xs
xsm
sm
md
lg

อย่าตะแบงต่อเลย

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่

การแก้ต่างหรือแก้ตัวที่ดีต้องยืนอยู่บนฐานข้อมูล-บนความจริงเพราะหากการแก้ต่างนั้นไม่ได้ตั้งอยู่บนเหตุผลที่ดีแล้วมันยิ่งจะเป็นดาบสองคมย้อนกลับมาฟันใส่ตัวเอง

พยายามจะเข้าใจคนเสื้อแดง+กองเชียร์ของรัฐบาลรวมไปถึงนักการเมือง-สื่อ-นักเขียน-นักกิจกรรม-นักวิชาการ ฯลฯ ที่พยายามจะช่วยเหลือรัฐบาลที่ตนรัก อุตส่าห์เชียร์อุตส่าห์เลือกเข้ามาดันมาเจอเหตุน้ำท่วมใหญ่ขนาดนี้ก็น่าเสียดายอยู่ .. แต่จะอย่างไรก็ตามท่านก็ต้องเปิดใจดูข้อเท็จจริงด้านอื่นประกอบด้วย

แต่ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าคนเสื้อแดงไม่น้อยพร้อมจะเชื่อข่าวสารบ้าบอประเภท มี(มือดีสั่ง)การเร่งทำฝนหลวงเพื่อเติมให้น้ำเต็มเขื่อนแกล้งรัฐบาล(เพราะข้อเท็จจริงมันชัดเจนแล้วว่าไม่มีการทำฝนหลวงตั้งแต่พฤษภาคม) บ้างก็เชื่อข่าวอำมาตย์วางแผนทำน้ำท่วมผ่านสองเขื่อนยักษ์อะไรที่หนังสือพิมพ์ฝ่ายแดงเขาจุดพลุขึ้น เดินในตลาดเชียงใหม่ยังได้ยินเหตุผลทำนองนี้ผ่านหูดูซิเป็นไปได้

องครักษ์พิทักษ์รัฐบาลบางคนพยายามจะยกแม่น้ำทั้งห้าเอาปัญหารากฐานดั้งเดิมของประเทศมาอ้างเช่น ปัญหามันสั่งสมนมนาน ไม่มีการวางผังเมือง การปล่อยให้นิคมตั้งในที่ลุ่ม การปล่อยให้ตั้งบ้านเรือนขวางทางน้ำ ฯลฯ แล้วนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า นี่เป็นปัญหารากฐานที่มีมานานแล้วรัฐบาลนี้เพิ่งเข้ามาอย่าไปด่าอะไรเขาแล้วลากไปสู่บทสรุปว่าให้รอดูรัฐบาลวางแผนแก้ระยะยาวดีกว่านี่ก็เป็นอีกเวอร์ชั่นหนึ่งของการพยายามบรรเทาผลกระทบให้กับรัฐบาลซึ่งผมเห็นว่าคำแก้ต่างประเภทนี้ก็คือการโฆษณาชวนเชื่อประเภทหนึ่งที่เลือกหยิบเอาข้อเท็จจริงเพียงส่วนเสี้ยวเดียวมาปิดบังช้างตายทั้งตัว ไม่ต่างจากวิธีการโต้วาทีชั้นมัธยมแม้แต่น้อย

แน่นอนครับ ไม่เถียง ! ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลนี้มีปัญหารากฐานดั้งเดิมรวมอยู่ด้วย ไม่ว่าเรื่องแก้มลิงที่หายไป เรื่องผังเมือง เรื่องทัศนคติของคนในเมือง เรื่องมนุษย์กับธรรมชาติ ฯลฯ อย่างไรก็ตามมันก็มีปัญหาและอุปสรรคในมิติของการบริหารจัดการที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งขาดลอยตั้งแต่ต้นกรกฏาคมนับจากนั้นมาทั้งปูยิ่งลักษณ์ ทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรค และทั้งกุนซือเบื้องหน้าเบื้องหลังควรจะรู้แล้วว่ารัฐบาลเพื่อไทยต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ไหนบอกว่ามีทีมงานเตรียมพร้อมเรื่องนโยบายไว้พร้อม

นายกฯปูยิ่งลักษณ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ 8 ส.ค.และนำครม.เข้าเฝ้าถวายสัตย์ 10 ส.ค. แม้จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 24 ส.ค. 2554 แต่ก็ไม่สามารถบ่ายเบี่ยงว่าก่อนหน้าวันที่ 24 ส.ค.รัฐบาลไม่สามารถทำอะไรได้เลย โดยสรุปคือรัฐบาลนี้มีความรับผิดชอบเต็มสองบ่าในเรื่องปัญหาน้ำท่วมมาตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2554

ไล่ดูเหตุการณ์ย้อนหลังมาเป็นลำดับ อ่านจากข่าวดูเหมือนยิ่งลักษณ์ตระหนักสนใจปัญหาน้ำท่วมเป็นพิเศษ ทางหนึ่งบอกนักข่าวว่าเรื่องแรกที่จะแก้คือน้ำท่วม 14 ส.ค.บินไปดูน้ำท่วมแพร่น่าน จากนั้น 16 ส.ค.มีมติ ครม.ในเรื่องน้ำท่วมแต่นั่นเป็นแค่ภาพภายนอก

จุดที่ต้องนำมาตำหนิกันจริงจังและเป็น “หลักฐาน” ชี้ว่ารัฐบาลนี้บกพร่องในมิติการบริหารจัดการคือเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2554 นายกฯปู เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) 20 สิงหาคม 2554 ประกาศชัดเจนว่าศูนย์นี้มีวอร์รูมรับภัยพิบัติที่ว่าแบบวันสต็อปเซอร์วิส คือทั้งรวบรวมข้อมูล วิคราะห์ วางแผน เตรียมการไปจนถึงการช่วยเหลือสงเคราะห์เยียวยา

และที่ต้องขีดเส้นใต้ตัวโต ๆ คือภารกิจหนึ่งของ ศอส.คือการวิเคราะห์ปัญหาที่จะเกิด จากนั้นก็จุดพลุการแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยบางระกำโมเดล 2P2R ฟังแล้วชาวบ้านชื่นอกชื่นใจโคลนนิ่งทักษิณมาแล้ว ต้องพูดภาษาไทยคำอังกฤษแบบนี้แหละโมดงโมเดล2พี2อาร์ มันต้องได้ผลอย่างแน่นอน

ผมไม่ได้ว่าเองเออเองไปโมเมจุดเทียนหาอะไรไม่รู้มากล่าวโทษรัฐบาล เรื่องที่ว่านี้มันมีคลิปประจานตัวเองโทนโท่อยู่ในทีวีอินเตอร์เน็ตของรัฐบาล (อย่าลบออกก็แล้วกัน) http://government.mitech.co.th/content/857 นางฐิติมา ฉายแสงโฆษกรัฐบาลแถลงข่าวไปเอาอธิบดีกรมป้องกันฯ มาร่วมอธิบายการทำงานรวมแล้ว 12 นาทีกว่า ๆ ไฮไลต์อยู่ที่นาทีท้าย ๆ ครับนางฐิติมาสรุปเสียดิบดีว่าศูนย์นี้ไม่ใช่ศูนย์แจกของช่วยเหลือเท่านั้นแต่ครอบคลุมไปถึงการวิเคราะห์เฝ้าระวังแก้ปัญหาในระยะยาวด้วย

ยุคนี้สมัยนี้มันค้นคว้าอะไรง่ายกว่าแต่ก่อนเยอะดังนั้นใครทำอะไรพูดอะไรอย่านึกว่าชาวบ้านเขาจับไม่ได้ไล่ไม่ทันอย่างที่คลิปประจานนอสตราดามุสปลอดประสพหน้าแตกเพล้ง ๆ ที่แพร่หลายในโซเชี่ยลมีเดียนั่นยังไง ขอยกจากหนังสือพิมพ์มติชนเพราะหากยกจากสื่ออื่นเดี๋ยวขาตะแบงจะอ้างอีกว่าเป็นสื่ออำมาตย์สื่อสลิ่มไม่เป็นกลางจ้องโค่นรัฐบาล

มติชนออนไลน์ 18 ส.ค.2554 พาดหัวว่า “ยิ่งลักษณ์เผยเตรียมประชุมวิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วม 20 ส.ค.” คลิกดูที่ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1313659816&grpid=03&catid&subcatid

เนื้อข่าวไม่ยาวนักไปอ่านกันเอาเองเถอะครับมันชัดเจนในตัวของมันว่ามีการเรียกประชุมใหญ่วิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำท่วมกัน มีวอร์รูมมีโน่นนี่ฟังดูดีชะมัด แต่ที่สุดแล้ววอร์รูมอะไรที่ว่าก็หายไปหลังจากที่รัฐบาลตั้ง ศปภ.ขึ้นมาแบบจวนตัวเมื่อน้ำจะทะลักเข้ากรุงตอนต้นเดือนตุลาคม

ไป ๆ มา ๆ วอร์รูมที่ว่ามันก็แค่วอร์รูมหลอกเด็ก แค่ให้เป็นข่าวให้นางฐิติมาเอามาแถลงสร้างภาพเท่านั้น !!

มาถึงตอนนี้ถ้าเป็นสงครามเราก็แพ้ไปแล้ว ได้ยินจากหลายคนเขาไม่หวังอะไรกับการบริหารจัดการอะไรมากไปกว่านี้อีกแล้ว อย่างเก่งก็ทำได้แค่บรรเทาเบาบางช่วยเหลือกันไปตามประสา ที่สุดแล้วพระเอกตัวจริงของการส่งน้องน้ำลงทะเลก็คือธรรมชาตินั่นแหละ เหมือนเพลงที่รุ่งเพชร แหลมสิงห์ร้องไว้ไง.. “เมื่อเดือนสิบเอ็ดน้ำเริ่มไหลนอง.. พอเดือนสิบสองพี่และน้องร่วมลอยกระทง..ครั้นถึงเดือนยี่น้ำก็รี่ไหลลง ๆ”.. ตอนนี้ใกล้ลอยกระทงวันเพ็ญเดือนสิบสองเข้าเดือนอ้ายใกล้เดือนยี่เต็มแก่ฟังเพลงของรุ่งเพชรปลอบใจตัวเองไปพลางดีกว่าฟังแถลงที่ไม่มีใครเชื่อถือแล้วของ ศปภ.

หากรัฐบาลมีความสามารถในมิติของการบริหารจัดการสมคำคุย (ที่โม้ไปว่าได้มีการเตรียมวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ รับมือน้ำ มีการตั้งศูนย์ตั้งวอร์รูมที่ไม่ใช่แค่การแจกของสงเคราะห์) สภาพปัญหาน้ำท่วมที่เกิดต่อทั้งจังหวัดตอนเหนือและเมืองกรุงคงไม่เละเทะเหมือนหม้อขี้คว่ำเหมือนดั่งที่เกิดขึ้น

อย่างน้อยก็ควรมียุทธศาสตร์การจัดการ การระบาย การบรรเทาเบาบาง การเตรียมรับมือที่ไม่ฉุกละหุกปล่อยให้ขากร่าง มือสมัครเล่นต่อมิอะไรมาแสดงโชว์แบบที่เป็นข่าว

น้ำมากก็ยอมรับว่าต้องท่วม ต้องเสียหายแต่หากมีการบริหารจัดการที่ดี มียุทธศาสตร์พื้นที่สู้ได้ พื้นที่ต้องปล่อยให้ท่วม ความเสียหายก็คงจะจำกัดวงลงไป

หลายปีที่ผ่านมาเราเห็นตัวอย่างการชมเชยผู้ว่าฯและท้องถิ่นรายทางที่ตั้งป้อมสู้น้ำได้และก็ถือเป็นตัวแบบ ดังนั้นจากคันกั้นน้ำเฉพาะจุดเฉพาะเมืองมันก็ลามไปทั่วบริเวณ กลายเป็นโมเดลการตั้งป้อมสู้ดะทุกจุดไม่ว่าจังหวัดอำเภอหมู่บ้านทุกพื้นที่ล้วนสู้เหมือนกันหมด แถมใครมีอำนาจอิทธิพลทางการเมืองแบบไหนก็พยายามใช้ เบี่ยงน้ำซ้าย เบี่ยงน้ำขวา ถ้าใครจะปล่อยมาก็เอาปืนไปจี้ไม่ให้ปล่อย ฯลฯ มันก็เละเทะดังที่เห็นเพราะยุทธศาสตร์ที่สั่งให้ทุกระดับต่างคนต่างสู้

เอาล่ะครับน้ำท่วมรอบนี้ไหน ๆ มันก็กวาดราบพณาสูรย์ไปแล้ว สิ่งที่พอจะเป็นประโยชน์กับคนรุ่นหลังบ้างก็คือตัวอย่างความล้มเหลว เป็นบทเรียนราคาแพงเพื่อเราจะหาทางวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ

อยากรู้จริง ๆ ว่า ระหว่างเดือนมิถุนายน-ปลายกรกฏาคม ระหว่างยุบสภามีรัฐบาลรักษาการณ์ก่อนเลือกตั้ง การบริหารจัดการน้ำเราปล่อยให้กลไกปกติบริหารกันแบบไหน เริ่มมีข้อมูลออกมาแล้วว่ากรมอุตุฯ กรมชลฯ เองก็พยากรณ์น้ำปีนี้ผิดพลาดไป ส่งผลต่อนโยบายร่วมต่อการบริหารจัดการ “แบบปกติ”

พอมาถึงช่วงหลังสิงหาคม-กันยายน ซึ่งเป็นช่วงแรกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เริ่มมีพายุตัวใหม่เข้ามาผิดไปจากคำพยากรณ์เดิม กลไกปกติรายงานความ “ไม่ปกติ” ดังกล่าวตามลำดับอย่างไร และฝ่ายการเมือง “ตัดสินใจ” ต่อข้อมูลที่ไม่ปกตินั้นอย่างไรบ้าง เท่าที่เห็นจากข่าวรัฐบาลก็มีแอ๊คชั่นในเรื่องน้ำท่วมอยู่พอสมควรแต่หนักออกไปในทางยิ่งลักษณ์ตรวจน้ำท่วม แล้วก็กระบวนการเยียวยาไล่แจกถุงยังชีพกันเป็นหลัก

สิงหาคม-กันยายน 2554 ผมไม่เห็นข่าวสารว่าด้วยยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาน้ำท่วม ไม่เห็นการตื่นตัวตระหนักภัยในความผิดปกติของน้ำปีนี้แต่อย่างใด !!

คนเสื้อแดงคนไหน? นักการเมืองคนไหน? ส.ส.เหวง ส.ส.ตู่ ฯลฯ เคยเห็นข้อมูลหรือข่าวสารดังกล่าวไหมช่วยสงเคราะห์บอกทีเพราะผมค้นไม่เจอ หลังน้ำลดสังคมไทยควรจะเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระสักคณะหนึ่งเพื่อรวบรวมข้อมูลปัญหาอุปสรรคการทำงานเกี่ยวกับน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้เพราะนี่เป็นบทเรียนมีค่าอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์พิบัติภัย อย่างน้อยคนรุ่นหลังได้ศึกษาเพื่อหาทางเลี่ยงไม่ให้เกิดซ้ำ

-ระหว่างเดือนกรกฏาคม กลไกปกติบริหารจัดการอย่างไร น้ำมาถึงไหน

-สิงหาคม น้ำลงมาถึงพิษณุโลก พิจิตร ให้ถึงนครสวรรค์ กลไกรับจัดการกันแบบไหน ภายใต้ยุทธศาสตร์ตั้งสู้ สงเคราะห์หมดเป็นหลักหรือมียุทธศาสตร์อื่นเพิ่ม

-กันยายน พายุลูกใหม่มา กลไกปกติเสนออะไรขึ้นไป ฝ่ายบริหารตัดสินใจอย่างไร ตอนนั้นน้ำเริ่มลามไปลพบุรี และพื้นที่ใกล้เคียง มีใครไปบังคับประตูระบายน้ำบานไหนบ้างหรือเปล่า การระบายน้ำตามปกติติดปัญหาผู้มีอิทธิพลย่านใดอย่างไร

-และตุลาคม หลังจากตั้งศปภ. เรามีบทเรียนที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างไร เช่นระบบการบริจาค การจัดการเรื่องสงเคราะห์แบบรวมศูนย์ บทเรียนการป้องกันไม่ให้นักการเมืองกร่างเข้ามายุ่มย่าม ฯลฯ

ไม่ต้องอะไรมากอย่างตอนตั้งศปภ. ชื่อมันก็ฟ้องอยู่แล้วว่าตั้งเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ไม่ได้ตั้งเพื่อบริหารจัดการมวลน้ำหรือพิบัติภัยที่ผิดปกติชื่อศูนย์ ศปภ. น่าตั้งสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดแล้วจบแล้วอย่าง สึนามิ หรือ โคลนถล่ม อะไรเหล่านั้นมากกว่ารองรับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดและต้องใช้ทรัพยากรและอำนาจในการบริหารจัดการในขอบเขตกว้างขวางและซับซ้อนกว่า

เอาเฉพาะเรื่องศปภ.ก็สามารถเป็นกรณีศึกษาต่อการจัดการปัญหาพิบัติภัยขนาดใหญ่ได้เป็นอย่างดี

ปู-สอบตก อย่าหาแพะเลย !!

ปู-ยิ่งลักษณ์ สอบตกในวิชาภาวะผู้นำในเหตุการณ์นี้อย่างชัดเจน ผิดกับทักษิณ ชินวัตรที่ได้รับการยกย่องมากในเรื่องภาวะความเป็นผู้นำ ตอนน้ำท่วมเชียงใหม่ 2548 ทักษิณบินด่วนขึ้นฮ.ดูน้ำในวันนั้นแล้วก็ลุยสั่งการชี้นิ้ว (จะผิดจะถูกก็เรื่องหนึ่ง) ภาพที่ทุกหน่วยทุกคนจับสายตาไปยังผู้นำเพื่อรอฟังการสั่งการแล้วทุ่มเททำอย่างเชื่อมั่นนั้นทักษิณ ชินวัตรมีครบถ้วนแต่ว่าโคลนนิ่งยิ่งลักษณ์ไม่มีเลย นี่เป็นความแตกต่างของโคลนนิ่งอุปโลกน์ที่ยกยอกันเองในทางการเมือง

คนที่เชียร์ยิ่งลักษณ์อาจจะไม่พอใจที่มีคนกล่าวหาว่าผู้นำที่เขารักขาดภาวะผู้นำ ผมอยากให้เปรียบเทียบกับผู้นำยามวิกฤตที่โลกเขายกย่องเช่น Rudy Giuliani อดีตนายกเทศมนตรีมหานครนิวยอร์คที่โด่งดังจากเหตุการณ์ 9/11 หรือประธานาธิบดี Sebastian Pinera ของชิลีที่กลายเป็นศูนย์กลางของการช่วยเหลือคนงานเหมืองถล่มที่ติดอยู่ใต้ดิน หลังเหตุการณ์ภาพลักษณ์ของเขาโดดเด่นพุ่งพรวดขึ้นมา หรือกระทั่งทักษิณเองก็เรตติ้งพรวด ๆ หลังเหตุการณ์เขมรเผาสถานทูตไทยแล้วก็ออกทีวีประกาศกร้าวช่วยคนไทยที่นั่น ฯลฯ

ภาวะผู้นำและความเชื่อมั่นในผู้นำหาซื้อให้ไม่ได้ มันเป็นความสามารถเป็นพรสวรรค์เป็นบุคลิกเป็นกึ๋นของผู้นำนั้น ๆ

ถ้าผู้นำบ่มีไก๊ยังไง ๆ ก็คือบ๋อแบ๋...จะมาอวยมายกก้นกันหรือฉาบแป้งแต่งหน้าทาปากอย่างเก่งมันก็ได้แค่หลอกชาวบ้านได้ระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น !!!

ล่าสุดที่เริ่มมีข่าวจริงหรือข่าวปล่อยไม่รู้ว่าทักษิณจะปรับครม.เอารัฐมนตรีที่ไม่ช่วยงานหรือเป็นตัวปัญหาทำให้น้ำท่วมบานปลายออก ผมก็ว่าสมควรอยู่หรอกครับ คุณยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ สมควรรับผิดชอบต่อศูนย์วอร์รูม ศอส.ที่ตั้งเมื่อ 20 สิงหาคมแล้วไม่ได้เรื่องปล่อยให้ปัญหาลุกลามขาดความตระหนัก และให้ถูกต้องปรับเอารมว.อนุดิษฐ์ ไอซีที.ออกด้วยเพราะกำกับงานอุตุพยากรณ์และศูนย์เตือนภัยพิบัติ รมว.ธีระกรมชลฯก็ควรรับผิดชอบที่บริหารจัดการล้มเหลวโดยเฉพาะการไม่ตื่นตระหนักภัยในช่วงเดือนกันยายนที่เริ่มมพายุต่อกันหลายลูก กรมชลฯน่าจะขยับตัวเร็วกว่านี้

ถ้าเราใช้มาตรฐานญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป รัฐมนตรีที่ว่ามาต้องลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบทั้งหมดแล้วครับ ไม่ต้องรอให้ทักษิณจิ้มนิ้วลงมาหรอกเพราะหากรอให้ทักษิณจิ้มนิ้วทุกอย่างจะตาลปัตรจากสุภาพบุรุษที่มีความรับผิดชอบทางการเมืองแบบสากลจะกลายมาเป็นความจำยอมของแพะในคอกลูกกระจ๊อกในพรรคไปทันที

และแน่นอน ! คนที่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองสูงสุดก็คือนายกฯ ปู-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรครับ นี่พูดตามเนื้อผ้าเอามาตรฐานญี่ปุ่น เกาหลี ตะวันตกมาเทียบเลย แล้วไม่ต้องมาหาเรื่องว่าผมรับงานจากปชป.มาไล่นายกฯ เพราะหากเป็นอภิสิทธิ์ทำล้มเหลวในมิติการบริหารราชการแผ่นดินระดับนี้ผมก็จะยืนยันให้แกลาออกแสดงความรับผิดชอบเหมือนกัน

ความรับผิดชอบทางการเมืองของนักการเมืองเป็นคนละเรื่องกับแพะ และไม่เหมือนกับการยอมเสียเบี้ย เสียโคน เสียม้าเพื่อรักษาขุนอย่างแน่นอน

ผมเชื่อว่าในพรรคเพื่อไทยมีคนดี ๆ ที่เก่งกว่ายิ่งลักษณ์จำนวนไม่น้อยที่สามารถขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ที่จริงคุณปูนั้นไม่ได้เป็นคนเลวร้ายอะไรนักหรอกออกจะน่าสงสารด้วยซ้ำ ปัญหาเดียวคือเธอไม่เหมาะกับตำแหน่งนี้จริง ๆ .. บ้านเมืองไม่ใช่เรื่องเล่นสนุกนะขอรับ !
กำลังโหลดความคิดเห็น