xs
xsm
sm
md
lg

“พงศ์เทพ เทพกาญจนา” กับ การยุบโรงเรียนที่สมุทรสาคร

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ
ผมเคยบอกกับคุณผู้อ่านไว้ตั้งแต่ต้นว่าคอลัมน์นี้อยากจะเขียนอะไรเกี่ยวกับชีวิตตัวเอง มากกว่าที่จะเน้นไปตามกระแส แต่มีเสียงเรียกร้องจากผู้อ่านท่านหนึ่ง อยากให้ผมเขียนเรื่องแนวคิดการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก 14,186 แห่ง ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ดูบ้าง สิ่งที่ผมจะกล่าวถึงต่อไปนี้ อยากจะเน้นถึง “สมุทรสาคร” จังหวัดบ้านผมเป็นหลัก โดยเฉพาะตัวตนของรัฐมนตรีที่ได้ชื่อว่าเป็นคนบ้านเดียวกับผมกันก่อน

หากจะกล่าวถึงตระกูลการเมืองในสมุทรสาคร ถ้า พงศ์เทพ เทพกาญจนา ไม่ได้มาเป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการในวันนี้ ก็คงคิดไปว่าที่นี่มีเพียงนักการเมืองของสองตระกูล คือ “ทับสุวรรณ” จากพรรคประชาธิปัตย์ กับ “ไกรวัตนุสสรณ์” ซึ่งปัจจุบันสังกัดพรรคเพื่อไทย โดยส่วนมากตระกูลที่มีฐานะในสมุทรสาครมักจะทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับประมง ห้องเย็น และแปรรูปสัตว์น้ำ ซึ่งมีอยู่หลายตระกูล อาทิ ศิริชัยเอกวัฒน์ แสงสุขเอี่ยม ปัญญาสาคร ธาวนพงษ์ ฯลฯ

สุรินทร์ เทพกาญจนา บิดาของพงศ์เทพ เป็นนักธุรกิจประมงครบวงจรคนหนึ่งที่ลงสนามการเมือง โดยได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. มาแล้ว 2 สมัย เมื่อปี 2512 ในสังกัดพรรคสหประชาไทย และปี 2518 ในสังกัดพรรคธรรมสังคม กระทั่งได้เป็น รมว.อุตสาหกรรม แต่ในการเลือกตั้งเมื่อ 4 เม.ย. 2519 ตำแหน่ง ส.ส.สมุทรสาคร ตกไปเป็นของ อเนก ทับสุวรรณ ซึ่งได้รับเลือกให้เป็น ส.ส.สมัยแรกพร้อมกับ ณรงค์ สุนทรวร ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อมองไปถึงเส้นทางชีวิตของพงศ์เทพ จะพบว่าเขาเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งโดยปกติถ้าเป็นลูกหลานคนสมุทรสาครส่วนมากหากมาจากตระกูลที่มีฐานะ ก็มักจะส่งลูกไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ อย่างตระกูลไกรวัตนุสสรณ์ ทั้ง อุดร ไกรวัตนุสสรณ์ อดีตนายก อบจ.สมุทรสาครผู้ล่วงลับ และ อุดม ไกรวัฒนุสสรณ์ หรือปลัดแต ก็จบจากโรงเรียนสวนสุหลาบวิทยาลัย เช่นเดียวกับ ครรชิต ทับสุวรรณ บุตรของอเนกก็เป็นรุ่นน้องกัน

พงศ์เทพสำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อด้วยเนติบัณฑิต ระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ทำงานเป็นผู้พิพากษาก่อนที่จะลาออกจากราชการ ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคพลังธรรม เมื่อปี 2538 แต่สอบตก ไปเป็นรองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จังหวัดสมุทรสาคร ปี 2539 ซึ่งได้ร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ก่อนมาร่วมงานกับพรรคไทยรักไทย

ทุกวันนี้หลังจากที่พงศ์เทพสมรสกับ พนิดา วัธนเวคิน มีบุตรสาว 4 คน ได้แก่ แพนเค้ก พินน์บอล พัตเตอร์ และพาสเวิร์ด เขาซื้อบ้านในซอยทรงสะอาด ถนนวิภาวดีรังสิต หลังสำนักงานใหญ่การบินไทย ส่วนบ้านที่ตัวเมืองสมุทรสาคร ปัจจุบันมี วรารัตน์ เทพกาญจนา ผู้เป็นมารดาอาศัยอยู่ โดยที่สุรินทร์ผู้เป็นบิดานั้นถึงแก่กรรมเมื่อปี 2541 หรือเมื่อ 15 ปีก่อน ส่วนพี่สาวอาศัยอยู่ที่บ้านอีกหลังหนึ่งในตลาดมหาชัย

ช่วงชีวิตทางการเมืองของพงศ์เทพ แทบจะเรียกได้ว่าให้ความสนใจกับการเมืองระดับชาติมากกว่า อาจเป็นเพราะบิดาอย่างสุรินทร์ได้ถึงแก่กรรมไปนานแล้ว บารมีทางการเมืองของตระกูลเทพกาญจนาจึงไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก แตกต่างจากตระกูลไกรวัฒนุสสรณ์ และทับสุวรรณ ที่ขับเคี่ยวทางการเมืองในสมุทรสาครมาตลอด ยิ่งมีศึกสายเลือดจากคดียิง “นายกฯ ตุ่น” ผู้ล่วงลับ ก็ยิ่งเป็นที่ถูกจับตามองมากยิ่งขึ้น

มาถึงนโยบายยุบโรงเรียน เมื่อวันก่อน พงศ์เทพเปิดการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) ทั่วประเทศ พร้อมมอบนโยบายการเตรียมการก่อนเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2556 หนึ่งในนั้นคือนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้นำไปดำเนินการ ถ้าโรงเรียนแห่งใดที่มีจำนวนนักเรียนน้อยมาก ด้อยคุณภาพ และมีโรงเรียนใกล้เคียงที่มีคุณภาพรองรับ ถือว่าอยู่ในข่ายไม่จำเป็นต้องคงอยู่ ก็ให้ยุบรวมโรงเรียนแห่งนั้นเสีย

เขากล่าวว่า โรงเรียนขนาดเล็กบางแห่ง อย่างที่ จ.สมุทรสาครมีนักเรียนแค่ประมาณ 20 คน เป็นชาวต่างชาติ (พม่า) ทั้งนั้น ถามว่าอย่างนี้จะเปิดไว้ทำไม คุณภาพก็ไม่ได้ ขณะที่โรงเรียนข้างเคียงที่มีคุณภาพก็อยู่ห่างไม่ถึง 1 กิโลเมตร ถ้ายุบโรงเรียนแล้วย้ายเด็กไปเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพมากกว่า จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวนักเรียนเองและเป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาในภาพรวม

ทันทีที่มีกระแสข่าวออกมา แน่นอนว่าย่อมมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและต่อต้าน แต่ที่น่าสนใจก็คือ พงศ์เทพได้ยกตัวอย่างโรงเรียนขนาดเล็กในจังหวัดบ้านผม ซึ่งปรากฏว่าโรงเรียนที่กล่าวถึงมีอยู่จริง นั่นก็คือ โรงเรียนวัดราษฎร์ธรรมาราม ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่สุดในจังหวัดสมุทรสาคร ตั้งอยู่ที่บริเวณนาเกลือ ใกล้ชายทะเลอ่าวมหาชัย ห่างจากตัวเมืองสมุทรสาครเกือบ 30 กิโลเมตร เขตรอยต่อระหว่าง จ.สมุทรสาคร กับ จ.สมุทรสงคราม

โรงเรียนแห่งนี้ได้รับงบประมาณจาก อบจ.สมุทรสาคร มีนักเรียน 37 คน เป็นบุตรหลานครอบครัวลูกเรือประมง แรงงานต่างด้าว และชาวนาเกลือ ส่วนครูประจำการมี 3 คน และครูพิเศษ 1 คน ทันทีที่มีข่าวออกมา ส่วนใหญ่ต่างไม่เห็นด้วย เพราะโรงเรียนแห่งใหม่ไกลจากถิ่นที่พักอาศัย เมื่อบุตรหลานต้องออกจากหมู่บ้านโดยใช้ถนนพระราม 2 ก็ต้องเสี่ยงอันตราย ล่าสุดจึงยกเลิกแนวคิดยุบโรงเรียน พร้อมขอความร่วมมือชุมชนให้ช่วยกันประคับประคองโรงเรียนแห่งนี้
โรงเรียนบ้านชายทะเลกาหลง ถูกยุบโรงเรียนเป็นแห่งแรกใน จ.สมุทรสาคร
แม้แนวคิดการยุบโรงเรียนจะยังไม่เป็นที่ตกผลึกจนเป็นที่ยอมรับของของสังคม แต่ก็มีข่าวว่า สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร เริ่มมีการยุบโรงเรียนแล้ว 4 แห่ง หนึ่งในนั้นคือ โรงเรียนบ้านชายทะเลกาหลง มีนักเรียน 44 คน ในหมู่บ้านที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรนาเกลือและชาวประมง ในวันเปิดภาคเรียนที่จะถึงนี้จะต้องไปเรียนที่โรงเรียนวัดกาหลง ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 5 กิโลเมตร โดยจะจัดรถกระบะคอยรับส่งแก่นักเรียน

ส่วนอีก 3 แห่งที่เหลือ ก็มีการโอนย้ายนักเรียนบางส่วนก่อนที่จะปิดตัวลงอย่างเป็นทางการ ได้แก่ โรงเรียนวัดเกาะ(สำลีราษฎร์อุปถัมภ์) มีนักเรียน 50 คน โอนย้ายเฉพาะชั้น ป.5 และ ป.6 ไปโรงเรียนวัดบางปลา ห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร, โรงเรียนวัดศรีวนาราม มีนักเรียน 35 คน โอนย้ายชั้น ป.1 ถึง ป.6 ไปโรงเรียนวัดใหญ่บ้านบ่อ ห่างออกไปประมาณ 6 กิโลเมตร และ โรงเรียนวัดนาขวาง มีนักเรียน 61 คน จะโอนย้ายเฉพาะชั้น ป.4 และ ป.5 ไปเรียนที่โรงเรียนวัดกาหลง ห่างออกไปประมาณ 4 กิโลเมตร โดยจะมีการจัดสรรงบประมาณค่ารถคนละ 15 บาทต่อวัน

ความเป็นมาโรงเรียนบ้านชายทะเลกาหลงคร่าวๆ ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2483 หรือกว่า 72 ปีก่อน ชาวบ้านที่นี่ได้ก่อตั้งโรงเรียนโดยเอาซากเรือสำเภาจีนที่มาอับปางอยู่ที่ชายทะเลกาหลง ขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 6 เมตร มาก่อสร้างเป็นอาคารเรียน ก่อนที่จะย้ายไปยังอาคารเรียนถาวรในปี 2509 ใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอนโดยอุปกรณ์จากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม โครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 6 ชั้นเรียน และได้รับการติดตั้งจานสัญญาณไอพีสตาร์ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนผ่านระบบอินเทอร์เน็ตอีกด้วย

ผมได้โทรศัพท์สอบถาม “ครูซัน” หรือ ว่าที่ร้อยตรี เกียรติศักดิ์ เริงชัยภูมิ รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านชายทะเลกาหลง จากเบอร์โทรศัพท์ที่เขาเคยตั้งกระทู้ตามเว็บบอร์ดต่างๆ เพื่อขอรับบริจาคหนังสือเก่า หรืออุปกรณ์ที่ใช้จัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะกล้องจุลทรรศน์เพื่อประกอบการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ เขากล่าวว่าเพิ่งกลับมาถึงโรงเรียน ยังไม่ได้รับคำสั่งใดๆ ให้มีการยุบโรงเรียน เพียงแต่จะนำนักเรียนทั้งหมดไปเรียนร่วมกันที่โรงเรียนวัดกาหลงอยู่ก่อนแล้ว

ครูซันอธิบายกับผมว่า สพป.สมุทรสาครได้ให้รถกระบะเพื่อรับ-ส่งนักเรียนโดยเฉพาะ และเขาจะต้องไปช่วยสอนนักเรียนที่นั่นด้วย ก่อนที่จะส่งนักเรียนกลับบ้านในช่วงเย็น ส่วนตัวเขาพักอาศัยอยู่ข้างนอกต่างหาก แต่หากเป็นกิจกรรมพิเศษ เช่น วันแม่แห่งชาติ วันพ่อแห่งชาติ ก็จะจัดกิจกรรมที่โรงเรียนบ้านชายทะเลกาหลงต่างหาก โดยที่ผ่านมาไม่มีการแต่งตั้งผู้อำนวยการโรงเรียนลงมา เนื่องจากมีนักเรียนน้อยกว่า 60 คน ซึ่งคิดจากอัตราส่วนครู 1 คนต่อนักเรียน 25 คน

เขายอมรับว่าที่ผ่านมาโรงเรียนแห่งนี้ประสบปัญหาน้ำทะเลหนุน เกิดน้ำท่วม และขาดแคลนอุปกรณ์การเรียน โดยเฉพาะกล้องจุลทรรศน์ ที่ผ่านมามีนักจัดรายการวิทยุชุมชนรายหนึ่งในจังหวัด ให้ความช่วยเหลือประชาสัมพันธ์ กระทั่งได้กล้องจุลทรรศน์มา ถึงกระนั้นเขายืนยัน ณ เวลานั้นว่า โรงเรียนไม่ได้ถูกยุบ แต่เพื่อความชัดเจนต้องรอคำสั่งหลังวันเปิดภาคเรียน 15 พฤษภาคมนี้ก่อน จึงจะบอกได้ว่าโรงเรียนจะถูกยุบหรือไม่
ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ โรงเรียนบ้านชายทะเลกาหลง
กระแสการยุบโรงเรียน แน่นอนว่าย่อมมีคนที่เห็นด้วยและคัดค้าน บางคนถึงขนาดตั้งโจมตีไปว่า ลูกของพงศ์เทพ เรียนหนังสือที่ไหน สำนักข่าวบางแห่งค้นข้อมูลจากบัญชีทรัพย์สิน พบว่าลูกสาวคนโตทำงานที่ฮ่องกง คนรองเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐฯ แต่ลูกสาวอีก 2 คน เรียนที่โรงเรียนบางกอกพัฒนา หลักสูตรนานาชาติ ตั้งอยู่ในซอยลาซาล บางนา ซึ่งภายหลังมีผู้ให้ข้อมูลว่าค่าเทอมประมาณ 4 แสนบาท แต่เก็บ 2 เทอม ตกปีละ 8 แสนบาทต่อคน

แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็โต้กลับไปว่า แนวคิดการยุบโรงเรียนเกิดขึ้นตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมัยที่แล้ว ร้อนไปถึง ชินวรณ์ บุญยเกียรติ อดีต รมว.ศึกษาธิการ ต้องชี้แจงว่า ที่กำหนดไว้ว่าจะยุบ 7,000 แห่ง เป็นแนวคิดของคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา ที่มองว่าโรงเรียนเหล่านั้นด้อยคุณภาพ แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์กำหนดแนวทางว่าก่อนที่จะยุบโรงเรียนต้องสร้างโรงเรียนที่มีคุณภาพรองรับก่อน และส่งเสริมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีความพร้อมให้ยืนอยู่บนขาตัวเองได้

เขาอธิบายว่า แนวคิดการยุบโรงเรียนในสมัยนั้นแตกต่างจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มุ่งจะยุบโรงเรียนโดยยึดเอาจำนวนนักเรียนที่น้อยกว่า 60 คนเป็นตัวตั้ง ถือเป็นเรื่องที่ขัดกับหลักการตามรัฐธรรมนูญ และยังกระทบต่อความรู้สึกของผู้ปกครอง นักเรียน และสิทธิชุมชนค่อนข้างสูง รวมทั้งขอเรียกร้องไปยังโรงเรียนที่มีความพร้อม และชุมชนที่เห็นว่าโรงเรียนควรมีเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ก็ต้องรักษาสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

โดยส่วนตัวเห็นด้วยหรือไม่กับการยุบโรงเรียน บอกตามตรงว่าถ้า รมว.ศึกษาธิการจะยุบโดยเน้นปริมาณในคราวเดียว ไม่ได้สอบถามความเห็นจากชาวบ้านหรือชุมชนว่าพร้อมที่จะย้ายลูกหลานไปเรียนที่อื่นหรือไม่ ผมไม่เห็นด้วยแน่ๆ ถึงแม้จะอ้างว่าจะจัดรถรับส่งให้ จัดงบค่ารถไปโรงเรียนหัวละ 10-15 บาทให้ ย้ายไปเรียนที่ใหม่มีอุปกรณ์พร้อม ผลการเรียนลูกหลานจะดีขึ้น แต่ผมสงสัยว่า ชาวบ้านเขาจะเชื่อจริงๆ เหรอ?
โรงเรียนวัดเกาะ(สำลีราษฎร์อุปถัมภ์) เริ่มโอนย้ายนักเรียนบางส่วนไปที่อื่น
ผมเชื่อว่าการดำรงอยู่ของโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชนไม่ได้มุ่งหวังที่จะแข่งขันกับใคร หากแต่เป็นเพราะชาวบ้านต้องการให้ลูกหลานได้มีวิชาความรู้ จึงก่อตั้งโรงเรียนอยู่ในหมู่บ้านและชุมชน เพื่อจะได้ดูแลลูกหลานสะดวก กับอีกส่วนหนึ่งคือครอบครัวที่มีฐานะยากจน ไม่สามารถส่งลูกไปเรียนโรงเรียนในที่ไกลๆ ได้ โรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่มีสิ่งปลูกสร้างพร้อม บางโรงเรียนใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยอย่างโทรทัศน์ดาวเทียมของมูลนิธิศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมอยู่แล้ว

สิ่งที่น่าคิดต่อจากนี้ไปก็คือ เมื่อยุบโรงเรียนขนาดเล็ก โดยให้ไปเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่อีกแห่ง เมื่อต้องเจอวัฒนธรรมการเรียนรู้ต่างกัน เด็กต้องแข่งขันกันกับผู้อื่นเพื่อชิงดีชิงเด่นกัน โดยไม่ได้มองถึงคุณค่าที่แท้จริงของการเรียนรู้ คือเพื่อให้อ่านออกเขียนได้ นำไปสู่การรู้วิชาอย่างเข้าใจและลึกซึ้ง และเติบโตขึ้นโดยใช้ชีวิตเอาตัวรอดในสังคมได้ ผมว่านี่คือความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษา ที่ไม่ได้ทำลายแค่ตัวนักเรียน แต่ยังทำลายจิตวิญญาณในระดับชุมชนไปด้วย

หากชาวบ้านในชุมชนได้เห็นสิ่งปลูกสร้าง ที่ครั้งหนึ่งบรรพบุรุษเคยร่วมกันก่อตั้งโรงเรียน ทั้งบริจาคที่ดิน ช่วยกันก่อสร้างอาคารเรียน และช่วยกันประคับประคอง เป็นโรงเรียนให้บุตรหลานได้ศึกษาเล่าเรียนเสมือนบ้านหลังที่สอง มาวันนี้ถูกปิดตายเพราะถูกคำสั่งให้ยุบโรงเรียน เพียงแค่มีนักเรียนไม่ถึง 60 คน ชาวบ้านเขาจะรู้สึกอย่างไร ในทางกลับกัน เมื่อลูกหลานต้องไปเรียนที่โรงเรียนซึ่งอยู่ห่างไกลจากชุมชนหลายกิโลเมตร พ่อแม่ผู้ปกครองจะรู้สึกเป็นห่วงขนาดไหน

เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริม ถ้าจำเป็นจะต้องยุบโรงเรียนจริงๆ ควรที่จะพิจารณาเป็นรายกรณีตามความสมัครใจของชุมชน บางโรงเรียนเหลือนักเรียนแค่ 3 คน หากผู้ปกครองเห็นด้วยก็สมควรยุบ แต่โรงเรียนขนาดเล็กที่ยังคงเปิดทำการเรียนการสอนตามปกติ อะไรที่ไม่ดีก็ควรปรับปรุงแก้ไข ใช้เทคโนโลยีช่วย มีโรงเรียนพี่เลี้ยงมาช่วยเป็นครั้งคราว หรือถ้าไม่มีงบก็เปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับไปดูแล ไม่ใช่มาทำลายแบบหักด้ามพร้าด้วยเข่าอย่างนี้

คนที่เกิดมาบนกองเงินกองทอง เรียนหนังสือที่โรงเรียนชื่อดังในกรุงเทพฯ จะเข้าใจจิตวิญญาณของโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชนหรือไม่ ผมไม่รู้ หากแต่ในความเป็นจริงนั้น แม้การศึกษาเป็นสิ่งจำเป็น แต่ไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของชีวิต ทุกวันนี้คนที่จบปริญญาตรีออกมายังคงเดินวิจัยฝุ่นกันอยู่ ต่อให้เก่งแค่ไหนหากเอาตัวรอดในสังคมไม่ได้ก็ ถือเป็นความล้มเหลวของชีวิต ซึ่งร้ายแรงกว่าการปฏิรูปการศึกษาล้มเหลวเสียด้วยซ้ำ

อย่าไปบังคับให้เด็กในชุมชนจะต้องเก่งต้องเลิศในโรงเรียนขนาดใหญ่ จากการบังคับให้ย้ายโรงเรียนจนลืมรากเหง้าของตัวเอง ขอแค่ให้เขาได้มีอิสระในการศึกษาขนาดเล็กที่เข้าถึงชุมชนยังดำรงอยู่ ให้เด็กไทยอ่านออกเขียนได้อย่างทั่วถึง มีความรู้ในระดับที่ทำให้เขาได้ใช้ชีวิตอยู่รอดปลอดภัยก็พอแล้วครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น