27 มกราคม 2560 เป็นวันแรกที่เปิดให้บริการโอนเงินระหว่างกันผ่าน “ระบบพร้อมเพย์” (PromptPay) เข้าบัญชีตนเองหรือผู้อื่น โดยใช้เลขที่บัตรประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือที่ผูกกับบริการพร้อมเพย์
อันที่จริง ก่อนหน้านี้บริการโอนเงินพร้อมเพย์ จะเปิดให้บริการในวันที่ 30 ตุลาคมปีที่แล้ว แต่ก็อ้างว่า ต้องการทดสอบระบบให้มีความเสถียร และมีประสิทธิภาพ สามารถรองรับธุรกรรมจำนวนมากในอนาคต
มาวันนี้ ทุกธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ เริ่มเปิดให้บริการโอนเงินพร้อมเพย์พร้อมกัน จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่จะทลายกำแพงการโอนเงินข้ามเขต หรือจะเป็นการโอนเงินต่างธนาคาร ที่มีค่าธรรมเนียมอัตราที่แพงในปัจจุบัน
ย้อนกลับไปเมื่อ 19 มิถุนายน 2543 ธนาคารพาณิชย์ 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ กรุงศรีอยุธยา และทหารไทย เปิดให้บริการ โอนเงินรายย่อยระหว่างธนาคาร (Online Retail Fund Transfer) หรือ ORFT
ขณะนั้น ธนาคารทั้ง 6 แห่ง มีเครื่องเอทีเอ็มรวมกัน 4,000 เครื่อง และมีลูกค้าถือบัตรเอทีเอ็มรวมกัน 13 ล้านใบ โดยสามารถโอนเงินได้สูงสุด 20,000 บาทต่อครั้ง คิดค่าธรรมเนียมครั้งละ 35 บาททั่วประเทศ ให้บริการตั้งแต่ 06.00-21.00 น.
ในปีต่อมาได้ขยายบริการโอนเงินรายย่อยระหว่างธนาคารเพิ่มขึ้น จาก 6 แห่ง เป็น 14 แห่ง และค่อยๆ พัฒนาวงเงินสูงสุด 30,000 บาท ก่อนจะปรับลดค่าธรรมเนียมในกรณีที่ต้องการโอนเงินจำนวนน้อย ๆ เริ่มต้นที่ 25 บาทต่อครั้ง
ปัจจุบัน ค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามธนาคารผ่านเครื่องเอทีเอ็ม (ORFT) ไม่เกิน 10,000 บาท คิดค่าธรรมเนียม 25 บาทต่อครั้ง มากกว่า 10,000 ถึง 30,000 บาท คิดค่าธรรมเนียม 35 บาทต่อครั้ง โดยมีธนาคารให้บริการรวม 20 แห่ง
การเปิดให้บริการโอนเงินพร้อมเพย์ จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทลายกำแพงค่าธรรมเนียมอย่างแท้จริง โดยไม่ต้องเลือกธนาคาร ไม่ต้องใช้เลขที่บัญชีธนาคาร และหากโอนเงินต่ำกว่า 5,000 บาทต่อครั้ง ไม่เสียค่าธรรมเนียม
วิธีการโอนเงินพร้อมเพย์ สิ่งที่ต้องเตรียม คือ “เลขที่บัตรประชาชน 13 หลัก” หรือ “เบอร์โทรศัพท์มือถือ 10 หลัก” ที่สมัครบริการพร้อมเพย์ อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
ทำรายการได้ทั้งเครื่องเอทีเอ็ม อินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง หรือแอปพลิเคชั่นธนาคารบนมือถือ โดยเข้าไปที่เมนู “โอนเงินพร้อมเพย์” หรือแอปพลิเคชั่นบางธนาคารมีระบุ “เบอร์มือถือ” และ “เลขที่บัตรประชาชน” เอาไว้เลย
จากการทดสอบโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ พบว่า เมื่อกรอกข้อมูลข้างต้น จะแสดงผลเป็นชื่อ นามสกุล บางธนาคารจะระบุเป็นภาษาไทย หรือบางธนาคารระบุเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งจะไม่แสดงข้อมูลว่า โอนเงินไปยังปลายทางธนาคารไหน
และเมื่อทำรายการสำเร็จ เงินจะเข้าบัญชีปลายทางทันที เหมือนกับการโอนเงินปกติ
ที่เป็นเช่นนี้ เพราะธนาคารต้นทาง จะส่งข้อมูลพร้อมเพย์ที่ต้องการโอนเงินให้กับบริษัท ไอทีเอ็มเอ็กซ์ เป็นตัวกลาง แล้วจะรับคำสั่งโอนเงิน ส่งไปยังข้อมูลพร้อมเพย์ปลายทาง ที่ผูกกับบัญชีธนาคารนั้นเอาไว้
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่จะตามมาจากการเปิดให้บริการพร้อมเพย์ก็คือ รายได้จากการโอนเงินต่างธนาคารของธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ซึ่งมีการประเมินกันว่า จะหายไปประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท
ถึงกระนั้น ยังมีประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่ยังคงไม่มั่นใจ และไม่กล้าสมัครใช้บริการพร้อมเพย์ เพราะหากนำเลขที่บัตรประชาชนหรือเบอร์มือถือไปผูกบัญชี จะทำให้ข้อมูลไม่ปลอดภัย รวมทั้งเลขดังกล่าวเป็นข้อมูลส่วนบุคคล
ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย พยายามอธิบายว่า มีไว้เพื่อยืนยันตัวตนที่ธนาคารเก็บรักษาให้ลูกค้าอยู่แล้ว ต้องการใช้หมายเลขเหล่านี้ในการรับเงินด้วยพร้อมเพย์จริง
แม้ข้อมูลเลขที่บัตรประชาชน และเบอร์โทรศัพท์มือถือ จะมีช่องโหว่ให้มิจฉาชีพนำไปก่อเหตุ แต่ก็มีความพยายามจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะให้การลงทะเบียนพร้อมเพย์เป็นไปอย่างรัดกุม
โดยการลงทะเบียนพร้อมเพย์ด้วยเบอร์โทรศัพท์มือถือ กสทช. ได้กำหนดให้ตรวจสอบความถูกต้องของหมายเลขบัตรประชาชน โดยการกด *179* ตามด้วยเลขที่บัตรประชาชน 13 หลัก ตามด้วยเครื่องหมายสี่เหลี่ยม (#) แล้วโทรออก
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากลักษณะการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ นอกจากจะพบว่าไม่ต่างไปจากการโอนเงินต่างธนาคารแล้ว กรณีที่มีมิจฉาชีพใช้ช่องทางนี้ในการแสวงหาผลประโยชน์ ผ่านการเปิดบัญชีธนาคารพร้อมสมัครบริการพร้อมเพย์
น่ากลัวว่า อาจจะมีมิจฉาชีพแอบอ้างคำว่า “พร้อมเพย์” ในการหลอกลวงประชาชน
เช่น แก๊งคอลล์เซ็นเตอร์ อ้างตัวเป็นหน่วยงานราชการ ธนาคาร หน่วยงานความมั่นคง หลอกให้ทำรายการผ่านเครื่องเอทีเอ็มโดยใช้ช่องทางโอนเงินพร้อมเพย์
โดยปกติ มิจฉาชีพมักหลอกให้ไปกดเอทีเอ็มแล้วพูดให้เหยื่องง จนหลงเชื่อกดโอนเงินไปยังบัญชีคนร้าย หรือบางทีคนร้ายจะเร่งเพื่อให้เหยื่อกดตามคำสั่งจนไม่ทันได้อ่านตัวอักษรที่หน้าจอเอทีเอ็ม
ที่แอบน่ากลัวก็คือ จากผลทำรายการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ ต่อไปนี้หากใครต้องการทราบว่าเบอร์มือถือนั้นเป็นของใคร
เพียงแค่กรอกเบอร์มือถือในบริการโอนเงินพร้อมเพย์ ก็จะแสดงชื่อ นามสกุลของเจ้าของเบอร์มือถือทันที
และหากเป็นมิจฉาชีพที่พยายามให้โอนเงินผ่านเบอร์มือถือ จากเดิมให้โอนไปยังบัญชีธนาคาร เมื่อไม่ทราบว่าปลายทางเป็นธนาคารใด สาขาไหน ได้แต่ชื่อและนามสกุล ไม่รู้เปิดบัญชีที่ไหน การแกะรอยเพื่อติดตามคนร้ายก็จะยากมากขึ้น
รวมทั้งกรณีที่โอนเงินผิดเบอร์ ที่ผ่านมาเอาแค่โอนเงินผิดบัญชี นอกจากต้อง โทร. แจ้งธนาคารแล้ว ต้องนำสลิปโอนเงินไปแจ้งความที่โรงพัก ธนาคารช่วยประสานงานได้ แต่ดึงเงินคืนไม่ได้ เพราะต้องรอให้เจ้าของบัญชีปลายทางยินยอม
หากยังนิ่งเฉย ไม่คืนเงิน ฝ่ายที่โอนเงินผิดบัญชีก็ต้องให้ตำรวจเอาผิดเจ้าของบัญชีปลายทางฐานยักยอกทรัพย์ ธนาคารจะคืนเงินได้ก็ต่อเมื่อมีหนังสือคำสั่งจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจให้คืนเงินลูกค้าเท่านั้น
ธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น มักมีสาเหตุจากการหลอกลวงโดยคน ไม่ใช่เรื่องของระบบงาน จึงต้องระมัดระวังกลโกงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยให้คำแนะนำ 3 ประการ ได้แก่
1. ควรระมัดระวังรักษาอุปกรณ์ เช่น โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์พกพาที่ใช้เชื่อมต่อทำธุรกรรมเกี่ยวกับระบบพร้อมเพย์เป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้ผู้อื่นเอาไปใช้งาน เช่นเดียวกับการดูแลบัตรเครดิตหรือบัตรเอทีเอ็ม
2. ผู้โอนเงินควรเรียนรู้ ศึกษา วิธีการใช้งานอย่างปลอดภัย เช่น ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องก่อนการยืนยันการโอนเงิน
3. ควรมีความระมัดระวังในการตั้งรหัส Username / Password ให้คาดเดาได้ยาก และไม่บอกรหัส Username / Password กับผู้อื่น หรือเขียนเอาไว้ในที่เปิดเผย
เมื่อระบบโอนเงินผ่านพร้อมเพย์เปิดแล้ว ต่อไปนี้ใครเป็น “สายเปย์” จะโอนเงินหาใคร คงไม่ต้องถามหรือจดจำบัญชีธนาคารให้ยุ่งยาก เพียงแค่เบอร์มือถือของเขาหรือเธอ ถ้าผูกกับบริการพร้อมเพย์ ก็เปย์หากันได้ตลอดเวลา
แต่เมื่อความแน่นอนคือความไม่แน่นอน หากยังไม่ถึงขั้นตกลงปลงใจกันแล้ว ก็เผื่อใจกับความผิดหวังเสียบ้าง หากมัวแต่ไว้ใจ โดนเทแล้วจากไปเราก็รู้สึกเจ็บ
นี่เราพูดเรื่องอะไรกันเนี่ย ... !?
พร้อมเพย์ ผูกบัญชีที่ไหนดีที่สุด? การใช้บริการพร้อมเพย์ผูกกับบัญชีธนาคาร ขึ้นอยู่กับความต้องการในการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน แม้จะพบว่า ส่วนใหญ่ไม่กล้าผูกกับบัญชีที่ใช้ประจำเป็นหลัก เช่น บัญชีเงินเดือน เพราะเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย แต่สำหรับคนที่ต้องการทดลองใช้ไปก่อน ก็สามารถผูกกับบัญชีธนาคารที่เราต้องการนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อโอนเงินหากันได้ฟรี หรือเสียค่าธรรมเนียมที่ถูกลง ได้แก่ ธนาคารที่เสียค่าธรรมเนียมโอนเงินต่างจังหวัด บัญชีหนึ่งอาจผูกกับเลขที่บัตรประชาชน อีกบัญชีหนึ่งอาจผูกกับเบอร์มือถือ เวลาใช้งานก็โอนเงินหากัน โดยใช้รหัสพร้อมเพย์ที่ผูกไว้ ธนาคารภูมิลำเนาที่รับเงินง่ายที่สุด ลูกหลานที่ทำงานในกรุงเทพฯ ใช้วิธีโอนเงินให้พ่อแม่ที่ต่างจังหวัดเป็นประจำทุกเดือน หากใช้บัญชีที่พ่อแม่รับเงินไปผูกกับบริการพร้อมเพย์ ก็สามารถโอนเงินต่ำกว่า 5,000 บาทได้ฟรีทุกครั้ง ธนาคารที่คืนภาษีเร็วที่สุด กรมสรรพากร มอบหมายให้ธนาคารกรุงไทย รับจัดการส่งเงินคืนภาษี จะดึงเลขที่บัตรประชาชนที่สมัครบริการพร้อมเพย์กับธนาคารกรุงไทย แล้วโอนเงินภาษีให้ก่อน ส่วนธนาคารอื่นต้องตรวจสอบฐานข้อมูล ธนาคารที่มีบัญชีกดเงินฟรีทั่วไทย ในกรณีที่เดินทางไปต่างจังหวัดบ่อยครั้ง หลายธนาคารหากกดเงินข้ามเขตจะเสียค่าธรรมเนียม 15 บาทต่อครั้ง อาจจะใช้วิธีโอนเงินพร้อมเพย์ ผูกกับบัญชีที่มีบัตรเอทีเอ็ม กดเงิน สอบถามยอดฟรีทุกตู้ ธนาคารที่ไม่ค่อยมีช่องทางรับฝากเงินสด ในกรณีที่เป็นธนาคารขนาดเล็ก หรือ ธนาคารของรัฐ ที่ไม่มีช่องทางรับฝากเงินสดได้สะดวกตลอดเวลา อาจจะใช้วิธีการโอนเงินพร้อมเพย์ โดยผูกกับบัญชีธนาคารเหล่านั้นได้ ธนาคารที่รับเงินโอนจากลูกค้า หากเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ แค่บอกเบอร์มือถือที่ผูกกับบริการพร้อมเพย์แก่ลูกค้าเพื่อโอนเงิน ก็สามารถรับเงินโอนจากทุกธนาคารได้ทันทีโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม หรือเสียค่าธรรมเนียมน้อยลง แนะนำให้ใช้เบอร์มือถือที่ติดต่อซื้อขายสินค้า แยกออกจากเบอร์มือถือที่ใช้ส่วนตัวต่างหาก เพื่อจำกัดความเป็นส่วนตัว ระหว่างเบอร์ที่ให้ไว้เป็นสาธารณะ กับเบอร์ที่ติดต่อเฉพาะสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนที่รู้จักกัน |