xs
xsm
sm
md
lg

กลยุทธ์มวยรองของ “รถทัวร์” บริการที่มากกว่าเครื่องบิน

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


สายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) ที่แข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะการออกโปรโมชั่นบัตรโดยสารอย่างรุนแรง จะส่งผลทำให้ได้รับความนิยมจากนักเดินทางมากขึ้นเรื่อย ๆ

สวนทางกับรถโดยสารประจำทาง หรือรถทัวร์ ที่ประสบปัญหาขาดทุน เพราะผู้โดยสารลดลง เป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปี ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งที่เป็นทุนท้องถิ่น หรือทุนต่างจังหวัด ต้องปิดตัวเอง หรือขายคิวรถให้กับบริษัทอื่น

แต่ก็มีผู้ประกอบการรถทัวร์อีกส่วนหนึ่ง ที่มีทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ และขนาดกลาง ยืนหยัดที่จะให้บริการ

โดยเลือกที่จะชูจุดขายการบริการที่สะดวกสบาย เพื่อทดแทนข้อด้อยที่ระยะเวลาในการเดินทางสู้เครื่องบินไม่ได้

หากจะพูดถึงการเดินทางทั้งสองประเภท ต่างฝ่ายต่างก็มีจุดเด่นและข้อเสียต่างกัน เดินทางโดยเครื่องบิน จุดเด่นที่ทราบกันดีก็คือความเร็ว

เทียบกันจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ใช้เวลา 1 ชั่วโมงเศษ ส่วนรถทัวร์กินเวลา 10 ชั่วโมง

ส่วนข้อเสียก็คือ เมื่อไม่ใช่ราคาโปรโมชั่น ราคาก็มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ คนที่ได้ซื้อตั๋วราคาโปรโมชั่นมีเพียง 20% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด

ยิ่งช่วงเทศกาลหรือเป็นช่วงที่มีภัยธรรมชาติ ค่าโดยสารเครื่องบินก็แพงขึ้นถึงหลัก 3-4 พันบาท

ส่วนรถทัวร์ แม้จะใช้ระยะเวลาเดินทางยาวนาน แต่ไม่ว่าจะเดินทางวันไหน เวลาใด ค่าโดยสารก็คงที่ เพราะถูกควบคุมโดยกรมการขนส่งทางบก

ต่อให้เพิ่มบริการดีแสนดีอย่างไรก็คิดค่าธรรมเนียมให้ได้แค่ 180% ของราคาค่าโดยสาร

ผู้ประกอบการรถทัวร์ส่วนหนึ่งจึงหันมาเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง ตั้งแต่เบาะโดยสารที่มีเบาะนวดไฟฟ้า (แบบเบาๆ) แจกน้ำดื่ม ขนม อาหารกล่อง

รวมทั้งความบันเทิง อย่างจอโทรทัศน์ส่วนตัว ที่มีภาพยนตร์และเพลงให้รับชม

อีกทั้งยังขยายช่องทางการจองตั๋วโดยสาร เดี๋ยวนี้แค่โทร.จอง แล้วรับรหัสไปจ่ายผ่านร้านสะดวกซื้อ ตู้เอทีเอ็ม

หรือจองที่นั่งและชำระผ่านอินเตอร์เน็ต มีทั้งรายใหญ่ที่ลงทุนเอง หรือรายเล็ก ๆ ที่เป็นพันธมิตรร่วมกับเว็บไซต์ระบบจองตั๋วอีกที

เมื่อพูดถึงธุรกิจรถทัวร์ คงไม่มีใครไม่รู้จัก “นครชัยแอร์” ผู้ประกอบการรถทัวร์ชั้นนำที่ให้บริการมานานถึง 30 ปี

นับตั้งแต่เป็นผู้นำรถนอนวีไอพี 32 ที่นั่ง มีรูปทรงโดยเฉพาะหน้าต่างที่แปลกตาไปจากผู้ประกอบการรายอื่นมาให้บริการ

กระทั่งในช่วงปี 2552 ได้นำรถโดยสารขนาด 21 ที่นั่งให้บริการในชื่อ NCA First Class เน้นเบาะที่นั่งแบบแคปซูล ระบบนวดไฟฟ้า มีจอโทรทัศน์ส่วนตัว เสิร์ฟอาหารว่างและเครื่องดื่มที่แตกต่างไปจากรถนอนปกติ

ในปีต่อมา (2553) ได้นำรถโดยสารขนาด 32 ที่นั่ง ติดตั้งเบาะที่นั่งเป็นแบบแคปซูล ระบบนวดไฟฟ้า พร้อมจอโทรทัศน์ส่วนตัว ขนาด 7 นิ้ว หลังเบาะโดยสารทุกที่นั่ง วิ่งปนกับรถนอนปกติเพื่อคืนกำไรให้กับผู้โดยสาร

ปัจจุบัน นครชัยแอร์มีรถให้บริการ 386 คันใน 37 เส้นทาง ครอบคลุมภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันออก

ในปี 2559 ที่ผ่านมา จำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 3.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 อยู่ที่ 3.5 ล้านคน มีรายได้ 1,750 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2557-2559 นับเป็นช่วงขาลงของธุรกิจรถทัวร์ โดยเฉพาะรถปรับอากาศชั้น 2 ผู้ประกอบการเริ่มล้มหายตายจากและขายสัมปทานเดินรถจำนวนมาก

นครชัยแอร์ก็เพิ่งเลิกเดินรถปรับอากาศ ชั้น 2 (NCA Economy Class ขนาด 47 ที่นั่ง ไม่มีห้องน้ำและพนักงานต้อนรับ) ที่มีหลายสิบคันในปี 2559

เพราะยุคนี้ลูกค้าไม่ได้มองหาตั๋วราคาถูก แต่คิดถึงความสะดวกสบายในการเดินทางด้วย

ทำให้ในตอนนี้ประเภทรถถูกที่สุดของนครชัยแอร์ เหลือเพียงแค่รถปรับอากาศ ชั้น 1 NCA Silver Class ขนาด 40 ที่นั่ง ให้บริการในบางเส้นทางเท่านั้น เช่น เรณูนคร, บ้านแพง, คำม่วง, อุบลราชธานี-เชียงใหม่, เชียงใหม่-ระยอง, ระยอง-แม่สาย

ในปี 2560 นครชัยแอร์เตรียมเปิดเส้นทางใหม่ เขมราฐ และ ป่าติ้ว และกำลังเจรจากับเจ้าของสัมปทานที่เสนอขาย คาดว่าตลอดทั้งปีจะเปิดเส้นทางใหม่ได้ 5 เส้นทาง โดยวางแผนลงทุน 200 ล้านบาท เพื่อซื้อรถบัส 24 คัน รองรับการขยายตัว

นอกจากนี้ ยังเตรียมเปิดตัวรถโดยสารรุ่นใหม่ ที่เพิ่มระบบติดตามรถ (GPS Tracking) สามารถเช็กพิกัดและความเร็วรถได้ขณะเดินทาง ผ่านจอทีวีส่วนตัวหลังเบาะ

รวมทั้งยังลงทุนธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก เช่น สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง ส่วนธุรกิจโรงแรมขนาดเล็ก สำหรับผู้เดินทางและรอขึ้นรถ ที่เคยมีแผนจะลงทุนที่กรุงเทพฯ ขอนแก่น และอุบลราชธานีนั้น

ล่าสุดผู้บริหารระบุว่า ยังทำไม่ได้ เพราะติดขัดกฎหมายบางประการ

ถึงกระนั้น นครชัยแอร์ก็เลือกที่จะจับมือกับโรงแรมฮอปอินน์ ของกลุ่มเอราวัณ จัดดีลพิเศษส่วนลด 50 บาท

รวมทั้งส่วนลดโรงแรมและร้านอาหารใน จ.หนองคาย อุดรธานี และนครพนม สำหรับผู้ถือตั๋วโดยสารของนครชัยแอร์
เวียงพิงศ์บัส (ภาพจากเฟซบุ๊ก สมบัติทัวร์)
ผู้ประกอบการอีกเจ้าหนึ่งที่แข่งขันในสมรภูมิรถทัวร์ “สมบัติทัวร์” ที่มี 28 เส้นทาง ครอบคลุมไปถึงภาคใต้

ก่อนหน้านี้เคยสร้างความฮือฮาด้วยการนำรถปรับอากาศวีไอพี ขนาด 20 ที่นั่ง ในชื่อ “เวียงพิงศ์บัส”

ชูจุดเด่นที่ถือได้ว่าเอาใจคนโสดก็คือ เป็นที่นั่งเดี่ยว ไม่มีเบาะคู่

ทางเดินกว้าง ปรับเอนนอนด้วยระบบไฟฟ้า มีหมอนรองคอและจอโทรทัศน์ส่วนตัวด้านหลังเบาะ และช่อง USB สำหรับชาร์จแบตมือถือ

เปิดตัวเส้นทางแรก กรุงเทพฯ-เชียงราย เมื่อ 22 ธันวาคม 2559 มีรถให้บริการ 4 คัน ค่าโดยสาร 890 บาท แตกต่างจากรถ Super Class (ม1พ) 222 บาท

ซึ่งในปี 2560 เตรียมที่จะเพิ่มเส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ให้บริการอีก 4 คันอีกด้วย



นอกจากรถปรับอากาศวีไอพีที่สองเจ้าดังในตลาดแล้ว อีกเจ้าหนึ่งที่ออกมานำรถโดยสารวีไอพีมาให้บริการ ในราคาเพียงแค่รถ ป.1

นั่นก็คือ “นครชัย 21” ในเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นรถบัสขนาด 32 ที่นั่ง เปิดเดินรถปฐมฤกษ์เมื่อ 19 ธันวาคม 2559

ชูจุดเด่นที่เบาะนวดไฟฟ้า มีช่อง USB สำหรับชาร์จแบตเตอรี่ ฟรีไว-ไฟ และรับชมโทรทัศน์จากอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียม รวมทั้งจัดที่นั่งเลดี้โซน และมีผ้าห่มซักใหม่ห่อพลาสติกอย่างดีให้บริการ



ปัจจุบัน นครชัย 21 มีรถให้บริการ 26 คัน โดยเป็นการซื้อคิวรถชุดจากเจ้าของรถร่วมสาย 21 รายหนึ่ง แล้วแยกตัวเป็นบริษัทใหม่ แยกออกจากบริษัทนครชัยทัวร์ต่างหาก
เบาะนวดไฟฟ้า และช่อง USB สำหรับชาร์จแบตเตอรี่ บนรถนครชัย 21
เป็นที่น่าสังเกตว่า รถทัวร์แต่ละเจ้ามักจะมีจุดขายความสะดวกสบายหลักๆ ได้แก่ เบาะนวดไฟฟ้า

รองลงมาคือบริการอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งของว่าง และความบันเทิงบนรถ อาทิ จอโทรทัศน์ส่วนตัว

แต่สำหรับสิ่งใหม่บนรถทัวร์ที่น่าจับตามองก็คือ ช่อง USB สำหรับต่อสายชาร์จแบตเตอรี่มือถือ ตอบสนองความต้องการในยุคเสพติดโซเชียล เริ่มมีให้บริการสำหรับรถใหม่บางแห่ง

ส่วนไว-ไฟฟรี แม้บางบริษัทจะมีให้บริการ แต่ก็มีข้อด้อยตรงที่เป็นการเชื่อมกับสัญญาณ 4G ที่มีความช้าเพราะแย่งสัญญาณกัน บางช่วงไม่มีสัญญาณมือถือ ก็ใช้งานไม่ได้ อีกทั้งลูกค้าแต่ละคนต่างก็ใช้อินเตอร์เน็ตแบบไม่จำกัดอยู่แล้ว

สิ่งที่น่าคิดก็คือ ผู้ประกอบการหลายรายที่สู้ไม่ไหว ยอมถอยและขายสัมปทานเดินรถออกมาจำนวนมาก

โดยเฉพาะสัมปทานเดินรถโดยสารปรับอากาศชั้น 2 (ไม่มีพนักงานต้อนรับและสุขา) ที่มีนับพันคันทั่วประเทศ

แม้จะเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่จะซื้อคิวรถชุดมาวิ่งให้บริการต่อ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะกว้านซื้อได้ทุกเส้นทาง

เพราะผู้ประกอบการเดินรถรายใหญ่ เอาเข้าจริงมีเพียงไม่กี่เจ้าเท่านั้น จากจำนวนรถบัสกว่า 7,000 คัน

ถึงกระนั้น การออกมาแข่งขันด้านคุณภาพการบริการ นอกจากจะสลัดภาพลักษณ์ที่ว่า นั่งรถทัวร์ไม่ปลอดภัย มีแต่ความรุนแรงบนท้องถนนแล้ว ผู้โดยสารแม้จะต้องจ่ายแพงกว่าเดิม แต่ก็ได้รับการบริการที่ดีขึ้นมาด้วย

เพราะเป้าหมายที่แท้จริง ไม่มีสิ่งใดมากไปกว่าการไปถึงจุดหมายอย่างสะดวกสบายและปลอดภัยเท่านั้น.
"ที่พักหลักร้อย" สถานีขนส่งพิษณุโลก



หากใครเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง มาถึงสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดพิษณุโลก แห่งที่ 2 บริเวณสี่แยกอินโดจีน ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลกประมาณ 6 กิโลเมตร จะเห็นห้องพักรายวันเต็มไปหมด


ห้องพักเหล่านี้ แม้ส่วนตัวจะยังไม่แน่ชัดว่าถูกกฎหมายหรือไม่ แต่ก็เป็นแหล่งที่พักราคาถูกสำหรับคนเดินทาง ในช่วงที่รถประจำทางจากภาคอีสานและภาคตะวันออกมาถึงตัวเมืองพิษณุโลกกลางดึก และต้องรอต่อรถประจำทางในเช้าวันรุ่งขึ้น


ปัจจุบันห้องพักเหล่านี้มีอยู่ประมาณ 20-30 ราย กระจายไปตามอาคารพาณิชย์โดยรอบสถานีขนส่ง ส่วนมากจะเป็นไปในลักษณะนำอาคารพาณิชย์ 2 คูหา มาดัดแปลงกั้นเป็นห้องพัก


เมื่อมาถึงพิษณุโลกประมาณตีหนึ่ง เราถือโอกาสได้ใช้บริการห้องพักรายวันที่อยู่ใกล้กับจุดลงรถ


สนนราคาแทบทุกแห่ง ห้องพัดลม 200 บาทต่อคืน (ถูกที่สุด 170 บาทต่อคืน) ซึ่งเต็มเร็วมาก ส่วนห้องแอร์ 350 บาทต่อคืน


ถือว่าราคาถูกเมื่อเทียบกับเข้าพักโรงแรมในตัวเมือง ในช่วงกลางดึกที่ไม่มีรถประจำทาง ก็ต้องนั่งรถแท็กซี่เข้าเมือง ซึ่งว่ากันว่าคิดราคาเหมาหลักร้อยบาท


เมื่อมาถึงห้องพัก พนักงานที่ดูแลห้องพักจะกล่าวกับเราก่อนว่า “ที่นี่ห้ามสูบบุหรี่นะครับ” อันเป็นที่รู้กันว่าเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่


เมื่อตอบตกลงก็จะมีการลงทะเบียนเข้าพักเหมือนโรงแรม โดยยื่นบัตรประชาชน และชำระเงิน


หลังจากนั้นก็จะให้กุญแจห้องพัก ประกอบด้วยลูกกุญแจสำหรับเปิดประตูลูกบิด คีย์แท็กสำหรับเสียบเต้ารับบัตรเพื่อเปิดใช้ไฟฟ้า และคีย์การ์ดสำหรับเข้า-ออกประตูหอพัก โดยไม่เรียกเก็บค่ามัดจำ แต่หากสูญหายจะต้องถูกปรับ 1,000 บาท





เมื่อขึ้นไปด้านบนจะเป็นห้องพักที่ถูกกั้นเป็นห้องต่างๆ มีห้องน้ำในตัวพร้อมเครื่องทำน้ำอุ่น


สิ่งอำนวยความสะดวกมีเครื่องปรับอากาศ (เข้าพักแบบห้องแอร์) เตียงเดี่ยวนอนได้ 2 คน ผ้าเช็ดตัว แชมพู สบู่ น้ำดื่ม แต่ไม่มีตู้เย็นสำหรับแช่เครื่องดื่ม


นอกจากนี้ ยังมีอินเตอร์เน็ตไร้สาย (ไวไฟ) ให้ใช้ฟรี และบางแห่งยังมีเครื่องดื่มร้อน เช่น กาแฟ ช็อกโกแลต พร้อมกาต้มน้ำร้อนให้บริการฟรีที่ชั้นล่างอีกด้วย


ถึงกระนั้น ห้องพักแบบนี้ยังมีข้อจำกัดบางประการ บางห้องไม่มีหน้าต่างภายนอก ต้องอาศัยนาฬิกาปลุกจากโทรศัพท์มือถือเป็นตัวช่วย


และเนื่องจากห้องพักนี้ มีวัตถุประสงค์หลัก ให้ผู้โดยสารที่จะต่อรถระหว่างเดินทางได้พักผ่อน


จึงไม่เหมาะกับกิจกรรม “บางประเภท” เพราะผนังห้องไม่เก็บเสียงเหมือนโรงแรม


แต่ถ้าพูดถึงความสะอาด รู้สึกได้ว่าสะอาดเหมือนอยู่กับบ้าน ไม่ได้โสโครกอย่างที่คิด


รวมทั้งกล้องวงจรปิดที่ติดตามทางเดินต่างๆ โดยรอบ อย่างน้อยเวลามีอะไรเกิดขึ้นมาก็ยังตรวจสอบย้อนหลังได้อยู่


สำหรับเงื่อนไขการเข้าพักนั้น เวลาเข้าพัก (เช็กอิน) คือ หลังเวลา 12.00 น. เวลาออก (เช็กเอาท์) ก่อนเวลา 12.00 น.


กรณีเช็กเอาท์ตั้งแต่ 12.00-15.00 น. คิดค่าบริการ 150 บาท หลัง 15.00 น. คิดค่าบริการเท่ากับค่าห้องพัก 1 คืน


เพราะฉะนั้น หากตื่นแต่เช้า นั่งรถประจำทางออกไปหาอะไรกินในตัวเมืองพิษณุโลก แล้วนั่งรถกลับมาที่สถานีขนส่งก่อนเที่ยงวัน ถือว่ายังทัน


แต่โดยส่วนมาก เห็นหลายคนเลือกที่จะตื่นสายขึ้นมาเล็กน้อยแล้วค่อยเช็กเอาท์มากกว่า


นอกจากนี้ ยังไม่อนุญาตสัตว์เลี้ยงทุกชนิด ไม่อนุญาตสิ่งของที่มีกลิ่นรุนแรงรับประทานในห้องพัก ห้ามส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น


รวมทั้งห้ามเล่นการพนัน เสพยาเสพติด ค้าประเวณี หรือทำผิดกฎหมาย


ถือเป็น “ที่พักหลักร้อย” อีกทางเลือกหนึ่ง สำหรับนักเดินทางที่มีรายได้น้อย หรือต้องการพักผ่อนระหว่างเปลี่ยนจุดหมายปลายทางจากศูนย์รวมรถโดยสารประจำทางสายยาวไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ



กำลังโหลดความคิดเห็น