xs
xsm
sm
md
lg

โปรแกรมหน้า 2555 : แดงปฏิรูปกับแดงอ้างปฏิรูป

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นงานใหญ่(ที่ไม่ใหญ่จริง)ส่งท้ายการประชุมสมัยสามัญทั่วไป หมายความว่าการเมืองในสภานับอีก 4 เดือนจากนี้ระหว่าง 21 ธ.ค.2554 ถึง 18 เม.ย.2555 เป็นสมัยนิติบัญญัติก็คือให้พิจารณาเฉพาะกฏหมายเท่านั้น ซึ่งหากเป็นยุคก่อนช่วงนี้เป็นช่วงที่บรรยากาศการเมืองจะเริ่มหย่อนผ่อนคลายลงมาเพราะไม่สามารถยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจได้

แต่ประเทศไทยยุคธรรมชาติปรวนแปรจะยังถือธรรมเนียมโบราณไม่ได้อีกแล้ว ถ้าเป็นเมื่อก่อนสมัยนิติบัญญัติก็เหมือนการเมืองปิดเทอมแต่การเมืองยุคใหม่กลายเป็นว่าสมัยนิติบัญญัตินี่แหละครับจะเป็นไฮไลต์ดุเด็ดเพิ่มความร้อนยิ่งกว่าสมัยสามัญหรือช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจเสียอีก

นั่นเพราะว่าเดือนพฤษภาคมเป็นเดือนพ้นโทษของบ้านเลขที่ 111 ซึ่งเกจิข้างสนามหลายสำนักฟันธงอย่างพร้อมเพรียงมาก่อนแล้วว่าน่าจะเป็นห้วงเวลาของการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ แปลความเป็นไทย ๆ ได้ว่าอายุขัยของรัฐมนตรีหลายคนคงจะหมดสิ้นในช่วงนั้น ก็ในเมื่อต้นทุนทางการเมืองของรัฐบาลคณะนี้มีจำกัดก็สมควรจะใช้ ๆ ไปให้หมด จะโกหกหลอกลวงบริหารแบบสับขาหลอก (ที่หมายถึงการบริหารแบบกึ่งจริงกึ่งหลอกงง ๆ กันไป) อะไรที่ทำได้ก็ทะลุ่มทะลุยเดินหน้ากันไป

นับเฉพาะกฎหมาย 2 ฉบับที่รัฐบาลประกาศล่วงหน้าไปแล้วคือ 1.การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในนามของการปฏิรูปการเมืองซึ่งได้บรรจุไว้ในนโยบายเร่งด่วน และ 2.กฎหมายนิรโทษกรรมที่รองนายกฯ เป็ดเหลิมประกาศยืนยันว่าเป็นของจริงไม่ได้สับขาหลอกกับฉบับนิติราษฎร์อีกฉบับ..แค่กฎหมายสองเรื่องนี้อุณหภูมิการเมืองต้นปีก็ร้อนจนสามารถตั้งกะทะทอดไข่ได้สบาย

ในที่นี้จะไม่พูดถึงกฎหมายนิรโทษกรรมเพราะจะรอดูรายละเอียดเนื้อหาตลอดถึงขั้นตอนลีลาเคลื่อนไหวเสียก่อนเพราะที่สุดเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญทีมงานคนดูไบและกุนซือคณะใหญ่ต้องผ่านไฟเขียวซึ่งน่าจะรอให้ผ่านงานมงคลสำคัญ 5 ธันวาต่อเนื่องเทศกาลฉลองปีใหม่เสียก่อนนั่นแหละ ไม่เหมือนกับการร่าง รธน.ใหม่ที่ไม่ได้ยากอย่างที่คิดเพราะเราเคยมี สสร.1 มาแล้ว แค่กำหนดวันประชุมเหมาะ ๆ วันใดวันหนึ่งเพื่อแก้รัฐธรรมนูญแค่มาตราเดียวเพื่อเปิดทางตั้ง สสร.3 จากนั้นกระบวนการทั้งหลายก็จะเดินหน้าของมันไปเอง

ปมที่อยากจะพูดถึงเป็นการล่วงหน้าก็คือการแก้รัฐธรรมนูญด้วยการตั้ง สสร.3 มาร่างใหม่ในนามของการปฏิรูปการเมือง เพราะนี่จะเป็นสนามสำคัญของบรรดาปัญญาชนเสื้อแดงทั้งแบบปัญญาชนของจริงและปัญญาชนแดงเทียมที่จะผลักดันรัฐธรรมนูญในฝันตามแบบฉบับของตนให้คนทั้งสังคมรับรู้รับทราบ อยากรู้จริง ๆ อะไรคือ “ปฏิรูปการเมือง” ของรัฐบาลเพื่อไทย และอะไรคือ “ปฏิรูปการเมือง”ของปัญญาชนคนเสื้อแดง (และมันต่างจากความหมายปฏิรูปของหมอประเวศและคณะกรรมการปฏิรูปยังไง)

ย้อนหลังกลับไปตอนที่หมอเหวงเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับเสื้อแดงเข้าสภา ร่างฉบับดังกล่าวก็คือ รธน.ปี 40 ทั้งดุ้น ขอถามปัญญาชนตลอดถึงคนที่เข้าใจว่าตัวเองก้าวหน้า ๆ รักประชาธิปไตยจริง ๆ หน่อยเหอะว่านี่มันเป็นรัฐธรรมนูญในฝันจริงหรือเปล่า ? ก็เปล่าเลย...ที่ผลักดัน ๆ ในช่วงนั้นเพราะหยิบมาชนเป็นเชิงสัญลักษณ์กับรัฐธรรมนูญปี 50 ต่างหาก เนื้อหาของปี 40 ในหลายจุดเองก็มีจุดอ่อน

การร่างรัฐธรรมนูญใหม่รอบนี้จึงไม่ใช่การระดมมวลชนมาตะโกนแข่งกันว่าปี 40 ดีกว่า 50 เหมือนช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา หากแต่จะเป็นสนามประชันแนวคิดอุดมการณ์ ดังจะเห็นจากกลุ่มนิติราษฎร์เสนอให้ฟื้นรัฐธรรมนูญ 2475 ซึ่งมีเนื้อหา(อารมณ์) ที่ต่างไปจากบรรยากาศการเมืองไทยหลัง พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา บางกลุ่มก็เตรียมวาระผลักดันให้บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ฯลฯ คัดเอาเฉพาะฝ่ายแดงด้วยกันล้วน ๆ เราก็พอจะมองเห็นคร่าว ๆ แล้วว่าต่างก็มีวาระของตนเองไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ดีไม่ดีอาจจะขัดแย้งกันด้วยซ้ำไป

นักการเมืองอาชีพและกลุ่มทุนการเมืองไม่ต้องการอะไรมากนักหรอกแค่ต้องการขจัดพลังของระบบราชการประจำหรือที่เรียกว่าอำมาตยาธิปไตยออกไปจากโครงสร้างอำนาจ ซึ่งก็แปลความเป็นหมวดที่มาของ ส.ส./ส.ว. หมวดการตรวจสอบควบคุมการใช้อำนาจและที่มาของตำแหน่งสำคัญ ๆ ต่าง ๆ เพื่อให้ตนหรือพวกตนมีส่วนในการกำหนด

ปัญญาชนสายหนึ่งอาจรวมถึงกลุ่มนิติราษฎร์ก็มีวาระในประเด็น Constitutional Monarchy (มิฉะนั้นคงไม่แพลมออกมาว่าจะเอา รธน.ก่อนปี 2490 มาเป็นแบบหรอก) ซึ่งวาระนี้มันละเอียดอ่อนในทางการเมืองและเชื่อเหอะว่านักการเมืองอาชีพ/ทุนการเมืองเขาจะไม่กระโดดลงเรือร่วมพายพร้อมกันไปด้วยหรอก อย่างเก่งก็เป็นอีแอบชนะเอาด้วยช่วยกระพือเท่านั้น

แล้วไหนจะมีวาระเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ประเด็นศาสนาไม่ใช่เรื่องล้อเล่นนะครับเพราะศาสนากับอำนาจปกครองผูกโยงกันมาหลายพันปี มีการแย่งอำนาจมีการฆ่ากันตายเพราะศาสนามาไม่รู้เท่าไหร่แล้ว ศาสนามีส่วนสัมพันธ์กับอำนาจการเมืองมาทุกยุคสมัยตั้งแต่โรมันมาถึงยุโรปยุคกลาง อย่างประเทศอังกฤษที่เกิดสงครามกลางเมือง เกิดโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ส่วนหนึ่งก็เรื่องโปรแตสแตนท์-คาธอลิก ขณะที่ในประเทศจีนลัทธิศาสนาจากยุคร้อยสำนักมาสู่ลัทธิหยู จูหยวนจางโค่นมองโกลเกิดราชวงศ์หมิงได้เพราะใช้สำนักลัทธิความเชื่อเป็นองค์กรจัดตั้ง เรื่อยมาถึงฝ่าหลุนกงในปัจจุบันที่รัฐบาลปักกิ่งไม่เอาด้วยล้วนแต่มีเหตุผลความมั่นคงทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง ทันทีที่ สสร.3 มีประเด็นเรื่องศาสนาเชื่อเหอะว่าไม่ใช่เป็นเรื่องเล่น ๆ หรือของเคี้ยวเล่นของสำนักใดสำนักหนึ่งโดยเฉพาะ

แค่มองโปรแกรมคร่าว ๆ ของปี 2555 ที่กำลังจะมาถึงก็แทบอดใจไม่ไหวแล้ว ศึกอัศวินแดงกำลังมาความดุเด็ดเผ็ดมันยกกำลังสองอัศวินดำชิดซ้ายไปเลย !

พรรคเพื่อไทย(และแดงสาวก) กับแนวคิดปฏิรูป

นโยบายเร่งด่วนรัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาว่าการแก้รัฐธรรมนูญโดยกระบวนการ สสร.3 ที่กำลังจะเกิดนี้คือการปฏิรูปการเมือง – แต่ผมไม่เชื่อว่านี่คือการปฏิรูปการเมืองที่แท้จริง เพราะนักการเมืองอาชีพและนายทุนพรรคต้องการเพียงแก้เนื้อหาการเข้าสู่อำนาจ การคานอำนาจ การแต่งตั้งองค์กรอิสระ ฯลฯ ที่เคยเอื้อให้กับฝ่ายที่ไม่ใช่ตัวเองกลับมาให้ตนได้เปรียบแบบ รธน.40 กำหนดไว้

แดงอีกกลุ่มหนึ่งที่นำโดยนิติราษฎร์ มีข้อเสนอที่สามารถตีความได้ว่าจะอาศัยการแก้รัฐธรรมนูญปฏิรูประบอบ Constitutional Monarchy แนวร่วมของกลุ่มนี้คือแดงเฉดหนึ่งที่บอกว่าตนเป็นฝ่ายก้าวหน้า

ทั้ง “แดงก้าวหน้า” (และแดงที่แห่ตามเพื่อให้ได้ชื่อว่าก้าวหน้า) ขอให้รู้ว่าการผลักดันแนวคิดดังกล่าวนี้มีแรงต้านหนักมาก และเชื่อว่าหากเสนอขึ้นมาแหลมเกินไปอย่างไรเสียแดงการเมืองและแดงนายทุนเขาไม่เอาด้วยอย่างแน่นอน และเชื่อแน่ว่านโยบายที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เสนอต่อรัฐสภาว่าจะปฏิรูปการเมืองโดยการร่าง รธน.ใหม่นั้น มีความหมายไม่เหมือนกับการปฏิรูประบอบ Constitutional Monarchy แบบที่กลุ่มนิติราษฏร์และแดงบางส่วนต้องการ

ผมไม่เข้าใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในประเด็นว่าด้วยนโยบายการปฏิรูปมาตั้งแต่วันแถลงนโยบายว่าหมายถึงอะไรกันแน่ ความหมายที่แท้จริงอาจหมายถึงแค่แก้รัฐธรรมนูญจากปี 50 มาสู่แบบที่ตัวเองรับได้ก็เท่านั้น หาใช่การปฏิรูปที่วิลิศมาหราอะไรหรอก-หรือเปล่า ?

การร่างรัฐธรรมนูญรอบที่จะถึงจึงมีทั้งแดงอ้างปฏิรูปเพื่อแก้กฏหมาย และแดงอาศัยการแก้กฎหมายเพื่อปฏิรูป(ระบอบ) ที่ไป ๆ มา ๆ อาจมีเป้าหมายปลายทางเป็นคนละเรื่องไปเลย

เรื่องนี้เรื่องยาวครับต้องว่ากันอีกหลายรอบ นี่แค่เห็นพล็อตคร่าว ๆ เองนะยังไม่เห็นหนังตัวอย่างเลยก็มันแล้ว ...การเมืองไทยต้นปี 2555 สนุกยิ่งกว่า พล.ต.อ.ประชาถูกอภิปรายเป็นไหน ๆ เห็นมั้ย !!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น