เมื่อวันพฤหัสบดี 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา พวกเราผู้จัดรายการและพิธีกรทั้งจากฝ่ายทีวีและวิทยุ รวมถึงคอลัมน์นิสต์ และทีมงานในเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ ได้นัดหมายพ่อแม่พี่น้องพันธมิตรส่วนหนึ่ง ไปชมภาพยนตร์เรื่อง คนโขน
หนัง ที่กำกับและเขียนบทโดย อาตั้ว ศรัณยู วงษ์กระจ่าง แกนนำพันธมิตรรุ่นที่สอง อาตั้วเป็นศิลปิน จากกลุ่มสถาปัตย์ จุฬาฯ โด่งดังเป็นที่รู้จักจากรายการเพชฌฆาตความเครียด ทางช่อง 9 ในปี พ.ศ. 2527 โดยแสดงร่วมกับนักแสดงรุ่นพี่ที่เป็นศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่นเดียวกัน เช่น ปัญญา นิรันดร์กุล, เกียรติ กิจเจริญ, วัชระ ปานเอี่ยม เป็นต้น
ในฐานะนักแสดง ละครทีวี อาตั้ว ศรัณยู คือ ชายกลาง แห่งบ้านทรายทอง และคุณหลวงอัครเทพ จากทวิภพ ที่ฝังอยู่ในความทรงจำของผู้คนมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่มีใครลบเลือนได้
ที่สุดยอด แห่งความทรงจำ คือภาพอาตั้ว ในบท ดอน กิโฆเต้ จากละครความฝันอันสูงสุด ผลงานคลาสสิคอมตะนิรันกาล ยังติดตรึงความทรงจำของผู้ชมละครเวที ใครสนใจยังหาดูจากดีวีดีได้นะครับ
อาตั้วศรัณยู ยังมีผลงานทางด้านการแสดง พิธีกร ผู้กำกับละคร ผู้กำกับภาพยนตร์ เป็นผู้กำกับละครทางทีวีหลายเรื่อง อย่างเช่น "เทพนิยายนายเสนาะ" (2541), ละครพีเรียดเรื่อง "น้ำพุ" (2545), ละครสั้นสองตอนจบเรื่อง "ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด" (2545), ละครเรื่อง "สุภาพบุรุษลูกผู้ชาย" (2546), ละครเรื่อง "หลังคาแดง" (2547), ละครเรื่อง "ตราบสิ้นดินฟ้า" (2551) และการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรก "อำมหิตพิศวาส" (2550)
ผลงานคุณภาพของอาตั้วการันตีว่า คนโขน ของอาตั้วในวันนี้ ไม่ธรรมดาอย่างแน่นอนครับ
ลองดูจากเรื่องย่อของคนโขนกันนะครับ เป็นเรื่องที่ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2508 เล่าเรื่องราวของ “ชาด” (อภิญญา รุ่งพิทักษ์มานะ) เด็กกำพร้าที่ถูกครูโขนฝีมือดีอย่าง “ครูหยด” (สรพงษ์ ชาตรี) เลี้ยงดูและฝึกหัดโขนให้ตั้งแต่เล็กๆ จนกระทั่งเติบใหญ่มีฝีไม้ลายมือเก่งกาจกลายเป็นศิษย์เอกในคณะโขนของครูหยด
ชาดยังได้รับความช่วยเหลือและกำลังใจที่ดีเสมอมาจากเพื่อนรักอย่าง “ตือ” (กองทุน พงษ์พัฒนะ) และ “แรม” (นันทรัตน์ ชาวราษฎร์) ที่สนิทสนมรักใคร่ผูกพันกันมาตั้งแต่วัยเด็ก
ครูหยดมองเห็นแววที่จะเอาดีทางด้านนี้ของชาด และคิดจะเปิดตัวชาดในบทพระรามเป็นครั้งแรกในงานแสดงโขนประจำปีครั้งใหญ่ที่วัดอ่างทอง
เส้นทางชีวิตของชาดดูเหมือนจะไร้ซึ่งอุปสรรคในการก้าวตามความฝัน เพื่อมุ่งสู่จุดสูงสุดของชีวิตนักแสดงโขนตามความทะยานอยากในวัยหนุ่มของเขา
แต่เมื่อ “ครูเสก” (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) อดีตเพื่อนรักของครูหยด ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นศัตรูตัวฉกาจ ด้วยปมแค้นฝังลึก ได้รับรู้เรื่องการแสดงของคณะครูหยด จึงหาวิธีกลั่นแกล้งไม่ให้ครูหยดได้แสดงโขนที่วัดนี้
ซึ่งก็เข้าทางหลานชายสายเลือดโขนของครูเสกอย่าง “คม” (ขจรพงศ์ พรพิสุทธิ์) คู่อริเก่าของชาดที่ต้องการแก้แค้นและเอาคืนชาดอย่างสาสมเช่นกัน
เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อปัญหาที่ถาโถมเข้ามาหาครูหยดและชาดนั้นไม่ใช่แค่มายาแห่งนาฏกรรมโขนอันเกิดมาจากความอาฆาตแค้นไม่สิ้นสุดของครูเสกและคมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
แต่ชาดยังหลงเข้าไปในวังวนแห่งตัณหาราคะที่ก่อเกิดจาก “รำไพ” (พิมลรัตน์ พิศลยบุตร) เมียรุ่นลูกของครูหยดที่จ้องจะเข้าหาชาดทุกครั้งที่มีโอกาส
รวมทั้งมิตรภาพระหว่างเพื่อนรักอย่างชาด, แรม และตือที่ถูกสั่นคลอนลงอย่างไม่คาดฝัน นั่นเป็นเหตุให้ชีวิตของชาดซวนเซและพลิกผันไปอย่างไม่ทันตั้งตัว
ฉากสุดท้ายของชาดจะสามารถกลับลำและไปถึงฝั่งฝันได้หรือไม่ ถึงเวลาที่ชาดจะต้องต่อสู้เอาชนะด้านมืดของตัวเอง และพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ หาใช่หัวโขนที่สวมใส่
ดูหนังจบแล้ว ผมว่าอาตั้วเป็นผู้กำกับ คนทำหนัง คนเขียนบทที่มีฝีมือมีคุณภาพ เป็นคนที่มีรากทางศิลปะ มีความสามารถใน การแสดง มีความรู้ในศิลปวัฒนธรรม และมีความคิดความเข้าใจมนุษย์ และหลักพุทธธรรม สามารถถ่ายทอดทุกแง่มุมออกมาได้อย่างประณีต
แก่นของภาพยนตร์เรื่องนี้หลักๆเลยก็คือเรื่องของบาปบุญคุณโทษ เรื่องของชะตากรรมของมนุษย์และกฎแห่งกรรม ตามหลักพุทธศาสนา ที่จะติดตามเราไป โดยที่เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่ามันจะตามเราทันเมื่อไร
ชีวิตมนุษย์ในภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนออกมาในเรื่องของกิเลส ตันหา ที่ผมว่าอารมณ์ด้านมืดแบบนี้มีในปุถุชนทุกคน อยู่ที่ว่ามนุษย์จะมีศีลธรรมมีคุณธรรมพอที่จะหักห้ามใจหรือจะควบคุมตัวเองได้แค่ไหน หรือใครจะติดอยู่กับสันดานดิบตกอยู่ภายใต้การครอบงำของกิเลสตัณหา
เนื้อหาสาระลึกซึ้งนี้ เอามาถ่ายทอดลงไปในภาพยนตร์ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับ แต่อาตั้วทำได้ ผมว่าเป็นหนังที่นำเอาศิลปะการแสดงโขน นาฏศิลปชั้นสูงของไทยออกมาสื่อสารกับคนดูได้อย่างงดงาม
เอาชีวิตของคนหลายวัยในแวดวงโขน และลิเก ออกมาใช้เดินเรื่อง สื่อสาระและแก่นหลักธรรมของศาสนา คุณธรรม ศีลธรรม ออกมาผ่านตัวละคร
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นงานสร้างสรรค์เพื่อสังคม เพื่อชีวิต เพื่อมนุษย์ และเพื่อสืบทอดศิลปวัฒนธรรมไทยที่กำลังจะสูญหาย ในยุคสมัยที่ศาสนา ศีลธรรมคุณธรรมของคนในสังคมกำลังเสื่อมถอย
ผมว่าสังคมไทยกำลังต้องการการเยียวยารักษาผ่าตัด ผลงานศิลปะการแสดงในแวดวงงานบันเทิง ควรจะมีบทบาทสร้างสรรค์ทางสังคมได้มาก
น่าเสียดายที่ภาพยนตร์ ละคร บ้านเรา ยังอยู่ในวังวน น้ำเน่า ไม่ได้ให้สาระคุณประโยชน์ ไม่ได้ยกระดับคนดู ทั้งๆที่เรามีศิลปิน นักคิด และคนที่มีฝีมืออยู่ไม่น้อย
คนเหล่านี้ ถ้าได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้สร้างผลงาน ทั้งจากหน่วยงานของรัฐ และงบประมาณภาษีของประชาชนที่เอาไปใช้ถลุงโกงกินกัน ควรจะได้รับการจัดสรรให้นำมาสร้างงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
ภาคเอกชนที่หูตาสว่าง ไม่โลภเอาแต่ได้ ก็มีอยู่ น่าจะช่วยกันสนับสนุน ที่สำคัญคนในสังคมก็ต้องร่วมกันผลักดัน มีผลงานดีๆมีคุณประโยชน์ต่อคนไทยและชาติบ้านเมือง ก็ต้องร่วมด้วยช่วยกัน
ผลงานดีๆจำนวนมากในแวดวงศิลปินไทย ควรจะได้รับผลตอบรับจากสังคม จากคนดู ซึ่งก็คือพ่อแม่พี่น้องประชาชนนั่นแหละครับ
คนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยดูโขน ผมก็เป็นคนหนึ่งในนั้น อย่างมากก็เห็นบ้างในหน้าจอทีวี เนื้อหาจากวรรณกรรมคลาสสิคอย่างรามเกียรติ์ คนรุ่นผมได้ยินได้ฟังได้เรียนในชั้นมัธยมมาบ้างก็น้อยนิด
ดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว ทำให้ผมชักอยากอ่านอยากรู้รามเกียรติ์มากขึ้น ในช่วงเวลาจำกัด ภาพยนตร์ถ่ายทอดโขนจากรามเกียรติ์ได้เข้าใจง่ายกระชับ ผมว่าอาจารย์ที่สอนวรรณคดี ศิลปะ ดนตรีและการแสดงนาฏศิลป์ วัฒนธรรมไทย น่าจะใช้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นกิจกรรมสอนหรือกิจกรรมเสริมการเรียนได้อย่างดี
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ยังชี้ถึงวิธีคิดและมุมมองที่แตกต่างกันของคนในสังคม บางกลุ่มเห็นแก่ประโยชน์ ทะเยอทะยาน ไม่สนใจผิดชอบชั่วดี ขอแต่ให้ตัวเองชนะก็พอ แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นหนีไม่พ้นชะตากรรม ผลกรรมจะตามติดไป หลีกหนีไม่พ้นกฎแห่งกรรมหรอกครับ
ขณะเดียวกันก็ยังมีกลุ่มคนที่พยายามสืบสานวัฒนธรรมประเพณี แม้จะมีเงื่อนไขจำกัด จึงมีศิลปะอย่างโขนในคลองของชาวบ้าน
คุณครูหรืออาจารย์โรงเรียนต่างๆน่าจะมีโอกาสพานักเรียนไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะว่าเด็กๆต้องเรียนเกี่ยวกับรามเกียรติ์ และภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้พูดถึงโขนและรามเกียรติ์ในแบบที่เข้าใจง่าย
ผลงานดีๆอย่างนี้ ต้องชื่นชม สนับสนุน ให้กำลังใจ และเห็นคุณค่า พ่อแม่พี่น้องอย่าพลาด ไปดูกันให้ได้นะครับ สังคมดี สิ่งๆในสังคม ต้องช่วยกันส ร้างครับ