xs
xsm
sm
md
lg

มวลชนกับการปฏิรูป

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

เอกสารของคณะทำงานเตรียมการปฏิรูป สำนักปลัดกระทรวงกลาโหมที่แจกให้เหล่าสปช. มีเนื้อหาว่าด้วยแนวทางกระจายอำนาจรวมอยู่ด้วย

ไม่ใช่แค่เอกสารเพราะเริ่มมี สปช.หลายท่านได้เริ่มเอ่ยถึงการกระจายอำนาจในแง่ของการปรับโครงสร้างอำนาจไม่ให้เกิดการกระจุกอยู่ส่วนกลางมากไป เวลาใครชนะเลือกตั้งก็จะกินรวบประเทศไทยได้ทั้งหมด ประเด็นเรื่องการป้องกันการกินรวบนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะมีหลายเวทีพูดมาแล้วอย่างคณะกรรมการปฏิรูปชุดประเวศ-อานันท์ก็พูดถึง

นี่เป็นนิมิตรหมายที่ดี อย่างน้อยรัฐบาล/ทหาร/คสช. ก็ไม่ได้ปิดกั้นประเด็นปฏิรูปกระจายอำนาจตามที่มีความหวั่นวิตกมาก่อนหน้า ยอมรับล่ะครับว่าผมคนหนึ่งล่ะที่หวาดระแวงว่าความคิดแบบทหารก็คือความคิดเรื่องอำนาจสั่งการรวมศูนย์ พาลจะไม่เข้าใจความจำเป็นของการกระจายอำนาจแต่เมื่อได้มาอ่านเอกสารคู่มือเตรียมการปฏิรูปก็พบว่าทหารเข้าใจเรื่องนี้มากกว่าที่คิดมีข้อความเกี่ยวข้องตั้งแต่บทนำเลยทีเดียว

การกระจายอำนาจไม่ใช่แค่เรื่องจะไปปรับปรุง อบจ. อบต. ยุบไปรวมกับเทศกาลหรือแค่สกัดกั้นนักการเมืองฐานเสียงหรอกนะครับ !

หากแต่มันเป็นเรื่องการจัดสมดุล จัดสรรโครงสร้างอำนาจหน้าที่ทรัพยากรกันใหม่ไม่ให้กระจุกรวมศูนย์แบบที่เป็นอยู่

ความรู้สึกความนึกคิดของประชาชนสะท้อนเห็นได้จากโซเชี่ยลมีเดีย และพวกที่จงเกลียดจงชังอปท.เหลือเกินก็มวลชนกองเชียร์รัฐบาลทหารนี่แหละ...กลุ่มหลักเลย ปัญหาที่ประสบพบเห็นหลายวันมานี้ตามไทม์ไลน์โซเชี่ยลมีเดียนับแต่รัฐมนตรีหม่อมเหลนท่านแหย่เรื่องนายกอบจ. กระแสการเกลียดชังองค์กรท้องถิ่นไล่ให้ยุบๆ ไปให้พ้นก็ยังคงมีประปรายให้เห็นในเฟซบุ๊กเอย ไลน์เอย

นั่นก็คือยังมีประชาชนและมวลชนจำนวนไม่น้อยเข้าใจแค่ว่ากระจายอำนาจคือเพิ่มอำนาจให้นายกอบจ./อบต.ฐานเสียงการเมือง ถ้าอย่างนั้นก็ไม่สมควรจะให้ไปเด็ดขาดเพราะให้ไปมันก็จะโกงกันเหมือนเดิม ฯลฯ

การปฏิรูปเชิงโครงสร้างและเชิงระบบมันซับซ้อนกว่าการแก้ปัญหาด้วยตัวบุคคลแบบที่สังคมไทยเคยชิน ใครไม่ดีเอามันลงไปแล้วเอา “คนดีๆ” เข้ามาแทน ผมจึงแปลกใจมากที่ระหว่างม็อบนกหวีดของลุงกำนันกำลังเฟื่องฟูมีการชูธงปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง มีการประกาศแนวทางปฏิรูปเลือกตั้งผู้ว่าฯโดยตรง ให้ตำรวจมาขึ้นกับผู้ว่าเลือกตั้ง ตอนนั้นมวลชนเป็นล้านๆ ขานรับกันสนั่น

จะต้องปฏิรูป ๆ ๆ

แล้วเป็นไงล่ะครับตอนนี้ มวลชนกลุ่มเดียวกันเป็นสิบล้านคนเหล่านั้นหายไปไหน? มิหนำซ้ำเห็นมีอดีตนกหวีดหลายคนที่แข็งกร้าวออกมาคัดค้านไม่ให้เลือกตั้งผู้ว่าโดยตรง ไม่ให้โอนตำรวจมาท้องถิ่น ไอ้พวกอบจ.มันโกง มันเป็นฐานนักการเมืองต้องยุบให้เด็ดขาด

ลืมไปแล้วว่าเคยเป่าปรี๊ดจะต้องกระจายอำนาจ บลาๆ เมื่อไม่กี่เดือนก่อนนี่เอง

การปฏิรูปเชิงโครงสร้างและเชิงระบบจำเป็นต้องผ่านกระบวนการอธิบายความและเรียนรู้อย่างกว้างขวางพร้อมกันไปกับการปฏิรูปในสภา สิ่งนี้คือกระบวนการทางสังคม ผมคิดว่าสปช.ที่ได้รับเลือกไปจำนวนมากขาดเรื่องเหล่านี้ สปช.ควรจะเปิดปากพูดจาแสดงความคิด กระตุ้นให้สังคมร่วมคิด ร่วมมองเห็นประเด็นที่จะปรับปรุงยกเครื่องแก้ไข

สปช.ควรจะเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนกระบวนการของมวลชนพร้อมกันไปกับการพิจารณาในสภา เพราะที่สุดแล้วการปฏิรูปคือกระบวนการทางสังคมระยะยาว ส่วนการแก้กฎหมายอะไรทั้งหลายเป็นเรื่องระยะสั้นเฉพาะหน้าเท่านั้น

ต่อให้ สปช. ทำไปแต่มวลชนยังมองไม่เห็น หลงเข้าใจอีกเรื่องก็จะเกิดปัญหาในอนาคต

ยกตัวอย่างเรื่อง ปปช. องค์กรอิสระที่ทุกคนรุมด่าก็เช่นกัน เอกสารคู่มือคณะทำงานปฏิรูปก็มีเรื่องนี้เขียนไว้ เว็บไซต์สถิติของปชช.เองก็มี ข่าวสารสกู๊ปที่เขียนถึงก็มากที่บอกว่าปัญหาของปปช.ก็คือปริมาณเรื่องมันมากมหาศาลท่วมหัวคนไม่พอ แต่ประชาชนทั่วไปไม่มองประเด็นนี้ รุมด่าในประเด็นเดียวคือล่าช้าและรับงานไม่เป็นธรรม

การปราบทุจริตโดยพึ่งแต่ปปช./สตง. เปรียบได้กับคนไข้ที่ป่วยไปแล้วรอส่งถึงมือหมอผ่าตัดนั่นล่ะ การโกงเหมือนคนไข้ ปปช.เป็นหมอ... ในเมื่อจำนวนคนไข้มากกว่าหมอพยาบาลมันก็เป็นเรื่องเรื้อรังคาราคาซังแบบที่เห็น ทำไมสังคมไม่ช่วยกันมองปัญหาด้วยสายตาใหม่ก็คือทำอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้มีคนไข้เพิ่มขึ้น ทำอย่างไรให้คนในสังคมไม่ป่วยจนต้องเข้ารักษาถึงมือหมอ

นั่นก็คือให้มีสภาพแวดล้อมที่จะป้องปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ให้มีอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านเอยหรือลานกีฬาช่วยให้ร่างกายแข็งแรงไม่เป็นโรคเป็นกระบวนการป้องกันก่อนล่ะ

การแก้ปัญหาทุจริตก็เช่นเดียวกัน คนในสังคมไทยเอาแต่สนใจเรียกร้องให้ปราบๆๆๆการโกง...แต่ไม่สนใจเรียกร้องให้เกิดกลไกที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เช่น การเปิดข้อมูลข่าวสารอย่างอัตโนมัติลงรายละเอียดมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ มีกระบวนการบังคับให้เปิดที่ชัดเจนและมีบทลงโทษ ให้มีมาตรฐานเปิดเผยถ่ายทอดการประชุมสภาอปท.ท้องถิ่นทั้งหลายทั้งอบต./เทศบาล/อบจ. ผ่านเสียงตามสาย วิทยุชุมชน สตรีมมิ่งเว็บไซต์ ใครพูดอะไรในสภาท้องถิ่นต้องเปิดโดยอัตโนมัติไปแปะไว้ที่ชุมชน มีงบประมาณพิเศษมากี่บาทให้รู้ในทันที ฯลฯ

ที่ยกตัวอย่างมาก็คือการสร้างกติกาและสภาพแวดล้อมใหม่ป้องกันไม่ให้มีคนไข้ถึงมือหมอปริมาณมากจนล้นอย่างที่ผ่านมา

นี่ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ควรปฏิรูป

สปช.ควรจะมีบทบาทต่อความคิดของมวลชนด้วย โดยเฉพาะมวลชนฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลนั่นล่ะที่ยังมีไม่น้อยพึงพอใจแค่มีคนดีๆ มานั่งบริหารประเทศก็พอแล้ว แล้วก็มีไม่น้อยที่เข้าใจผิดทำตัวเป็นอุปสรรคกับการปฏิรูปเชิงระบบกับเชิงโครงสร้างเสียเอง

ขณะที่ สปช.จำเป็นต้องปฏิรูปเชิงระบบและเชิงโครงสร้างมิฉะนั้นจะแก้ปัญหาอะไรไม่ได้

สปช.บอกว่าต้องกระจายอำนาจลดการกระจุกเพิ่มการตรวจสอบถ่วงดุล ต้องมาคิดเรื่องจัดสรรอำนาจระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่นใหม่ แต่มวลชนฝ่ายตัวเองยังพอใจแค่มีคนดีๆ เป็นรัฐบาลกับไล่เหยียบใครก็ตามที่ไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาล โพสต์ข้อความไล่กระทืบอปท.ให้กลายเป็นอีกฝ่าย

ดูๆ แล้วมันยังเป็นการปฏิรูปที่อิหลักอิเหลื่อยักตื้นติดกึกอยู่พอสมควร.
กำลังโหลดความคิดเห็น