xs
xsm
sm
md
lg

สร้างความปรองดองในรอยแยกที่ลึกกว่าเรื่องการเมือง

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

“งานใหญ่” งานหนึ่งที่ถือเป็นภารกิจของ คสช.หลังจากที่เข้ามากดปุ่มหยุดระบอบการเมืองชั่วคราว นอกเหนือจากการปฏิรูปในด้านต่างๆ ก็คือการสร้างความปรองดองให้แก่คนในชาติ

เนื่องจากความแตกแยกขัดแย้งทางการเมืองที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การปกครองในระบอบของไทยนั้น กินเวลามาเกินทศวรรษแล้ว

จนเขาเรียกกันว่าเป็น “ทศวรรษที่สาบสูญ” ของประเทศไทยเราก็ว่าได้

เป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่มีมาก่อนในประวัติศาสตร์ เพราะคู่ขัดแย้งนั้นไม่ใช่เพียงประชาชนกับเผด็จการทหาร เช่นในปี 2516 2519 และ 2535 หรือระหว่างประชาชนกับนักการเมือง หรือระหว่างนักการเมืองต่อนักการเมืองอย่างที่เป็นอยู่ในช่วงแรกๆ ของความขัดแย้ง

หากกล่าวให้ตรงจุดจริงๆ ความขัดแย้งในสังคมไทยตลอดทศวรรษที่ผ่านมานี้ คือการต่อสู้กันระหว่าง “ประชาชน” ฝ่ายระบอบทักษิณและแนวร่วมกับ “ประชาชน” ฝ่ายที่ไม่เอาระบอบทักษิณ ซึ่งไม่ได้หมายความถึงความนิยมในตัวบุคคลหรือพรรคการเมืองแบบตื้นๆ เท่านั้น แต่ในระยะหลังได้พัฒนาไปจนถึงระดับ “แนวคิด” หรือ “อุดมการณ์” ที่อยู่เบื้องหลังนั้นด้วย

ระบอบทักษิณนั้นแปรรูปไปเป็นรัฐบาลหลายต่อหลายรัฐบาล กับมวลชนกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้ผลประโยชน์ตรงบ้างอ้อมบ้างจากระบอบทักษิณ เช่นเป็นมือเท้าแขนขาของระบอบทักษิณได้แก่แกนนำทางการเมืองต่างๆ หรือประชาชนที่ติดใจและชอบใจนโยบายประชานิยมต่างๆ ที่ระบอบดังกล่าวหว่านโปรยลงมาให้

หากต่อมา ระบอบทักษิณยังไปจูนเข้ากับคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งสมาทานในแนวคิด “ประชาธิปไตย” แบบเคร่งครัด คือประชาธิปไตยจะต้องยึดโยงกับประชาชนด้วยการเลือกตั้งเท่านั้น

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำอะไรก็ถือว่าทำได้ทำถูก เพราะมีความยึดโยงจากประชาชน แม้จะก่อความเสียหายใดๆ บ้าง ก็ค่อยไปว่ากันในการเลือกตั้งครั้งใหม่ให้ประชาชนตัดสิน การรัฐประหารหรือเข้าแทรกแซงทางการเมืองโดยวิธีอื่นๆ ไม่อาจยอมรับได้ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด

รวมถึงแนวคิด “ประชาธิปไตย” ที่เต็มไปด้วยสิทธิเสรีภาพที่แทบไม่มีขอบเขตอะไร สามารถใช้ “เสรีภาพ” เช่นนั้นถอดรื้อวิพากษ์วิจารณ์และก้าวล่วงได้หมดทุกสถาบัน แม้ว่าจะเป็นสถาบันที่เคารพสักการะมาช้านานอย่างสถาบันศาสนาและพระมหากษัตริย์ คนมีแนวคิดแบบนี้เขาจะเรียกตัวเองว่าเป็นกลุ่ม “ลิเบอรัล” หรือเสรีนิยมหัวก้าวหน้า

คนกลุ่มนี้แม้จะปฏิเสธว่าไม่ได้ชอบทักษิณ ไม่เคยเลือกพรรคเพื่อไทย หรืออาจจะเคยออกมาไล่ทักษิณก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “อุดมการณ์” และแนวคิดทางการเมืองเช่นนี้ก็ไปเข้าทางฝ่ายของระบอบทักษิณ ซึ่งชูความเป็นประชาธิปไตยในรูปแบบการเลือกตั้งในที่สุด

ส่วนประชาชนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามนั้นนอกจากจะ “ไม่เอา” ทักษิณในเชิงตัวบุคคลหรือนโยบายแล้ว ยังเป็นกลุ่มที่มีแนวคิดมองถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญกว่าหลักการใดๆ

ดังนั้น ในสายตาของคนฝั่งนี้ การมีหรือไม่มีประชาธิปไตยในเชิงรูปแบบ (คือการเลือกตั้ง) จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญไปกว่าความอยู่รอดและประโยชน์ของชาติบ้านเมือง ดังนั้นมีประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง แต่พวกนักการเมืองได้รับการเลือกตั้งไปแล้วเข้าไปโกงกินจนประเทศชาติเสียหาย แบบนี้ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

ส่วนมุมมองในเรื่องเสรีภาพของคนกลุ่มนี้คือ เสรีภาพนั้นมีได้ แต่จะต้องมีหน้าที่กำกับด้วย และจะใช้สิทธิเสรีภาพนั้นไปก้าวล่วงแก่สถาบันที่เคารพสักการะของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ก็เป็นเรื่องยอมรับไม่ได้เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้เอง ที่คนในกลุ่มหลังนี้ แม้จะไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติรัฐประหาร หรือการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย แต่เมื่อพิจารณาแล้วการใช้อำนาจเช่นนั้นเป็นไปเพื่อหยุดยั้งความเสียหายต่อชาติบ้านเมือง หรือต่อการล่วงละเมิดสถาบันหลักที่เป็นแกนกลางศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ คนกลุ่มหลังนี้แม้ไม่เห็นด้วยในหลักการกับการรัฐประหารและใช้อำนาจแบบเผด็จการ แต่ก็ยังแยกแยะพิจารณาถึงเหตุผลและความจำเป็นของการใช้อำนาจเช่นนั้นมากกว่า

คนกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นิยมพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับระบอบทักษิณคือพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ บางคนอาจจะเป็นกลุ่มที่ไม่ชอบไม่สนใจการเมืองอะไรด้วยซ้ำ แต่ด้วยอุดมการณ์ว่าผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองและความมั่นคงสถาบันต้องมาก่อนสิ่งอื่นใดนี้เอง ทำให้พวกเขาไปอยู่ฝั่งตรงข้ามกับระบอบทักษิณ (และฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าเป็นพวก “ลิเบอรัล” ที่ว่า)

นี่คือแกนกลางของความแตกแยกที่แท้จริงของประชาชนที่ทั้งกินลึกและขยายวงกว้างไปยังทุกมิติ ทุกวงการ ไม่เฉพาะเรื่องการเมืองเท่านั้น แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนต่อประชาชนด้วยกันในระดับแนวคิดและอุดมการณ์ ซึ่งลุกลามบาดหมางไปอย่างที่ไม่เคยปรากฏ

เชื่อว่าทุกคนคงมีประสบการณ์ในความบาดหมางอันมีสาเหตุมาจากการเมืองด้วยกันทั้งสิ้น เช่น บางคนถึงกับทะเลาะกับคนร่วมครอบครัว หรือถึงกับตัดญาติขาดมิตรกับคนที่เคยรักใคร่คบหากันมานาน ด้วยเหตุเพราะความเชื่อและอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันด้วย

ความแตกแยกนี้มีกันในทุกวงการจนไม่น่าเชื่อ แม้แต่วงการนักวิชาการ นักเขียน ศิลปิน ก็แบ่งแยกกันเป็นฝ่าย และเกลียดชังกันแบบผีไม่เผา เงาไม่เหยียบแขวะกันไปแขวะกันมาในแต่ละฝ่าย จนแทบไม่เหลือคำว่า “พี่น้อง” ในวงการกันอีกแล้ว นอกจากจะคอยจับผิดว่า นักเขียนคนนั้นคนนี้ ไปร่วมลงชื่อต่อต้านรัฐประหารหรือขอให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมทางการเมืองบ้างหรือเปล่า นักเขียนหรือกวีคนไหนเคยไปร่วมเป่านกหวีดหรือเขียนบทกวีไล่รัฐบาลในระบอบทักษิณ

ยิ่งใครเรียนในมหาวิทยาลัย ในคณะนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ คงได้เห็นว่าแม้แต่ครูอาจารย์ก็มี “อุดมการณ์” ทางการเมืองแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย ซึ่งส่งผลถึงการเรียนการสอนหรือแม้แต่การออกข้อสอบ ซึ่งบางครั้งอาจจะจำเป็นต้องตอบให้ตรง “อุดมการณ์” ของผู้สอนด้วย นักศึกษาหลายคนถึงกับกล่าวว่า อาจารย์บางท่านสอนดี สอนเก่ง เข้าใจง่ายในเนื้อหาวิชา แต่ก็รับ “อุดมการณ์ทางการเมือง” ของอาจารย์ไม่ได้จริงๆ

ความขัดแย้งที่ลงลึกไปในระดับอุดมการณ์นี้ เป็นสิ่งที่สังคมไทยไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน

ดังนั้น ลำพังการปรองดองที่มุ่งเป้าไปที่นักการเมือง จะจับนักการเมืองมาทำบันทึก MOU ก็ดี หรือที่ท่านนายกฯ ตู่จะเรียกว่า “สัญญาประชาคม” ก็ตาม ก็อาจจะไม่ตอบโจทย์ที่จะแก้ไขความบาดหมางของประชาชนที่แตกแยกกันเป็นสองข้างสองฝั่งได้

นักการเมืองนั้นไม่มีปัญหา เขาจับมือกันได้แน่เมื่อมีผลประโยชน์ต้องตรงกันอยู่แล้ว เช่นในขณะนี้ที่ทุกฝ่ายกระหายที่จะลงสนามเลือกตั้ง เขาให้เซ็นอะไร สัญญาอะไร ก็คงจะยินดีทำไปทั้งนั้น

แต่ความแตกแยกร้าวฉานเป็นรอยลึกระดับอุดมการณ์ทางการเมืองที่ฝังอยู่นานเป็นสิบปีในหมู่ประชาชนนี้จะสมานกันได้อย่างไร

นี่คืองานที่ยากของแท้ สำหรับการสร้างความ “ปรองดอง” ที่แท้จริง.
กำลังโหลดความคิดเห็น