xs
xsm
sm
md
lg

นรกติดล้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พระบาท นามเมือง

อันที่จริงการเริ่มต้นปีใหม่นั้นควรจะเปิดฉากมาด้วยสิ่งดีๆ ที่เป็นมงคล แต่สำหรับประเทศไทยนั้น อย่างไรก็ตามในช่วงปีใหม่ ไม่ว่าจะปีใหม่สากล หรือปีใหม่ไทย อย่างไรเสียก็ต้องมีข่าวเศร้าข่าวสลดสอดแทรกเข้ามาเป็นประจำ ราวกับเป็นคำสาปประจำเทศกาลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะในช่วงเวลาปีใหม่ และเทศกาลสงกรานต์นั้นเป็นช่วงที่เรียกว่าช่วง “7 วัน อันตราย” ประจำปี ซึ่งจะเป็นช่วงที่เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์มากที่สุด ร้ายแรงที่สุด และส่งผลให้มีคนตายมากที่สุด เป็นช่วงเวลา “สีแดง” แห่งปี

แม้ว่าทางภาครัฐจะมีนโยบายออกมาทุกปี เพื่อลดอุบัติเหตุในช่วงเวลานี้ แต่เมื่อสรุปผลออกมาเมื่อไร ก็ต้องยอมรับว่าไม่ได้ผล ตัวเลขสถิติคนเจ็บคนตายนั้นเป็นตัวชี้ที่ดีที่สุด

อย่างล่าสุด อุบัติเหตุสลดปีใหม่ในปีนี้ ก็ได้แก่เหตุการณ์ที่รถตู้สายกรุงเทพฯ จันทรบุรีพุ่งเหินข้ามเลนมาชนกับรถกระบะที่บ้านบึง ชลบุรี ที่บรรทุกคนมาจนเต็ม จนกระทั่งมีผู้เสียชีวิตรวมกันสองคัน 25 ศพ

อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากการทับซ้อนของปัจจัยมากมาย ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่เกิดมาจากการย่อหย่อนของมาตรการในการรักษาความปลอดภัยบนท้องถนนทั้งสิ้น

นับตั้งแต่คนขับรถตู้ที่ขับรถด้วยความเร็วสูงเกินไป ในขณะที่ร่างกายอาจจะไม่พร้อม เนื่องจากต้องรีบทำรอบ จนกระทั่งเกิดเหตุที่ควบคุมรถไม่อยู่พุ่งไปในอีกเลนที่สวนทางกัน

และถ้าพุ่งไปแล้วถนนโล่งๆ ก็คงจะไม่เกิดความสูญเสียร้ายแรงขนาดนี้ แต่ก็ปรากฏว่ามีรถสวนมา และรถคันดังกล่าวก็เป็นรถกระบะที่บรรทุกคนมาจนเต็มพอดี

อุบัติเหตุร้ายแรงรับปีใหม่จึงเกิดขึ้น

หากกล่าวกันให้ถึงที่สุดแล้ว รถตู้และรถกระบะนั้นไม่ใช่ยานพาหนะที่เหมาะสมสำหรับการบรรทุกผู้คนหรือใช้เป็นรถสาธารณะ อย่างรถตู้นั้นจริงๆ แล้วออกแบบขึ้นมาเพื่อเป็นรถกึ่งส่วนตัวขนาดใหญ่ ที่เอาไว้ใช้บรรทุกคนจำนวนจำกัด และวิ่งในระยะทางที่ไม่ไกลนัก ไม่ใช่รถที่ออกแบบมาใช้เพื่อให้เป็นรถขนส่งมวลชนตั้งแต่ต้น

ปิ๊กอัพหรือรถกระบะเองนั้น ก็เป็นรถที่ออกแบบมาเพื่อให้เป็นรถที่ใช้ในการบรรทุกของเป็นหลัก บรรทุกคนโดยสารได้บ้างก็เฉพาะในส่วนที่เป็นห้องโดยสาร ไม่ใช่นั่งกันในส่วนที่เป็นกระบะรถ

แต่เนื่องด้วยข้อจำกัด “แบบไทยๆ” นี้เอง ที่ทำให้ทั้งรถตู้นั้นถูก “ดัดแปลง” มาเป็นรถสำหรับขนส่งสาธารณะ และการนั่งในกระบะของรถกระบะนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่าเป็นความไม่ถูกต้องที่จำเป็น

การใช้รถปิ๊กอัพหรือรถกระบะบรรทุกคนนั้น เป็นเพราะรูปแบบการใช้เฉพาะตัวในบริบทแบบไทยๆ ซึ่งเมื่อซื้อรถทั้งที ก็จะต้องใช้งานได้สารพัดประโยชน์ จะซื้อรถมาเฉพาะเพื่อบรรทุกของ หรือเพื่อโดยสารอย่างเดียวก็เป็นเรื่องเกินวิสัยและฐานะของคนส่วนใหญ่ ดังนั้น รถกระบะที่ควรจะเป็นเพียงรถบรรทุกของเท่านั้น ก็กลายเป็นรถที่ใช้บรรทุกคนไปด้วย เป็นเรื่องปกติธรรมดายอมรับกันในบริบทไทยๆ แม้จะไม่ค่อยถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม

ส่วนรถตู้นั้นเกิดขึ้นมาเพื่ออุดช่องว่างของระบบขนส่งมวลชนที่ไม่ทั่วถึงและไม่สะดวก จากที่เป็นการขนส่งแบบไม่เป็นทางการ ก็มีนโยบาย “รับเข้ามา” ให้เป็นเรื่องถูกกฎหมาย เพื่อที่จะได้มีการควบคุมจากภาครัฐ แต่ความที่รถตู้นั้นไม่ใช่รถที่เหมาะกับการเป็นรถสำหรับขนส่งมวลชนอยู่แล้ว และการควบคุมจากทางภาครัฐที่หวังไว้นั้นก็ล้มเหลว ทำให้ถ้ามาไล่เลียงอุบัติเหตุจากรถตู้ก็คงได้ยาวกันเป็นสิบเป็นร้อยกรณี

ปัญหาแบบ “ไทยๆ” นี้เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ถูก การยกเลิกรถตู้โดยสารสาธารณะไปเลย โดยที่ระบบขนส่งมวลชนยังล้มเหลวและไม่ทั่วถึงหรือพอเพียง ก็เป็นการผลักภาระไปให้กับคนที่ไม่มีทางเลือกในสังคม เช่นเดียวกับการกวดขันอย่างจริงจังไม่ให้รถปิ๊กอัพหรือกระบะบรรทุกคนที่ส่วนกระบะนั้นก็ขัดกับวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่มากเกินไป

ปัญหาที่แก้ยากเหล่านี้ยังมาซ้อนทับเข้าไปกับเรื่องของความหละหลวมในการบังคับใช้กฎหมาย และการขาดจิตสำนึกของผู้ประกอบการเข้าไปอีก จนปล่อยให้มีการขับรถแบบ “ควงกะ” หรือ “วิ่งรอก” เพื่อให้ได้จำนวนเที่ยวสูงที่สุดต่อวัน การไม่ควบคุมความเร็วของรถอย่างจริงจัง การไม่ตรวจสภาพรถ นำรถที่มีสภาพไม่พร้อมมาวิ่งรับผู้โดยสาร อย่างในข่าวที่ว่ามีการจับกุมรถตู้โดยสารที่วิ่งกันจนยางไม่มีดอกแล้ว ก็ยังเอามาใช้รับส่งผู้โดยสารกันอยู่

“จิตสำนึก” เกี่ยวกับความปลอดภัยส่วนรวมเป็นสิ่งที่ปลูกฝังกันไม่ได้ เป็นเรื่องเฉพาะตัวเฉพาะตน สิ่งที่รัฐจะทำได้ เพื่อรักษาความปลอดภัยบนท้องถนนของผู้คน ก็เห็นจะต้องมาจากการบังคับใช้กฎหมายให้เคร่งครัดจริงจังที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

หลังจากเหตุการณ์รถตู้มรณะ 25 ศพที่ชลบุรี ก็เหมือนไฟที่ไหม้โหมขึ้นมา ให้ทางภาครัฐมาทบทวนมาตรการในการจัดการกับรถตู้โดยสารกันอย่างจริงจังอีกสักครั้งหนึ่ง

มีทั้งแผนระยะยาว ว่าจะ “ยกเลิก” รถตู้โดยสารให้เปลี่ยนเป็นระบบมินิบัสทั้งหมด ซึ่งทางแก้นี้จะไม่กระทบกับฝ่ายประชาชนคนโดยสารเท่าไร เพราะเท่ากับยังมีระบบขนส่งมวลชนขึ้นมารองรับอยู่ แต่สำหรับฝั่งผู้ประกอบการนั้นยังไม่แน่ว่าจะร่วมมือได้แค่ไหน

กรอบระยะเวลาของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็ทอดยาวไปจนถึงปี 2564 ซึ่งไม่รู้ว่าในขณะนั้นใครจะมาเป็นรัฐบาล และจะยังคงนโยบายเช่นนี้อยู่หรือไม่ หรือจะ “ประชานิยม” เงื้อง่าไม่กล้าทำเพราะกลัวเสีย “ฐานเสียง” ของผู้ประกอบการรถตู้หรือไม่ อันนี้ก็ไม่รู้ได้

กับมาตรการระยะสั้นที่มีทีท่าว่านายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจจะใช้ “ยาแรง” คือ มาตรา 44 ในการจัดระเบียบรถตู้ให้จริงจัง

สิ่งที่อยากเห็นในมาตรการนี้ คือการจำกัดความเร็วของรถตู้โดยสารที่เข้มงวด จำกัดรอบการวิ่งและการขับของพนักงานขับรถไม่ให้มีการควงกะ และห้ามมิให้คนขับดื่มสุราหรือใช้ยาเสพติดโดยเด็ดขาด

เช่นนี้ “สภาพบังคับ” ก็จะต้องจริงจังเพียงพอที่จะทำให้ทั้งผู้ประกอบการและคนขับรถไม่กล้าฝ่าฝืนด้วย เพียงแค่การ “ปรับเงิน” ตามกฎหมายจราจรหรือกฎหมายอื่นๆ คงไม่เพียงพอเสียแล้ว น่าจะต้องมีมาตรการทางปกครองขึ้นมาควบคุมด้วย เช่น การพักหรือระงับใช้ใบอนุญาตอย่างจริงจังของทั้งคนขับและผู้ประกอบการ

เรียกว่าถ้าฝ่าฝืนกฎหมายหรือคำสั่งที่มีไว้เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน โทษจะต้องถึงกับเลิกอาชีพ หรือเลิกกิจการไปเลย และจะต้องทำอย่างจริงจังให้เห็นเป็นตัวอย่างด้วย

หรือในกรณีที่เกิดเหตุไปแล้ว ผู้รับผิดชอบก็ควรต้องรับโทษอาญา จำคุกอะไรกันไปให้เห็นชัดๆ เป็นบรรทัดฐาน เป็นตัวอย่างให้คนไม่กล้าฝ่าฝืน

ถ้าทำได้จริง จิตสำนึกก็จะค่อยๆ ปลูกสร้างขึ้นมาเองในที่สุด

เห็นว่าเมื่อวาน นายกฯ ประกาศกร้าวว่าการแก้ไขปัญหานี้จะต้องจบลงภายใน 3 เดือน ก่อนเทศกาลสงกรานต์ซึ่งถือว่าเป็น “ช่วงอันตราย” อีกช่วงหนึ่งจะมาถึง

ก็ขอเอาใจช่วยให้รอบนี้ทำได้สำเร็จกันสักที เพื่อชีวิตคนไทยจะได้ไม่ต้องเสี่ยงภัยจากนรกติดล้อเช่นนี้อีกต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น