xs
xsm
sm
md
lg

The Voice Kids TH กับแสนยานุภาพเด็กไทย?

เผยแพร่:   โดย: ดรงค์ ฤทธิปัญญา


พลันที่เห็นสปอตโฆษณาที่ปล่อยออกมาก่อนจะปิดฉากรายการเดอะวอยซ์ ไทยแลนด์ ซีซั่น ๑ เมื่อปลายปีที่แล้ว (๒๕๕๕) ว่าจะมีการแข่งขัน “เดอะวอยซ์ คิดส์” ด้วย ภาพของรายการประกวดร้องเพลงเด็กหลายๆ เวทีเริ่มลอยขึ้นมาอย่างถาโถมในหัวสมองผมทันใด ที่ต้องทนฟังเสียงเด็กร้องเพี้ยน แอ๊บเสียง รวมทั้งพยายามร้องให้เหมือนกับต้นฉบับ จนผมถึงกับตั้งคำถามถึงเพื่อนสมาชิกในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เฮ้ย! ประกวดร้องเพลงเด็กในรูปแบบเดอะวอยซ์ เนี่ยนะ มันจะไหวเหรอ เด็กที่มาประกวดอายุจะเท่าไหร่ แล้วฝีมือจะถึงขั้นผู้ใหญ่เลยหรือ

ขอออกตัวก่อนเลยว่า ไอ้ผมก็ไม่ได้เป็นคนที่ร้องเพลงอะไรดีเด่กว่าเขาสักเท่าไหร่หรอก แต่ที่เขียนเรื่องนี้นี่ก็ในฐานะผู้ชมคนหนึ่งเท่านั้น

รายการ “เดอะวอยซ์ คิดส์” (The Voice Kids) เป็นรายการประกวดร้องเพลงแบบเรียลลิตี้โชว์ทางทีวีสัญชาติฮอลแลนด์ ผลิตโดยบริษัททัลปา มีเดีย กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ผลิตเดียวกันกับรายการเดอะวอยซ์ โดยของทางประเทศต้นฉบับเริ่มเผยแพร่รายการครั้งแรกเมื่อมกราคม ปี ๒๕๕๕ มี ๙ ประเทศ ที่ซื้อลิขสิทธิ์รายการไปผลิต ประกอบด้วย แอลเบเนีย,เยอรมนี,จอร์เจีย,เปรู,เกาหลีใต้,ยูเครน,สหรัฐอเมริกา,เวียดนาม รวมทั้งประเทศไทยที่ได้ บริษัท ทรูมิวสิค เรดิโอ จำกัด ในเครือทรู คอร์เปอเรชั่น และ บริษัท โต๊ะกลมโทรทัศน์ จำกัด ในเครือเวิร์คพอยท์ เอนเตอร์เทนเมนท์ ร่วมกันซื้อลิขสิทธิ์มาทำรายการดังกล่าวภายใต้การควบคุมของบริษัทแม่

กติกาการแข่งขันก็จะคล้ายๆ กับการประกวดเดอะวอยซ์ รุ่นใหญ่ แต่แตกต่างกันที่รับสมัครเด็กอายุตั้งแต่ ๗ - ๑๔ ปี จะมีโค้ชผู้ร่วมคัดเลือกเพียงแค่ ๓ คน โดยในบ้านเราจะมีรอบคัดเลือกตามแต่ละภาค จากนั้นก็จะคัดผู้เข้าแข่งขันราวๆ ๑๐๐ คน เข้าสู่การประกวดในรอบ “ไบลนด์ ออดิชั่น” The Blind Audition ในรอบนี้โค้ชทั้ง ๓ คน จะนั่งเก้าอี้หันหลังให้กับผู้เข้าแข่งขัน แล้วปล่อยให้ผู้เข้าแข่งขันร้องเพลงบนเวที เมื่อกรรมการคนใดรู้สึกว่าถูกใจกับเสียงร้องของคนๆ นั้น ก็จะกดปุ่มเพื่อหันมารับเข้าร่วมทีม ซึ่งในกรณีที่มีกรรมการหันมารับเข้าร่วมทีมมากกว่า ๑ คน ก็จะให้ผู้เข้าแข่งขันเลือกว่าจะอยู่ร่วมกับทีมใด แต่ถ้าผู้เข้าแข่งขันร้องเพลงจนจบแล้ว ไม่มีโค้ชผู้ใดกดปุ่มหันมา ก็จะตกรอบ

ซึ่งพอหลังจากผ่านรอบนี้ไปแล้ว ทางโค้ชแต่ละคน ก็จะจับผู้เข้าแข่งขันแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อให้ร้องเพลงประชันเสียงกันในรอบ “แบตเทิ้ล เฟส” (Battle Phase) โดยโค้ชจะทำหน้าที่คัดเลือกผู้ที่ร้องได้ถูกใจที่สุดในแต่ละกลุ่มเป็นผู้เข้าไปสู่ในรอบ “ซิง ออฟ” (Sing Off) ซึ่งรอบนี้ผู้ที่ชนะจากรอบแบตเทิ้ล เฟส ของแต่ละกลุ่ม จะต้องมาร้องเพลงเดิมที่ใช้ในการประกวดรอบ ไบลนด์ ออดิชั่น อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้โค้ชเลือกผู้เข้าแข่งขันที่คิดว่าดีที่สุด ๒ คน จากผู้เข้ารอบทั้งหมด เข้าสู่รอบสุดท้าย คือรอบ “ไลฟ์ โชว์” (Live Show) หรือรอบไฟนอล Final ในรอบนี้เป็นรอบถ่ายทอดสด โดยจะให้ผู้เข้าแข่งขันในแต่ละทีม ได้ร้องเพลง และจะใช้คะแนนโหวตผู้ชมจากทางบ้านรวมกับคะแนนจากโค้ช ซึ่งผู้ที่มีคะแนนสูงสุดในแต่ละทีม ก็จะผ่านเข้าสู่รอบไฟนอล โดยรอบนี้ก็จะให้ผู้เข้าแข่งขันทั้ง ๓ คน ร้องเพลงกันอีกรอบ และสุดท้ายก็จะใช้คะแนนโหวตจากทางบ้านเป็นผู้ตัดสินผู้ที่จะได้เป็น เดอะวอยซ์ คิดส์ คนแรกของประเทศไทย

โดยเงินรางวัลของผู้ชนะเลิศจะได้ทุนการศึกษามูลค่า ๑ ล้าน พร้อมเซ็นสัญญาเป็นศิลปินในค่ายเพลง ยูนิเวอร์แซล มิวสิก ด้วย

สำหรับโค้ชในเมืองไทย ทั้ง ๓ คนนี้ก็ประกอบไปด้วย ปาน ธนพร แวกประยูร นักร้องชื่อดัง นิภาภรณ์ ฐิติธนการ หรือซานิ เอเอฟ ๖ ผู้ชนะเลิศการประกวดการแข่งขันเรียลลิตี้โชว์ รายการอะเคเดมี่ แฟนเทเซีย และ ตู่ ภพธร สุนทรญาณกิจ นักร้องและนักแต่งเพลง ค่ายเลิฟอิส

หลังจากวันนั้น จนถึงวันที่มีสปอตโฆษณารับสมัครผู้เข้าแข่งขัน ผมก็ลองไปดูเดอะวอยซ์ คิดส์ ของชาติอื่นๆ ก็เห็นเด็กหลายๆ แสดงความสามารถการร้องเพลงได้ไม่แพ้ผู้ใหญ่เลยทีเดียว พลางก็คิดว่า เฮ้ย มันคงไม่เลวร้ายหรอกมั้ง ถ้าจะมาเป็นเวอร์ชั่นไทย แต่ยอมรับว่า เมื่อเห็นการประกาศชื่อโค้ชแรกๆ ก็มีความรู้สึก แอบงงไปพักใหญ่ อย่าง ปาน ธนพร คนนี้ คงไม่ต้องพูดสรรพคุณอะไรมากในด้านร้องเพลง แต่ในส่วนของซานิ ก็ต้องยอมรับโดยดุษฎีเลยว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่นเท่าไหร่ แม้ซานิ จะได้เป็นแชมป์เอเอฟ และมีผลงานเพลง ก็ตาม แต่ก็ไม่มั่นใจว่า เขาจะมีเซ้นส์ถึงขนาดที่สามารถคัดผู้ร่วมทีมได้เชียวหรือ ส่วน ตู่ ภพธร ผมกลับมีความเชื่อเล็กๆ ว่า คนเขียนเพลงมักจะมองเห็นศักยภาพของผู้ร้องว่าเหมาะสมกับแนวไหนพอสมควร

ผมนั่งติดตามชมรายการมาจนวันนี้ที่เขียนนี่ก็จบรอบซิงออฟ ของโค้ชทั้ง ๓ คนแล้ว ก็ได้เห็นอะไรจากรายการบ้าง

ตั้งแต่รอบไบลนด์ ออดิชั่น เราจะได้เห็นสิ่งที่ ผมบางเรื่องว่า ชาวบ้านไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นจากชีวิตรอบตัวสักเท่าไหร่ ใครจะไปรู้ว่า บ้านเรามีเด็กที่สามารถร้องเพลงลูกทุ่งสไตล์อังกฤษได้ หรือเด็กเล็กๆ หลายคนที่ร้องเพลงภาษาอังกฤษได้ชัดถ้อยชัดคำว่าผู้ใหญ่บางคน (รวมถึงผมด้วย) หรือเพลงแนวต่างๆ ที่คิดว่าคนทั่วไปไม่เคยฟัง รวมทั้งการใช้เทคนิคต่างๆ ที่ไม่แพ้นักร้องอาชีพ ในเพลงไทยสากล ขณะที่เพลงลูกทุ่งอันคุ้นหูของคนส่วนใหญ่ หลายๆ คนก็ร้องได้ดีทั้งเทคนิค และอารมณ์จนพลางคิดว่า ถ้าเราหลับตาฟังก็คงนึกว่านักร้องอาชีพกำลังร้องเพลงให้เราฟังกระมัง

แต่ก็ใช่ว่าจะทุกคนที่มาประกวดเสียทีเดียวนะ บางคนที่โค้ชเลือก เราก็แอบมีความรู้สึกว่า “เอ๊ะ ถึงแล้วเหรอ?” แต่นั่นก็เป็นวิจารณญาณของโค้ชเขา

รวมไปถึงกรณี “ดราม่าเล็กๆ” ที่เกิดในรายการ ที่ผู้ชมส่วนใหญ่รู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมคนนั้นไม่เข้ารอบ คนนี้ไม่เข้ารอบ ซึ่งมันเกิดจากการที่เราได้รู้ปูมหลังจากการที่รายการได้ปูเรื่องราวของผู้เข้าแข่งขันคนนั้นจากเริ่มต้น ไปจนสู่การแสดงบนเวที จนเรารู้สึกอินไปว่า โถ เขาอุตส่าห์มาตั้งไกล เสียงก็ดี๊ดี ทำไมโค้ชไม่เลือกนะ แต่อย่างที่บอกว่า โค้ชเขาไม่ได้รู้ (?) เหมือนกับที่พวกเราได้ดู จึงตัดสินใจกันตามความน่าจะเป็นของเขา ... ตรงนี้ก็เป็นอีกสีสันหนึ่งของรายการตามสไตล์เดอะวอยซ์ ตั้งแต่รุ่นใหญ่แล้ว ที่ผมว่าก็ดูไม่น่าเกลียดเท่ากับรายการเรียลลิตี้โชว์อันเกลื่อนกลาดในบ้านเรา

ผมแอบมองเห็นเล็กๆ ถึงวิถีของผู้เข้าแข่งขันในรายการ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่พ่อแม่สนับสนุน นั่นอาจหมายถึงการดันดาราของพ่อแม่เอง ถ้าบ้านไหนมีตังค์หน่อยก็ส่งลูกไปเรียนร้องเพลงกับโรงเรียนสอนร้องเพลง ถ้าบ้านที่มีฐานะทางการเงินน้อยลงมาหน่อยก็อาจใช้วิธีการไปฝากกับครูเพลง คณะลิเก บางคนก็เป็นนักร้องเดินสายประกวด หรืออีกส่วนก็เกิดจากการฝึกฝนด้วยตัวเองอย่างการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ เข้าเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อเข้าไปดูแนวทางในการร้องเพลงให้เป็นสไตล์ของตัวเอง ตรงนี้ถือเป็นสิ่งที่น่าเลียนแบบสำหรับเด็กๆ คนอื่น ในการใฝ่รู้ในสิ่งที่ชอบ

แต่อย่างว่า ถ้าพ่อแม่ไม่เอาด้วยนี่ เด็กบางคนก็คงต้องอาจแอบร้องเพลงแบบลับๆ จนเมื่อถึงเวลาอันสมควรก็อาจจะได้แสดงแสนยานุภาพให้บุพการีรู้ถึงความสามารถของตัวเองให้ภูมิใจ ก็เป็นได้

ผ่านมาถึงรอบแบตเทิล อันนี้จะได้เห็นฝีมือของโค้ชทั้ง ๓ คน บวกกับผู้ช่วยที่มาช่วยในการเลือกเพลงและไกด์ไลน์การร้องและการแสดงบนเวที (เท่าที่ได้เห็นในรายการนะ) ต้องถือว่าน่าตกใจพอสมควรที่คนอย่าง บอยด์ ชีวิน โกสิยพงษ์ เจ้าพ่อเพลงรักอันลือลั่น มาเป็นผู้ช่วยให้กับโค้ชตู่ ภพธร นั่นทำให้ผู้ชมหลายคนค่อนข้างคาดหวังกับโชว์ที่ทั้ง ๒ คนนี้จะปั้นแต่งจับเด็กน้อยมาแสดงให้ได้ชมกัน และก็รู้สึกว่า ไม่ผิดหวังเท่าไหร่นัก ในแต่ละโชว์ค่อนข้างไม่ซ้ำกัน ให้ตัวนักร้องได้มีบทบาทเด่น แม้บางโชว์จะเหมือนจงใจให้บางคนเด่นก็เถอะ ในขณะที่โค้ช ปาน ธนพร และโค้ชซานิ ก็ทำออกมาได้น่าสนใจตามลำดับเลยทีเดียว

การแบตเทิลนี้ดีอย่างหนึ่ง เราจะได้เห็นพัฒนาการของเด็กแต่ละคนว่าสามารถทำตามโจทย์ที่โค้ชกำหนดให้ได้หรือไม่ ซึ่งสิ่งที่น่าเหลือเชื่อคือ บางคนกลับทำได้ดีกว่าตอนที่ร้องในรอบไบลนด์ ออดิชั่นมาก แต่บางคนก็น่าเสียดาย เพราะเมื่อเข้าสู่รอบซิง ออฟ ได้กลับไปร้องเพลงเดิม กลับทำให้ความสามารถนั้นดรอปลงไป จนโค้ชไม่ได้คัดเลือกเข้าสู่รอบไลฟ์ โชว์ ในที่สุด

คอมเมนต์ที่ผมเห็นได้ชัดในทางคลิปรายการย้อนหลังทางเว็บไซต์ยูทิวบ์ คือการวิพากษ์ไปยังตัวโค้ช กับ การใช้วิจารณญาณส่วนตัวเลือกผู้เข้าแข่งขันให้ผ่านไปสู่รอบต่างๆ ซึ่งแน่นอน คำวิจารณ์ ชอบ ไม่ชอบ ทำไมคนนั้นคนนี้ไม่ได้ ก็เยอะแยะ ผมเองดูก็ยังเห็นว่า บางคนโค้ชไม่น่าจะเลือกให้ผ่านรอบลึกๆ ได้ เช่นเดียวกับบางความเห็นในอินเทอร์เน็ตเหมือนกัน แต่เท่าที่จับสังเกตลักษณะในการคัดเลือก ณ เวลานั้น โค้ชบางคน จะใช้หลักในความผิดพลาดน้อยที่สุด เป็นผู้คัดเลือก แต่ในขณะที่โค้ชบางคน ก็จะใช้อารมณ์ที่ถ่ายทอดไปยังเพลง และเทคนิคของผู้ร้อง เป็นตัวตัดสินเช่นกัน ....

ถ้าเราลองสมมุติตัวเองนั่งเป็นโค้ชที่ได้ฟังเพียงครั้งเดียวและต้องตัดสินใจเลือก ณ บัดนั้น (จากภาพที่เห็นในรายการ) ก็ต้องยอมรับเลยว่า เป็นเรื่องยากเหมือนกันที่จะให้ใครสักคนผ่านเข้ารอบไปได้

อีกเรื่องหนึ่งที่มีการพูดถึงกันพอสมควรในช่วงแรกๆ ของรายการ คือ การเพิ่ม จอย รินลณี ศรีเพ็ญ มาเป็นพิธีกรร่วมอีกหนึ่งคน ที่หลายๆ คนมองว่าไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่ เพราะตัว กบ ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี พิธีกรหลัก ก็ทำหน้าที่ได้ ผมกลับมองเห็นต่างว่า ในกรณีการเพิ่มคุณจอย มาเป็นพิธีกรนั้น ถือเป็นการสร้างความสมบูรณ์ในรายการได้ดีทีเดียว เนื่องจากรายการมีแต่เด็กๆ เข้าร่วมแข่งขัน จึงจำเป็นที่จะต้องมีใครสักคนมาช่วยทำให้เด็กๆ เหล่านั้น คลายความตื่นเต้นลง ก่อนที่จะเดินเข้าสู่เวทีการประกวด ซึ่งต่างจากเวอร์ชันปกติ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่เข้าแข่งขัน ที่สามารถแบกรับความกดดันได้ดีกว่า (ในเวอร์ชันต่างประเทศ ก็มีเพิ่มมาอีก ๑ คนเช่นกัน ผมก็คาดว่า คงเป็นเหตุผลเดียวกับที่ผมคาดการณ์นั่นล่ะ)

ถึงตรงนี้ ณ วันที่ผมเขียน (๑๖ มิ.ย.๕๖) ในสัปดาห์หน้าก็จะเป็นเทปสุดท้าย และรอบสุดท้ายของการแข่งขันแล้ว ก็คาดว่าคงจะได้เห็นน้องๆ ทั้ง ๖ คน ได้งัดเอาความสามารถมาโชว์สดๆ กันแบบเต็มที่ โดยผู้ชมผ่านหน้าจอจะเป็นผู้ร่วมตัดสินผู้ชนะคนแรกของประเทศ ชอบคนไหน เชียร์คนไหน ถ้ามีตังค์ก็โหวตเอาแล้วกัน

ส่วนผู้ที่ตกรอบตั้งแต่รอบแบตเทิล แน่นอนว่า ตามกฎจะไม่สามารถที่จะกลับมาเข้าร่วมแข่งขันในรายการได้อีก ทีนี้มีคำถามว่า แล้วถ้าจะไปสมัครแข่งในเดอะวอยซ์ ปกติ ถ้ามีอายุถึงโควต้าแล้วจะสามารถทำได้หรือไม่ ผมลองสอบถามทีมงานในแฟนเพจอย่างเป็นทางการแล้วแต่ ทางทีมงานก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นปริศนาต่อไป ..... แต่ไม่ต้องกลัวหรอกครับ ผมเองเชื่อว่า หลายๆ คนที่เข้าการแข่งขันครั้งนี้ จะมีงานในพื้นที่เข้ามาสร้างรายได้ให้กับน้องๆ อย่างแน่นอน หรืออย่างน้อย ก็เป็นบันไดเพื่อไปสู่การแข่งขันในเวทีอื่นๆ ต่อไปได้เยอะ ....

แต่ที่ผมคาดหวังไว้แน่ๆ ...... ผมหวังว่ารายการจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กๆ หลายๆ คนที่ได้ดูกลับไปฝึกซ้อมฝีมือ เพื่อได้เข้ามาโชว์ศักยภาพมากขึ้นในปีหน้า ประกาศศักดาให้ชาวไทยได้รู้ว่า เด็กอย่างหนูก็มีดี นะจ๊ะ

กำลังโหลดความคิดเห็น