ความเดิมตอนที่แล้ว :
- แย่งกันกินแย่งกันใช้ The Series (1) : หลงเป็นแกะดำที่แม่สอด
- แย่งกันกินแย่งกันใช้ The Series (2) : ลำปางหนาวมาก ตกรถไปเชียงใหม่หนาวยิ่งกว่า
4 มกราคม 2559, 06.30 น.
ด้วยความที่เมื่อตอนตีสามตื่นขึ้นมาแล้ว หลังจากหลับไปสาม - สี่ชั่วโมง
ประกอบกับอากาศเย็น ในเมื่อนอนไม่หลับ หลังหาอะไรมาจิบได้สักพัก จึงทำได้เพียงแค่นอนแอ้งแม้งอยู่บนเตียง นั่งกดสมาร์ทโฟนแล้วคิดอะไรไปเรื่อยเปื่อย
กระทั่งฟ้าสว่าง เลยคิดว่าน่าจะออกไปเปิดหูเปิดตาข้างนอกบ้าง
อีกทั้งวันนี้เป็นวันทำงาน และเปิดเรียนวันแรก น่าจะได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่
ออกจากห้องพักไม่ได้พกอะไรมากมาย นอกจากสมาร์ทโฟนสักเครื่อง ไว้ถ่ายภาพที่เราอยากถ่ายระหว่างทาง
นอกนั้นก็จะเป็นยาดม เผื่อวิงเวียน หน้ามืดระหว่างทาง และผ้าเช็ดทำความสะอาดแบบเปียก เผื่อต้องเข้าห้องน้ำสาธารณะ
แนวเขาลำปาง - แพร่ มองจากหน้าต่างโรงแรมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อลำปางช่วง 7 โมงเช้าค่อนข้างเงียบสงบ สังเกตจากรถบนถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ลำปาง - งาว ซึ่งเป็นถนนสายหลักมุ่งหน้าสู่พะเยา และเชียงราย รถยังค่อนข้างน้อย
เดินเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนดวงรัตน์ ก็พบเห็นคิว "รถม้าลำปาง" จอดอยู่ ด้วยความที่อากาศหนาว เจ้าของจึงต้องผิงไฟให้ม้าแต่ละตัวคลายความหนาว ขณะที่ม้ากำลังยืนเคี้ยวหญ้าอย่างสบายใจ
ทีแรกเข้าใจว่า ที่รถม้ายืนรอคิวเป็นจำนวนมากเพื่อรอรับลูกค้าโรงแรมลำปางเวียงทองซึ่งอยู่ใกล้กัน แต่พอกลับไปค้นข้อมูลย้อนหลัง พบว่าใครสนใจก็ใช้บริการได้ ในราคาเริ่มต้นที่ 150 บาท สูงสุด 500 บาทถ้าต้องการเที่ยวชมรอบเมืองใหญ่
เป็นความเสียดายอีกหนึ่งอย่าง จากการเดินทางโดยไม่ทำการบ้านมาก่อน
เราเดินเท้ามาเรื่อยๆ ผ่านโรงเรียนลำปางกัลยาณี ต่อด้วยโรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย สองโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนประจำจังหวัด โดยลำปางกัลยาณีเป็นโรงเรียนสตรี ส่วนบุญวาทย์ฯ เป็นโรงเรียนชาย ปัจจุบันเป็นสหศึกษาหมดแล้ว
ระหว่างเดินเท้าสังเกตเห็นนักเรียนข้ามถนนทีละแถว รถตู้ รถสองแถวจากต่างอำเภอเข้ามาจอดส่งนักเรียน พ่อแม่บางคนขี่มอเตอร์ไซค์ส่งลูกหน้าโรงเรียน รู้สึกเหมือนกับว่าเช้านี้มีชีวิตชีวาอย่างบอกไม่ถูก
ความเรียบง่ายของชีวิตอย่างหนึ่ง คือการมีชีวิตที่ปกติ
นึกถึงวัยเรียนที่มองว่า เป็นเรื่องวุ่นวายหากจะต้องตื่นแต่เช้า แล้วต้องไปถึงโรงเรียนให้ทันเคารพธงชาติ หากสายมากเกินไปจะต้องถูกหักคะแนนจิตพิสัย
โตขึ้นไปจึงได้เรียนรู้อย่างหนึ่งว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร มาจากไหน ทุกคนต้องอยู่ในกรอบของชีวิตอยู่ดี
แม้จะเป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่เราไม่อาจย้อนกลับไปยังชีวิตนักเรียนได้อีกแล้ว แต่ภาพที่เด็กนักเรียนข้ามถนนตรงหน้า ก็ทำให้เรารู้สึกได้อย่างหนึ่ง
หากเราได้ทำในสิ่งที่ใจเราต้องการ วันข้างหน้าเราอาจจะไม่ต้องมานั่งเสียดายอีก
แปดโมงเช้าผ่านไป ถนนหนทางในลำปางเริ่มวุ่นวายขึ้น เพราะเป็นเวลาแห่งการเริ่มต้นทำงาน รถราบนถนนสนามบิน ที่จะมุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมืองเริ่มมีรถหนาแน่น ตามประสาเมืองใหญ่จังหวัดหนึ่ง
ระหว่างเดินเท้าสังเกตเห็นทางเข้าวัดเล็กๆ อยู่วัดหนึ่ง จึงได้ลองเดินเข้าไป ปรากฏว่ากลับสงบ ร่มเย็นเหมือนอยู่คนละโลก
ไม่มีผู้คนนอกจากคนดูแลวัด มองเห็นพระเจดีย์สีทองอยู่ตรงหน้า ตัดกับแสงของดวงอาทิตย์สวยงามอย่างไม่น่าเชื่อ
วัดแห่งนี้มีชื่อว่า “วัดป่าฝาง” หรือ วัดศาสนโชติการาม เป็นวัดเล็กๆ บนพื้นที่เพียง 7 ไร่ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยชาวพม่าที่เข้ามทำธุรกิจป่าไม้ในนครลำปางเป็นผู้สร้างขึ้น
จุดเด่นของวัดนี้คือศิลปะแบบพม่า อย่างอุโบสถ หรือ วิหารของวัดที่ส่วนบนสุดยังคงสถาปัตยกรรมแบบพม่าไว้ หรือจะเป็นพระเจดีย์สีทองทรงหกเหลี่ยม ด้านในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุจากพม่า ผสมผสานกับร่มเงาของต้นไม้ที่ดูร่มรื่น
ถ้าจะให้เปรียบเทียบวัดนี้กับกรุงเทพฯ ก็เหมือนกับวัดปทุมวนารามฯ ที่อยู่ติดกับศูนย์การค้าสองแห่งขนาบกันซ้ายขวา
คิดว่าถ้าเป็นชาวพุทธที่ต้องการความสงบ มากกว่างมงายกับพุทธพาณิชย์ ก็น่าจะชื่นชอบวัดนี้
ฝั่งตรงข้ามกันก็จะเป็นวัดจองคา หรือวัดไชยมงคล ที่มีจุดเด่นตรงที่เจดีย์องค์ใหญ่สีขาวอยู่ตรงหน้า และวิหารที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบพม่าเช่นกัน แต่สภาพวัดดูเหมือนว่าจะดูโล่ง ไม่ร่มรื่นเหมือนกับวัดที่อยู่ตรงกันข้าม
เราใช้เวลาเดินเที่ยวชมวัดและถ่ายภาพความงามพอสมควร ก็ได้เวลาเดินกลับโรงแรม แต่ปรากฏว่าอากาศที่เย็นทำให้เกิดปวดท้องปวดไส้ขึ้นมา อีกทั้งแถวนั้นไม่มีปั้มน้ำมัน
โชคดีที่ห้างค้าปลีกชื่อดังอย่างเทสโก้ โลตัส เปิดบริการตอน 8 โมงเช้าพอดี เลยเข้าห้องน้ำได้ทัน
สรุปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมงเศษ เดินเท้าไปประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นการเดินออกกำลังกายที่ดีอย่างหนึ่ง
แต่ปวดขาชิบหาย ...
4 มกราคม 2559, 11.00 น.
ลงมาเช็กเอาท์ พร้อมกับรับเงินมัดจำค่ากุญแจห้องพัก 300 บาทคืน
พนักงานคนเดิมถามว่า “ไปเชียงใหม่ต่อยังไงคะ” ก็เลยตอบไปว่า กะจะนั่งรถตู้ไป แต่ถ้าไม่รีบก็จะนั่งรถไฟ อยากไปชมอุโมงค์ขุนตาน
พูดคุยกันเล็กน้อยก่อนที่จะจากลาด้วยรอยยิ้ม
ออกจากโรงแรมไปแล้ว มาถึงสถานีขนส่งที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ผู้โดยสารที่นั่นดูเบาบางลง เข้าใจว่าคนที่รอรถกลับเชียงใหม่คงได้รถกลับไปแล้วเมื่อคืน ซึ่งก็คงจะดีหากจะได้ไปถึงเชียงใหม่อย่างจริงจังสักที
แต่เปล่าเลย ... แผนสองที่จะนั่งรถไฟไปเชียงใหม่ กลับดูตื่นเต้นกว่า เพราะโดยส่วนตัวไม่เคยนั่งรถไฟลอดอุโมงค์ขุนตานสักครั้งในชีวิต ทั้งๆ ที่ไปเชียงใหม่มาก็หลายครั้ง
ไหนๆ ตลอดปีตลอดชาติที่ผ่านมา ไม่ได้เรียนต่อที่เชียงใหม่ ไม่ได้มีกิจการหรือพำนักที่เชียงใหม่ รวมทั้งไม่มีแฟนเป็นคนเชียงใหม่ (ฮา)
แต่ถ้าได้ลอดอุโมงค์ขุนตาน สักครั้งในชีวิตก็ยังดีวะ
เดินละจากช่องขายตั๋วรถเมล์ เดินผ่านคิวรถสองแถวหน้าสถานีขนส่ง ถามไปว่า “ผ่านสถานีรถไฟไหมครับ” ทุกคนต่างหันมาคุยกัน ก่อนที่ชายคนหนึ่งจะบอกว่า “ไม่ผ่าน”
เมื่อรับทราบแล้วก็ตอบไปว่า “ขอบคุณครับ” ก่อนที่จะเดินออกมา
แต่ทันใดนั้น คนขับรถคนหนึ่งกลับเรียกว่า “เดี๋ยวๆๆๆๆ มาทางนี้ เดี๋ยวไปส่ง” ก่อนที่จะให้ไปนั่งหน้า ด้านข้างคนขับ
สบายล่ะ ไม่ต้องแบกเป้เดินเท้าต่อไปแล้ว
รถสองแถวเล็ก หรือรถกระบะดัดแปลงหลังคาและที่นั่งในตัวเมืองลำปาง แตกต่างจากรถแดงเชียงใหม่ตรงที่ เป็นรถประจำทาง ไม่ใช่รถเหมา มีสีเขียว – เหลือง คล้ายรถแท็กซี่มิเตอร์ในกรุงเทพฯ ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย
คุยกับโชเฟอร์รถสองแถวก็ทราบว่า เมื่อก่อนสองแถวลำปางเป็นสีน้ำเงินทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นในตัวเมืองหรือต่างอำเภอ แต่เมื่อ 4 - 5 ปีก่อน ทางการเขาให้เปลี่ยนสีเพื่อแยกระหว่างรถวิ่งตัวเมืองกับต่างอำเภอ จึงสรุปได้ว่าเป็นสีดังกล่าว
โดยปกติแล้ว สองแถวลำปางจากสถานีขนส่งจะไม่เลี้ยวซ้ายไปทางสถานีรถไฟ แต่จะเลี้ยวขวาเข้าสู่ตัวเมืองลำปาง ไปตามถนนพหลโยธินสายเก่า
แต่เที่ยวนี้ออกนอกเส้นทางถือว่าช่วยกัน
ไม่นานนักก็มาถึง "สถานีรถไฟนครลำปาง" ด้านหน้าเป็นขบวนรถจักรไอน้ำจำลองอยู่หน้าสถานี
ตรงดิ่งไปยังช่องจำหน่ายตั๋ว ถามถึงรถไฟไปเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ตอบมาว่า “รถไฟฟรีรับตั๋วเที่ยงยี่สิบนะคะ รถออกเที่ยงครึ่ง”
ก่อนหน้านี้ มีเพื่อนแนะนำว่า “ก๋วยจั๊บหน้าสถานีรถไฟอร่อยมาก” (ภายหลังจึงทราบว่าเป็นร้านที่ชื่อ ป้อก๋วยจั๊บ) ก็ออกไปตามหาจนทั่ว
ปรากฏว่าถามชาวบ้านที่อยู่แถวนั้น ก็เอามือชี้ไปทางสถานี แล้วบอกว่า “อยู่ทางนู้น แต่วันนี้ร้านปิด”
อดพิสูจน์ #เขาว่าอร่อย เลยว่าอร่อยจริงไหม ...
นั่งค้นกูเกิลอีกครั้ง ปรากฏว่ามีคนแนะนำร้านบะหมี่ตรงหน้าสถานีที่ชื่อว่า “บะหมี่เกี๊ยวโกใจ๋” ป้ายสีเหลืองเด่นเป็นสง่า เลยเดินเข้าไปในร้าน ผู้หญิงที่เป็นเจ้าของร้านบอกกับเราว่า เส้นบะหมี่ทำเอง เกี้ยวทำเอง
เลยสั่งบะหมี่เกี๊ยวหมูแดงมาชามหนึ่ง น้ำซุปค่อนข้างจืด หมูแดงรสชาติอร่อย แต่เส้นบะหมี่กับเกี๊ยวชิ้นพอดีคำ เหนียวนุ่ม อร่อยสมกับที่บอกว่าทำเอง ซึ่งทางร้านระบุว่าเป็นสูตรมาจากเบตง จ.ยะลา
จุดเด่นของร้านบะหมี่เกี๊ยวโกใจ๋ก็คือ "ขนมถ้วย" เป็นของหวานตบท้าย ทางร้านจัดเตรียมถาดเล็กๆ ไว้ให้บนโต๊ะ พร้อมกับช้อนกาแฟ 5 อัน ทางร้านคิดถ้วยละ 5 บาท จะกินคู่หนึ่งหรือกินหมดทั้งถาด (50 บาท) ก็ได้
ตอนที่นั่งเสิร์ชข้อมูลในกูเกิล มีบล็อกอยู่แห่งหนึ่งบอกว่า ตอนเช้าคนลำปางมักจะกินข้าวมันไก่เป็นอาหารเช้ากัน ประกอบกับเห็นร้านข้าวมันไก่หน้าสถานีรถไฟ มีคนมานั่งกินกันพอสมควร ก็นึกแปลกใจเหมือนกัน
หลังกลับจากทริป วันก่อนไปถามพี่ในออฟฟิศ ที่เป็นชาวลำปางคนหนึ่ง ก็ได้รับคำตอบสั้นๆ ว่า “พวกบล็อกพวกกระทู้ก็เขียนเวอร์ไป ปกติคนที่นี่เขาก็กินข้าว กินก๋วยเตี๋ยวเหมือนกันนั่นแหละ”
แต่พี่เขาก็แนะนำว่า แถวๆ ห้าแยกหอนาฬิกา มันจะมีข้าวแกงที่ชื่อว่า “แม่ยอดเรือน” คนลำปางนิยมไปกินกัน
ก็ได้แต่เก็บข้อมูลไว้ เพื่อรอวันเวลาไปเที่ยวแก้มืออีกครั้ง ...
4 มกราคม 2559, 12.30 น.
หลังจากรับตั๋วรถไฟเสร็จ ก็นั่งรอรถไฟที่ชานชาลา สถานีนี้ดูสะอาดและเรียบง่าย ผู้คนไม่วุ่นวายมาก อาจเป็นเพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ผู้คนเดินทางด้วยรถประจำทางมากขึ้น อีกทั้งเป็นทางผ่านที่มุ่งหน้าไปยังลำพูน และเชียงใหม่
ก่อนหน้านี้รถไฟขบวนที่ 408 จากเชียงใหม่ แวะจอดรับส่งผู้โดยสารตรงนี้ ก่อนที่จะมุ่งหน้าไปนครสวรรค์
สมัยก่อนเวลารถรถไฟ เราคงไม่รู้ว่ารถไฟจะมาถึงเมื่อไหร่ จอดอยู่ตรงไหน แม้จะมีระบบติดตามขบวนรถบนเว็บไซต์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แต่ก็มีน้อยคนนักที่จะเข้ามาดู
ปัจจุบัน การรถไฟฯ ได้เปิดตัวแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า Train Tracking System สำหรับติดตามขบวนรถในแต่ละเส้นทาง ในระบบ iOS และ Android โดยจะบอกว่ารถไฟขบวนนี้ถึงสถานีไหน ล่าช้ากี่นาที ถือว่าสะดวกมาก
แต่จะดีกว่านี้ถ้าในแอปพลิเคชันเดียวสามารถค้นหาตารางเดินรถได้ด้วย
หลังจากที่ขบวนรถล่าช้าไป 17 นาที ในที่สุดก็มาถึง สำหรับ ขบวนรถท้องถิ่นที่ 407 นครสวรรค์ - เชียงใหม่
เป็นรถไฟดีเซลราง ชั้น 3 นั่งพัดลมทั้งขบวน หากไม่มีมาตรการรถไฟฟรีจากรัฐบาล จากที่นี่ค่าโดยสารไปเชียงใหม่เพียง 23 บาทเท่านั้น
ตรงจุดนี้รถไฟจะแวะรับ – ส่งผู้โดยสารที่สถานีห้างฉัตร ปางม่วง ห้วยเรียน แม่ตานน้อย ก่อนที่จะเข้าสู่อุโมงค์ขุนตาน และผ่านสะพานขาวทาชมพู ซึ่งเป็นไฮไลท์สำคัญของทางรถไฟสายนี้
เราไม่รอช้า รีบขึ้นไปหาที่นั่งด้านหน้าสุด เพื่อที่จะได้ชมอุโมงค์ขุนตานอย่างใกล้ชิด แต่ปัญหาคือ บริเวณหัวขบวนซึ่งมีเจ้าหน้าที่เดินรถอยู่ด้านหน้า ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไป จึงทำได้แค่มองหน้าต่างที่มีสภาพมัวอยู่ไกลๆ
ขณะที่ด้านหลังมีช่างภาพวัยรุ่นอยู่กลุ่มหนึ่ง มีผู้ปกครองมาด้วย ก็ขออนุญาตเจ้าหน้าที่บนขบวนรถไฟ
กระทั่งก่อนถึงอุโมงค์ขุนตานมีช่างภาพอยู่คนหนึ่งเข้ามาถามว่า “พี่จะถ่ายภาพตรงอุโมงค์ใช่ไหมครับ เดี๋ยวผมถ่ายให้” จึงส่งโทรศัพท์ให้เขา
(แม้จะเป็นกรณีที่ยังอยู่บนรถไฟ แต่จริงๆ การเดินทางแบบนี้แนะนำว่าไม่ควรไว้ใจใครง่ายๆ โดยเฉพาะทรัพย์สินมีค่า)
สภาพเส้นทางจากนครลำปางเป็นรถไฟทางเดี่ยว แต่เนื่องจากช่วงที่ไปไม่มีขบวนรถให้สับรางจึงล่าช้าน้อยกว่า เมื่อมาถึงสถานีแม่ตานน้อย ซึ่งตั้งอยู่กลางป่า ไม่มีรถยนต์สัญจรผ่าน สัมผัสได้ถึงความสงบเงียบของที่นี่
ออกจากสถานี จะได้พบกับความหวาดเสียวของสะพานรถไฟ ได้แก่ สะพานคอมโพสิต, สะพานสามหอ และสะพานสองหอที่ทำจากโครงเหล็ก
แม้จะผ่านป่าทึบที่ร่มรื่น แต่เมื่อมองไปเบื้องล่างก็รู้สึกหวาดเสียว ตามประสาคนที่กลัวความสูง
หลังจากนั้นช่วงเวลาระทึกใจก็มาถึง เมื่อขบวนรถไฟลอดเข้าไปใน "อุโมงค์ขุนตาน" ที่มีความยาว 1,352.15 เมตร
ขบวนรถไฟได้เปิดไฟนีออนให้ความสว่างบนขบวนรถ ความรู้สึกเหมือนได้ยินเสียงขบวนรถดังขึ้น และได้กลิ่นคล้ายหินปูน
ประมาณ 2-3 นาทีหลังจากที่ขบวนรถลอดใต้อุโมงค์ ก็มาถึงสถานีรถไฟขุนตาน จากจุดนี้จะมีบังกะโลรถไฟ ของการรถไฟฯ ให้นักท่องเที่ยวเช่าค้างแรมได้ แต่จะเหมาะสำหรับคนที่ต้องการความสงบมากกว่า
น้องช่างภาพส่งโทรศัพท์มาให้หลังถ่ายภาพปากอุโมงค์เสร็จแล้ว ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะขอภาพที่ถ่ายไว้ จึงส่งให้กันผ่านทาง AirDrop ในไอโฟน
ถือเป็นความสะดวกอย่างหนึ่งของการเก็บภาพถ่ายในยุคนี้
น่าเสียดายที่หลังออกจากสถานีขุนตาน ลืมนึกไปว่ายังมี "สะพานทาชมภู" สะพานคอนกรีตโค้งวงกลมสีขาวที่สวยแห่งหนึ่งบนทางรถไฟสายเหนือ
เลยทำได้แค่ถ่ายจากริมหน้าต่างบนที่นั่งเท่านั้น
แต่พอเอาเข้าจริงจะไปถ่ายด้านหน้า เจ้าหน้าที่ก็คงไมอนุญาต อีกทั้งถ้าจะแนะนำ เอารถส่วนตัวไปถ่ายภาพจากทุ่งนาแล้วโฟกัสไปที่สะพานจะดูสวยกว่า
จากสถานีทาชมภู รถไฟจะแวะรับ – ส่งผู้โดยสารที่สถานีศาลาแม่ทา หนองหล่ม ลำพูน ป่าเส้า สารภี และสถานีปลายทางเชียงใหม่
ใช้เวลาเดินทางจากสถานีนครลำปาง 2 ชั่วโมงพอดี
4 มกราคม 2559, 14.55 น.
ในที่สุด เราก็ไปถึงจุดหมายปลายทางเชียงใหม่ตามที่เราคาดหวังไว้ แม้จะล่าช้าไปหนึ่งวันเต็มๆ ก็ตาม
แต่ปัญหาคือ ตอนที่ออกจากลำปาง เรายังไม่ได้จองโรงแรมที่เชียงใหม่เอาไว้เลย
ระหว่างที่นั่งรถไฟจึงตัดสินใจเข้าเว็บไซต์ Booking.com บนมือถือ แล้วเลือกโรงแรมที่ดีที่สุดก่อนทำการจอง โดยยังไม่ต้องจ่ายเงินหรือตัดบัตรเครดิตใดๆ
เมื่อมาถึงเชียงใหม่ได้สักพัก จะมีเจ้าหน้าที่โรงแรมโทรศัพท์มายืนยันการจองห้องพัก แล้วสอบถามว่าจะเข้ามาเช็กอินเมื่อไหร่ ก่อนที่เราจะไปโรงแรมเพื่อเช็กอิน และชำระเงินค่าห้องพักได้เลย
มาถึงสถานีรถไฟเชียงใหม่ แน่นอนว่าต้องพึ่งรถสองแถวสี่ล้อที่เรียกว่า “รถแดง”
ทีแรกกะว่าจะไปที่สถานีขนส่งอาเขตเพื่อมาดูตั๋วรถเมล์กลับกรุงเทพฯ ปรากฏว่าไม่มีคันไหนไป สุดท้ายจึงไปตั้งหลักที่ "ประตูท่าแพ" พร้อมกับนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ
ถึงประตูท่าแพด้วยค่าโดยสาร 30 บาท เห็นว่าเดี๋ยวนี้เชียงใหม่มีรถประจำทางแล้ว คิดราคาเดียว 15 บาทตลอดสาย แต่ก็รอนาน จึงหาทางไปโรงแรมที่อยู่ย่านสี่แยกรินคำโดยการเดินเข้าประตูไปยังอีกฝั่งหนึ่ง
บังเอิญว่าเดินเท้ามาถึงป้ายรถเมล์ มีรถแดงสาย 2 วิ่งผ่านพอดี จึงตัดสินใจโบกขึ้นไป ด้านในพบว่ามีผู้โดยสารเพียงคนเดียว
รถใช้เส้นคูเมืองด้านใน กลับรถตรงโรงพยาบาลเชียงใหม่ราม กาดสวนแก้ว แล้วไปลงที่สี่แยกรินคำตรงข้ามห้างเมญ่า
อันที่จริงในฐานะนักท่องเที่ยว สนับสนุนให้เชียงใหม่มีรถประจำทางแบบนี้มานานแล้ว แต่เป็นเพราะยังไม่คุ้นชินจึงไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร
เมื่อเทียบกับการเรียกรถแดงตามปกติเหมือนมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แล้วคิดราคาที่ไม่แน่นอน
น่าเสียดายที่กว่าจะถึงเชียงใหม่ก็เย็นแล้ว ช่วงเวลาไม่ถึงครึ่งวันจากนี้จึงทำได้เพียงแค่ ชมตะวันตกดินบนห้างเมญ่า ต่อด้วยเดินเล่นที่กาดสวนแก้ว แล้วกลับมานอน
ไม่มีเวลาออกไปนั่งกินดื่มที่ถนนนิมมานเหมินทร์ซึ่งอยู่ใกล้กัน
อันที่จริง ที่บ้านมักจะถามอยู่เรื่อยว่า ไปเชียงใหม่ทำไม ... แอบมีใครอยู่ที่นั่นหรือเปล่า
ซึ่งจริงๆ แล้วไม่มี
แต่กลับมีความรู้สึกว่า เชียงใหม่มันเป็นที่ที่เหมาะสำหรับการพักผ่อนอยู่ตัวคนเดียวมากที่สุด
อาจเป็นเพราะที่นั่นมีอะไรให้เที่ยวหลากหลายไม่รู้เบื่อ อาหารการกินก็เยอะ รวมทั้งการมองภูเขา โดยเฉพาะดอยสุเทพ ซึ่งมันไม่มีในกรุงเทพฯ
ทำให้เกิดความรู้สึกว่าเรามาพักผ่อนตัวคนเดียวจริงๆ
ระหว่างเดินเท้าจากกาดสวนแก้วเพื่อกลับโรงแรม เราเดินเข้าไปในตรอกซอยแคบๆ ที่เรียกว่าชุมชนสันติธรรม พบว่าที่นั่นเป็นแหล่งรวมหอพักสำหรับคนทำงาน และนักศึกษาที่นั่นจำนวนมาก เหมือนกับย่านมหาวิทยาลัยรามคำแหง
คนที่เข้ามาทำงานอยู่ในเชียงใหม่ คงไม่ต่างไปจากคนที่จากภูมิลำเนามาทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ การใช้ชีวิตเด็กหอจึงเป็นไปอย่างเรียบง่าย แต่ก็รู้สึกต่างคนต่างอยู่เหมือนสังคมเมืองทุกประการ
ในตอนค่ำคงไม่มีอะไรดีไปกว่าการนอนหลับสักงีบ แล้วค่อยมาผจญภัยหารถทัวร์กลับกรุงเทพฯ กันต่อ
(แต่ตอนเช็กอินทางโรงแรมให้พักห้องเตียงคู่ ไม่รู้เป็นเพราะห้องว่างเตียงเดี่ยวไม่มีหรือเปล่า อันนี้ไม่แน่ใจ)
5 มกราคม 2559, 05.15 น.
เช็คเอาท์ออกจากโรงแรมที่พัก ไปรอที่หน้าห้างเมญ่า เพื่อรอรถแดงไปยังสถานีขนส่งอาเขตแต่เช้ามืด
คิดแผนไว้ในหัวว่า ถ้าที่สถานีขนส่งอาเขตไม่มีรถไปกรุงเทพฯ ก็จะนั่งรถไฟไปลงนครสวรรค์ แล้วต่อรถทัวร์จากนครสวรรค์กลับกรุงเทพฯ
อันที่จริงมีขบวนรถไฟฟรีจากเชียงใหม่ เข้ากรุงเทพฯ คือขบวนรถเร็วที่ 102 ออกจากเชียงใหม่ตอนหกโมงครึ่ง
แต่ก็คิดว่าไปถึงสถานีขนส่งอาเขตแล้ว ถ้าจะย้อนไปที่สถานีรถไฟก็คงไม่ทัน
บนถนนห้วยแก้ว มีรถผ่านแค่คัน – สองคัน เห็นดอยสุเทพเปิดไฟตอนเช้ามืดอยู่ไกลๆ ก็เกิดความคิดอยู่อย่างหนึ่งว่า คราวหน้าอยากขึ้นไปบนดอยสุเทพตอนตีห้า เพื่อรอชมพระอาทิตย์ขึ้น
แต่ถ้าจะเหมารถแดงขึ้นไปก็คงแพงโขอยู่เหมือนกัน
สักพักใหญ่ๆ ก็มีรถแดงผ่านเข้ามา เราถามคนขับว่าไปอาเขตหรือไม่ พอเขาตอบตกลงก็ขึ้นไป ด้านในรถพบสองสามีภรรยามาพร้อมกับสัมภาระใหญ่
รถแดงวิ่งมาด้วยความเร็ว ถึงบางอ้อตรงที่ไปส่งที่สถานีรถไฟเพื่อเข้ากรุงเทพฯ นั่นเอง
หลังส่งสองสามีภรรยาที่สถานีรถไฟ รถแดงก็พาเราไปถึงสถานีขนส่งอาเขตตอน 06.20 น. ค่าโดยสาร 50 บาท
ช่วงนั้นมีผู้คนรอรถทัวร์เพื่อออกเดินทางจำนวนมาก รวมทั้งมีรถเมล์ทยอยเข้ามาที่สถานีอย่างไม่ขาดสาย
เราไม่รอช้า ออกตามหาตั๋วรถเมล์เข้ากรุงเทพฯ ทันที
โดยเริ่มจากนครชัยแอร์ก่อน เพราะเป็นสมาชิก GO CARD ได้ลดราคา 5%
ปรากฏว่าไปถึง สภาพช่องขายตั๋วดูหงอยเหงา ก่อนที่จะได้รับคำตอบจากพนักงานแจ้งว่า “รถของวันนี้เต็มทุกเที่ยวแล้วค่า”
เดินข้ามไปยังอีกฝั่ง ไปที่ท่ารถทัวร์ บขส. สอบถามลุงคนขายตั๋วว่า ตอนนี้มีรถเข้ากรุงเทพฯ อยู่ไหม คุณลุงก็ยิ้มก่อนที่จะตอบกลับไปเพียงสั้นๆ ว่า “เต็มแล้วครับ”
ในใจเริ่มรู้สึกกดดัน คิดไปว่าถ้าไม่มีรถทัวร์กลับ เราต้องนั่งรถไฟนานข้ามวันข้ามคืนเลยใช่ไหม แม้ในใจจะพยายามทำตัวเองให้รู้สึกไม่ซีเรียส แต่ก็รู้สึกเหนื่อยล้า เนื่องจากการมาเที่ยวครั้งนี้เหมือนกับมาผจญภัยชัดๆ
เดินย้อนไปที่สถานีขนส่งอาเขต 3 เหลือบไปเห็นช่องขายตั๋วของสมบัติทัวร์ คิดว่าในใจคงเต็มแหงๆ แต่ก็ต้องลอง จึงถามพนักงานขายตั๋วสาวคนหนึ่งที่นั่งอยู่บนเคาน์เตอร์
“มีรถไปกรุงเทพฯ ไหมครับ”
“8 โมงเช้าได้ไหม เหลือที่นั่งว่างท้ายรถอยู่สองที่ค่ะ”
นึกในใจว่า “รอดตายแล้วกู” ... !!!
ไม่รอช้า ตัดสินใจซื้อตั๋วทันที เป็นรถปรับอากาศมาตรฐาน 1 พิเศษ เลือกที่นั่งริมหน้าต่างแถว 11D เบ็ดเสร็จจ่ายค่าโดยสารไป 584 บาท
หลังซื้อตั๋วเสร็จก็บ่นกับพนักงานเล็กน้อยให้ฟังว่า “นึกว่าจะไม่มีตั๋วซะแล้ว”
พนักงานสาวผู้นั้นส่งยิ้มให้ แล้วบอกว่า “โชคดี”
ก่อนกลับกรุงเทพฯ ด้วยความที่ตื่นแต่เช้ายังไม่มีอะไรตกถึงท้อง เลยกินข้าวซอยในสถานีขนส่งอาเขต แม่ค้าแนะนำว่าถ้าชอบรสเผ็ดให้เติมพริกเผาลงไป
ปรากฏว่าเผ็ดถึงใจแทบน้ำหูน้ำตาไหล แต่ก็ยังอร่อยอยู่
8 โมงเช้า ได้เวลารถออกจากสถานีขนส่งอาเขตมุ่งหน้ากรุงเทพฯ ถึงตอนนั้นเสียบหูฟัง ฟังเพลงในรถ หลับไปกี่งีบก็ไม่รู้
บ่ายโมงครึ่งแวะพักรถ 20 นาที กินข้าวแกงฟรีที่ครัวต้นกำแพง จ.กำแพงเพชร ก่อนที่จะขอลงรถที่รังสิตเกือบ 6 โมงเย็น
การเดินทางย่อมมีวันสิ้นสุด แต่สิ่งที่ไม่สิ้นสุดคือความทรงจำ ...
บทส่งท้าย ...
ชีวิตมนุษย์เงินเดือนอย่างเราแม้จะหยุดพร้อมกับคนอื่น หรืออย่างดีก็มีให้เลือกระหว่างก่อนเทศกาลหรือหลังเทศกาล แต่ก็ยังมีวันลาพักร้อน
เทียบกับคนที่หาเช้ากินค่ำที่ไม่มีทางเลือก จะหยุดค้าขายหรือรับจ้างเพื่อกลับบ้านก็มีโอกาสน้อยมาก
ฉะนั้นช่วงเวลาเดินทางที่ดีที่สุด คือช่วงเวลาที่เรา “ลาพักร้อน” ในวันธรรมดา
เพราะการท่องเที่ยวในวันธรรมดา จะรู้สึกสงบเพราะคนมาเที่ยวน้อย ได้ถ่ายรูปสวยๆ ได้นั่งกินอาหารแบบชิลล์ๆ ไม่ต้องวุ่นวาย อีกทั้งตั๋วเครื่องบิน และที่พักถูกกว่าวันหยุดสุดสัปดาห์หรือช่วงเทศกาล
การเดินทางในครั้งนี้ แม้จะเหมือนมาผจญภัยมากกว่าพักผ่อน แถมเบ็ดเสร็จหมดเงินไปหลายพันบาท ค่าใช้จ่ายบางอย่างจ่ายแล้วก็รู้สึกเสียดาย
แต่ก็ได้เรียนรู้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อเอาชีวิตรอด และได้พบกับเรื่องตื่นเต้นระหว่างทาง
แต่การเที่ยวในลักษณะแบบนี้ ก็ทำให้เราพลาดสถานที่ท่องเที่ยว อาหารการกินที่ควรจะได้สัมผัสเสียเอง เนื่องจากเหตุผลที่ว่าเรามาผิดที่ ผิดเวลา และเสียเวลากับความวุ่นวายจนเหน็ดเหนื่อย
ไม่มีเวลาวางแผนที่เที่ยวอย่างจริงจัง
ที่สำคัญ ... ไม่ใช่เรื่องสนุกหากการมาเที่ยวในช่วงเทศกาลแล้วต้องมาแย่งกันกินแย่งกันใช้ โดยเฉพาะรถประจำทาง
พอได้มาสัมผัสความรู้สึกคนที่อยากกลับบ้านไปหาคนที่เรารักเร็วๆ แล้วไม่ได้กลับเพราะไม่มีรถไปยังปลายทางก็รู้สึกเห็นใจ
ถือเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ต้องพิชิตกับผู้คนมหาศาลในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว
ครั้งเดียวก็เกินพอแล้ว!
5 สิ่งอย่าง ... ถ้าต้องเที่ยวแบบไม่มีแบบแผน โดยปกติการเดินทางไปท่องเที่ยวสถานที่ต่างๆ ทุกคนคงจะต้องวางแผนไว้ล่วงหน้า ทั้งการกำหนดเป้าหมายว่าจะไปเที่ยวที่ไหนดี พักที่ไหน หรือหากเตรียมพร้อมอย่างดีก็จองห้องพัก จองตั๋วรถทัวร์ ตั๋วเครื่องบินให้เรียบร้อย แต่สำหรับอาชีพที่มีวันหยุดไม่แน่นอน หรือคนที่ต้องประสบกับปัญหาที่ว่า วันหนึ่งกลับนึกอยากจะเที่ยวขึ้นมา แต่ในหัวกลับนึกอะไรไม่ออก คำแนะนำคร่าวๆ สำหรับการเดินทางแบบไม่มีแบบแผนที่อยากจะแนะนำก็คือ 1. เตรียมสมาร์ทโฟนให้พร้อมอยู่เสมอ เพราะเราจำเป็นต้องใช้สำหรับติดต่อสื่อสาร ค้นหาข้อมูล โอนเงิน จองโรงแรม รวมไปถึงเสพความบันเทิง สิ่งที่ต้องเตรียมไปด้วย คือ พาวเวอร์แบงก์ (แบตเตอรีสำรอง) พร้อมสายชาร์จ ควรเลือกขนาดมากกว่า 1 หมื่นมิลลิแอมป์ต่อชั่วโมงขึ้นไป ชาร์จได้ 2-3 ครั้ง เมื่อถึงที่พักควรเสียบชาร์จเสมอเพื่อให้พร้อมใช้งาน แอปพลิเคชันที่ควรพกไว้ในเครื่อง ได้แก่ แผนที่อย่าง Google Maps, พยากรณ์อากาศ, สายการบินต่างๆ สำหรับเช็กราคาและจองตั๋วเครื่องบิน, ธนาคารต่างๆ สำหรับเช็กยอด โอนเงิน เช็กวงเงินบัตรเครดิต, ค้นหาและจองโรงแรมอย่าง Booking.com และอาจมีแอปพลิเคชันเพื่อความบันเทิง เช่น ชมรายการทีวีสดและย้อนหลัง เผื่อที่พักไม่มีช่องรายการโปรดให้ดู อีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ หูฟังเพื่อใช้สำหรับฟังเพลงแก้เบื่อภายในยานพาหนะ แนะนำให้ฟังเพลงที่ซื้อมาดาวน์โหลดในเครื่อง เช่น iTune Store หรือแอปพลิเคชันที่ฟังเพลงแบบออฟไลน์ได้ แทนการเปิดอินเตอร์เน็ตเพื่อฟังผ่านยูทิวบ์หรือระบบสตรีมมิ่ง เพราะเครื่องจะเกิดความร้อนมากขึ้น เนื่องจากต้องจับสัญญาณอินเตอร์เน็ตอยู่เรื่อย 2. เตรียมของใช้ส่วนตัวเพิ่มเติม อาทิ ผ้าเช็ดอเนกประสงค์แบบเปียก หรือ ทิชชู่เปียก เผื่อต้องเข้าห้องน้ำสาธารณะ เช่น บนรถทัวร์ เนื่องจากทำความสะอาดได้ดีกว่าทิชชู่แบบธรรมดา, ยาบรรเทาปวด ลดไข้ พาราเซตามอล, ยาธาตุน้ำขาว บรรเทาอาการท้องเสีย ปวดท้อง แน่นท้อง, ยาดม บรรเทาอาการวิงเวียนศรีษะและคัดจมูก ในส่วนของการจัดกระเป๋า ควรเน้นเฉพาะเสื้อผ้าสำหรับใส่ไปเที่ยว และช่วงเวลาพักผ่อน ไม่ควรพกทรัพย์สินมีค่าหรืออุปกรณ์ทำงาน เช่น คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก เนื่องจากจะกลายเป็นภาระ ที่ต้องพกไปให้เยอะที่สุดก็คือ กางเกงชั้นใน เผื่อจะต้องอาบน้ำในช่วงอากาศร้อนหรือรู้สึกเหนื่อยล้า นอกจากนี้ รองเท้าแตะและกางเกงขาสั้นสำหรับเล่นน้ำก็ควรพกติดไปด้วยเช่นกัน 3. บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือบัญชีเงินเก็บ หากต้องเจอปัญหาเงินที่พกมาเที่ยวเกิดไม่พอ ใช้บัตรเครดิตชำระค่าโรงแรมที่พัก ค่าอาหาร ตั๋วเครื่องบิน หรือรถทัวร์ (ถ้ารับบัตร) ได้ ขอแค่มีวงเงินเพียงพอ แต่ถ้าไม่มีบัตร ควรมีเงินเก็บอย่างน้อย 3 - 4 พันบาทขึ้นไปสำหรับในประเทศ หากมีกำลังซื้อแนะนำให้ทำประกันภัยการเดินทาง เผื่ออุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย 4. หนังสือเดินทาง (ถ้ามี) เผื่อจะต้องเดินทางข้ามไปเที่ยวยังประเทศเพื่อนบ้าน เสียค่าจัดทำ 1,040 บาทต่อฉบับ ใช้ได้จริง 4 ปี 6 เดือน ปัจจุบันสามารถเข้าไปท่องเที่ยวได้ 30 วันโดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตรา (วีซ่า) สำหรับประเทศลาว เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และ 14 วันสำหรับกัมพูชา (ส่วนพม่า เฉพาะเข้ามาทางท่าอากาศยานนานาชาติเท่านั้น) 5. เพื่อนหรือคนรู้จักที่ไว้ใจได้ (ถ้ามี) เพราะคนที่อยู่ในพื้นที่จะเข้าใจท้องถิ่น เข้าใจที่เที่ยว และให้คำแนะนำแก่เราได้ หากมีเพื่อนที่มียานพาหนะ เช่น มอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ ก็อาจพาเราไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ นอกจากจะไม่เหงา มีคนมาเที่ยวเป็นเพื่อน ช่วยถ่ายรูปไปในตัวแล้ว ยังได้สานต่อมิตรภาพแบบมีตัวตนมากกว่าโทรคุยหรือแชทกันอีกด้วย. |