xs
xsm
sm
md
lg

วางแผนการใช้"เฟซบุ๊ก"หลังการตายกันไว้หรือยัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: แกว่งเท้าหาเสี้ยน

เมื่อ2-3วันก่อน เฟซบุ๊กซึ่งทำหน้าที่เตือนว่าวันนี้เป็นวันเกิดใครบ้างก็ขึ้นมาเตือนว่า เป็นวันเกิดของเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเพิ่งจะเสียชีวิตไปเมื่อปีที่ผ่านมา เข้าไปดูที่หน้าเพจของเขาแม้เพื่อนคนนี้จะเสียชีวิตไปแล้ว ก็ยังมีคนเข้ามาอวยพรวันเกิดเพื่อนคนนี้ และผมยังย้อนไปดูโพสต์เก่าเพื่อรำลึกถึงเพื่อนทั้งสเตตัสและรูปภาพได้

มันเหมือนเพื่อนเรายังอยู่

ผมนับคร่าวๆคิดว่าน่าจะมีบัญชีคนตายเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กเท่าที่ผมรู้ว่าเขาตายแล้วน่าจะสัก10บัญชีได้

สะท้อนว่า แม้เราจะตายไปแล้ว แต่ตัวตนในเฟซบุ๊กของเราก็คงยังอยู่ ซึ่งในความคิดของผมเป็นเรื่องที่ดี

ผมเลยมานั่งคิดนะครับว่า เวลาผมอายุใกล้100ปี(อยากอยู่นานๆ)แล้วใกล้จะลาโลกไปแล้ว เฟซบุ๊กจะยังอยู่มั้ย แต่ผมก็คิดว่าน่าจะอยู่นะและอาจจะพัฒนาขึ้นไปกว่านี้อีก เหมือนกับหนังสือพิมพ์ที่อยู่ได้มาเป็นร้อยปี ที่คิดต่อไปก็คือว่าผมจะจัดการกับเฟซบุ๊กของผมหลังจากนั้นอย่างไร เพื่อให้ตัวตนของผมยังอยู่บนโลกออนไลน์

แต่มาคิดอีกทีเราก็อยู่ได้แค่ช่วงที่เพื่อนของเรายังออนเฟซบุ๊กอยู่ไหว พอทุกคนตายจากไป เราก็เป็นแค่บัญชีที่ค้างอยู่ในสุสานของเฟซบุ๊ก

เมื่อไม่กี่วันมานี้เว็บไซต์ข่าว'อินดิเพนเดนท์'ได้รายงานงานวิจัยของ Hachem Sadikki นักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ที่ระบุว่า ภายในอนาคตปี 2098(พ.ศ.2641) นั้น 'เฟซบุ๊ก'จะกลายเป็นสุสานออนไลน์คือ จะมีคนตายมากกว่าคนเป็น โดยทั้งหมดวิจัยจากจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กและอายุขัย

รายงานระบุว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ขณะนี้มีจำนวน 150 ล้านคนจะค่อยๆ เสียชีวิตไปตามกาลเวลาและจะเหลือทิ้งไว้เพียงหน้าเฟซบุ๊กที่ยังไม่ได้ลบทิ้ง เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่บอกรหัสผ่านแก่เพื่อนๆ หรือครอบครัวส่งผลให้ไม่สามารถลบบัญชีโปรไฟล์นั้นได้ และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ การแจ้งเตือนของเพื่อนเฟซบุ๊กที่ตายแล้วก็จะยังปรากฏขึ้นมาเหมือนเดิม

รายงานยังระบุว่า ขณะนี้มีโปรไฟล์เฟซบุ๊กของผู้ที่ล่วงลับไปแล้วกว่า 10-20 ล้านบัญชีทั่วโลกแล้ว

งานวิจัยชิ้นนี้อาจมีข้อขัดแย้งในเรื่องยอดผู้ใช้เฟซบุ๊กนะครับ เพราะดูจากข้อมูลเมื่อกลางปี2558พบว่า ผู้ใช้งานเป็นประจำทุกวัน (DAUs – Daily active users) 890 ล้านคน ผู้ใช้งานเป็นประจำทุกวันผ่านมือถือ อยู่ที่ 745 ล้านคน

ไม่ใช่มีผู้ใช้แค่ 150 ล้านคน แม้ว่าคนหนึ่งอาจจะมีหลายบัญชีก็ตาม แต่ตัวเลขไม่น่าแตกต่างกันขนาดนี้

ผลสำรวจว่า ประเทศไทยมีประชากรเฟซบุ๊กมากเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน อยู่ที่ 35 ล้านบัญชี ซึ่งเป็นรองจาก อินโดนีเซีย ที่มีมากถึง 74 ล้านบัญชี และ ฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 44 ล้านบัญชี

หากแยกเป็นรายจังหวัด จังหวัดที่มีประชากรเฟซบุ๊กหนาแน่นมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 20 ล้านบัญชี เชียงใหม่ 960,000 บัญชี นครราชสีมา 780,000 บัญชี นนทบุรี 600,000 บัญชี ชลบุรี 540,000 บัญชี

โดยในประเทศไทยมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ปี 2555 มีผู้ใช้ 14.5 ล้านบัญชี ปี 2556 มีผู้ใช้ 18 ล้านบัญชี ปี 2557 มีผู้ใช้ 26 ล้านบัญชี ปี 2558 มีผู้ใช้ 35 ล้านบัญชี

หลายคนรวมทั้งผมคนหนึ่งยอมรับว่า เฟซบุ๊กกลายเป็นเรื่องจำเป็นในชีวิตประจำที่ผมจะเข้ามาแสดงความเห็นและติดตามข่าวสาร เวลาว่างส่วนใหญ่จึงอยู่ที่หน้าเฟซบุ๊กไม่ว่าจะนั่งที่โต๊ะทำงานหรือนอกที่ทำงานผ่านโทรศัพท์มือถือ

มีการสำรวจพบว่ามีการแชร์ภาพถ่ายมากกว่า 2 พันล้านรูปต่อวัน ปัจจุบันคอนเทนต์ที่คนใช้เฟซบุ๊กนิยมแชร์กันคือภาพถ่ายไม่ใช่ตัวหนังสือ พฤติกรรมการใช้บริการเฟซบุ๊กของคนไทยกว่า 57% นิยมการโพสต์ภาพถ่าย 33% เช็คอิน 21% แชร์ลิงค์ต่างๆ 3% แชร์วิดีโอจากยูทูป และอีก2% โพสต์สเตตัสของตัวเอง

เฟซบุ๊กกลายเป็นช่องทางการรับข่าวสารมากกว่าช่องทางหนังสือพิมพ์และทีวีซึ่งตอนหลังแล้วแทบจะไม่ค่อยได้เปิดด้วยซ้ำไป และดูหนังสือพิมพ์เฉพาะพาดหัวว่าแต่ละฉบับจับประเด็นอย่างไรกับข่าวที่เราอ่านผ่านเฟซบุ๊กแล้ว เรารู้เรื่องราวข่าวสารเร็วขึ้นแทบจะช่วงพริบตา ไม่ต้องรอกระบวนการเหมือนกับสื่อยุคก่อนๆอีกแล้ว

และอย่างที่รับรู้กันก็คือ ทุกวันนี้ทุกคนกลายเป็นสื่อและมีกระบอกเสียงของตัวเอง สื่อหลักต่างๆยังต้องเข้ามาหาข่าวในเฟซบุ๊กเพื่อนำไปสื่อสารต่อ ผมคิดว่าในอนาคตเฟซบุ๊กจะเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทรงอิทธิพลที่สุดแม้ว่าตอนนี้ยังมีคนใช้งานไม่ถึงครึ่งหนึ่งของประชากรโลกก็ตาม เพราะเชื่อว่า จะมีคนใช้งานเฟซบุ๊กเพิ่มขึ้นเรื่อยและมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นในแต่ละปี ดูสถิติของประเทศไทยสิครับปี 2555มี14.5ล้านบัญชี พอปี2558มีถึง 35 ล้านบัญชี

ปัจจุบันองค์การสหประชาชาติ (UN) ประมาณการว่าประชากรโลกมีจำนวนราว 7,300 ล้านคน(ณ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2558)ตอนนี้มีผู้ใช้งานประจำเฟซบุ๊กอยู่ที่ 890ล้านคน

ดังนั้นการมาและการดำรงอยู่ต่อไปของเฟซบุ๊กจะเป็นตัวการสำคัญที่กำหนดภูมิทัศน์สื่อ ที่ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์หรือทีวีจะต้องปรับตัว หลายวันก่อนเห็นกสทช.ยอมรับว่า คนดูทีวีน้อยลงทำให้การเติบโตของทีวีดิจิตอลอยู่ในเป้าหมายที่ต่ำ

เครื่องมือสื่อสารเป็นพลวัตที่พัฒนาไม่หยุดนิ่ง ดูเหมือนว่า โลกจะหมุนเร็วขึ้นยิ่งกว่าทฤษฎีผีเสื้อกระพือปีกที่เรากล่าวขวัญกันเมื่อไม่กี่ปีก่อน ไม่รู้ตอนนี้จะเรียกว่าทฤษฎีอะไร เพราะรู้สึกว่ามันเร็วกว่าผีเสื้อกระพือปีกมากนัก

ก่อนตายคงต้องวางแผนการใช้เฟซบุ๊ก เพราะดูเหมือนว่า เฟซบุ๊กจะเป็นมรดกชิ้นหนึ่งหลังการตายของเราไปแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น