xs
xsm
sm
md
lg

ช่องที่ลดลง สัญญาณที่เริ่มจาง : ช่วงขาลงของสื่อโทรทัศน์

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

มีข่าวที่น่าสนใจในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่อาจจะกำลังแสดงถึง “ยุคเปลี่ยนผ่าน” ของสื่อที่เข้ามาถึงอย่างรวดเร็วรับปี 2560 หรือ 2017 นี้

คือเรื่องที่โทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกรายใหญ่อย่าง True Vision แจ้งต่อ กสทช.ว่า จะขอยกเลิกช่องรายการโทรทัศน์เพิ่มขึ้นอีก 11 ช่อง คือ ได้ขอยกเลิกการออกอากาศช่องเคเบิลทีวีเพิ่มอีก 11 ช่องรายการ ประกอบด้วยช่อง “Discovery Science, DiscoveryKids , BBCEntertainment , NatGeographic , Cbeebies , M, DMAX, EVE, BlockA , Fashion1 , MUTV

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้แจ้งยกเลิกช่องในเครือ HBO ไปแล้ว 6 ช่องรายการ ได้แก่ HBO, Cinemax, HBO Signature, HBO Family, HBO Hit และ Redby HBO โดยมีผลไปแล้วตั้งแต่ 1 มกราคม 2560

การลดช่องของ True Vision นั้นคงเป็นเหตุผลทางธุรกิจเป็นสำคัญ ในสภาวะที่แทบไม่มีการแข่งขันใดๆ ในระบบโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (เพย์ทีวี) การจะต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพื่อให้ได้ช่องเหล่านี้ไว้ออกอากาศเพื่อลูกค้า ที่เริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเพราะเทคโนโลยีนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่คิดคำนวณแล้วไม่คุ้มทุน

ในยุคสมัยก่อน การเป็นสมาชิกเคเบิลทีวีนั้นเป็น “ทางเลือก” ในการรับชมรายการทางสื่อโทรทัศน์ เพิ่มขึ้นมาจากการชมรายการจากช่องฟรีทีวีที่มีเพียง 5-6 ช่อง ซึ่งนอกจากจะไม่หลากหลายแล้ว ก็ยังมีโฆษณาแบบบ้าเลือดคั่นรายการ

ในสมัยนั้น จุดขายของเคเบิลทีวี คือการได้ชมรายการจากต่างประเทศแบบไม่มีโฆษณาคั่น ยุคก่อนโน้น บ้านใครพอมีฐานะ ก็มักจะบอกรับเคเบิลทีวีเอาไว้เป็นทางเลือกในการรับชมให้ลูกหลานได้ดูรายการทั้งข่าวสารและบันเทิงซึ่งตรงมาจากต่างประเทศ ที่เชื่อว่าเปิดหูเปิดตาได้มากกว่าดูทีวีช่อง 3 5 7 9 แบบไทยๆ

และจุดขายสำคัญของเคเบิลทีวีสมัยก่อน คือ การถ่ายทอดสดกีฬาจากต่างประเทศ เช่น การแข่งขันฟุตบอลลีคยุโรป ซึ่งไม่มีถ่ายทอดในฟรีทีวีไทย หรือถึงมีก็ไม่เต็มที่ ไม่มีทุกคู่ รวมถึงไม่มีการถ่ายทอดสดกีฬาหลายอย่างที่ไม่เป็นที่นิยมในหมู่สาธารณชน อย่างเช่น เทนนิส รักบี้ หรืออเมริกันฟุตบอล จะเห็นว่าแพ็กเกจที่ราคาแพงที่สุดของเคเบิลทีวี คือแพ็กเกจที่ได้ดูกีฬาเยอะที่สุด ฟุตบอลครบคู่ที่สุดนั่นเอง

ศัตรูของเคเบิลทีวีในยุคก่อน คือการละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านรูปแบบการดักขโมยจูนสัญญาณดาวเทียมแบบดื้อๆ ด้วยกล่องถอดรหัสเถื่อน หรือถ้าเป็นระบบสายเคเบิลจริงๆ ผ่านระบบเคเบิลใยแก้ว ก็มีการล่ามสายกระจายจุดสัญญาณเพิ่มเติมจากที่ใช้บริการ หรือเผื่อแผ่เพื่อนบ้านไปก็มี จนกระทั่งทางต้นสังกัดต้องหาวิธีการมากมายในการเข้ารหัสป้องกันสัญญาณ

จนถึงในปัจจุบัน การละเมิดลิขสิทธิ์นั้นก็กระทำอยู่ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ด้วยการที่มีเว็บและแอพลิเคชั่นเถื่อนหลายเจ้า สามารถดึงเอาสัญญาณเคเบิลทีวีของผู้ให้บริการทั้งไทยและต่างประเทศ มากระจายสัญญาณต่อด้วยเทคโนโลยีสตรีมมิ่ง (Streaming) โดยเก็บค่าสมาชิกในราคาที่ถูกแสนถูก มีหลายช่องให้เลือก รวมถึงรายการย้อนหลังและภาพยนตร์แบบคมชัดระดับ HD เต็มเรื่อง ทั้งพากษ์ไทยและเสียงต้นฉบับให้เลือก นี่คือภัยคุกคามความเป็นอยู่ของผู้ประกอบการเคเบิลทีวีที่เกิดจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเครือข่ายคอมพิวเตอร์

แต่ที่ถือว่ากระทบกระเทือนต่อกิจการของเคเบิลทีวียิ่งกว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับสื่อโทรทัศน์แบบเก่าทั้งระบบด้วย คือ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

จากการดู “ทีวี” เปลี่ยนไปเป็นการดูสื่อออนไลน์ ทั้งที่เป็นระบบวิดีโอออนไลน์โดยตรงอย่าง Youtube และสื่อโซเชียลอย่าง Facebook live ซึ่งกำลังจะกลายเป็นพฤติกรรมในการรับสื่อของคนในยุคต่อจากนี้ไปแล้ว

พฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนจากการนั่งดูโทรทัศน์ มาเป็นการดูจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน แต่หากแม้ใครยังยึดติดรูปแบบการชมผ่านโทรทัศน์อยู่ เพราะจอใหญ่กว่า ภาพและเสียงสะใจได้อรรถรสกว่า เทคโนโลยีของเครื่องรับโทรทัศน์ก็พัฒนาไปจนรองรับการชมสื่อออนไลน์หมดแล้ว ไม่ว่าจะผ่านระบบ Smart TV ของตัวโทรทัศน์เอง หรือการรองรับให้กระจายสัญญาณจากโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตไปออกโทรทัศน์ที่เรียกว่าการ Cast หรือกระทั่งการที่มีอุปกรณ์เสริมอย่าง Android box ราคาพันกว่าบาทที่เปลี่ยนโทรทัศน์เครื่องไหนก็ได้ให้กลายเป็นสมาร์ทโฟน

การรับข่าวสารจากสื่อออนไลน์ทำได้อย่างรวดเร็ว และเปิดกว้างจนเลือกดูกันไม่ไหว ที่สำคัญคือแทบไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เลย นอกจากค่าไฟฟ้าและค่าสัญญาณอินเทอร์เน็ต ส่วนสิ่งที่ต้องแลกมานั้นก็อาจจะได้แก่การต้องยอมรับชมโฆษณาบ้าง ซึ่งก็ไม่ได้มากมายจนทำให้รู้สึกเดือดร้อนอะไรเหมือนโฆษณาบ้าเลือดในโทรทัศน์ยุคเก่า

หรือสำหรับผู้ที่ติดตามซีรีย์หรือภาพยนตร์ต่างประเทศก็มีช่องทางเข้าถึงทั้งแบบถูกกฎหมายผ่านระบบสตรีมมิ่งอย่าง Netflix หรือ Iflix ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยเหตุนี้เอง จุดขายและจุดแข็งของเคเบิลทีวีนั้นจึงค่อยลดลงทุกวัน จนกระทั่งแทบจะต้องแถมมาพร้อมกับบริการอินเทอร์เน็ตพื้นฐานกันแล้ว เช่นเดียวกับชะตากรรมของโทรทัศน์พื้นฐานซึ่งเพิ่งปรับไปเป็นระบบดิจิตอลได้ไม่กี่ปี ที่จะต้องแข่งกับช่องของสื่อออนไลน์ที่มีค่าใช้จ่ายและต้นทุนน้อยกว่า แต่เข้าถึงผู้ชมได้ไม่แพ้กัน และดึงดูดแหล่งเม็ดเงินคือโฆษณาเข้าสู่ผู้จัดรายการทางช่อง Youtube ซึ่งอาจจะเป็นใครก็ได้ที่มีไอเดียหรือมี “เรื่อง” ที่พร้อมจะนำเสนอ ซึ่งถ้าทำได้ดีๆ ก็มีรายได้เป็นกอบเป็นกำกันได้เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งของสื่อโทรทัศน์ในรูปแบบเดิมก็ยังเหลืออยู่บ้าง ในรูปแบบของรายการสด เช่น รายการถ่ายทอดสดต่างๆ ที่ดูย้อนหลังก็ไม่ได้อรรถรส เช่นถ่ายทอดสดกีฬา กับพวกรายการโชว์ที่ต้องอาศัยกระแสว่าดูไปพร้อมๆ กับเพื่อนในโลกโซเชียลถึงจะได้อรรถรส เช่น รายการประกวดร้องเพลงต่างๆ หรือละครที่ถึงแม้จะสามารถมาดูย้อนหลังกันใน Youtube ได้ แต่ก็อาจจะถูกชาวบ้าน “สปอยล์” กันเต็มฟีดข่าวบน Facebook จนหมดสนุกกันไปก็เป็นได้

ส่วนรายการเล่าข่าวทางโทรทัศน์หลังๆ ก็เหมือนกับเอาข่าวในโลกโซเชียลมาเล่าใหม่ในจอใหญ่กันแล้ว หรือการติดตามข่าวสารประจำวันของผู้คนก็อาศัยช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์คที่รวดเร็วกว่า

รวมถึงการกลับมาของนักข่าวในตำนานอย่างคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ที่อาศัยช่องทาง Facebook live ก็นับว่าเป็นการใช้ทางลัดที่สามารถทำรายการแบบเดิมๆ ได้ โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางคือสถานีโทรทัศน์อีกต่อไป ก็เป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่แสดงถึงอนาคตของสื่อในยุคใหม่ที่เติบโตเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง เห็นได้ชัดในปีนี้

การลดช่อง True Vision กับข่าวว่าช่องทีวีดิจิตอลทยอยกันลดคนเลิกจ้าง สวนทางกับจำนวนยอดไลค์ในสื่อออนไลน์ เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงอนาคตที่เป็นขาลงของสื่อโทรทัศน์แบบเก่า.
กำลังโหลดความคิดเห็น