วันที่ 24 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในด้านการเมืองการปกครองของประเทศไทย เพราะเป็นวันครบรอบของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 นับไปนับมาจากวันนั้น จนถึงวันนี้ ก็ 80 ปีแล้วสินะครับ
จากจุดเริ่มต้นเมื่อแปดสิบปีก่อน ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและยุคสมัย ประเทศชาติพัฒนาเจริญก้าวหน้าขึ้นทางด้านวัตถุ จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นถึง 10 เท่า จากประมาณ 6 ล้านคน เป็น 60 กว่าล้านคนในปัจจุบัน เศรษฐกิจขยายตัวไปสู่ระบบทุนนิยม สังคมและวัฒนธรรมไทยเปลี่ยนโฉมไปมากมาย
รัฐธรรมนูญไทยที่ประกาศใช้ในปี 2475 โดยคณะราษฎร รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ปี 2550 มีที่มาจากการรัฐประหารโดยทหาร ร่างโดยสสร. ลงประชามติโดยประชาชน ถึงวันนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ยังมีปัญหาลูกผีลูกคนอยู่
วัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย หรือเปลี่ยนไปตามข้อกล่าวอ้างของผู้มีอำนาจแต่ละชุด แต่เป้าหมายหลักของการเมืองแบบประชาธิปไตย คือประชาชนต้องมีอำนาจสูงสุด
วันนี้ ขอย้อนยุคกลับไปบรรยากาศทางการเมือง เมื่อประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ และดูรัฐธรรมนูญชั่วคราวสสมัย 2475 ขอค้นข้อมูลบางมุมมาเล่าคุณผู้อ่านก็แล้วกันนะครับ
พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกแห่งราชอาณาจักรสยาม ตอนนั้นประเทศไทยเรา ยังใช้ชื่อประเทศสยามอยู่นะครับ มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงสามวันเท่านั้น เรียกว่าคณะราษฏรร่างเตรียมพร้อมเอาไว้แล้ว
จึงนับเป็นผลพวงโดยตรงหลังการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองจากขระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ) ในขณะที่เกิดการปฏิวัตินั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประทับ ณ พระตำหนักวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
พระราชบัญญัติธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกในประวัติศาสตร์ไทย ร่างขึ้นโดยแกนนำสำคัญภายในคณะราษฎร วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ กลับพระนคร ในวันเดียวกันนั้นก็โปรดเกล้าฯ ให้คณะราษฎรเข้าเฝ้าฯ และทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาสมาชิกคณะราษฎร
นอกจากนี้คณะราษฎรยังถวายร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามด้วย แต่พระองค์ทรงขอตรวจร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวก่อน แล้วทรงลงพระปรมาภิไธยในวันรุ่งขึ้น โดยทรงพระอักษรกำกับต่อท้ายชื่อพระราชบัญญัตินั้นว่า "ชั่วคราว" เพราะทรงเห็นว่าหลักการประชาธิปไตยของผู้ก่อการฯหรือคณะราษฎร ไม่พ้องกันกับพระประสงค์ของพระองค์ แต่ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยเพราะเหตุการณ์ฉุกเฉินในขณะนั้น
รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีทั้งหมด 39 มาตรา มีการจัดวางโครงสร้างอำนาจ ออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ อำนาจของกษัตริย์, อำนาจของสภาผู้แทนราษฎร, อำนาจของคณะกรรมการราษฎร, และ อำนาจศาล.
อำนาจของกษัตริย์ คือ ประมุขสูงสุดของประเทศ ซึ่งการตราพระราชบัญญัติ และการวินิจฉัยคดีของศาล จะกระทำในนามของกษัตริย์ แต่ถ้ากษัตริย์ไม่สามารถทรงปฏบัติหน้าที่ได้ หรือ ไม่อยู่ในพระนคร ให้เป็นอำนาจของ คณะกรรมการราษฎร ที่จะทำหน้าที่แทน การกระทำใดๆของกษัตริย์ ต้องได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎร และมีกรรมการราษฎร ผู้หนึ่งผู้ใด ลงนามด้วย
อำนาจของสภาผู้แทนราษฎร คือ อำนาจออกพระราชบัญญัติ ซึ่งหากกษัตริย์ได้ประกาศให้ใช้แล้ว เป็นอันบังคับใช้ได้ แต่หากกษัตริย์ มิได้ประกาศใช้พระราชบัญญัตินั้นใน 7 วัน และสภาผู้แทนราษฎร ลงมติยืนตามมติเดิม ให้ถือว่าพระราชบัญญัตินั้น ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ อนึ่ง สภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจถอดถอน กรรมการราษฎร หรือ พนักงานรัฐบาลผู้หนึ่งผู้ใด ก็ได้
นับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้ ไปจนกว่า จำนวนราษฎรทั่วพระราชอาณาเขต ได้สอบไล่ระดับประถมศึกษา เกินกว่าครึ่ง และไม่เกิน 10 ปี จึงจะมีสมาชิกสภาผู้แทน ที่ราษฎร ได้เลือกตั้งขึ้นเอง แต่ในระยะเวลา 6 เดือน หรือ จนกว่าการจัดประเทศ เป็นปกติเรียบร้อย
ให้ "คณะราษฎร" จัดตั้ง "ผู้แทนราษฎรชั่วคราว" จำนวน 70 นาย เป็นสมาชิกในสภา หลังจากนั้น ให้ราษฎรเลือกผู้แทน จังหวัดละ 1 คน เว้นแต่ จังหวัดที่มีราษฎรเกินกว่า 100,000 คน ให้มีผู้แทน เพิ่มขึ้นอีก 1 คน และถ้ามีเศษเกินครึ่ง ก็ให้มีผู้แทน เพิ่มขึ้นอีก 1. ทั้งนี้
ให้ "สมาชิกสภา" ที่เป็นอยู่ก่อนหน้า 70 คนนั้น เป็น "สมาชิกประเภทที่ 2" และให้มีจำนวนเท่ากับ "สมาชิกสภาที่ราษฎรได้เลือกมา" กล่าวคือถ้าจำนวนเกิน ให้เลือกกันเอง ว่าผู้ใดจะได้อยู่ต่อ แต่ถ้าจำนวนขาด ให้เลือกบุคคลใดๆเข้าแทนจนครบ
ผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งโดยราษฎร เพื่อเข้ามาเป็น "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 1" ต้องมีคุณสมบัติดังนี้ สอบไล่วิชาการเมืองตามหลักสูตรที่สภา (70 คน) จะได้ตั้งขึ้น มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ เป็นผู้ไร้ หรือ เสมือนไร้ความสามารถ ไม่ถูกศาลเพิกถอนสิทธิในการรับเลือก มีสัญชาติไทย และได้รับการเห็นชอบจาก "สภา 70" ว่า จะไม่นำมาซึ่งความไม่สงบเรียบร้อย
ให้ราษฎรในหมู่บ้าน เลือก ผู้แทน เพื่อออกเสียง เลือกผู้แทนตำบล แล้วให้ผู้แทนตำบล เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ เป็นการ "เลือกตั้งทางอ้อม" สมาชิกสภา "ประเภทที่ 1" ที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมนี้ ให้อยู่ในตำแหน่ง คราวละ 4 ปี และจะเป็นได้แค่ 2 สมัย
ส่วนผู้ที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ต้องมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นผู้ไร้ หรือ เสมือนไร้ความสามารถ ไม่ถูกศาลพิพากษาให้เสียสิทธิในการออกเสียง และ มีสัญชาติไทย
คณะกรรมการราษฎร มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสภา ทั้งนี้ ให้เสนาบดีกระทรวงต่างๆ รับผิดชอบต่อ คณะกรรมการราษฎร คณะกรรมการราษฎร จะมีประธาน 1 คน และมีกรรมการอีก 14 คน ทั้งนี้ ให้สภา เลือกสมาชิกในสภา เพื่อมาทำหน้าที่ประธารกรรมการราษฎร และให้ประธานกรรมการ เลือกกรรมการราษฎร อีก 14 คน
ในวันอังคารที่ 28 มิถุนายน 2475 เวลา 14:00 น. ได้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ของ"คณะราษฎร" ได้แต่งตั้ง "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร" จำนวน 70 นาย
จากนั้น "สภาผู้แทนฯ" ได้เลือก "ประธาน" และ "รองประธานสภาผู้แทนฯ" รวมทั้ง "ประธานคณะกรรมการราษฎร" ซึ่งก็ได้เลือก " คณะกรรมการราษฎร" อีก 14 นาย และได้มีการตั้ง "คณะอนุกรรมการ" ที่มีจำนวนรวม 7 นาย ขึ้นมาทำหน้าที่ร่าง "รัฐธรรมนูญใหม่" แทนรัฐธรรมนูญชั่วคราวนี้ รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 จึงแล้วเสร็จในอีก 6 เดือนถัดมา ทำให้ไม่มีการ"เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนฯ ประเภทที่ 1" แต่ประการใด.
จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้นั้นเน้นให้ประชาชนได้ประโยชน์ ถึงแม้ว่าเมื่อก่อนนั้นจะไม่มีเรื่องขององค์กรอิสระ ไม่มีการให้ประชาชนล่ารายชื่อถอดถอน แต่มุ่งให้ประชาชนนั้นได้มีความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย
หลักการบางข้อในรัฐธรรมนูญฉบับนี้น่าสนใจ น่าจะเอามาแก้ปัญหาบ้านเมืองในสมัยนี้ได้ เช่นการให้มีตัวแทนจังหวัดละหนึ่งคนเท่านั้น คิดดูสิครับถ้าประเทศเรามี สส. จังหวัดละหนึ่งคน ใครมันจะกล้าซื้อเสียง แถมคนคนนั้นจะเป็นตัวแทนประชาชนจริงๆอีกด้วย แล้วไม่ต้องเอาเงินถาษีชาวบ้านมาจ่ายเงินเดือนแพงๆให้สส.ประเภทชั่วๆไม่เอาไหน เลี้ยงไว้เปลืองเงิน เปลืองข้าวสุก อาคารรัฐสภาก็ไม่ต้องไปสร้างใหม่ ให้เปลืองงบประมาณ เอาเงินไปพัฒนาชาติบ้านเมืองส่วนอื่นๆได้อีกตั้งเยอะ
รัฐธรรมนูญไทยนั้นเป็นรัฐธรรมนูญถูกกฉีกทิ้ง ถูกแก้ ถูกล้มล้างบ่อยที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ปัจจุบันก็เป็นฉบับที่ 18 แล้วครับ เราใช้รัฐธรรมนูญเปลืองจริงๆครับ ถ้าลงกินเนสบุ๊ค เราจะภูมิใจดีไหมเนี่ยคนไทย
ที่ผมหยิบยกเรื่องนี้มาเขียน นอกจากจะมีวาระครบรอบการเปลี่ยนแปลงงการปกครอง 2475 แล้วหวังว่าผู้อ่านคงได้ได้ย้อนยุคกลับไปการเมืองการปกครองและสังคมไทย ที่สะท้อนออกมาให้เห็นจากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแรกของไทย
รัฐธรรมนูญ เป็นหลักการสำคัญในการกำหนดโครงสร้างการเมืองการปกครอง การจัดสรรค์ผลประโยชน์และทรัพยากร
ที่สำคัญที่สุด รัฐธรรมนูญต้องเป็นกฏหมายสูงสุด เพื่ออำนาจสูงสุดของประชาชน ตามระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของนักการเมืองที่ดิ้นรนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตัวเองและพรรคพวกอย่างที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้
ไอ้ที่เอาประชาชนมาแอบอ้างบังหน้าน่ะ หยุดเสียทีเถอะ ประชาชนเขารู้ทัน และเหม็นเบื่อพวกคุณเต็มทีแล้ว