xs
xsm
sm
md
lg

อำนาจศาลกับอำนาจจาก “การเลือกตั้ง”

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

การใช้อำนาจของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา ที่ส่งแรงสะเทือนไปทั้งโลก คงไม่พ้นคำสั่งให้ผู้คนจากประเทศมุสลิม 7 ประเทศ ระงับการเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 90 วัน

คำสั่งนี้ก่อให้เกิดความวุ่นวายไปทั่วประเทศ มีการประท้วงคำสั่งนี้ไปทุกระดับ ท่ามกลางความแตกแยกของชาวอเมริกันทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน ถึงกับทำร้ายกันบ้างก็มี

ก่อนที่คำสั่งดังกล่าวจะถูกยับยั้งไว้ชั่วคราว โดยศาลชั้นต้นของรัฐบาลกลาง ตามที่อัยการรัฐวอชิงตันยื่นคำร้อง และเมื่อฝ่ายรัฐบาลอุทธรณ์คำสั่งของศาลดังกล่าว ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 ศาลก็ออกมายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ระงับคำสั่งฝ่ายบริหารของทรัมป์นี้ต่อไปอีก จนกว่าจะพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายของคำสั่งนี้เสร็จ

แน่นอนว่าฝ่ายของทรัมป์เองและผู้สนับสนุนนั้น ก็คงจะต้องสู้ต่อไปทั้งในทางศาลและทางการเมือง แถมยังสู้ไปในทางที่โจมตีศาลทั้งในแง่ขององค์กรและตัวบุคคลอีกด้วย โดยถือว่าฝ่ายตัวเองนั้นได้อำนาจมาจากการเลือกตั้งของประชาชน คำสั่งของฝ่ายบริหารดังกล่าวก็เป็นคำสั่งที่มาจากสัญญาที่ทรัมป์ได้หาเสียงไว้กับประชาชนด้วย ดังนั้นศาลจึงไม่ควรมาขวางไว้

อันนี้หลายคนอาจจะเริ่มคุ้นๆ แล้วว่าความขัดแย้งระหว่างอำนาจของ “ศาล” และ “ฝ่ายชนะการเลือกตั้ง” ในสหรัฐอเมริกา คล้ายๆ การต่อสู้ในช่วงปลายสมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มีการขัดแย้งเช่นนี้ระหว่างอำนาจของ “ฝ่ายการเมือง” ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน กับฝ่ายตุลาการ ได้แก่ศาลต่างๆ ที่โดนหนักคือ “ศาลรัฐธรรมนูญ”

เพราะในตอนนั้น ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบการใช้อำนาจในหลายเรื่องของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่ล้วนเป็นการใช้อำนาจที่มาจากนโยบายที่เคยได้หาเสียงไว้ด้วย เช่น โครงการเงินกู้ 2 ล้านล้าน เพื่อสร้างระบบคมนาคมรถไฟความเร็วสูง หรือการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งหมดทั้งสภา

การออกกฎหมายและดำเนินการต่างๆ เหล่านี้ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญต้องตกไปทั้งสิ้น

หากยังจำกันได้ ในช่วงของความขัดแย้งนั้น มีการสร้างวาทกรรมเรื่องความชอบธรรมของ “ฝ่ายการเมือง” ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ว่ามีความชอบธรรม ไม่ควรที่จะถูกตรวจสอบหรือขัดขวางจากฝ่ายตุลาการ มีการยกตัวเลขมาเปรียบนัยว่าฝ่ายรัฐบาลนั้นมีที่มาจากเสียงของประชาชน 16 ล้านเสียง ทำไมต้องมาถูกสกัดด้วยศาลรัฐธรรมนูญที่มีตุลาการ 9 คนด้วย

นักวิชาการหรือปัญญาชนฝ่ายที่อยู่ข้างเดียวกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในขณะนั้นก็ออกมาขย่มกันหนัก ว่าด้วยหลักการของ “ประชาธิปไตย” ของเสียงข้างมาก ไปถึงเรื่องว่าศาลนั้นขาดความชอบธรรมเพราะไม่ยึดโยงกับประชาชน จึงไม่ควรมีอำนาจมาตรวจสอบฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

นำไปสู่การตั้งแง่ไม่ยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ มีการชุมนุมรุมล้อมที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงการคุกคามองค์กรอิสระต่างๆ นานาถึงขนาดมีมือลึกลับโยนระเบิดเข้าไปในบ้านของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งก็มี

ทั้งหมดนี้มาจากวาทกรรมแบบถูกครึ่งเดียวเรื่อง “เสียงข้างมากทำอะไรก็ได้” ทั้งนั้น แถมยังบอกว่า ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ให้ศาลมาชี้ขาดเรื่องที่เป็นการดำเนินการตามนโยบายที่ฝ่ายการเมืองได้หาเสียงไว้ และประชาชนเลือกนักการเมืองนั้นมาเป็นรัฐบาลเพราะชอบในนโยบายนั้น จึง “ชอบธรรม” ตามหลักประชาธิปไตย

เช่นนี้ การ “ปะทะ” กันระหว่างการใช้อำนาจของทรัมป์ กับศาลในสหรัฐฯ นั้น คงเป็นคำตอบให้แก่ “นักประชาธิปไตยที่ถือเอาการเลือกตั้งเป็นสรณะ” ได้เรียนรู้ว่า ประชาธิปไตยอันเป็นสากลที่ไหนเขาก็ต้องเป็นแบบนี้

กล่าวคือ ในการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น แม้จะมีผู้บริหารประเทศ คือรัฐบาล หรือผู้ออกกฎหมาย คือรัฐสภา ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงบ้าง โดยอ้อมบ้าง ตามแต่ระบบการเลือกตั้งของแต่ละประเทศ

แต่การใช้อำนาจของตัวแทนจากเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งนั้น ก็จะต้องไม่ขัดแย้งหรือละเมิดต่อกฎหมายด้วย โดยเฉพาะกฎหมายที่เป็นแม่บทของกฎหมายทั้งหลาย คือ “รัฐธรรมนูญ” และ “องค์กรตุลาการ” คือศาลนั้น จะเป็นผู้ทำหน้าที่ในการตัดสินว่า การใช้อำนาจของฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งนั้น ละเมิดหลักการของรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายหรือเปล่า

กลไกเช่นนี้มีขึ้นเพื่อป้องกันมิให้มีการใช้อำนาจที่ได้รับมาจากเสียงข้างมากของประชาชนอย่างสุดโต่งตามอำเภอใจ บิดเบือนจนไปละเมิดสิทธิของฝ่ายเสียงข้างน้อย ซึ่งก็เป็นประชาชนในประเทศนั้นเหมือนกัน

ประชาธิปไตยที่แท้นั้นจึงไม่ใช่ว่า ชนะเลือกตั้งแล้วจะทำอะไรก็ได้ ใช้อำนาจอย่างไรก็ชอบธรรม เพราะการใช้อำนาจนั้นต้องอยู่ในกรอบขอบเขตของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ที่มีไว้ปกป้องทุกคนในประเทศไม่ว่าจะเป็นเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อยด้วย

โดยมี “ศาล” เป็นผู้ใช้อำนาจตรวจสอบการกระทำของฝ่ายการเมืองเสมอ หากว่าการกระทำนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าฝ่ายการเมืองนั้นจะชนะการเลือกตั้งมากี่ล้านเสียงก็ตาม

นี่เป็นกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลที่มีอยู่ในทุกประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ที่ยกเอาเรื่องนี้มาย้ำกันก็เพราะว่า ดูท่าทางแล้วภายในปีนี้ อาจจะมีคำพิพากษาของศาลในเกี่ยวกับคดี “จำนำข้าว” ที่อาจจะเป็นประเด็นขึ้นมาก็ได้ ทั้งคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่จะตัดสินว่าการกระทำของฝ่ายการเมืองที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวจนเกิดความเสียหายต่อประเทศนั้น มีใครต้องรับผิดทางอาญาหรือไม่

หรืออาจจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งจากศาลปกครอง ที่จะชี้ว่าผู้ที่ก่อให้เกิดความเสียหายจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวดังกล่าวนั้น จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายในทางปกครองจากความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายนั้นอย่างไร เป็นจำนวนเท่าไร

และก็เชื่อแน่ว่า หากมีข่าวว่าจะมีคำพิพากษาออกมา ก็อาจจะมีการ “ปลุกผี” เรื่อง “ตุลาการภิวัฒน์” หรือโอดครวญว่านโยบายที่มาจากความเห็นชอบโดยเสียงข้างมากของประชาชนนั้นถูก “ศาล” รังแก ตัดสินถูกผิดโดยไม่เป็นธรรมอีกแล้ว ช่างไม่เป็นประชาธิปไตยเสียเลย

ถ้าถึงตอนนั้นแล้ว ยังยกเรื่องประชาธิปไตย เสียงข้างมากข้างน้อย ตุลาการภิวัฒน์ อะไรมาอ้างกันได้ไม่เบื่อ ก็ลองดูกรณีศึกษาของอเมริกาที่ชื่นชมบูชากันว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยที่สุดในโลกประเทศหนึ่งไว้ก็แล้วกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น