xs
xsm
sm
md
lg

สิ่งดีๆ ของร่างรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

จุดเด่นที่สุดของร่างรัฐธรรมนูญ 2558 คือความพยายามเติมความเข้มแข็งเพิ่มพลังอำนาจให้กับประชาชน มีบทบัญญัติใหม่ๆ หลายอย่างเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เช่น การประกาศหลักการสถาปนาพลังอำนาจที่ 4 ขึ้นมาในโครงสร้างอำนาจการเมืองตั้งแต่ระดับการเมืองท้องถิ่น จังหวัด และประเทศผ่านสภาตรวจสอบภาคพลเมือง แล้วก็มีบทบัญญัติอื่นเสริมลงไปอีกเช่น หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย กำหนดไว้เลยว่าหน่วยงานรัฐรวมทั้งเอกชนที่ใช้เงินของแผ่นดินมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารอะไรบ้างให้ประชาชนรู้โดยไม่ต้องร้องขอเหมือนในอดีต ฯลฯ

รัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 ให้ประชาชนมีสิทธิในการปกป้องทรัพยากรและชุมชน ให้หน่วยงานรัฐต้องบอกกล่าวรายละเอียดหากจะทำโครงการที่มีผลกระทบ แต่สิทธิดังกล่าวมันไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติมาตั้งแต่แรก การทำอีไอเอการฟังความเห็นเป็นพิธีกรรมหลอกลวงของผู้มีอำนาจ เพิ่งจะมาสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่พอจะทำอภิโครงการน้ำ (แล้วปลอดประสพจัดทำปาหี่รับฟังความเห็นปลอมๆ ไม่เปิดโอกาสให้คนที่คัดค้านได้พูด) มีคนไปฟ้องร้องศาลแล้วศาลท่านก็สั่งให้ทำขั้นตอนนี้ใหม่

แต่ก็นั่นแหละ มันยุ่งยากชะมัดเพราะศาลปกครองบ้านเรากำหนดว่าต้องเป็นคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงไปฟ้อง ก็มีคนกระแนะกระแหนว่าการที่ฝ่ายประชาชนตั้งมูลนิธิโน่นนั่นเป็นตัวแทนฟ้องมันไม่ถูกต้อง..ว่าไปโน่นประสาพวกก้าวหน้าเขาว่ากัน ร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็เลยบัญญัติกรณีที่รัฐทำโครงการต่างๆ แล้วอาจมีผลกระทบว่าต้องผ่านขั้นตอนที่เข้มงวดขึ้น จะมาจ้างบริษัทพรรคพวกกันอุปโลกน์ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมแบบที่ผ่านมาไม่ได้ แล้วก็ให้ประชาชนฟ้องได้โดยตรง

ที่จริงยังมีอีก แต่เอาตัวอย่างแค่ที่กล่าวมาก็พอ แค่นี้ทั้งนักการเมืองและฝ่ายราชการก็ปวดหัวแล้ว!

เพราะผู้มีอำนาจบ้านเรามันเคยชินกับธรรมเนียมอำนาจนิยม ต่อให้มีการเลือกตั้งนักการเมืองมาบริหารมันก็แค่เกิดมีอำมาตย์จากการเลือกตั้งขึ้นอีกพวกหนึ่ง มาแทนอำมาตย์ขุนศึกราชการ ก็เท่านั้น!

ไม่ต้องอะไรมาก โครงการใหญ่มหาศาลอย่างจำนำข้าวคนเขาสนใจกันทั้งเมืองแต่รัฐบาลไม่ยอมเปิดข้อมูลเสียอย่าง แต่หากเป็นไปตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญใหม่สัญญาจัดซื้อจัดจ้างการให้สัมปทาน หรือสัญญาใดๆ ที่ใช้เงินของหลวงต้องเปิดให้สาธารณะรับรู้สถานเดียว นี่คือการเพิ่มพลังอำนาจความรับรู้ให้กับประชาชน เพราะก่อนหน้านี้แม้รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประชาชนมีสิทธิรับรู้แต่พวกมันไม่ยอมบอกเสียอย่าง ประชาชนทำอะไรไม่ได้

ผมนั้นรอดูร่างกฎหมายลูกของสภาตรวจสอบ สมัชชาพลเมืองรวมไปถึงการคุ้มครองผู้บริโภคว่าจะมีหน้าตารายละเอียดอย่างไร ในชั้นนี้แค่แอบเชื่อมั่นว่ามันไม่น่าจะขี้เหร่ระดับต่ำกว่าเกรดซีหรอกน่า...จะบีลบ บีบวก หรือเอ นี่ค่อยมาว่ากันอีกที เพราะเราต้องยอมรับว่าประชาชนคนทั่วไปนั้นมีหลากหลาย พวกที่ยอมตามแห่เป็นกองเชียร์ขั้วการเมืองแบบไม่ลืมหูลืมตาก็มีอยู่ พวกที่เลือกจะร่วมและไม่ร่วมก็พอมี พวกที่วางเฉยไม่สนโลกขออย่ามากระทบกูเป็นใช้ได้ และก็ยังมีพวกบ้าพลัง ฯลฯ มีครบหมด คนเหล่านั้นอาจจะเข้าไปอยู่ในสภาของภาคประชาชนปนๆ กันไประหว่างประชาชนที่มีศักยภาพอยากจะตรวจสอบกับพวกประชาชนแอบเชียร์ที่แฝงทำหน้าที่ตรวจสอบ และพวกแค่อยากมีตำแหน่งประดับตัว

เผลอๆ ก็ไม่แน่ สภาพลเมือง สภาตรวจสอบอะไรนั่น อาจจะมีแต่เวทีให้พูดของคนแค่ห้าหกสิบคน แต่ไม่มีผลงาน ที่จริงกระบวนการของสภาฝ่ายประชาชนต้องไม่ควรจะเขียนให้เหมือนแบบนักการเมือง ต้องออกแบบให้เป็นกระบวนการเปิดที่เปิดและโปร่งจริงๆ ตั้งแต่การรับเอกสาร นำเสนอเรื่อง การอภิปราย ข้อเสนอต่างๆ ควรเป็นเรื่อง “เปิด” ตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้คนในพื้นที่รับรู้และเข้าถึงได้โดยสะดวก ว่าพวกตัวแทนเหล่านี้เข้าไปทำอะไรกัน ไหนๆ รัฐจะให้งบประมาณแล้ว พอมีอภิปรายทีก็ให้มีกองเลขาถ่ายคลิปไว้เป็นคนๆ แล้วก็ลงยูทิวบ์ไปเลย เอกสารทั้งหลายก็ลงในอินเตอร์เน็ตไปเลย แบบนี้ก็น่าจะดี กลายเป็นระบบตัวแทนภาคประชาชนที่เปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนในทุกขั้นตอนจริง (ยกเว้นการตั้งเคสสอบสวนสืบสวนหาข้อพิรุธที่แยกเอาไว้สักเรื่อง)

รัฐธรรมนูญนี้ข้อดีก็มีข้อมีตำหนิก็เยอะ...โดยส่วนตัวผมมีความเห็นว่า รัฐธรรมนูญใหม่ไม่ต้องสร้างโน่นนี่มากมายเป็นวาดงูเติมขาให้ยุ่งยาก เอาแค่ปรับจูนเนื้อหาส่วนอำนาจประชาชนลง แล้วก็ปรับปรุงเนื้อหาของรัฐสภาส่วนตรวจสอบคือ ส.ว.ให้รัดกุมขึ้นจากปี 40/50 เท่านั้น

คือถ้าไม่คิดกระจายอำนาจเชิงโครงสร้างแน่ๆ ในชั้นนี้ขอแค่ 3 องค์ประกอบหลักก็พอ

1.เพิ่มอำนาจประชาชน ตามแนวที่เขียนไว้ในร่างนี้

2. กำหนดให้ ส.ว.เป็นสภาตรวจสอบมาจากการเลือกตั้งเขตใหญ่ทั้งประเทศ แบ่งตามสาขาอาชีพประชาชนทุกคนไปลงทะเบียนว่าต้องการอยู่หมวดไหน แล้วก็คำนวณจัดสรรจำนวนส.ว.แต่ละหมวดไปตามสัดส่วนนั้น แล้วก็ให้เลือกเขตใหญ่ไปเลย ดูซิว่าจะมีใครมาบล็อกโหวตได้ (เพราะหากแบ่งเขตตามปี 40/50 ผู้ยิ่งใหญ่ทางการเมืองของจังหวัดกำหนดได้)

และ 3. ส่วนอื่นๆ ใช้เนื้อหาของรัฐธรรมนูญเดิมปี 40 หรือ 50 เป็นหลัก

เอาแค่เพิ่มอำนาจประชาชนลงไปในโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่เดิมเขียนรายละเอียดดีๆ การเมืองใหญ่ก็สามารถเปลี่ยนโฉมได้นะครับ โดยไม่ต้องออกแบบให้มีซูเปอร์อำมาตยาธิปไตยอะไรมากมายให้ถูกคัดค้าน

คำว่า “เพิ่มอำนาจประชาชน” ที่จริงไม่ได้เป็นคำใหญ่โตอะไร เพราะประชาชนจะไปชี้นิ้วเอาโน่นนี่ ไปตัดสินใจอะไรใหญ่ๆโตๆ เองไม่ได้หรอก...มันยุ่ง มันผิดหลัก และมันจะกลายเป็นระบอบพวกมากลากไปทางตรงเสียฉิบ...ที่แท้ คำว่าอำนาจประชาชนก็คือการให้เคารพสิทธิเสรีภาพที่เคยกำหนดไว้มาตั้งแต่ปี 2540 อย่างจริงจัง และให้ผู้มีอำนาจมีความรับผิดชอบต่อเจ้าของเงินภาษีจริงๆ เช่น จะทำโครงการอะไร จะใช้เงินหลวง จะเปิดสัมปทานก็เปิดให้คนรู้สิ ที่จริงสิทธิการรับรู้ข่าวสารเขาให้มาตั้งแต่ปี 40 แล้วแต่ไม่ยอมทำกันเอง นายขุนค้อนขนาดเป็นประธานรัฐสภาขอดูรายละเอียดการเดินทางพาพวกไปเที่ยวลอนดอนยังยื้อไม่ให้เลยกว่าจะได้... คิดดูสิ ขนาดประธานสภาแท้ๆ

อำนาจของฝ่ายประชาชนจึงจำกัดอยู่ที่การขอเข้าไปร่วมเสนอ การขอรู้ก่อนว่าจะทำโครงการอะไร ถ้ามันจะกระทบก็ขอมีสิทธิ์ในการได้คำอธิบาย และถ้าไม่ใช่จริงๆ ก็ขอมีสิทธิฟ้องเองโดยตรง ไม่ใช่ต้องไปเที่ยวหาช่องทางต่างๆ มากมาย ตำรวจไม่รับ อัยการไม่เกี่ยว ผู้ว่าฯก็เป็นคนของเขา ฯลฯ มันยุ่งยาก

ส่วนที่เป็นไปตามหลักวิชาการเช่นอำนาจเลือก(ตั้งขึ้นมา) อำนาจถอดถอน อำนาจเสนอกฎหมาย ฯลฯ มันก็คือองค์ประกอบทั่วไป ที่ทั่วโลกเขาก็ให้อำนาจประชาชนกันแบบนี้ทั้งนั้น ยกเว้นแต่ประเทศเรานี่แหละ กฎหมายบอกว่าประชาชนลงชื่อเสนอกฎหมายเองพวกก็ดองแล้วก็ปล่อยให้แห้งตายไปเอง ไม่ได้เคารพเจตนาของประชาชนจริงๆ

การกำหนดให้มีสภามีหน่วยงานรองรับและมีงบประมาณพอดำเนินการนี่ดี... อย่างน้อยการจะจัดประชุมทีนึงไม่ต้องลงขันจ่ายหรือหาเจ้าภาพ มีหน่วยเลขาฯกะทัดรัดที่บันทึกและติดตามเผยแพร่ให้ชุมชนได้รู้ทั่วไป และจะมีผลในการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพของการเมืองไทยตั้งแต่ระดับล่างขึ้นไปถึงระดับประเทศอย่างแน่นอน ลองคิดดูสิครับ แต่ละปีท้องถิ่นและจังหวัดจ่ายเงินงบประมาณซื้ออะไรไป ผ่านบริษัทไหน มีรายละเอียดอย่างไรต้องเปิดโดยอัตโนมัติ แล้วสภาฝ่ายประชาชนก็เอาไปแพร่ต่อด้วยวิธีต่างๆ สงสัยเรื่องอะไรตั้งประเด็นถาม ถ้ามันมีพิรุธก็ส่งเรื่องต่อไปยังหน่วยตรวจสอบใหญ่ต่อไป เป็นขั้นตอน มันจะไม่ดีขึ้นได้อย่างไร?

ร่างรัฐธรรมนูญนี้เผชิญแรงต้านหนักมากนะครับ ไม่ใช่แค่พวกฝ่ายแค้นฝ่ายค้านเท่านั้น ในแม่น้ำห้าสายเองก็มี สมมติว่าถ้ามันจะมีอุบัติเหตุใดๆ จะน่าเสียดายมากหากว่ามันจะหล่นไปทั้งฉบับแล้วบทบัญญัติดีๆ ที่เพิ่มอำนาจให้ประชาชนจะพลอยหล่นไปด้วย คือถ้าจะปรับแก้อะไรขอเรื่องสิทธิเสรีภาพองค์ประกอบเพิ่มพลังอำนาจฝ่ายประชาชนให้คงไว้เถอะครับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น