วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
ปัจจุบัน เนื้อหาบนโลกออนไลน์ของประเทศไทย กำลังตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง และติดอยู่ในวงจรอุบาทว์ (Vicious Cycle) คือ ขณะที่สื่ออาชีพดั้งเดิม -สื่อเก่า-สื่อโบราณ กำลังจะตาย สื่อใหม่อย่างสื่อออนไลน์กลับไม่สามารถสร้างรายได้ขึ้นมาทดแทนรายได้จากสื่อเก่าที่สูญเสียไปได้ โดยเฉพาะรายได้จากโฆษณาที่เคยทำเงินได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ จนก่อให้เกิดการแข่งขันการผลิตเนื้อหาด้อยคุณภาพ หรือ ล่วงละเมิดจริยธรรม เพื่อเน้นให้เกิดปริมาณยอดคลิกหรือยอดวิว
จากนั้นสื่ออาชีพของไทยก็พยายามทดลองเอาอย่างสื่อตะวันตกด้วยการใช้รูปแบบ “กำแพงสมาชิก (Paywall)” ตามแนวคิด “ผู้อ่านควรเป็นผู้จ่าย” ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดีทั้งใน สหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมถึงญี่ปุ่น อีกทั้งเมื่อพิจารณาแล้วรูปแบบหรือโมเดลนี้ก็พอจะมีความเป็นไปได้ หากคิดว่าเดิมทีผู้บริโภคข่าวสารไทยอย่างน้อยก็เคย ซื้อหนังสือพิมพ์/นิตยสาร หรือจ่ายเงินค่าสมาชิกมาก่อน
แต่หลังจากแวดวงสื่ออาชีพไทยลองผิดลองถูก ล้มลุกคลุกคลานมาหลายปี ก็พบว่า อย่าว่าแต่ “ควักกระเป๋าจ่ายเงิน” เลย เพราะแม้แต่การขอให้ “สมัครสมาชิก” เพื่อให้เข้าถึงบริการมากขึ้น คนไทยก็ยังไม่สนใจ เพราะคิดว่ามีความยุ่งยาก ซับซ้อน และที่สำคัญที่สุดก็คือ คนไทยส่วนใหญ่คิดว่าทุกอย่างบนโลกออนไลน์ควรเป็นของฟรี
ถึงกระนั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมากลับมีเนื้อหา/ข้อมูล/บริการบนโลกออนไลน์บางอย่างที่สามารถชนะใจผู้บริโภค และจูงใจให้เกิดการจับจ่ายโดยที่ผู้บริโภคแทบจะไม่คิดอะไร ยกตัวอย่างเช่น สติกเกอร์ในแอปพลิเคชัน LINE ที่คิดเงินผู้โหลดในอัตรา 30-60 บาทต่อเซ็ตซึ่งในสายตาของผู้บริโภคชาวไทยนั้นถือว่าคุ้มค่า เพราะในแต่ละเซ็ตได้สติกเกอร์หลายสิบแบบ
กุญแจสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่คำว่า ไมโครเพย์เมนท์ (Micropayment) ซึ่งเป็นรูปแบบการชำระเงินซึ่งอาจถือว่าอยู่ในแนวคิดของ Premium Content อยู่ เพียงแต่แยกย่อยการจ่ายเงินออกมาเป็น จ่ายต่อชิ้น (Pay-per-article หรือ Pay-per-view) แทนที่จะต้องสมัครสมาชิกตามระยะเวลา และต้องจ่ายเงินเป็นก้อนใหญ่
แรกเริ่มเดิมทีไมโครเพย์เมนต์ถูกคิดค้นขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ 1990 หรือประมาณ 20 ปีก่อน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการซื้อขายเนื้อหาบนโลกออนไลน์ในราคาถูก คือ ต่ำกว่า $1 หรือเพียงไม่กี่เซนต์ และเป็นทางเลือกของสื่อในการหารายได้นอกเหนือจากโฆษณา
ผมจำได้ว่าช่วงแรกที่เข้ามาทำงานในแวดวงสื่อสารมวลชน เว็บไซต์ของ The New York Times เป็นเว็บไซต์ข่าวแรกๆ ที่เปิดให้อ่านเนื้อหาได้ฟรี แต่จะเรียกเก็บเงินประมาณ 1 เหรียญสหรัฐฯ ($0.99) หรือราว 35 บาท สำหรับการอ่านข่าวเก่าหนึ่งชิ้น ทว่า โมเดลดังกล่าวก็ไม่ค่อยประสบความสักเท่าไหร่ อาจด้วยความยุ่งยากในการชำระเงินที่ต้องผูกเข้ากับบัตรเครดิตกระทั่งอีกหลายปีต่อมา ไมโครเพย์เมนต์รุ่นที่สองก็ได้รับการพัฒนาขึ้นพร้อมๆ กับการแพร่หลายของรูปแบบการชำระเงินที่สะดวกสบายขึ้น การเติมเงินในเกมเพื่อซื้อไอเท็ม การซื้อเพลงผ่านไอจูนส์ การทำธุรกรรมผ่านเพย์พัล (Paypal) ส่วนในเมืองไทยก็เริ่มมีบริการ เพย์สบาย (Paysbuy) การชำระเงินผ่านเคาท์เตอร์เซอร์วิส ทรูมันนี่ ฯลฯ
ปัจจุบันไมโครเพย์เมนต์เรียกได้ว่าอยู่รอบตัวเรา คนวัยไม่เกิน 30-35 ปีคุ้นชินกับการเติมเงินมือถือ เติมเงิน-ชำระเงินผ่านกระเป๋าสตางค์เสมือน (Virtual Wallet) ชำระเงินผ่านบัตรเดบิต ผูกบัตรเครดิตเข้ากับบัญชี ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เอื้อให้กับการนำ Micropayment มาสนับสนุนการทำงานข่าว/ผลิตเนื้อหาคุณภาพสูง (Premium Content) ของมืออาชีพไม่น้อย
เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้พูดคุยกับหนุ่มเจ้าของเว็บไซต์วัยรุ่นชั้นนำของเมืองไทย เขาเล่าให้ผมฟังว่า เดี๋ยวนี้เด็กรุ่นใหม่คุ้นเคยกับการจ่ายเงินเพื่ออ่านนิยายออนไลน์ โดยพวกเขายินยอมจ่ายเงิน 3 บาท เพื่อแลกกับการได้อ่านนิยายตอนล่าสุดหนึ่งตอน โดยเงิน 3 บาท ดังกล่าวหักจากเครดิตที่มีการชำระเอาไว้ก่อนหน้า ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวแม้จะน้อยนิด แต่ก็เป็นกำลังใจและถือเป็นรายได้ เป็นค่าขนมให้กับผู้แต่งนิยายได้
ไม่เพียงแต่คอนเทนต์อย่างนิยายเท่านั้นที่คนรุ่นใหม่ยอมจ่าย หลายคนคงไม่ทราบว่าวัยรุ่นสมัยนี้ยังนิยมให้ของขวัญเสมือนผ่านโลกออนไลน์กันด้วย อย่างเช่นแอปพลิเคชันถ่ายทอดสด Bigo (แอปฯ สัญชาติสิงคโปร์) มีฟีเจอร์ส่งดอกไม้ มงกุฎ ตุ๊กตาหมี ช่อดอกไม้ แหวนเพชร หรือ กระทั่งรถสปอร์ต ให้กับเน็ตไอดอลที่ทำการถ่ายทอดสด โดยผู้ที่ต้องการส่งของขวัญนั้นต้องใช้เงินเพื่อแลกเพชร (Diamond) ในอัตรา 35 บาท (ประมาณ $1) ต่อ เพชร 42 เม็ด
ทั้งนี้ของขวัญราคาแพงที่สุดที่แฟนๆ จะให้แก่เน็ตไอดอลได้คือ รถสปอร์ต (Supercar) ซึ่งในแอปฯ ถูกกำหนดให้มีมูลค่าเท่ากับเพชร 3,000 เม็ด หรือเมื่อตีเป็นมูลค่าเงินบาทก็ตกเกือบ 2,500 บาท โดยของขวัญเหล่านี้เหล่าเน็ตไอดอล ก็สามารถสะสมเอาไว้ เพื่อนำมาแลกเป็นเงินสดได้อีกต่อ
ไอเดียการให้ของขวัญดังกล่าวแพร่หลายมาสักพักหนึ่งแล้ว โดยล่าสุดในส่วนของยักษ์ใหญ่แห่งโลกสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กก็เริ่มดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้แล้วเช่นกัน โดยจากการเปิดเผยของเว็บไซต์ theverge.com เมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า เฟซบุ๊กเริ่มสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้ต่อสิ่งที่เรียกว่า “โหลทิป (Tip Jar)” ซึ่งเปิดให้ผู้อ่านสามารถให้ทิปแก่ผู้โพสต์ อันจะสร้างรายได้ให้กับบุคคลผู้ผลิตเนื้อหาเข้าสู่ระบบเฟซบุ๊ก [3]
ช่องทางการหารายได้ผ่านไมโครเพย์เมนต์ดังกล่าว แม้จะดูค่อนข้างน้อย หรือไม่มากไม่มายอะไร โดยเฉพาะสำหรับสื่อมืออาชีพที่มีต้นทุนการผลิตสูง ทั้งบุคลากร อุปกรณ์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าฝ่ายสนับสนุน ค่าใช้จ่ายประจำ ฯลฯ แต่อย่าลืมว่าเงินจำนวนน้อย แต่หากมีคนสนับสนุนจำนวนมาก รายได้ส่วนนี้ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย และช่วยกระจายแหล่งที่มาของรายได้นอกเหนือจากโฆษณาได้ในระดับหนึ่งเช่นกัน
ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดก่อนที่จะคาดหวังว่าจะมีใครมาสนับสนุนด้วยการจ่ายเงินซื้อหรือให้ทิปจากการนำเสนอเนื้อหาของเรา สื่อมืออาชีพต้องพึงสังวรณ์ไว้เสมอถึงความเป็นมืออาชีพ การรักษาความน่าเชื่อถือ (Credibility) และความรับผิดชอบทั้งทางจริยธรรมและกฎหมาย ซึ่งหากขาดตกบกพร่องไปแล้ว สื่อมืออาชีพก็จะไม่ต่างอะไรเลยกับ พระทุศีล หรือ พระสงฆ์ทำผิดศีล โดยผลที่เกิดขึ้นอาจร้ายแรงถึงขั้นอาบัติปาราชิก คือ ขาดคุณสมบัติในการเป็นสื่อมวลชนเลยเทียว
ข้อมูลอ้างอิง :
[3] Facebook considers letting users add a tip jar to make money from posts, 19 Apr 2016 (http://www.theverge.com/2016/4/19/11455840/facebook-tip-jar-partner-program-monetization)