xs
xsm
sm
md
lg

บุลคลิกประชาธิปัตย์+การนำแบบ Reactive ของอภิสิทธิ์

เผยแพร่:   โดย: บัณรส บัวคลี่


* * * * ** * * * * *
“ภาวะการนำของคุณอภิสิทธิ์เป็นแบบท้วงติงและตอบโต้ (reactive) มากกว่าริเริ่มเสนออะไรใหม่ ๆ (proactive) เพราะโดยพื้นฐานแล้วคุณอภิสิทธิ์ไม่ใช่คนชอบเสนออะไรท้าทายแปลกใหม่ทางความคิด แต่ถ้ามีคนอื่นนำเสนอขึ้นมาก่อนคุณอภิสิทธิ์จะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเป็นระบบ”

เอนก เหล่าธรรมทัศน์. พิศการเมือง openbooks กันยายน 2548.

* * * ** * * * * *

อาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เขียนหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ปี 2548 แต่ตอนนั้นกำลังไล่ทักษิณกันอยู่ไม่มีอารมณ์หยิบมาอ่านเพิ่งจะมีโอกาสหยิบมาอ่านเมื่อไม่นานมานี้ระหว่างที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล รู้สึกทึ่งที่อาจารย์เอนกอ่านประชาธิปัตย์ทะลุปรุโปร่งทั้ง ๆ ที่เข้าไปอยู่ร่วมชายคาพระแม่ธรณีบีบมวยผมไม่นานก็ระเห็จออกมา (พร้อมเสธ.หนั่น)

คนประชาธิปัตย์ที่ยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ขอแนะนำว่าควรจะขวนขวายไปหยิบหามาอ่านเผื่อจะเป็นประโยชน์กับบทบาทฝ่ายค้านขึ้นมาจากเดิมบ้างไม่มากก็น้อย จริงอยู่หนังสือเล่มนี้หนักไปทางการเล่าประสบการณ์ชีวิตทางการเมืองของผู้เขียนโดยเฉพาะความสัมพันธ์กับเสธ.หนั่นและการออกมาตั้งพรรคมหาชนลงเลือกตั้งแข่งกับไทยรักไทยแล้วก็พ่ายแพ้ราบคาบ(2548) แต่ด้วยที่เคยใช้ชีวิตการเมืองช่วงแรกช่วยงานเสธ.หนั่นในพรรคประชาธิปัตย์ ก้าวขึ้นเป็นรองหัวหน้าพรรคและอยู่ในบรรยากาศการเลือกตั้งภายในระหว่างบัญญัติ-อภิสิทธิ์ทำให้รู้เส้นสายพฤติกรรมความคิดของคนประชาธิปัตย์ดี ประกอบกับเจ้าตัวเป็นนักวิชาการมีความสามารถสรุปความด้วยภาษากระชับตรงประเด็น จุดเด่นของหนังสือนี้นอกจากบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองระยะสั้น ๆ ผ่านบุคคลแล้ว จุดเด่นที่สุดอีกอย่างคือการฟันธงให้คำจำกัดความบุคคลการเมืองโดยสายตาด๊อกเตอร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียที่ลงมาคลุกการเมืองด้วยตัวเอง อย่างเช่น

ชวน หลีกภัย : “ในวัยหนุ่ม คุณชวนเป็นนักปฏิรูปแต่เมื่อนานวันเข้าความตื่นเต้นต่อการเปลี่ยนแปลงก็ย่อมน้อยลงเป็นธรรมดา ในที่สุดความชาชินเช่นนี้อาจกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงได้”

บรรหาร ศิลปอาชา : “คุณบรรหารจัดได้ว่าเป็นนักการเมืองที่มีสายตาแหลมคม คุณบรรหารดูออกว่าผู้สมัครคนไหนมีคะแนนจริงในสนามเลือกตั้งและผู้สมัครคนไหนไม่มีคะแนนแต่ต้องการมาหลอกเอาเงินจากพรรค”

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ : “ภาวะการนำของคุณอภิสิทธิ์เป็นแบบท้วงติงและตอบโต้ (reactive) มากกว่าริเริ่มเสนออะไรใหม่ ๆ (proactive) เพราะโดยพื้นฐานแล้วคุณอภิสิทธิ์ไม่ใช่คนชอบเสนออะไรท้าทายแปลกใหม่ทางความคิดแต่ถ้ามีคนอื่นนำเสนอขึ้นมาก่อนคุณอภิสิทธิ์จะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเป็นระบบ”


เป็นไงครับ บทสรุปสั้น ๆ แบบเอนก..ชัดตรงเผงผมล่ะชอบจริง ๆ การสรุปตัวตนของคนแบบนี้แต่ ออกตัวไว้ก่อนนะครับว่าผมเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับข้อเขียนเล่มนี้ของอาจารย์เอนกทั้งหมดดอกนะครับ บางส่วนที่มองไปข้างหน้าในเชิงคาดการณ์ หรือในเชิงกลยุทธ์เช่นบอกว่า “วิธีการเดียวที่จะสู้กับคุณทักษิณได้ก็คือใช้ความดี ความงาม และความถูกต้องเท่านั้น” แต่ก็เข้าใจผู้เขียนเพราะเขียนเมื่อปี 2548 ก่อนพันธมิตรประท้วงและก่อนรัฐประหารจึงได้ได้มองเห็นวิกฤตการณ์สังคมและการเมืองครั้งใหญ่ในห้วงเวลาหลังจากนั้น พฤติกรรมและฐานคิดทางการเมืองของสังคมไทยเมื่อปี 2548 กับปัจจุบันต่างกันสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตามแม้จะมีข้อแย้งในด้านอื่น ๆ แต่สำหรับมุมมองบุคลิกและพฤติกรรมทางการเมืองของนักการเมืองกลับต้องยกนิ้วให้อ.เอนก เพราะผ่านไป 6 ปี ทัศนะดังกล่าวที่ได้ฟันธงไว้นั้นยิ่งชัดเจนขึ้นเป็นที่ประจักษ์ยิ่งขึ้นด้วยซ้ำ !

คนประชาธิปัตย์ลองทำใจร่ม ๆ อย่ามองว่าคน ๆ นี้เคยขัดแย้งกับสายคุณชวนผิดหวังกับพรรคแล้วออกมาเขียนหนังสือโจมตีมองในแง่ร้ายเกินไปลองอ่านดูในบทว่าด้วย “บุคลิกของประชาธิปัตย์ดู” ขอย้ำว่าบทความนี้เขียนเมื่อ 6 ปีที่แล้วนะครับ (โอ..ทำไมช่างทันสมัยหยั่งงี้ !!!)

* * * * ** * * * * *

บุคลิกของประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์นั้นเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่มีความต่อเนื่องมายาวนานจนดูเหมือนว่าถึงจะไม่ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ก็ยังยืนหยัดทางการเมืองต่อไปได้ แต่ชัยชนะของพรรคไทยรักไทยและวิธีการทำงานของคุณทักษิณก็ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องหันกลับมาทบทวนว่าจะปฏิรูปหรือปรับเปลี่ยนพรรคไปทางใด

จะว่าไปแล้วพรคประชาธิปัตย์แทบไม่ได้เสนอแนวความคิดใหม่ ๆ ออกมาเองเลยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาแม้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นฐานเสียงใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาที่แหลมคม การนำของประชาธิปัตย์มักจะเป็นเพียงการสนับสนุนความคิดของนักวิชาการที่ทำงานแล้วนำมาเสนอเท่านั้นโดยประชาธิปัตย์จะเชี่ยวชาญในการตัดเย็บปรับแก้จนพอใจแล้วจึงผ่านความคิดเหล่านี้ออกมาเป็นกฏหมายหรือนโยบาย

ในขณะที่การนำเสนอความคิดของคุณทักษิณและพรรคไทยรักไทยจะเป็นแบบสุดลิ่มถ้าคนชอบก็จะชอบมาก คนไม่ชอบก็จะวิจารณ์รุนแรง หลายเรื่องที่คุณทักษิณเสนอจึงจับใจคนมากกว่าวิธีการของประชาธิปัตย์

ผมเคยเสนอให้พรรคประชาธิปัตย์ทำนโยบายเรื่องสมุทรศาสตร์ เพราะเห็นว่าประเทศไทยมีฝั่งทะเลอยู่ถึงสองด้านทั้งทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิคด้านอ่าวไทยและมหาสมุทรอินเดียด้านอันดามัน ถ้าเราเอาจริงเอาจังกับการศึกษาเพิ่มพูนสมุทรานุภาพในระยะยาวยุทธศาสตร์นี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพของประเทศได้มหาศาล เพราะโดยที่ตั้งของประเทศไทยแล้วมีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์เนื่องจากทางฝั่งแปซิฟิคเป็นเส้นทางทะเลที่เราใช้ติดต่อกับจีน ส่วนทางฝั่งมหาสมุทรอินเดียเป็นเส้นทางที่เราใช้ติดต่อกับชมพูทวีปมาตั้งแต่ครั้งโบราณ

ถ้าจีนและอินเดียเป็นอนาคตที่สำคัญของเอเชียและของโลก ไทยก็สามารถเป็นตัวเชื่อมสำคัญผ่านทางทะเลทั้งสองฝั่ง

ความคิดเช่นนี้ถ้าผมนำเสนอในพรรคประชาธิปัตย์อย่างจริงจังก็อาจถูกมองว่าสติเฟื่อง ประชาธิปัตย์จะถูกฝึกมาให้ลดความเฟื่องของคนด้วยการตัดมุมโน้นนิดมุมนั้นหน่อย จนในที่สุดความคิดใหม่ ๆ จะไม่เหลือความแหลมคมอยู่เลย

จริงอยู่ที่ว่าสิ่งที่ไม่แหลมคมจะไม่ทิ่มแทงตัวเองแต่ในความเป็นอาวุธถ้าไม่มีความแหลมคมเสียแล้วก็ไม่สามารถทิ่มแทงทะลุปัญหาไปสู่ทางออกใหม่ ๆ ได้

ดังนั้นเมื่อไทยรักไทยเอาจริงเอาจังกับการเสนอความคิด ประชาธิปัตย์จึงต้องถอยร่นอย่างไม่เป็นกระบวนเนื่องจากไม่สามารถต่อสู้ทางความคิดกับไทยรักไทยได้ ความคิดของประชาธิปัตย์จึงดูแห้งแล้ง ไม่มีชีวิต ขาดสีสัน

การที่ประชาธิปัตย์จะพลิกตัวเองให้สามารถแข่งขันทางความคิดกับไทยรักไทยได้จะอาศัยการอ่านหนังสือเพียงไม่กี่เล่มแล้วนำมาเขียนเป็นนโยบายพรรคคงไม่เพียงพอ แต่พรรคประชาธิปัตย์จำเป็นต้องจับจุดอ่อนของไทยรักไทยให้ถูก เพราะนโยบายที่ไทยรักไทยนำมาใช้ส่วนใหญ่ถูกผลิตจากนักคิดจากโลกธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ซึ่งมีจุดอ่อนคือขาดมุมมองทางด้านประวัติศาสตร์ อารยธรรม วัฒนธรรมและภูมิศาสตร์

การจะต่อสู้กับพรรคไทยรักไทยได้จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมของพรรคก่อน ถ้าวัฒนธรรมยังเป็นแบบตั้งรับเช่นเดิมก็ยากจะรองรับหรือผลิตชุดความคิดใหม่ ๆ ได้

ผมเคยลองเสนอความคิดในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมของพรรคแต่ก็ได้รับการสวนกลับจากผู้นำบางคนในพรรคทันทีว่าวัฒนธรรมของประชาธิปัตย์นั้นดีอยู่แล้วและไม่มีใครยืนยันว่าวัฒนธรรมใหม่ที่สร้างขึ้นจะดีกว่าวัฒนธรรมเดิม การจะปรับเปลี่ยนวิธีคิดในพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะพรรคประชาธิปัตย์นั้นค่อนข้างจะเต็มไปด้วยความวิตกกังวล เมื่อมากเข้าก็ขาดสีสันและก้าวไม่ทันลีลาของพรรคไทยรักไทย

แม้จะเป็นรองหัวหน้าพรรคแต่การที่ไม่สามารถเสนอแนวคิดเพื่อปรับเปลี่ยนพรรคให้ดีกว่าเดิมได้ทำให้ผม (เอนก) รู้สึกอึดอัดเพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการทำงานการเมืองสำหรับผมถือเป็นภารกิจไม่ใช่อาชีพ ถ้าภารกิจที่ตั้งเป้าไว้ได้บรรลุผลแล้วก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ในตำแหน่งใด ๆ เลย

ในทางตรงกันข้ามต่อให้มีตำแหน่งและดูเหมือนว่าจะมีความก้าวหน้าในทางการเมืองแต่ไม่สามารถดำเนินงานเพื่อให้บรรลุภารกิจได้ผมคิดว่าน่าจะเป็นการดีกว่าที่จะขยับปรับเปลี่ยนไปสู่แนวทางใหม่ ๆ เพราะตำแหน่งโดยตัวของมันนั้นหาได้มีสาระอันใดถ้าไม่มีเป้าหมายและภารกิจที่ต้องบรรลุ

ยิ่งอยู่ประชาธิปัตย์นานเข้าผมก็ยิ่งตระหนักถึงความจริงข้อนี้มากขึ้น

(บุคลิกของประชาธิปัตย์ หน้า 94-99)

* * * * ** * * * * *

ยกมือเห็นด้วยกับอาจารย์เอนกครับ !

ทั้งในส่วนที่วิจารณ์คุณอภิสิทธิ์ว่าเป็นพวก Reactive มากกว่า Proactive ที่ชัดเจนมากและก็เห็นด้วยอย่างยิ่งในส่วนที่วิจารณ์บุคลิกของพรรคอ่านแล้วทำให้เข้าใจลึกไปถึงพฤติกรรมและวัฒนธรรมของพรรคพร้อมกันไปด้วยเลย

ด้วยบุคลิกของผู้นำแบบอภิสิทธิ์ความชำนาญด้านกฏหมายและความเก่งหาแง่มุมผิดพลาดของฝ่ายตรงกันข้ามแบบทนายความประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านในฝันสมน้ำสมเนื้อกับรัฐบาลปูยิ่งลักษณ์พรรคเพื่อไทย อย่าไรเสียพรรคที่เชี่ยวชาญการค้านที่สุดในเวลานี้คือประชาธิปัตย์อย่างไม่ต้องสงสัย

ปัญหาก็คือการเมืองไทยระยะหว่างนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านปรับตัวจากการถูกเขย่าอย่างแรงหลังวิกฤตการเมือง 5 ปี พฤติกรรมทางการเมืองของประชาชนก็เปลี่ยนไปด้วย มาตรฐานความคาดหวังของประชาชนก็สูงขึ้นตามอย่างน้อยรัฐบาลปูยิ่งลักษณ์จะต้องเร่งทำตามสัญญาที่หาเสียงไว้ให้ได้ ระวังเรื่องเสียหายทางการเมืองยิ่งขึ้นกว่ายุคสมัคร-สมชาย ขณะที่ผู้ที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์รวมถึงคนกลาง ๆ ก็ย่อมอยากเห็นพัฒนาการของฝ่ายค้านที่มีประสิทธิภาพในสภาเช่นกัน ประเด็นนี้ยังไม่น่าห่วงเท่าแง่มุมของการเตรียมต่อสู้ในสนามเลือกตั้งครั้งต่อไป

เกมรับดีไม่ได้หมายว่าจะมีเกมรุกที่ดีตามไปด้วย ประชาธิปัตย์เป็นทีมที่ต้องปรับปรุงเรื่องเกมรุกอย่างแรง

แม่ยก ปชป.- สมาชิกพรรครวมถึง ส.ส.ในพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังไม่ได้อ่านหนังสือของอดีตรองหัวหน้าพรรคที่ชื่อเอนก เหล่าธรรมทัศน์เล่มนี้ก็ควรจะไปหาอ่านดู หาเวลามาส่องกระจกดูตัวเองบ้างว่าที่แพ้ดักดานมาตลอดนั้นมาจากเหตุปัจจัยใด.
กำลังโหลดความคิดเห็น