xs
xsm
sm
md
lg

อามะจัง เสน่ห์ซีรีส์ญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย


ช่วงนี้ผมติดซีรีส์ญี่ปุ่นอยู่เรื่องหนึ่ง ชื่อเรื่อง อามะจัง Amachan เด็กน้อยนักดำน้ำ นำแสดงโดย นูเนน เรนะ สาวน้อยที่น่ารักสดใส เรื่องนี้ไม่ได้มีดีแค่เพียงนางเอกน่ารักเท่านั้นนะครับ เนื้อหามีหลายประเด็นที่น่าสนใจอีกด้วย

ละครเรื่อง อามะจัง ผลิตโดย สถานีโทรทัศน์ NHKของญี่ปุ่น ออกอากาศ 156 ตอน จบตอนอวสานไปเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2013 เป็น Super Hit มีเรตติ้งการดูสูงในหลายเขตของญี่ปุ่น กำลังฉายออกอากาศในเมืองไทยใน 2014 ปีนี้ และหาดีวีดีดูได้แล้วครับ

ความพิเศษของละครอามะจัง การันตีด้วยการคว้า 7 รางวัล จากงาน “Tokyo Drama Award 2013” ในเทศกาลละครนานาชาติ ณ กรุงโตเกียว 2013 คือรางวัล Grand Prix บวกอีกหกรางวัลคือ นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม บทละครยอดเยี่ยม อำนายการสร้างยอดเยี่ยม รางวัลการผลิตยอดเยี่ยม และรางวัลพิเศษด้านดนตรี

ละครเดินเรื่องใช้ฉากเมืองติดทะเล ชื่อ โฮคุซัง (Hokusan) เขตโตโฮคุ (Tohoku) ซึ่งเคยเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่แผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2011 ทำให้โฮคุซังริขุได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้ด้วย

อามะจัง เด็กน้อยนักดำน้ำ เรื่องราวของสาวน้อยชื่ออากิ ที่เดินทางจากโตเกียวไปยังโฮคุซังเมืองชายทะเลเล็กๆกับแม่เพื่อเยี่ยมคุณยาย อากิเด็กหญิงวัยรุ่นธรรมดาได้พบกับผู้คนที่มีจิตใจแสนอบอุ่น และเต็มเปี่ยมไปด้วยลักษณะเฉพาะตัวสนุกสนาน

ยายของอากิเป็นประธานชมรมอามะ นักดำน้ำจับหอยเม่น ซึ่งสำหรับวัยรุ่นสาวชาวเมืองอย่างเธอ เธอมองว่ามันเป็นอะไรที่เท่มากๆ และเธอก็อยากเป็นแบบคุณยาย สุดท้ายเธอก็ได้ดำน้ำจับหอยเม่นในช่วงปิดเทอม และได้ย้ายมาเรียนที่ชนบทเพื่อที่จะได้ดำน้ำจับหอยเม่นต่อไป

เนื้อหาละครดำเนินไปพร้อมกับการถ่ายทอดวิถีการทำมาหากินของอามะซัง คือผู้หญิงที่มีอาชีพงมหอยเม่นหรืออาหารทะเลที่สืบต่อกันมายาวนาน ความรู้สึกนึกคิดของวัยรุ่นชั้นมัธยมและผู้ใหญ่ชนบทที่มีต่อโตเกียวเมืองหลวง มุมมองของตัวละครที่จากบ้านเกิดไปอยู่เมืองกรุง และจากเมืองกรุงตัดสินใจมาใช้ชีวิตที่ชนบทบ้านเกิด ความสัมพันธ์ของครอบครัว แม่ลูก และยาย ความร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อรักษาอาชีพเดิมของชาวบ้าน เสนอจุดเด่นของเมืองเล็กๆดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวทั้งการดำน้ำงมหาหอยเม่น การทำข้าวหน้าไข่หอยเม่นขายนักท่องเที่ยวบนรถไฟ และการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่น สุดท้ายหลังภัยพิบัติแผ่นดินไหวเกิดสึนามิน้ำท่วมใหญ่ ความร่วมมือร่วมใจของผู้คนร่วมกันฟื้นฟูท้องถิ่นขึ้นมาใหม่

นอกจากเรื่องราวของอากิจะดูแล้วน่าติดตาม เรื่องราวของแม่ของเธอก็เป็นอะไรที่น่าติดตามไม่แพ้กัน แม่ไม่ถูกกับยาย หนีออกจากบ้านไปโตเกียวตั้งแต่วัยรุ่นเพิ่อไปหาความฝันอยากเป็นนักร้อง แต่แม่ไปไม่ถึงฝัน ทิ้งฝันไปใช้ชีวิตธรรมดาๆ แต่งงานกับพ่อซึ่งมีอาชีพขับแท็กซี่ในโตเกียว

อากิเป็นอามะสาวน้อยที่ดึงดูดคนให้ขึ้นรถไฟมาท่องเที่ยว จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เธอมีเหตุให้เดินทางไปใช้ชีวิตแบบไอดอลที่โตเกียว แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจกลับสู่โฮคุซังริขุอีกครั้ง หลังเกิดภัยพิบัติร้ายแรง เธอร่วมมือกับผู้คนที่ไม่ยอมแพ้ และพยายามอย่างเต็มที่ที่จะฟื้นฟูท้องถิ่นต่อไป

ซีรีส์เรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งของญี่ปุ่นที่ผมอยากให้คนไทยได้ดู ดูเพื่อนำข้อคิดมาใช้กับชีวิตครอบครัว เพื่อน ชุมชน ละครถ่ายทอดทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม การแก้ปัญหา การใช้สิ่งที่ชุมชนมีอยู่มาระดมสมองกันเพื่อสร้างจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยว รักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมและความสัมพันธ์ใกล้ชิดในชุมชน สร้างรายได้และอาชีพให้ชาวบ้าน แถมมีภาพสวยๆ ของท้องทะเลทางเหนือของญี่ปุ่นที่มีอากาศหนาวเย็นเฉียบ การดำน้ำ จับหอยเม่น และเก็บสาหร่าย และวิวท้องทุ่งเปลี่ยนสีไปตามฤดูกาลแถบชนบทของญี่ปุ่นที่สวยงาม น่าไปเที่ยวมากๆครับ

การทำมาหากินในอาชีพอามะ แสดงพลังของกลุ่มผู้หญิง ที่ทำงานทรหดอดทน ส่วนใหญ่ผู้ชายสามีของแม่บ้านเหล่านี้เป็นชาวประมง ที่ออกทะเลไปนานๆจะกลับบ้านที อาชีพอามะนี้กำลังจะสูญหายไปตามกาลเวลา มีแต่อามะสูงวัย ซีรีส์เรื่องนี้นำมาเสนอให้เห็นอามะมีคุณค่าควรรักษาสืบทอดได้อย่างสนุกสนานมีชีวิตชีวา ให้ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติท้องทะเล การทำประมงตามฤดูกาล วิธีการดำน้ำ งมหอยเม่น ผ่าหอยเม่นตักไข่สดๆ มาทำข้าวหน้าหอยเม่นอาหารขึ้นชื่อ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าที่หาได้ในท้องถิ่น

ผมว่าคนไทยน่าศึกษาจากซีรีส์ญี่ปุ่น พวกเขาร่วมแรงร่วมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันพัฒนาชุมชน ตั้งแต่นายสถานีรถไฟ การท่องเที่ยวของเมือง สหกรณ์ชาวประมง ชมรมอามะ และภาคส่วนต่างๆ ที่พากันหารือสร้างกิจกรรมต่างๆเพื่อหารายได้เข้าเมือง อย่างตั้งอกตั้งใจ ร่วมมือกันแก้ปัญหาพึ่งพาตัวเองมากกว่าการร้องขอความช่วยเหลือ

บรรยากาศการแสดงความคิดเห็น ยังทำให้เห็นความเป็นประชาธิปไตยของคนในเมืองนี้ มีการรับฟัง ถกเถียง หารือกันตลอดเวลา แถมยังเปิดโอกาสให้เด็กๆหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็นอีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากเลยละครับ ทำให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมมีความรู้สึกเป็นเจ้าของกิจกรรมต่างๆ ทำงานอย่างทุ่มเท มีสำนึกรักบ้านเกิดซึ่งสำคัญมาก

ผมว่าซีรีส์เรื่องนี้ให้ข้อคิด ได้เรียนรู้ เป็นแนวทางที่ดีหากคนไทยได้ลองนำมาปรับใช้ ในการพัฒนาชุมชน พัฒนาสินค้าท้องถิ่น ให้ดูมีคุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการใส่เรื่องราวลงไปให้มีความน่าสนใจและแปลกใหม่

การทำงานของหน่วยงานของรัฐก็น่าสนใจ ลักษณะการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจจากส่วนกลางของญี่ปุ่น ทำให้หน่วยงานท้องถิ่นเข้มแข็งและใกล้ชิดกับชุมชน เช่น สำนักงานท่องเที่ยวกลายเป็นศูนย์กลางของชุมชุนเพื่อหารือในการพัฒนาชุมชน และคอยให้ความรู้นักท่องเที่ยวอย่างจริงจัง

การให้ชาวเมืองทำงานในบ้านเกิดในบทบาทต่างๆ เมื่อเขาเป็นคนเมืองนั้น เขาเกิดเขาโตที่นั่น เขารักบ้านเกิดอยากพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอน มันก็เป็นแรงผลักดันให้มีพลัง เกิดความสามัคคีช่วยเหลือกันพัฒนาบ้านเกิด

ดูซีรีส์เรื่องนี้แล้ว อยากเห็นคนไทยมีชุมชนเข้มแข็ง และการพัฒนาชุมชนแบบอามะจัง

อยากเชิญชวนให้ดูกันนะครับ สมกับที่ได้ 7 รางวัล จากเวทีโตเกียว ดราม่า อะวอร์ด 2013 การันตีความสนุกครับ ใครที่เป็นคอซีรีส์ญี่ปุ่นไม่ควรพลาด ดูแล้วมีความสุข อิ่มอกอิ่มใจ ลองดูเลยครับ รับรองว่ามีติดงอมแงม
กำลังโหลดความคิดเห็น