xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมตั้งรับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย

เผยแพร่:   โดย: สุรศักดิ์ ธรรมโม

ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมของสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม 2551 ที่ประกาศเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปรับลดลง 17,000 ตำแหน่งเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมที่ผ่านมาและเป็นการปรับ ลดลงครั้งแรกในรอบ 4 ปี เป็นการบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้อย่างสูงยิ่งว่า ในไตรมาสที่ 1 หรือไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย

อะไรคือนิยามของเศรษฐกิจถดถอย??? เศรษฐกิจถดถอย คือการที่ผลผลิตมวลรวมในประเทศแท้จริง (real GDP) สำหรับประเทศสหรัฐฯ รายไตรมาสเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหดตัว (ติดลบ) อย่างน้อย 2 ไตรมาสต่อเนื่องกัน ทั้งนี้หน่วยงานทางการของสหรัฐฯ ที่คอยประกาศว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยและฟื้นตัวนั้นมีชื่อว่า “The National Bureau's Business Cycle Dating Committee” เป็นหน่วยงานในสังกัดของ National Bureau of Economic Research (NBER) ซึ่งทำหน้าที่กำหนดวันเริ่มต้นและสิ้นสุดของภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) อย่างเป็นทางการ

การที่จะรู้ว่าภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวอย่างเป็นทางการก็ต่อเมื่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวไปแล้วอย่างน้อย 2 ไตรมาส (หรือ 6 เดือน) ในแง่นี้การเตรียมตั้งรับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจึงไม่อาจรอให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการและออกมาตรการตั้งรับได้ หากแต่ต้องอาศัยข้อมูลแวดล้อม โดยเฉพาะตัวเลขทางเศรษฐกิจหรือดัชนีเศรษฐกิจที่บ่งชี้เหตุการณ์ข้างหน้า (Leading Economic Indicator) นอกจากตัวเลขการจ้างงานในข้างต้นแล้วตัวเลข GDP ของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 ที่อยู่ที่ 0.6 % เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ : Quarter on Quarter) เป็นสัญญาณประการสำคัญหนึ่งเช่นกันที่บ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจในอนาคตได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ปฏิกิริยาของธนาคารกลางสหรัฐ ฯ (Fed) ที่ลดดอกเบี้ยในวาระฉุกเฉินและในวาระปกติภายในเวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ถึง 1.25% เป็นการแสดงถึงการตอบรับต่อภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ปกติ

ผลกระทบของการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อประเทศไทยนั้น ขณะนี้ยังยากที่ประเมินในภาพรวมได้ เนื่องจากผลกระทบโดยอ้อม ซึ่งได้แก่การส่งออกของไทยไปยังประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียน ในฐานะสินค้าขั้นกลางเพื่อผลิตต่อแล้วส่งไปยังสหรัฐฯ นั้นมีความสลับซับซ้อนตามกระบวนการผลิตในห่วงโซ่อุปทานการผลิตโลก (Global Supply Chain) ในขณะที่การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมามีสัดส่วนประมาณ 12.6 % ของการส่งออกทั้งหมดและมีอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับปี 2549 ที่ –1.2 % ในแง่การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ จะเห็นว่าสัดส่วนการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2550 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับปี 2549 ซึ่งอยู่ที่ 15%

นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ในหน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจชั้นนำของโลก ส่วนหนึ่ง เห็นว่าถ้าเศรษฐกิจสหรัฐ ฯ ถดถอย จะมีส่วนดึงให้เศรษฐกิจยุโรป และญี่ปุ่นชะลอตัวลงตาม (Slowdown) หรืออีกนัยหนึ่งคือเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นเติบโตในอัตราที่ลดลง เมื่อดู สัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังประเทศสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น หรืออีกชื่อหนึ่งว่า G3 พบว่า ในปี 2550 สัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังกลุ่ม G3 อยู่ที่ 39% ของการส่งออกทั้งหมด นอกจากนี้ บริษัท UBS Securities ยังประเมินว่าเศรษฐกิจจีนและอินเดียจะไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยมากนักในขณะที่ประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวันและประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เศรษฐกิจมีขนาดเล็กและค่อนข้างเปิดต่อภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศจะได้รับผลกระทบในระดับสูงจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย (UBS Securities : Global growth downgrade Jan 24,2008) ซึ่งประเทศไทยแม้ว่าจะมีเศรษฐกิจขนาดกลางแต่เปิดรับต่อภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศในระดับสูง โดยสัดส่วนของรายได้จากการส่งออกต่อ GDP ไทยในปี 2549 สูงถึง 74% ถือว่าประเทศไทยเปิดรับต่อความผันผวนเศรษฐกิจโลกอย่างมากเมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยของรายได้จากการส่งออกต่อ GDP ของประเทศอื่นๆ ที่ 30% โดย ฟิลิปปินส์ (46%) อินโดนีเซีย (31%) และ เกาหลีใต้ (43%)

การเตรียมรับมือเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยครั้งนี้ จำเป็นที่รัฐบาลต้องเข้ามามีบทบาทในการหยุดการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย เพราะภาคเอกชนไทยทำได้อย่างมากก็แค่เฉพาะป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ยังไม่ต้องพูดถึงว่าในปี 2550 การที่เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลง เนื่องมาจากบรรยากาศทางการเมืองไม่ปกติ ดังจะเห็นได้จากดัชนีการลงทุนเอกชนในปี 2550 อยู่ที่ –0.8 % ทั้งที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (Capital Utilization) ในปีที่แล้วสูงถึง 76% ซึ่งเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ต้องลงทุนใหม่ แต่การลงทุนกลับหดตัวและนั่นส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2550 แทบจะตลอดทั้งปีขึ้นอยู่กับภาคการส่งออกแต่เพียงอย่างเดียว

แต่ถ้าปี 2551 การลงทุนภาคเอกชนไทยยังไม่ปรับตัวขึ้นแล้วปล่อยให้เศรษฐกิจไทยพึ่งพิงการส่งออกแต่เพียงอย่างเดียวดังเช่นในปี 2550 เท่ากับว่าเศรษฐกิจไทยปี 2551 มีความเสี่ยงสูงที่จะชะลอลงมากกว่าที่ควรจะเป็น
กำลังโหลดความคิดเห็น