในส่วนนี้เฟซบุ๊กจะต้องกำหนดมาตรฐานการอยู่ร่วมกันของชุมชน (Community Standards) ที่ต้องแยกย่อยไปตามภูมิศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อ ฯลฯ ซึ่งเฟซบุ๊กจะปรับปรุงมาตรฐานนี้อยู่เสมอให้เหมาะสมกับทุกคน

ในบันทึกชิ้นดังกล่าวของเขายังมีข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกมากมาย อย่างเช่น เรื่องบทบาทของเฟซบุ๊กต่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับสายใยทางสังคม (Social Fabric) ที่ซัคเกอร์เบิร์กหยิบยกขึ้นมาพูดถึง 4-5 ครั้ง นอกจากนี้ยังมี ประเด็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม (Social Infrastructure) ที่ปัจจุบันเห็นได้ชัดว่า โครงสร้างพื้นฐานหรือสาธารณูปโภคในยุคศตวรรษที่ 21 ไม่ได้หมายความถึงฮาร์ดแวร์ หรือสิ่งของจับต้องได้อย่างเช่น ถนน หนทาง สนามบิน ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ โรงพยาบาล ฯลฯ อย่างเดียวอีกต่อไป แต่กินความรวมถึงซอฟท์แวร์อย่างฟีเจอร์ต่างๆ บนโลกดิจิทัล โลกเสมือนจริง ที่คนสามารถใช้งาน ใช้ประโยชน์และสามารถปฏิสัมพันธ์ด้วยได้

ซึ่งในยุคต่อไป “ซอฟท์แวร์” นี้เองที่จะทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดอาจจะสำคัญกว่าโครงสร้างพื้นฐานดั้งเดิมที่เราคุ้นเคยอย่าง “ฮาร์ดแวร์” ด้วยซ้ำ

ณ สิ้นปี 2559 เฟซบุ๊กมีผู้ใช้งานเป็นประจำรายเดือนมากถึง 1,860 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้น 270 ล้านบัญชีจากปลายปี 2558 (ยังไม่นับรวมกับจำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียยอดนิยมอื่นๆ ที่เฟซบุ๊กเป็นเจ้าของเช่น วอตส์แอป หรือ อินสตาแกรม) [1] ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ บนโลกใบนี้ เฟซบุ๊กมีจำนวนผู้ใช้มากกว่า ประชากรของประเทศจีน (1,380 ล้านคน) ประชากรของอินเดีย (1,340 ล้านคน) ประชากรของสหรัฐฯ (325 ล้านคน) เสียอีก

ดังนั้นการกล่าวถึงการสร้างชุมชนโลกของ ชายหนุ่มวัย 32 ปีผู้สร้างชุมชนออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ปัจจุบัน ผู้นี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่กล่าวแต่เพียงเล่นๆ อย่างแน่นอน



อ้างอิง :
[1] Facebook is closing in on 2 billion users; http://money.cnn.com/2017/02/01/technology/facebook-earnings/

กำลังโหลดความคิดเห็น