xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองของชนชั้นล่าง

เผยแพร่:   โดย: สุรศักดิ์ ธรรมโม

การเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม มีความแตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆอย่างน่าสนใจหลายประการ ประการสำคัญประการหนึ่งคือการที่พรรคการเมืองเกิดใหม่พรรคหนึ่งซึ่งถูกจับตาและคุมความประพฤติในการหาเสียงอย่างเข้มงวดเกินปกติซึ่งก็คือ พรรคพลังประชาชน ได้รับการคาดการณ์ว่าจะเป็นผู้ชนะได้ที่นั่งจาก ส.ส.แบบเขตและแบบสัดส่วนอย่างถล่มทลายในภาคอีสานและภาคเหนือ จนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พรรคได้เสียงมากที่สุดเมื่อเทียบกับพรรคการเมืองอื่นๆที่ลงสนามเลือกตั้งครั้งนี้ ในแง่มุมทางชนชั้นแล้ว พรรคพลังประชาชนถือได้ว่าเป็นตัวแทนของชนชั้นล่างได้อย่างชัดเจน

แต่ชนชั้นล่างของไทยคือใครและมีจำนวนเท่าใด คำตอบนี้สามารถใช้เกณฑ์ทางเศรษฐกิจเป็นคำตอบได้ คือนับจำนวนคนที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 1,386 บาท ซึ่ง ทางสภาพัฒน์ฯ ถือว่าเป็นคนจน ตัวเลขสถิติระบุว่า ประเทศไทยในปี 2549 มีคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่า 1,386 บาทต่อเดือน (ซึ่งถือว่าเป็นระดับรายได้ที่ต่ำกว่าระดับการยังชีพพื้นฐานของประชากรไทย) ประมาณไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน ซึ่งถ้าผนวกคนกลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างจนซึ่งมีรายได้ไม่เกิน 1,600 บาทต่อเดือน ซึ่งมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 8 ล้านคนเข้าไปด้วยจะเห็นว่าประชากรของชนชั้นล่าง (กลุ่มรายได้ที่ถือว่าจนและค่อนข้างจน) มีประมาณไม่ต่ำกว่า 14 ล้านคน ในจำนวนกว่า 14 ล้านคนนี้ กว่าร้อยละ 80 อาศัยอยู่ที่ภาคเหนือและอีสาน ดังนั้นเมื่อพิจารณาในแง่ของรายได้และจำนวนประชากรของภาคเหนือและภาคอีสาน พบว่าในขณะที่ประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศอาศัยอยู่ใน 2 ภาคนี้ หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 34 ล้านคน แต่กลับมีส่วนแบ่งของรายได้เพียงร้อยละ 19 ของรายได้รวมทั้งประเทศ จากตัวเลขดังกล่าวพอสรุปเบื้องต้นได้ว่า ภาคเหนือ ภาคอีสานเป็นภาคที่สะท้อนลักษณะความเป็นชนชั้นล่างทางเศรษฐกิจได้มากที่สุด

ในแง่ประวัติศาสตร์ ชนชั้นล่างของไทยมีการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าอย่างยาวนานย้อนกลับไปได้ตั้งแต่สมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ก่อนปี 2475) โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขยายอำนาจไปยังภูมิภาคเพื่อระดมทรัพยากรท้องถิ่นเข้ามาสู่ส่วนกลางที่กรุงเทพฯ ต้องพบกับการจับอาวุธลุกขึ้นสู้ของคนท้องถิ่นทั้งในภาคเหนือและภาคอีสาน อาทิ กบฏสามโบกที่ขอนแก่นเมื่อปี 2438 ที่ต่อต้านการเก็บภาษีรัชชูปการ (ภาษีที่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์เรียกเก็บจากราษฎรไทยทุกคนเท่าๆกัน ในฐานะที่ทุกคนเป็นข้าแผ่นดิน ภาษีดังกล่าวได้ยกเลิกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง) กบฏชาวนาในภาคอีสานปี 2445 กบฏชาวบ้านที่เลยปี 2467 และกบฏอื่นๆในพื้นที่ของภูมิภาคอีสานและเหนือที่ปะทุขึ้นในช่วงนั้นล้วนแต่ต่อต้านการเข้าแทรกแซงของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในการจัดเก็บภาษีรัชชูปการและการเรียกเก็บผลประโยชน์จากราษฎรในพื้นที่ ในช่วงตั้งแต่ ปี 2508 จนถึงปี 2523 การต่อสู้ที่โดดเด่นของชนชั้นล่างของไทยคือการเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสู้กับรัฐบาล แต่หลังปี 2523 เป็นต้นมา สภาพการสู้รบด้วยอาวุธของคนในพื้นที่ดังกล่าวค่อยๆ ลดทอนลงไป เนื่องจาก สภาพแวดล้อมทางการเมืองระหว่างประเทศและในประเทศไม่เอื้อให้มีการจับอาวุธขึ้นต่อสู้ การไปขายแรงงานในต่างประเทศที่กลุ่มประเทศตะวันออกกลางของคนในภาคอีสาน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในอัตราที่สูงในปี 2533-2540

การไปขายแรงงานในต่างประเทศ การที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่สูงในช่วงเวลาปี 2533-2539 มีส่วนช่วยลดจำนวนคนจนทั่วประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการเปลี่ยนชนชั้นล่างให้เป็นชนชั้นกลาง ซึ่งถือเป็นชนชั้นกระดูกสันหลังในการปกครองระบอบประชาธิปไตย แม้ว่า เศรษฐกิจในช่วงนั้นจะขยายตัวในอัตราที่สูงยิ่ง แต่การลดจำนวนคนจนในภาคเหนือและอีสานยังเป็นไปอย่างล่าช้าโดยเฉพาะในภาคอีสาน ในปี 2531 สัดส่วนคนจนเทียบกับประชากรในภาคของภาคเหนือและอีสานพบว่าอยู่ประมาณร้อยละ 48 และ 56 ตามลำดับ ในขณะที่ปี 2539 สัดส่วนดังกล่าวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 17 และร้อยละ 26 ตามลำดับ โดยตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในช่วงเวลาเดียวกันคือสัดส่วนคนจนร้อยละ 45 ของประชากรทั้งประเทศลดลงอยู่ที่ร้อยละ 17

ไม่ว่าความยากจนดังกล่าวจะมีสาเหตุมาจากอะไร แต่ชนชั้นล่างในภาคเหนือและโดยเฉพาะภาคอีสาน พร้อมที่จะใช้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ลงคะแนนเลือก ส.ส. และการเมืองภาคประชาชนที่เน้นการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาเป็นตัวขับเคลื่อนในการบรรเทาปัญหาความยากจนของตนเอง หรืออีกนัยหนึ่งชนชั้นล่างพร้อมที่จะใช้เวทีการเมืองทั้งในระบอบและนอกระบอบสู้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

เช่นเดียวกันกับการต่อสู้ของชนชั้นกลางและชนชั้นสูงที่สู้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของชนชั้นตนเอง ดังจะเห็นจาก การต่อสู้ของชนชั้นกลางกับรัฐบาลเผด็จการทหารในอดีตโดยประเด็นการผูกขาดอำนาจของเผด็จการทหารที่กระทบผลประโยชน์ชนชั้นกลางผ่านการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่ลดลงและการที่รัฐบาลเผด็จการทหารไม่เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ชนชั้นกลางในฐานะผู้เสียภาษีรายใหญ่มีส่วนในสิทธิและเสรีภาพในการกำหนดชะตากรรมประเทศ การต่อสู้ของชนชั้นกลางกับรัฐบาลเลือกตั้งที่ฉ้อฉล ซึ่งกระทบผลประโยชน์ของชนชั้นกลางในแง่ที่นักการเมืองในระบบเลือกตั้งโกงกินภาษีอากรหรือเบียดบังงบประมาณแผ่นดินจากชนชั้นกลาง ผู้เสียภาษีรายใหญ่ที่สุดของประเทศเข้ากระเป๋าส่วนตัวของนักการเมือง ชนชั้นกลางจะเน้นการต่อสู้ทางการเมืองทั้งในและนอกระบอบ เช่น ทัศนะในหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุ และ สื่อมวลชนอื่นๆรวมถึงการประท้วงบนท้องถนน ในขณะที่ชนชั้นสูงจะสู้ในประเด็นที่ไม่ยอมให้มีการเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดก รวมทั้งมีจุดยืนในการต่อต้านนโยบายปฏิรูปที่ดิน นโยบายการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกัน และเรียกร้องให้รัฐบาลนำเงินภาษีอากรประเทศไทยเข้าช่วยเหลือพวกตนเองในยามคับขัน ดังจะเห็นจากวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ที่รัฐบาลต้องนำเงินภาษีอากรของประเทศเป็นจำนวนมหาศาลเข้าอุ้มสถานะทางสังคมและธุรกิจของชนชั้นสูงในประเทศ

ในการสู้กันทางการเมืองในระบอบ ชนชั้นล่างจะใช้ ส.ส.เป็นตัวแทนดูแลผลประโยชน์เบื้องต้นของพวกเขา โดยเฉพาะสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน น้ำ ไฟฟ้า ส่วนนอกเหนือจากนี้ ชนชั้นล่างจะรวมกันเป็นกลุ่มและเดินขบวนเรียกร้องกับรัฐบาลที่กรุงเทพฯด้วยตนเอง ดังจะเห็นจากในช่วงหน้าแล้งของแต่ละปี ขบวนของชาวนาและเกษตรกรจะเดินทางมาอุทธรณ์กับรัฐบาลที่กรุงเทพฯในปัญหาการทำมาหากินและเรียกร้องให้รัฐบาลแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรและแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน แม้ว่ารัฐบาลจะมีลักษณะอ่อนแอตามโครงสร้างทางการเมืองที่รัฐบาลจะเป็นรัฐบาลผสมมีอายุทางการเมืองไม่ยาวนาน และเมื่อมีเรื่องอื้อฉาวทางด้านการทุจริตจะถูกแรงกดดันทางการเมืองที่เริ่มมาจากชนชั้นกลางในเมืองโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ให้ยุบสภา จนมีคำกล่าวระบุสภาพการณ์ดังกล่าวว่า “คนชนบทตั้งรัฐบาล คนกรุงเทพฯล้มรัฐบาล” สภาพการณ์เช่นนี้ดำรงต่อเนื่องจนกระทั่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ที่เศรษฐกิจไทยตกต่ำอย่างรุนแรงจนระดับรายได้ประชาชาติปรับลดลงร้อยละ 1 ในปีนั้นและร้อยละ 10 ในปีต่อมา

ในวิกฤติ 2540 คนจนหรือชนชั้นล่างเป็นผู้ได้รับผลสะเทือนโดยตรงจากวิกฤติดังกล่าวในแง่ของรายได้หลังฤดูทำนาจากการเป็นกรรมกรรับเหมาก่อสร้างในภาคอสังหาริมทรัพย์ไม่อาจจะเป็นทางเลือกของการทำมาหากินนอกเหนือจากอาชีพในภาคการเกษตรได้ เพราะวิกฤติ 2540 ได้ส่งผลให้การก่อสร้างชะลอตัวไปหลายปี ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เอง ประเทศไทยได้มีรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญที่ว่านี้ได้เปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง ความสัมพันธ์ทางการเมือง โดยสนับสนุนให้รัฐบาลมีความเข้มแข็งทางการเมือง สามารถเป็นตัวแทนของประชาชนที่ลงคะแนนเสียงให้ ซึ่งพรรคไทยรักไทยได้ใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางการเมืองอย่างเต็มที่ ส่วนหนึ่งของนโยบายของพรรคไทยรักไทยมีศูนย์กลางอยู่ที่คนจนหรือชนชั้นล่างโดยมีนโยบายพรรคที่เป็นของชนชั้นล่างอย่างเป็นระบบ ซึ่งไม่มีพรรคการเมืองพรรคใดจะสามารถคิดและออกแบบนโยบายพรรคที่สามารถดึงคะแนนเสียงชนชั้นล่างได้ครบถ้วนเช่นเดียวกับนโยบายพรรคไทยรักไทย

ดังนั้น ในช่วงวิกฤติการเมืองของพรรคไทยรักไทยตั้งแต่ปลายปี 2548 ต่อจนถึงต้นปี 2549 ชนชั้นล่างจึงเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ ไม่ใช่เพื่อมาเรียกร้องปัญหาที่ดินทำกินและราคาสินค้าเกษตร หากแต่มาแสดงพลังเพื่อสนับสนุนพรรคไทยรักไทย ซึ่งในแง่หนึ่งคือตัวแทนของชนชั้นล่างอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุด หากพิจารณาเฉพาะการจัดสรรผลประโยชน์และการเรียกร้องผลประโยชน์ให้แก่ชนชั้นล่างของพรรคไทยรักไทยตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งในปี 2544 เป็นต้นมา

เมื่อพรรคพลังประชาชนคือตัวแทนของพรรคไทยรักไทยที่ถูกยุบไป ดังนั้น ชนชั้นล่างจึงหันมาสนับสนุนพรรคพลังประชาชนเพราะพรรคพลังประชาชนคือตัวแทนของพรรคที่ให้ผลประโยชน์แก่พวกเขาอย่างเป็นรูปธรรมและครอบคลุมมากที่สุดทั้งในด้านประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสวัสดิการทางสังคม เมื่อเทียบกับพรรคการเมืองอื่นๆ ซึ่งยังไม่เคยมีพรรคการเมืองใด เคยจัดสรรหรือเรียกร้องผลประโยชน์ที่ครบถ้วนเช่นนี้ให้แก่ชนชั้นล่างมาก่อน

กองทัพ กลไกของกองทัพ พรรคการเมืองอื่นๆ ผู้นำความคิดทางสังคมบางท่าน เชื่อว่าการที่พรรคการเมืองดังกล่าวจะได้รับชัยชนะในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือเพราะมีการใช้ปัจจัยทุนในระดับที่เข้มข้นกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ ดังนั้นถ้ากลไกการเลือกตั้งทั้งที่เป็นทางการและที่ไม่เป็นทางการ ควบคุมการใช้ปัจจัยทุนของพรรคการเมืองนั้นไม่ให้ใช้จ่ายเกินกว่าคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด ควบคุมไม่ให้มีการซื้อขายเสียงอย่างเข้มงวด รวมทั้งถ้ามีพรรคการเมืองที่พร้อมไปด้วยปัจจัยทุนไปตัดคะแนนเสียงในพื้นที่อีสานและภาคเหนือจะหยุดยั้งชัยชนะของพรรคพลังประชาชน แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ผู้ที่คิดและกระทำเช่นนั้น ดูจะไม่เข้าใจพัฒนาการของการต่อสู้ของคนในพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะ การเมืองของชนชั้นล่างดังที่ยกมาในด้านต้น เพราะต่อให้องค์กรรัฐและกองทัพจะใช้กลไกระงับการใช้ทุนหาเสียงไม่ให้เกินกว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด หรือห้ามการซื้อสิทธิขายเสียงในพื้นที่ภาคเหนือและอีสานได้สมบูรณ์แต่ไม่อาจหยุดยั้งการสนับสนุนของชนชั้นล่างในพื้นที่ดังกล่าวต่อพรรคพลังประชาชนได้

หลังวันเลือกตั้ง 23 ธันวาคม พรรคพลังประชาชนได้รับการคาดการณ์ว่าเป็นพรรคที่จะได้รับเสียงข้างมาก และไม่ว่าพรรคพลังประชาชนจะได้เสียงมากพอจนจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้หรือไม่ ปัญหาของประเทศไทยหลัง วันที่ 19 กันยายน 2549 ไปไกลเกินกว่าการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม จะเยียวยาความแตกแยกของคนในชาติได้ เพราะรากเหง้าของปัญหาอยู่ที่ การพัฒนาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ไม่เท่าเทียมกัน การกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ที่สำคัญ กลไกที่จะแก้ปัญหาความแตกแยกของคนในชาติถูกทำให้อ่อนแอผ่านรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ผู้ร่างจงใจออกแบบให้รัฐบาลและระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ ไม่สามารถเป็นตัวแทนประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงได้เลย และที่สำคัญอย่างยิ่งในยุคโลกาภิวัตน์ รัฐธรรมนูญ 2550 ถูกออกแบบมาให้ประเทศไทยถอยหลังในการพัฒนาเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่เคยอยู่ในระนาบเดียวกันกับไทยและกำลังไล่กวดมา

เสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทยที่แท้จริง ไม่ได้อยู่ที่ว่ากองทัพและชนชั้นสูงจะสกัดกั้นผู้ใดหรือพรรคการเมืองใดไม่ให้มีศักยภาพมาท้าทายอำนาจของกลุ่มตน หากแต่อยู่ที่ว่า ประชาชนในประเทศมีความอยู่ดีกินดี มีสถานะทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดี การลดทอนชนชั้นล่างที่ดีที่สุด คือยกระดับรายได้ เปลี่ยนชนชั้นล่างให้เป็นชนชั้นกลาง และเสริมสร้างสวัสดิการสังคมที่จำเป็นแก่ชนชั้นล่าง ทั้งหมดนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีการปฏิรูปประเทศ และจะปฏิรูปประเทศได้อย่างมีต้นทุนต่ำที่สุดและเป็นไปอย่างสันติ ชนชั้นสูงจะต้องเข้ามามีส่วนสนับสนุนการปฏิรูปนี้อย่างแข็งขัน และสนับสนุนการลดความไม่เท่าเทียมกันในการกระจายรายได้ผ่านมาตรการการเก็บภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน และการปฏิรูปที่ดิน

หมายเหตุ - ข้อเขียนชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากความเรียงที่ชื่อว่า “การเมืองของชนชั้นล่าง ประมาทธรรมของชนชั้นสูง” ในหนังสือ “จอมคนในจอมคนแผ่นดินเดือด หมื่นวิถีสู่ราชัน” ประพันธ์โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์ ตีพิมพ์ พฤศจิกายน 2550
กำลังโหลดความคิดเห็น