xs
xsm
sm
md
lg

ปั่นจักรยานสองขาพาไปอย่างไรให้ปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: ยุรชัฏ ชาติสุทธิชัย


ในแวดวงเพื่อนๆ รุ่นพี่รุ่นน้องรอบตัวผมตอนนี้ หันไปทางไหนก็จะเห็นคนหันมาขี่จักรยานกันมากยิ่งในกรุงเทพฯ นี่เห็นชัดมากว่าคนใช้จักรยานเยอะขึ้นมาก เพื่อนผมหลายคนเลือกเดินทางโดยการปั่นจักรยานไปตามที่ต่างๆ ทำให้ผมคิดว่าต้องเขียนถึงเรื่องนี้สักหน่อยแล้วสิ เดี๋ยวจะตกเทรนด์

จริงๆ แล้วผมก็เป็นคนชอบปั่นจักรยานตั้งแต่เด็ก ผมว่าการปั่นจักรยานกับเพื่อนๆ ในซอย เป็นกิจกรรมที่เด็กส่วนใหญ่สนุก และได้ออกกำลังกาย จักรยานจะถูกเก็บไม่ได้ใช้ในหน้าฝน ถึงหน้าร้อนและหน้าหนาวนั่นแหละค่อยกลับมาคึกคักกันใหม่

วันหยุดเสาร์-อาทิตย์หรือปิดภาคเรียน ตอนเย็นๆ เกือบทุกวัน ถ้าไม่เตะฟุตบอลกันบนถนนหน้าบ้านก็จะปั่นจักรยานกันตามถนนในหมู่บ้าน บางทีก็ปั่นไปไกลจากบ้านสองสามกิโลเพราะสมัยก่อนยังมีถนนบางสายเป็นถนนลูกรังเล็กๆ แทบไม่มีรถยนต์ผ่าน บางทียังเคยไปปั่นจักรยานในสวนรถไฟที่จตุจักร

เวลาเข้าไปในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เห็นนักศึกษาปั่นจักรยานไปเรียนกันภายในมหาวิทยาลัย มีที่จอดจักรยานเป็นระเบียบ ถนนแบ่งช่องมีเลนเครื่องหมายจราจรสำหรับจักรยานและรถยนต์ ผมอยากยกเอาการโมเดลการใช้จักรยานอย่างในเกษตรศาสตร์มาวางลงไปในทุกเขตของ กทม.

ด้วยเหตุที่ทำงาน (บ้านพระอาทิตย์) กับบ้านผมมันไกลกันมาก ถ้าปั่นจักรยานผมคงใช้เวลาครึ่งวันหรือมากกว่านั้น กว่าจะถึงที่ทำงาน ที่สำคัญไม่มีถนนไม่มีเลนจักรยาน มีแต่รถแถมรถบรรทุกคันใหญ่ๆ เยอะมาก อันตรายเกินกว่าจะพยายามและเสี่ยงภัย

จริงๆ แล้วการปั่นจักรยานนั้นเป็นการเดินทางที่ดีนะครับ เป็นทางเลือกที่ดีมากสำหรับชีวิตประจำวันถ้าเป็นไปได้ ถ้ามีเงื่อนไขที่ปลอดภัย ได้ทั้งออกกำลังกาย ได้ร่างกายที่แข็งแรง ได้ลดหุ่นไปในตัว

กำหนดเวลาเดินทางได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องคอยรถเมล์ ไม่ต้องจอดรถติดยาวเหยียด ไม่ต้องซื้อรถยนต์ราคาแพงหูดับ ไม่ต้องเอาเงินเดือนรายได้เกือบทั้งหมดของทุกเดือนไปจ่ายค่าผ่อนส่งรถ ไม่ต้องจ่ายค่าดูแลค่าซ่อมรักษารถ ไม่ต้องถูกสูบเลือดจ่ายค่าน้ำมันโคตรแพงมหาโหด ไม่ต้องจ่ายค่าทางด่วน ไม่ต้องหาที่จอดรถ ฯลฯ

ชีวิตที่ไม่ต้อง ไม่ต้องทั้งหมดที่ว่ามานี้ ผมว่าเป็นชีวิตประจำวันที่น่าจะมีความสุขมาก เป็นคุณภาพชีวิตที่คนบนโลกนี้ปรารถนา เป็นชีวิตที่วิเศษสุดเลยทีเดียวครับ

ในหลายประเทศเขาทำได้ดีมาก ทั้งในยุโรป อเมริกา หรือในเอเชีย อย่างกรณีญี่ปุ่นมีการจัดที่จอดรถจักรยานอย่างปลอดภัย และจีนมีการจัดการเพื่อรับมือกับการใช้รถจักรยานจำนวนมหาศาล

มีตัวอย่างดีๆ ในประเทศต่างๆ ที่มี การจัดการระบบจราจรเพื่อลดการใช้รถยนต์ สร้างเมืองสีเขียว เมืองสะอาด อากาศสดชื่น ลดมลภาวะ และสร้างความปลอดภัยแก่ชีวิต สร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน

หลายเมืองมีเลนจักรยาน ให้ประชาชนได้ปั่นอย่างเพียงพอและปลอดภัยมีที่สาธารณะสำหรับจอดรถจักรยานอย่างเป็นระเบียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณสถานีรถไฟ หรือรถไฟฟ้าซึ่งเป็นขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ที่ประชาชนใช้บริการในชีวิตประจำวัน

กทม. ควรมีแผนดำเนินการให้ถนนในกรุงเทพฯ มีเลนจักรยานอย่างทั่วถึงเพราะเลนจักรยานใช้พื้นที่แค่เล็กน้อยเท่านั้น และควรบริหารจัดการมีการควบคุมให้ได้ใช้ตามวัตถุประสงค์ ให้เป็นเลนสำหรับจักยานอย่างแท้จริง ไม่ใช่กลายเป็นพื้นที่สำหรับจอดรถหรือขายของ หรือเป็นที่ขับย้อนศรของรถมอเตอร์ไซค์

การจัดพื้นที่สาธารณะอย่างเหมาะสมเพียงพอและปลอดภัยสำหรับจอดรถจักรยาน สำหรับอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ต้องมาต่อรถเมล์ รถไฟ หรือรถไฟฟ้าบีทีเอส

นอกจากการบริหารจัดการในภาครัฐแล้ว คุณภาพของคน สำนึกละวินัยของประชาชนก็เป็นเรื่องสำคัญมาก บ่อยครั้ง ผมขับรถไปทำงานหรือขับรถกลับบ้านมักเจอปัญหาจากนักปั่นในช่วงเช้ามืดหรือตอนค่ำ อันตรายมากสำหรับบางท่านที่ไม่ได้ติดไฟหน้าหรือไฟท้ายจักรยาน ผู้ร่วมใช้ถนนไม่สามารถเห็นจักรยานได้ชัดเจนพอ

นักปั่นบางท่านปั่นจักรยานย้อนศร อันนี้ไม่ใช่แค่จักรยาน รถยนต์ และรถมอเตอร์ไซค์ก็เป็นเหมือนกัน แถมบางคันถ้าเป็นมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์มีสาดไฟสูงใส่รถที่สวนมาแบบไม่ย้อนศร เป็นประเภทมักง่าย ผิดกฎหมายฝ่าฝืนกฎจราจร เห็นแก่ตัว ไม่คิดถึงคนอื่น อย่างนี้เป็นพฤติกรรมของคนเลวเข้าขั้นน่ารังเกียจ

เพื่อนๆ พี่น้องคนไหนที่กำลังหลงใหลในการปั่นจักรยาน จนตอนนี้เป็นกระแสมีคนปั่นจักยานมากขึ้น ผมสนับสนุนนะครับ แต่ก็ยังเป็นห่วงความปลอดภัยทั้งอุบัติเหตุบนถนนหนทางและมลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ ควรจะมีหน้ากากอนามัยปิดปากจมูก เพราะแม้ปั่นจักรยานร่างกายแข็งแรง แต่ถ้าเกิดเจ็บป่วยเป็นโรคจากการสูดอากาศมลพิษเข้าไป ที่ได้อาจจะไม่คุ้มเสียนะครับ

ยิ่งในยุคข้าวยากหมากแพง น้ำมันลิตรละเกือบห้าสิบบาท รัฐควรส่งเสริมการใช้จักรยาน มีแผนการจัดการเพื่อบริการดูแลความปลอดภัย การเดินทางด้วยจักรยานเป็นการเดินทางที่ประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุด เป็นผลดีต่อทั้งตัวบุคคล สังคมโดยส่วนรวม และประเทศชาติด้วย

มีตัวอย่างดีๆ อย่าง นายกรัฐมนตรี มาร์ค รุทท์ แห่งเนเธอร์แลนด์ ปั่นจักรยานไปทำงานและกลับบ้านทุกวัน เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 16 ของโลกหากวัดกันตามขนาดของ GDP ซึ่งก็แปลว่าประเทศนี้เป็นประเทศที่ รวยประเทศหนึ่งของโลก แต่นายกรัฐมนตรีก็ไม่นั่งรถประจำตำแหน่ง ไม่ได้มีรถนำขบวน รถติดตาม และไม่ต้องปิดถนนเวลาจะไปไหนมาไหน

เรื่องของนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ อย่าหวังว่าจะเกิดกับนายกไทย หรือนักการเมืองไทย คนพวกนี้ยิ่งมีตำแหน่งก็ยิ่งอวดร่ำรวยใช้รถแพง มีบริวาร มีรถติดตามยาวเหยียด

วันนี้ ขอเพียงให้หน่วยงานภาครัฐทั้งในกทม.และต่างจังหวัด ใส่ใจในการส่งเสริมการใช้จักรยาน สามารถบริหารจัดการและให้บริการแก่ประชาชนที่เลือกปั่นจักรยาน สามารถเดินทางได้อย่างปลอดภัย


กำลังโหลดความคิดเห็น