ความเดิมตอนที่แล้ว อ่าน :
• ท่องมาเลย์ ๑: ได้เวลาออกเดินทาง!!
• ท่องมาเลย์ ๑.๒ : โอ้ ลังกาวี...
• ท่องมาเลย์ ๑.๓ : อลอร์สตาร์ บ้านมหาเธร์
๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
ถ้าพูดถึง “รัฐไทรบุรี” หลายคนคงคุ้นๆ ชื่อ เหมือนเคยผ่านตาจากสมัยเรียนมัธยม เรื่องการเสียดินแดนของสยาม ใน ๔ จังหวัดทางใต้สุดของด้ามขวานให้กับอังกฤษเป็นแน่แท้ และตอนนี้ผมกำลังอยู่ในเมืองหลวงอดีตจังหวัดของไทย ที่ชื่อว่า อลอร์สตาร์ ซึ่งปัจจุบันคือศูนย์กลางของรัฐเคดะห์ เมืองที่ให้กำเนิดนายกรัฐมนตรีคนที่ ๔ ที่ชื่อ มหาเธร์ มูฮัมหมัด
เมือง “อาลอร์ เซต้าร์” ซึ่งมีชื่อมาจาก เมืองแห่งมะปรางทั่วลำธาร ก่อกำเนิดเมื่อ พ.ศ.๒๒๗๘ ในรัชสมัยของสุลต่าน มูฮัมหมัด จิว่า ไซนาล อดิลิน ที่ ๒ (Sultan Muhammad Jiwa Zainal Adilin II) เป็นเมืองหลวงแห่งที่ ๘ ตั้งแต่มีการสถาปนารัฐเคดะห์ เคยมีการเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นอลอร์สตาร์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๖ ก่อนที่จะกลับมาเป็นชื่อเก่าอีกครั้งใน พ.ศ.๒๕๕๒
และแน่นอนว่า ด้วยความที่เป็นเมืองหลวงก็มีสถาปัตยกรรมมากมายให้ผมได้เดินชมเล่น ไม่ว่าจะเป็น “พระที่นั่ง บาไล เบซาร์” (Balai Besar) บริเวณจตุรัสกลางเมืองซึ่งถูกใช้ในพระราชพิธีสำคัญทางราชการ ถูกสร้างขึ้นพร้อมกับการก่อตั้งเมืองด้วยไม้ทั้งหมด แต่โชคไม่ดีถูกกองเรือรบชาวบูกิสทำลายระหว่างรุกรานใน พ.ศ.๒๓๑๓ และหลังจากนั้นก็ถูกกองทัพพระยานครศรีธรรมราชทำลายอีกในพ.ศ.๒๓๖๔ แต่ต่อมาก็ได้รับการฟื้นฟูใน พ.ศ.๒๔๓๙ เพื่อใช้ในพระราชพิธีต่างๆ
ใกล้กันนี้มีอาคาร ๓ ชั้นมีโดมสีเหลืองอยู่ด้านบนสุดที่ตั้งเด่นสง่านั่นคือ “หอดนตรี บาไล โนบาต” (Balai Nobat) เพื่อใช้ประโคมดนตรีมาตั้งแต่สมัยสร้างเมือง แต่ที่เห็นปัจจุบันนี่ตัวตึกความสูง ๑๘ เมตร ถูกก่อสร้างขึ้นใหม่ในยุคของสุลต่านอับดุล ฮามิด ฮาลิม ซาห์ (Sultan Abdul Hamid Halim Shah) เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙ นอกจากนี้ในละแวกนั้นก็มี “หอศิลป์ บาไล เซนี เนเกรี” (Balai Seni Negeri) ,หอนาฬิกา รวมไปถึงมัสยิดขนาดใหญ่ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม อย่าง “มัสยิดหลวงซาฮีร์” (Masjid Zahir)
มัสยิดสีขาวที่มียอดโดมสีดำ ตั้งเด่นตระหง่าเป็นแลนด์มาร์ก อีก ๑ สถานที่ ถ้าเปรียบบ้านเราก็คงเห็นจะเป็นวัดประจำเมืองคงได้ ว่ากันว่าเป็นศาสนสถานที่เก่าแก่ที่สุดในมาเลย์เลยทีเดียว สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๕ โดยสุลต่าน อับดุล ฮามิด ฮาลิม ซาห์ ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบมาเลย์-อิสลาม ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก มัสยิดอาซีซี่ (Masjid Azizi ) ในเมืองตันหยงปุระ จังหวัดสุมาตราเหนือ อินโดนีเซีย
โดยโดมสีดำทั้ง ๕ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงเสาหลักทั้ง ๕ ของศาสนา ใช้เป็นมัสยิดประจำรัฐ และยังเป็นสถานที่จัดการแข่งขันอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่านประจำปีอีกด้วย ที่สำคัญพื้นที่นี้ยังเคยเป็นสุสานซึ่งฝังนักรบชาวไทรบุรีที่พลีชีพระหว่างรบกับสยามเมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๔ ด้วย ผมยืนถ่ายรูปชมความงามอยู่ภายนอก อย่างสงบ ด้วยความที่เขาเคร่งครัดในศาสนามาก ผมคนต่างศาสนาจึงไม่ค่อยกล้าเข้าไปยุ่มย่ามเท่าไหร่ แต่ยามเย็นที่นี่สวยจริงๆ ครับ
เดินชมเมืองจนตะวันลับขอบฟ้า เดินห้างที่ดูไม่ค่อยมีอะไร ไปที่ไหนต่อดีนะ มองแผนที่ก็อยากจะไปชมวัดนิโครธาราม วัดของชาวสยาม เลยเดินไปตาม ถ.สุลต่าน บัดลี ซาห์ แต่ยิ่งมืด ยิ่งวังเวง เมืองนี้เงียบสงบจนน่ากลัวเลยล่ะ ทั้งคน ทั้งรถ หายไปจากถนน หิวก็หิว เหนื่อยก็เหนื่อย ยิ่งเดินยิ่งไกล จะกลับก็ไม่ได้ ก็เอาวะ ไหนๆ ก็เสี่ยงดวงมาขนาดนี้ ... จนใกล้สุดทางมองเห็นตึกสูง แสงไฟ รู้สึกดีใจ เรามีอาหารกินแล้ว
ข้ามฝั่งไปดู เอ๊ะ ทำไมเหมือนตลาดนัดจังวะ? ... ต้องบอกว่า มันคือตลาดนัดแบบบ้านเราเลยล่ะ อยู่หน้าห้างที่ชื่อว่า “สตาร์ พาเหรด” บางร้านพูดไทยได้ บางร้านก็เป็นคนสยามเนี่ยล่ะ มีโซนขายอาหารสด ปลาแปลกๆ กระเบนก็มีนะ ผลไม้อย่างทุเรียน ที่นี่ก็ปลูก แต่ลูกเล็ก กลิ่นแรง แลดูไม่น่ากินเท่าไหร่ อาหารแห้ง เสื้อผ้า ของเล่น และที่สำคัญของกินมีเพียบไปหมด และแลดูคล้ายอาหารบ้านเรานัก ขนาดข้าวเหนียวทุเรียนยังมีเลย แต่ที่มีแปลกๆ หน่อยก็ ลูกชิ้นปลาทอดที่มีลักษณะเรียวยาว หรืออย่างมีร้านนึงขายลวกจิ้ม คือมีแผงวางพวกลูกชิ้น เส้นที่เป็นแท่งๆ ให้ลูกค้าเลือกใส่ตะกร้า แล้วก็ลวกใส่ถุง ใส่น้ำซอสแดงคล้ายเย็นตาโฟและน้ำซุป รู้สึกจะราคาเริ่มต้นที่ ๒๐ บาทได้
อันนี้ผมไม่ได้ซื้อกินนะ เผอิญมาเจอร้านก๋วยเตี๋ยวน่าสนใจดีครับ มีหลายเมนูดูน่าจะกินได้ เริ่มจากเบสิกก๋วยเตี๋ยวไก่ฉีกน้ำใส มันคือเส้นใหญ่แบบหั่นครึ่งแนวยาว ใส่ไก่ฉีก ลูกชิ้นปลา ต้นหอมสับ กระเทียมเจียว น้ำซุปไก่หอมรสเค็มกำลังดี มีน้ำจิ้มให้.. เอามาทำไม ถ้าชอบเผ็ดเขาบอกให้ใส่ ลักษณะมันคือซีอิ๊วดำผสมกับพริกขี้หนูตำ ดูคล้ายน้ำจิ้มข้าวมันไก่ กลิ่นพริกฉุนได้เรื่องจริงๆ เขาเรียกมันว่า “ก๋วยเตี๋ยวต่ง” (Kue Tiew Th'ng) ชามละ ๓๕ บาท
อีกชามที่ผมซัดคือ “หมี่กะหรี่” (Mi Kari) มันคือบะหมี่คล้ายเส้นราเมนในน้ำซุปไก่ ใส่เต้าหู้ ถั่วงอก ถั่วฟักยาว ไก่ฉีก ไข่ต้ม ราดซอสกะหรี่ พร้อมพริกแกงโปะด้านบนสุด เวลากินก็คนให้เข้ากันก่อน รสสัมผัสคำแรกนี่ถึงกับอึ้ง มันไม่อร่อยเลย รู้สึกเผ็ดกับฉุนเครื่องแกงแค่นั้น แต่ก็ลองฝืนใจกินไป สักพักหนึ่งกลับรู้สึกว่า ทำไมมันอร่อยขึ้นเรื่อยๆ เค็มเผ็ดเข้ากันได้ดีเลยล่ะ
สรุปแล้วก็ไม่ได้ไปวัดตามใจต้องการ แวะซื้อมะตะบะแล้วเดินตามแผนที่กลับสู่ที่พัก ได้เห็นหอคอยเมืองตอนเปิดไฟแล้ว ก็ ... อืม ... ตอนกลางวันดูสวยกว่า
๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
ตามแผนการที่วางไว้วันนี้ผมจะเดินทางไปยังเมืองสุดท้ายของการเยือนมาเลย์ แต่กว่ารถจะออกก็ ๑๐ โมงเช้าได้ ด้วยความย่ามใจจึงตื่นมาแต่เช้า อาบน้ำ จัดของแล้วรีบไปชมตลาดที่ “เปกัน ราบู” (Pekan Rabu) หมายถึง ตลาดนัดวันพุธ คือแต่ก่อนเป็นตลาดเล็กๆ เปิดขายเฉพาะวันพุธ เท่านั้น อยู่ในย่านศูนย์ราชการ มาตั้งแต่ช่วง ปี ๒๔๕๕ แต่ปัจจุบันคือศูนย์การค้าหลักของเมือง ต่อมาได้เปิดขายทุกวันและเริ่มมีการสร้างตัวอาคารและตึกเพิ่มเติมจนมีร้านค้ารวมกว่า ๓๔๗ ห้อง ที่สำคัญ อดีตนายกฯ มหาเธร์ เคยนำสินค้ามาขายที่นี่สมัยเป็นนักเรียนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ด้วย
ตลาดแห่งนี้เปิดตั้งแต่ ๘ โมงเช้า - ๑ ทุ่ม แต่เมื่อวานผมก็ลองแว่บมาสัก ๖ โมง ร้านต่างๆ กลับปิดเงียบ พอรุ่งเช้าวันนี้มาเยือน ก็มีร้านเปิดแค่บางเจ้า เท่าที่เห็นก็มีตั้งแต่เสื้อผ้า อาหารแห้ง เครื่องเทศ ขนมของฝาก เช่น กาละแมทุเรียน (Dodol Durian) ข้าวกวน คุ๊กกี้ เนื้อหยอง ไก่หยอง ปลาร้า เออ อันนี้ผมไม่คิดว่าคนแถวนี้จะกินกัน ที่นี่เขาว่าชาวสยามปักษ์ใต้เองเอาของมาขายเยอะมาก แต่มันคงเช้าไปผมไม่เจอ เจอแต่ร้านขายอาหารเช้า พวกขนมท้องถิ่นคล้ายกับบ้านเรา บางอย่างเหมือนขนมครกแต่ใส่ไส้ไก่ผสมพริก , ขนมหม้อแกง ,ขนมต้ม ,ขนมชั้น พวกนี้รสชาติก็หวานๆ แป้งแน่นๆ อ่อ มีกะหรี่ปั๊บด้วย
ซื้อของตุนไว้กินบนรถเหลือบดูเวลายังเหลือแวะเข้าไปชม “พิพิธภัณฑ์แห่งสุลต่านของไทรบุรี” (MUZIUM DIRAJA) เสียหน่อยดีกว่า ซึ่งอยู่ด้านหลังของพระที่นั่งบาไล เบซาร์ พูดง่ายๆ ก็คือที่นี่เป็นพระราชวังเดิมนั่นเอง เป็นอาคารปูนสีเหลืองครีมไม่ใหญ่มากนัก ถูกสร้างมาตั้งแต่สมัยของสุลต่านองค์ที่ ๑๙ ของรัฐ แต่ก่อนเป็นอาคารไม้และก็ถูกทำลายลง จนมาเป็นตึกปูน และยังเป็นสถานที่ประสูติบุคคลคนสำคัญอย่างเจ้าชาย “อับดุล ราห์มัน” (Tunku Abdul Rahman) นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ ผู้ที่ได้ชื่อว่า บิดาแห่งอิสรภาพของมลายู ซึ่งมีเชื้อสายไทยเพราะมีมารดาเป็นชาวสยาม และยังเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ด้วย
ตอนเดินเข้าไปคิดว่าจะเสียตังค์ แต่เขาให้เข้าฟรีเพียงแค่เซ็นชื่อ และฝากของรวมทั้งกล้องเพราะห้ามถ่ายรูป ด้านหน้าพบกับหุ่นจำลองการว่าราชการของสุลต่าน ด้านในมีหลายห้องจัดแสดงนิทรรศการ ทั้งพระราชประวัติของสุลต่าน ศัตราวุธ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ รวมทั้งพระราชหัตถเลขา ทั้งภาษามลายูและไทย ด้วย
พูดถึงไทรบุรีตามที่เราเคยเรียนคือหัวเมืองประเทศราชของสยามมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ดินแดนนี้เองถือว่าเก่าแก่ที่สุดในมาเลเซีย มีหลักฐานก่อกำเนิดมาตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๘ ซึ่งมีการค้นพบโบราณสถานทางประวัติศาสตร์ที่หุบเขาบูจัง (Bujang Valley) มีกษัตริย์ที่ชื่อ มะโรง มหาวงศ์ ผู้นับถือศาสนาพุทธ-ฮินดู ปกครองจนถึงยุคของสุลต่าน มุสซาฟา ชาห์ กษัตริย์องค์ที่ ๙ ก็เปลี่ยนศาสนามานับถืออิสลามแทน ในพ.ศ.๑๖๗๙ ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ได้ขอให้กองทัพอโยธยาลงมาช่วยปลดปล่อยไทรบุรีที่ถูกพวกอาเจะห์ยึดครอง เพื่อแลกกับการเป็นเมืองประเทศราช และนับแต่นั้นก็อยู่ภายใต้อำนาจของสยามเรื่อยมา
ต่อมาในยุคที่อังกฤษเริ่มล่ารัฐมาลายู เป็นอาณานิคม ในสมัยรัชกาลที่ ๒ สุลต่าน อาหมัด ทาจั๊ดดิน ฮาลิม ซาห์ ที่ ๒ (Ahmad Tajuddin Halim Shah II) ได้ยกเกาะหมากให้กับอังกฤษโดยไม่ได้แจ้งแก่ทางการ ทำให้สยามไม่พอใจส่งเจ้าพระยานครศรีธรรมราชลงไปปราบปรามเพื่อนำตัวไปพิจารณาโทษที่กรุงเทพฯ จนสุลต่านต้องลี้ภัยไปอยู่ปีนัง ก่อนที่สยามจะยอมให้คืนสู่บัลลังก์ใน พ.ศ.๒๓๘๕ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ สุลต่านอับดุล ฮามิด ฮาลิม ซาห์ ได้จัดพระพิธีอภิเษกสมรสให้แก่พระโอรสและพระธิดารวม ๕ พระองค์ อย่างยิ่งใหญ่ จนเกิดวิกฤติทางการเงินเป็นหนี้เป็นสินต้องไปกู้ยืมสยาม เป็นเงินกว่า ๒.๖ ล้านริงกิต เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๘ โดยรัฐบาลสยามได้ส่งที่ปรึกษาทางการเงินไปควบคุมการบริหารการเงินของรัฐด้วย
จนกระทั่งเกิดสนธิสัญญาแองโกล-สยาม หรือสนธิสัญญากรุงเทพฯ เมื่อ ๑๐ มีนาคม ๒๔๕๒ ที่สยามได้ตัดสินใจยกเมืองไทรบุรี ซึ่งตอนนั้นเป็นจังหวัด พร้อมกับปะลิส ตรังกานู กลันตัน ให้อังกฤษ เพื่อแลกกับเงื่อนไขยกเลิกสัญญาลับ พ.ศ.๒๔๔๐ ที่ให้อังกฤษมีสิทธิ์เหนือดินแดนสยามตั้งแต่ ต.บางตะพาน ลงไปจนสุดแหลมมลายู ,ให้คนในบังคับของอังกฤษขึ้นศาลไทย และปล่อยเงินกู้ให้ไทยสร้างรถไฟสายใต้ตั้งแต่ จ.เพชรบุรี ไปจนจดชายแดนมลายู รวมถึงชดใช้หนี้ที่รัฐต่างๆ ติดสยามอยู่ด้วย
ซึ่งหากมองในมุมของสยาม ก็ต้องดูถึงผลประโยชน์แห่งรัฐตนเป็นหลักทั้งในเรื่องของปัญหาการปกครองทางใต้ จนถึงการพัฒนาเศรษฐกิจจากการสร้างรถไฟ รวมถึงรอดพ้นจากปัญหาการรุกล่าอาณานิคมด้วย โดยการตัดสินใจนี้ ไม่ได้มีการแจ้งทั้ง ๔ จังหวัดล่วงหน้า แน่นอนว่า สร้างความไม่พอใจให้กับสุลต่านไทรบุรีอย่างมาก ถึงกับปรารภว่า "ประเทศของฉัน ประชาชนของฉัน ถูกขายไปเหมือนกับขายลูกวัว ,ฉันให้อภัยคนซื้อซึ่งมีพันธะกับฉันได้ แต่ฉันให้อภัยคนขายไม่ได้ ,สยามมีสิทธิที่จะยกหนี้ไปให้ผู้อื่นได้ แต่ไม่มีสิทธิจะยกตัวลูกหนี้ให้ใคร"
ไทรบุรีอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษจนกระทั่งสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่จักรวรรดิ์ญี่ปุ่นได้ยึดครองมาเลเซียและในโอกาสนี้เอง ไทยซึ่งประกาศเป็นพันธมิตรกับฝ่ายอักษะจึงขอ ๔ รัฐกลับคืนสู่สยามอีกครั้ง เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๖ แต่ไม่นานเมื่อสงครามสิ้นสุดก็กลับคืนสู่อ้อมอกอังกฤษอีกครั้ง ขณะที่สุลต่านองค์ปัจจุบันคือ อับดุล ฮาลิม มูอั๊ดซัม ซาห์ (Sultan Abdul Halim Mu'adzam Shah) ซึ่งดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซียองค์ปัจจุบันด้วย
เล่ามาเสียยาวเหยียดจนลืมพูดถึงตัวพิพิธภัณฑ์ โดยรวมก็ดีมากๆ ครับ มีทั้งภาษาอังกฤษและมาเลย์ ให้ได้อ่าน และถ้ามีเวลาชมรายละเอียดจะเข้าใจลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งก็ทำเอาผมเพลินจนเกือบลืมไปว่าต้องเดินทางต่อ เลยล่ะ ที่นี่เปิดตั้งแต่ ๙ โมงเช้า - ๕ โมงเย็น จริงๆ แล้วในเมืองนี้ยังมีอีกหลายที่ที่หน้าสนใจ เช่น พิพิธภัณฑ์แห่งรัฐ ,บ้านพักของนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย (Rumah Merdeka) ,พระราชวังอานัก บูกิต ของสุลต่านองค์ปัจจุบัน (Istana Anak Bukit) หรืออย่างนอกเมืองที่ต้องขับรถไปก็ พิพิธภัณฑ์ข้าว (Padi Museum) รวมไปถึงหุบเขาบูจัง ด้วย
น่าเสียดาย เวลาที่กำหนดเหลือน้อยเต็มที ผมต้องรีบกลับไปโรงแรมอย่างเร่งด่วนเพื่อจะไปขึ้นรถที่ขนส่ง เหลือดูนาฬิกา ๙ โมงเกือบครึ่ง คงจะทันแน่ๆ
ลาก่อน อลอร์ สตาร์ ... (อ่านต่อตอนต่อไป)
(ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ วิกิพีเดีย ,วิกิทราเวล ,การท่องเที่ยวมาเลเซีย ,กระทรวงวัฒนธรรม ,ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล)
• ท่องมาเลย์ ๑: ได้เวลาออกเดินทาง!!
• ท่องมาเลย์ ๑.๒ : โอ้ ลังกาวี...
• ท่องมาเลย์ ๑.๓ : อลอร์สตาร์ บ้านมหาเธร์
๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
ถ้าพูดถึง “รัฐไทรบุรี” หลายคนคงคุ้นๆ ชื่อ เหมือนเคยผ่านตาจากสมัยเรียนมัธยม เรื่องการเสียดินแดนของสยาม ใน ๔ จังหวัดทางใต้สุดของด้ามขวานให้กับอังกฤษเป็นแน่แท้ และตอนนี้ผมกำลังอยู่ในเมืองหลวงอดีตจังหวัดของไทย ที่ชื่อว่า อลอร์สตาร์ ซึ่งปัจจุบันคือศูนย์กลางของรัฐเคดะห์ เมืองที่ให้กำเนิดนายกรัฐมนตรีคนที่ ๔ ที่ชื่อ มหาเธร์ มูฮัมหมัด
เมือง “อาลอร์ เซต้าร์” ซึ่งมีชื่อมาจาก เมืองแห่งมะปรางทั่วลำธาร ก่อกำเนิดเมื่อ พ.ศ.๒๒๗๘ ในรัชสมัยของสุลต่าน มูฮัมหมัด จิว่า ไซนาล อดิลิน ที่ ๒ (Sultan Muhammad Jiwa Zainal Adilin II) เป็นเมืองหลวงแห่งที่ ๘ ตั้งแต่มีการสถาปนารัฐเคดะห์ เคยมีการเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นอลอร์สตาร์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๖ ก่อนที่จะกลับมาเป็นชื่อเก่าอีกครั้งใน พ.ศ.๒๕๕๒
และแน่นอนว่า ด้วยความที่เป็นเมืองหลวงก็มีสถาปัตยกรรมมากมายให้ผมได้เดินชมเล่น ไม่ว่าจะเป็น “พระที่นั่ง บาไล เบซาร์” (Balai Besar) บริเวณจตุรัสกลางเมืองซึ่งถูกใช้ในพระราชพิธีสำคัญทางราชการ ถูกสร้างขึ้นพร้อมกับการก่อตั้งเมืองด้วยไม้ทั้งหมด แต่โชคไม่ดีถูกกองเรือรบชาวบูกิสทำลายระหว่างรุกรานใน พ.ศ.๒๓๑๓ และหลังจากนั้นก็ถูกกองทัพพระยานครศรีธรรมราชทำลายอีกในพ.ศ.๒๓๖๔ แต่ต่อมาก็ได้รับการฟื้นฟูใน พ.ศ.๒๔๓๙ เพื่อใช้ในพระราชพิธีต่างๆ
ใกล้กันนี้มีอาคาร ๓ ชั้นมีโดมสีเหลืองอยู่ด้านบนสุดที่ตั้งเด่นสง่านั่นคือ “หอดนตรี บาไล โนบาต” (Balai Nobat) เพื่อใช้ประโคมดนตรีมาตั้งแต่สมัยสร้างเมือง แต่ที่เห็นปัจจุบันนี่ตัวตึกความสูง ๑๘ เมตร ถูกก่อสร้างขึ้นใหม่ในยุคของสุลต่านอับดุล ฮามิด ฮาลิม ซาห์ (Sultan Abdul Hamid Halim Shah) เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙ นอกจากนี้ในละแวกนั้นก็มี “หอศิลป์ บาไล เซนี เนเกรี” (Balai Seni Negeri) ,หอนาฬิกา รวมไปถึงมัสยิดขนาดใหญ่ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม อย่าง “มัสยิดหลวงซาฮีร์” (Masjid Zahir)
มัสยิดสีขาวที่มียอดโดมสีดำ ตั้งเด่นตระหง่าเป็นแลนด์มาร์ก อีก ๑ สถานที่ ถ้าเปรียบบ้านเราก็คงเห็นจะเป็นวัดประจำเมืองคงได้ ว่ากันว่าเป็นศาสนสถานที่เก่าแก่ที่สุดในมาเลย์เลยทีเดียว สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๕ โดยสุลต่าน อับดุล ฮามิด ฮาลิม ซาห์ ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบมาเลย์-อิสลาม ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก มัสยิดอาซีซี่ (Masjid Azizi ) ในเมืองตันหยงปุระ จังหวัดสุมาตราเหนือ อินโดนีเซีย
โดยโดมสีดำทั้ง ๕ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงเสาหลักทั้ง ๕ ของศาสนา ใช้เป็นมัสยิดประจำรัฐ และยังเป็นสถานที่จัดการแข่งขันอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่านประจำปีอีกด้วย ที่สำคัญพื้นที่นี้ยังเคยเป็นสุสานซึ่งฝังนักรบชาวไทรบุรีที่พลีชีพระหว่างรบกับสยามเมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๔ ด้วย ผมยืนถ่ายรูปชมความงามอยู่ภายนอก อย่างสงบ ด้วยความที่เขาเคร่งครัดในศาสนามาก ผมคนต่างศาสนาจึงไม่ค่อยกล้าเข้าไปยุ่มย่ามเท่าไหร่ แต่ยามเย็นที่นี่สวยจริงๆ ครับ
เดินชมเมืองจนตะวันลับขอบฟ้า เดินห้างที่ดูไม่ค่อยมีอะไร ไปที่ไหนต่อดีนะ มองแผนที่ก็อยากจะไปชมวัดนิโครธาราม วัดของชาวสยาม เลยเดินไปตาม ถ.สุลต่าน บัดลี ซาห์ แต่ยิ่งมืด ยิ่งวังเวง เมืองนี้เงียบสงบจนน่ากลัวเลยล่ะ ทั้งคน ทั้งรถ หายไปจากถนน หิวก็หิว เหนื่อยก็เหนื่อย ยิ่งเดินยิ่งไกล จะกลับก็ไม่ได้ ก็เอาวะ ไหนๆ ก็เสี่ยงดวงมาขนาดนี้ ... จนใกล้สุดทางมองเห็นตึกสูง แสงไฟ รู้สึกดีใจ เรามีอาหารกินแล้ว
ข้ามฝั่งไปดู เอ๊ะ ทำไมเหมือนตลาดนัดจังวะ? ... ต้องบอกว่า มันคือตลาดนัดแบบบ้านเราเลยล่ะ อยู่หน้าห้างที่ชื่อว่า “สตาร์ พาเหรด” บางร้านพูดไทยได้ บางร้านก็เป็นคนสยามเนี่ยล่ะ มีโซนขายอาหารสด ปลาแปลกๆ กระเบนก็มีนะ ผลไม้อย่างทุเรียน ที่นี่ก็ปลูก แต่ลูกเล็ก กลิ่นแรง แลดูไม่น่ากินเท่าไหร่ อาหารแห้ง เสื้อผ้า ของเล่น และที่สำคัญของกินมีเพียบไปหมด และแลดูคล้ายอาหารบ้านเรานัก ขนาดข้าวเหนียวทุเรียนยังมีเลย แต่ที่มีแปลกๆ หน่อยก็ ลูกชิ้นปลาทอดที่มีลักษณะเรียวยาว หรืออย่างมีร้านนึงขายลวกจิ้ม คือมีแผงวางพวกลูกชิ้น เส้นที่เป็นแท่งๆ ให้ลูกค้าเลือกใส่ตะกร้า แล้วก็ลวกใส่ถุง ใส่น้ำซอสแดงคล้ายเย็นตาโฟและน้ำซุป รู้สึกจะราคาเริ่มต้นที่ ๒๐ บาทได้
อันนี้ผมไม่ได้ซื้อกินนะ เผอิญมาเจอร้านก๋วยเตี๋ยวน่าสนใจดีครับ มีหลายเมนูดูน่าจะกินได้ เริ่มจากเบสิกก๋วยเตี๋ยวไก่ฉีกน้ำใส มันคือเส้นใหญ่แบบหั่นครึ่งแนวยาว ใส่ไก่ฉีก ลูกชิ้นปลา ต้นหอมสับ กระเทียมเจียว น้ำซุปไก่หอมรสเค็มกำลังดี มีน้ำจิ้มให้.. เอามาทำไม ถ้าชอบเผ็ดเขาบอกให้ใส่ ลักษณะมันคือซีอิ๊วดำผสมกับพริกขี้หนูตำ ดูคล้ายน้ำจิ้มข้าวมันไก่ กลิ่นพริกฉุนได้เรื่องจริงๆ เขาเรียกมันว่า “ก๋วยเตี๋ยวต่ง” (Kue Tiew Th'ng) ชามละ ๓๕ บาท
อีกชามที่ผมซัดคือ “หมี่กะหรี่” (Mi Kari) มันคือบะหมี่คล้ายเส้นราเมนในน้ำซุปไก่ ใส่เต้าหู้ ถั่วงอก ถั่วฟักยาว ไก่ฉีก ไข่ต้ม ราดซอสกะหรี่ พร้อมพริกแกงโปะด้านบนสุด เวลากินก็คนให้เข้ากันก่อน รสสัมผัสคำแรกนี่ถึงกับอึ้ง มันไม่อร่อยเลย รู้สึกเผ็ดกับฉุนเครื่องแกงแค่นั้น แต่ก็ลองฝืนใจกินไป สักพักหนึ่งกลับรู้สึกว่า ทำไมมันอร่อยขึ้นเรื่อยๆ เค็มเผ็ดเข้ากันได้ดีเลยล่ะ
สรุปแล้วก็ไม่ได้ไปวัดตามใจต้องการ แวะซื้อมะตะบะแล้วเดินตามแผนที่กลับสู่ที่พัก ได้เห็นหอคอยเมืองตอนเปิดไฟแล้ว ก็ ... อืม ... ตอนกลางวันดูสวยกว่า
๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
ตามแผนการที่วางไว้วันนี้ผมจะเดินทางไปยังเมืองสุดท้ายของการเยือนมาเลย์ แต่กว่ารถจะออกก็ ๑๐ โมงเช้าได้ ด้วยความย่ามใจจึงตื่นมาแต่เช้า อาบน้ำ จัดของแล้วรีบไปชมตลาดที่ “เปกัน ราบู” (Pekan Rabu) หมายถึง ตลาดนัดวันพุธ คือแต่ก่อนเป็นตลาดเล็กๆ เปิดขายเฉพาะวันพุธ เท่านั้น อยู่ในย่านศูนย์ราชการ มาตั้งแต่ช่วง ปี ๒๔๕๕ แต่ปัจจุบันคือศูนย์การค้าหลักของเมือง ต่อมาได้เปิดขายทุกวันและเริ่มมีการสร้างตัวอาคารและตึกเพิ่มเติมจนมีร้านค้ารวมกว่า ๓๔๗ ห้อง ที่สำคัญ อดีตนายกฯ มหาเธร์ เคยนำสินค้ามาขายที่นี่สมัยเป็นนักเรียนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ด้วย
ตลาดแห่งนี้เปิดตั้งแต่ ๘ โมงเช้า - ๑ ทุ่ม แต่เมื่อวานผมก็ลองแว่บมาสัก ๖ โมง ร้านต่างๆ กลับปิดเงียบ พอรุ่งเช้าวันนี้มาเยือน ก็มีร้านเปิดแค่บางเจ้า เท่าที่เห็นก็มีตั้งแต่เสื้อผ้า อาหารแห้ง เครื่องเทศ ขนมของฝาก เช่น กาละแมทุเรียน (Dodol Durian) ข้าวกวน คุ๊กกี้ เนื้อหยอง ไก่หยอง ปลาร้า เออ อันนี้ผมไม่คิดว่าคนแถวนี้จะกินกัน ที่นี่เขาว่าชาวสยามปักษ์ใต้เองเอาของมาขายเยอะมาก แต่มันคงเช้าไปผมไม่เจอ เจอแต่ร้านขายอาหารเช้า พวกขนมท้องถิ่นคล้ายกับบ้านเรา บางอย่างเหมือนขนมครกแต่ใส่ไส้ไก่ผสมพริก , ขนมหม้อแกง ,ขนมต้ม ,ขนมชั้น พวกนี้รสชาติก็หวานๆ แป้งแน่นๆ อ่อ มีกะหรี่ปั๊บด้วย
ซื้อของตุนไว้กินบนรถเหลือบดูเวลายังเหลือแวะเข้าไปชม “พิพิธภัณฑ์แห่งสุลต่านของไทรบุรี” (MUZIUM DIRAJA) เสียหน่อยดีกว่า ซึ่งอยู่ด้านหลังของพระที่นั่งบาไล เบซาร์ พูดง่ายๆ ก็คือที่นี่เป็นพระราชวังเดิมนั่นเอง เป็นอาคารปูนสีเหลืองครีมไม่ใหญ่มากนัก ถูกสร้างมาตั้งแต่สมัยของสุลต่านองค์ที่ ๑๙ ของรัฐ แต่ก่อนเป็นอาคารไม้และก็ถูกทำลายลง จนมาเป็นตึกปูน และยังเป็นสถานที่ประสูติบุคคลคนสำคัญอย่างเจ้าชาย “อับดุล ราห์มัน” (Tunku Abdul Rahman) นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ ผู้ที่ได้ชื่อว่า บิดาแห่งอิสรภาพของมลายู ซึ่งมีเชื้อสายไทยเพราะมีมารดาเป็นชาวสยาม และยังเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ด้วย
ตอนเดินเข้าไปคิดว่าจะเสียตังค์ แต่เขาให้เข้าฟรีเพียงแค่เซ็นชื่อ และฝากของรวมทั้งกล้องเพราะห้ามถ่ายรูป ด้านหน้าพบกับหุ่นจำลองการว่าราชการของสุลต่าน ด้านในมีหลายห้องจัดแสดงนิทรรศการ ทั้งพระราชประวัติของสุลต่าน ศัตราวุธ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ รวมทั้งพระราชหัตถเลขา ทั้งภาษามลายูและไทย ด้วย
พูดถึงไทรบุรีตามที่เราเคยเรียนคือหัวเมืองประเทศราชของสยามมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ดินแดนนี้เองถือว่าเก่าแก่ที่สุดในมาเลเซีย มีหลักฐานก่อกำเนิดมาตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๘ ซึ่งมีการค้นพบโบราณสถานทางประวัติศาสตร์ที่หุบเขาบูจัง (Bujang Valley) มีกษัตริย์ที่ชื่อ มะโรง มหาวงศ์ ผู้นับถือศาสนาพุทธ-ฮินดู ปกครองจนถึงยุคของสุลต่าน มุสซาฟา ชาห์ กษัตริย์องค์ที่ ๙ ก็เปลี่ยนศาสนามานับถืออิสลามแทน ในพ.ศ.๑๖๗๙ ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ได้ขอให้กองทัพอโยธยาลงมาช่วยปลดปล่อยไทรบุรีที่ถูกพวกอาเจะห์ยึดครอง เพื่อแลกกับการเป็นเมืองประเทศราช และนับแต่นั้นก็อยู่ภายใต้อำนาจของสยามเรื่อยมา
ต่อมาในยุคที่อังกฤษเริ่มล่ารัฐมาลายู เป็นอาณานิคม ในสมัยรัชกาลที่ ๒ สุลต่าน อาหมัด ทาจั๊ดดิน ฮาลิม ซาห์ ที่ ๒ (Ahmad Tajuddin Halim Shah II) ได้ยกเกาะหมากให้กับอังกฤษโดยไม่ได้แจ้งแก่ทางการ ทำให้สยามไม่พอใจส่งเจ้าพระยานครศรีธรรมราชลงไปปราบปรามเพื่อนำตัวไปพิจารณาโทษที่กรุงเทพฯ จนสุลต่านต้องลี้ภัยไปอยู่ปีนัง ก่อนที่สยามจะยอมให้คืนสู่บัลลังก์ใน พ.ศ.๒๓๘๕ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ สุลต่านอับดุล ฮามิด ฮาลิม ซาห์ ได้จัดพระพิธีอภิเษกสมรสให้แก่พระโอรสและพระธิดารวม ๕ พระองค์ อย่างยิ่งใหญ่ จนเกิดวิกฤติทางการเงินเป็นหนี้เป็นสินต้องไปกู้ยืมสยาม เป็นเงินกว่า ๒.๖ ล้านริงกิต เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๘ โดยรัฐบาลสยามได้ส่งที่ปรึกษาทางการเงินไปควบคุมการบริหารการเงินของรัฐด้วย
จนกระทั่งเกิดสนธิสัญญาแองโกล-สยาม หรือสนธิสัญญากรุงเทพฯ เมื่อ ๑๐ มีนาคม ๒๔๕๒ ที่สยามได้ตัดสินใจยกเมืองไทรบุรี ซึ่งตอนนั้นเป็นจังหวัด พร้อมกับปะลิส ตรังกานู กลันตัน ให้อังกฤษ เพื่อแลกกับเงื่อนไขยกเลิกสัญญาลับ พ.ศ.๒๔๔๐ ที่ให้อังกฤษมีสิทธิ์เหนือดินแดนสยามตั้งแต่ ต.บางตะพาน ลงไปจนสุดแหลมมลายู ,ให้คนในบังคับของอังกฤษขึ้นศาลไทย และปล่อยเงินกู้ให้ไทยสร้างรถไฟสายใต้ตั้งแต่ จ.เพชรบุรี ไปจนจดชายแดนมลายู รวมถึงชดใช้หนี้ที่รัฐต่างๆ ติดสยามอยู่ด้วย
ซึ่งหากมองในมุมของสยาม ก็ต้องดูถึงผลประโยชน์แห่งรัฐตนเป็นหลักทั้งในเรื่องของปัญหาการปกครองทางใต้ จนถึงการพัฒนาเศรษฐกิจจากการสร้างรถไฟ รวมถึงรอดพ้นจากปัญหาการรุกล่าอาณานิคมด้วย โดยการตัดสินใจนี้ ไม่ได้มีการแจ้งทั้ง ๔ จังหวัดล่วงหน้า แน่นอนว่า สร้างความไม่พอใจให้กับสุลต่านไทรบุรีอย่างมาก ถึงกับปรารภว่า "ประเทศของฉัน ประชาชนของฉัน ถูกขายไปเหมือนกับขายลูกวัว ,ฉันให้อภัยคนซื้อซึ่งมีพันธะกับฉันได้ แต่ฉันให้อภัยคนขายไม่ได้ ,สยามมีสิทธิที่จะยกหนี้ไปให้ผู้อื่นได้ แต่ไม่มีสิทธิจะยกตัวลูกหนี้ให้ใคร"
ไทรบุรีอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษจนกระทั่งสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่จักรวรรดิ์ญี่ปุ่นได้ยึดครองมาเลเซียและในโอกาสนี้เอง ไทยซึ่งประกาศเป็นพันธมิตรกับฝ่ายอักษะจึงขอ ๔ รัฐกลับคืนสู่สยามอีกครั้ง เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๖ แต่ไม่นานเมื่อสงครามสิ้นสุดก็กลับคืนสู่อ้อมอกอังกฤษอีกครั้ง ขณะที่สุลต่านองค์ปัจจุบันคือ อับดุล ฮาลิม มูอั๊ดซัม ซาห์ (Sultan Abdul Halim Mu'adzam Shah) ซึ่งดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซียองค์ปัจจุบันด้วย
เล่ามาเสียยาวเหยียดจนลืมพูดถึงตัวพิพิธภัณฑ์ โดยรวมก็ดีมากๆ ครับ มีทั้งภาษาอังกฤษและมาเลย์ ให้ได้อ่าน และถ้ามีเวลาชมรายละเอียดจะเข้าใจลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งก็ทำเอาผมเพลินจนเกือบลืมไปว่าต้องเดินทางต่อ เลยล่ะ ที่นี่เปิดตั้งแต่ ๙ โมงเช้า - ๕ โมงเย็น จริงๆ แล้วในเมืองนี้ยังมีอีกหลายที่ที่หน้าสนใจ เช่น พิพิธภัณฑ์แห่งรัฐ ,บ้านพักของนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย (Rumah Merdeka) ,พระราชวังอานัก บูกิต ของสุลต่านองค์ปัจจุบัน (Istana Anak Bukit) หรืออย่างนอกเมืองที่ต้องขับรถไปก็ พิพิธภัณฑ์ข้าว (Padi Museum) รวมไปถึงหุบเขาบูจัง ด้วย
น่าเสียดาย เวลาที่กำหนดเหลือน้อยเต็มที ผมต้องรีบกลับไปโรงแรมอย่างเร่งด่วนเพื่อจะไปขึ้นรถที่ขนส่ง เหลือดูนาฬิกา ๙ โมงเกือบครึ่ง คงจะทันแน่ๆ
ลาก่อน อลอร์ สตาร์ ... (อ่านต่อตอนต่อไป)
(ข้อมูลอ้างอิงจากเว็บไซต์ วิกิพีเดีย ,วิกิทราเวล ,การท่องเที่ยวมาเลเซีย ,กระทรวงวัฒนธรรม ,ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล)