xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ 316 นักการเมืองต้องเรียนรู้...จากศัตรู!? (เรื่องของ ‘โอทอป’ vs ‘โอถีบ’)

เผยแพร่:   โดย: วาทตะวัน สุพรรณเภษัช

เช้าวันนี้...จิบกาแฟขมแล้ว ผมดูซีดีหนังสงครามเก่าเรื่อง “Patton” ซึ่งเป็นเรื่องของ George Smith Patton Jr. นายพลอเมริกันจอมมุทะลุ ที่นำทหารสหรัฐตีตะลุยจากอาฟริกา แล้วยกขึ้นตอนใต้ของอิตาลี รุกเข้าไปในยุโรป ตามแผนการยุทธบรรจบของชาติพันธมิตร

ตอนเป็นนายทหารยานเกราะชั้นผู้น้อย นายพลแพตตันได้ศึกษาตำรายุทธวิธีการรบด้วยรถถัง ชื่อ “Infantry Attacks” ที่แปลจากหนังสือภาษาเยอรมัน ชื่อ “Infanterie Greiftan” ซึ่งเป็นงานเขียนของจอมพลเออร์วิง รอมเมล (German Field Marshal Erwin Rommel) ยอดทหารของเยอรมัน จนเข้าใจทะลุปรุโปร่ง ถึงหลักคิดและกลยุทธการรบด้วยรถถัง ตามแบบฉบับกองทัพไรน์

ทั้งการเข้าตี ตั้งรับ ร่นถอย รบหน่วงเวลา และเพิ่มเติมกำลัง

อย่างครบถ้วน สมบูรณ์แบบที่สุด!

ารศึกษาจากตำราของยอดฝีมือ ระดับปรมาจารย์การยุทธ์ยานเกราะ ทำให้นายทหารธรรมดาๆคนหนึ่ง อย่าง จอร์จ แพตตัน ซึ่งยังไม่มีชื่อเสียงอะไรมาก่อน กลายเป็นผู้มีความรู้ในการยุทธ์ยานเกราะ เพียงแต่เก็บงำความรู้นี้เอาไว้ ทั้งยังตระเตรียมแผนการ ค้นหายุทธวิธีแก้ไข คลำหาช่องโหว่ของฝ่ายเยอรมัน และคิดค้นแนวทางโต้ตอบที่เหมาะสม

ทั้งนี้ เพราะแพตตันคิดว่า...

หากวันหนึ่ง ตนเองต้องเผชิญหน้ากับจอมพล เออร์วิง รอมเมล เจ้าของฉายา “จิ้งจอกทะเลทราย” ในสนามรบ เขาจะมีข้อมูลหลักการรบ ของนายทหารผู้ยิ่งใหญ่ฝ่ายตรงข้าม อยู่ในหัวสมองเรียบร้อย

การเตรียมการของแพตตันนั้น ครบถ้วนตามแบบคำสอนสั่ง ของปรมาจารย์ฝ่ายเสนาธิการ “ซุนวู” ที่ให้ยึดถือหลักการทำสงคราม

“รู้เขารู้เรา...รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง”

...และแล้ววันนั้นก็มาถึง

ชะตาชีวิตกำหนดให้ ทั้งคนอ่านและเจ้าของตำรา ต้องมาเผชิญหน้ากันกลางสมรภูมิที่ถูกกำหนดเป็นยุทธบริเวณ บทผืนทรายอันกว้างใหญ่แห่งอาฟริกา

ท่านผู้อ่านคงอยากจะทราบว่า อะไรจะเกิดขึ้น?

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า เพียงแต่เห็นการจัดรูปขบวนเข้าตี ของปรมาจารย์รถถังอย่าง จอมพล รอมเมล เท่านั้นเอง นายพลแพตตัน ถึงกับขว้างซิการ์ในมือ ชี้นิ้วไปยังทิศทางของกองพลรถถัง ที่กำลังเคลื่อนตรงเข้ามาหา พร้อมตระโกนลั่นออกมา ว่า

“Rommel... you magnificent bastard, I read your book!”

ถ้าจะแปล อย่างได้อารมณ์ ก็ต้องบอกว่า

“รอมเมล ไอ้โคตรยัดกะแม่ เฮ้ย...กูอ่านตำราของมึงมาแล้วนะโว้ยยยยย์!...”

จากนั้นนายพลแพตตัน ก็ออกคำสั่งให้ทหารอเมริกันในบังคับบัญชาของตน แปรขบวนรถถังเข้ารับการโจมตี พร้อมการตอบโต้ด้วยอำนาจการยิง

ในสัดส่วนที่หนักหน่วงและรุนแรง เหนือกว่าด้วยซ้ำ!

จากการเตรียมองค์ความรู้ที่ดี ของผู้นำทหารสหรัฐคนนี้ ทำให้แพตตันสามารถบัญชาการให้กองทัพรถถังของเขา เคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว ผสมผสานกับอำนาจการยิงที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง เป็นการดำเนินกลยุทธ์แก้การรุกเข้าปะทะ ของจอมพลรอมเมล ได้อย่างรัดกุม และเหมาะเจาะเป็นที่สุด

กองทัพอินทรีเหล็กของรอมเมล ที่เคยรบตะลุยได้มาโดยตลอด กลับต้องชะงักลง เพราะความสูญเสียหนักหน่วงเกินคาด

ในที่สุดการเข้าตีของยานเกราะฝ่ายนาซี กลับต้องต้องยุติลงเอง ติดตามมาด้วยการจำต้องถอนตัว ออกจากสมรภูมิไป

หลังจากนั้น กองทัพที่เคยเกรียงไกรของแม่ทัพรอมเมล ก็ตกเป็นฝ่ายร่นถอยจากดินแดนอาฟริกา โดยมีกองรถถังของแพตตัน นายพลปากกล้าจอมมุทะลุ เป็นฝ่ายไล่ติดตาม และสามารถโจมตีทะลวงจากดินแดนกาฬทวีป ยกพลขึ้นบกที่เกาะซิซิลี่ ถิ่นมาเฟียทางตอนใต้ของอิตาลี รุดเข้าสู่ยุโรป ด้วยการควบรถถังตีตะลุยฝ่าแนวต้านทานของฝ่ายอักษะ ทำการ
ยุทธบรรจบ กับกองทัพหลักที่ยกพลขึ้นบกมาจากฝั่งนอร์มังดี

ไปสู่ชัยชนะในที่สุด!

นับแต่บัดนั้น คำว่า “I read your book!” กลายเป็นถ้อยคำที่เตือนใจทหารอเมริกัน ที่จะต้องใฝ่ใจในการฝึกศึกษา ให้รู้กลยุทธ์ของข้าศึก หรือถ้าเป็นตำรวจ ก็ต้องศึกษา Modas Operandi หรือ “แผนประทุษกรรม” ของคนร้ายเอาไว้ รวมทั้งศึกษายุทธวิธีตำรวจ ในการจัดการกับผู้ประกอบอาชญากรรม เอาไว้ให้จงดี

การศึกษา เรียนรู้ ยกย่องและศึกษาจากศัตรูในบางโอกาส เพื่อให้รู้ซึ้งถึงกลยุทธ์ของข้าศึก เรียกว่าต้อง ‘รู้เขารู้เรา’ ไม่อย่างนั้น จะ...

‘รบร้อยครั้ง-ชนะร้อยครั้ง’ ได้อย่างไรกัน!
เช่นเดียวกัน

รัฐบาลที่ ‘ใจกว้าง’ ต้องมีสายสายตายาวไกล จะต้องไม่เป็นพวก ปิดหูปิดตา จิตใจคับแคบ เมินเฉยในการกระทำ แผนงานหรือโครงการดีของรัฐบาลเก่า ทั้งไม่ยอมรับแม้ว่า สิ่งนั้นจะเป็นเรื่องที่ดีหรือมีประโยชน์ โดยหวังเพียงผลทางการเมือง

แค่ไม่อยากให้ผู้คนเขา คิดถึงรัฐบาลเก่า ที่หมดอำนาจไปเท่านั้น
ดังนั้น แม้คนเก่าหรือรัฐบาลเก่า จะทำโครงการใดมาดีแล้ว แต่คนใหม่ใจแคบ กลับดันไปยกเลิก ละเลย หรือไม่ดำเนินการต่อ หรืออนุญาตให้มีการทำต่อไปได้ก็จริง

แต่ไม่สนับสนุนอุ้มชู สานต่อไปให้เจริญ เรียกว่าเป็นการกระทำอย่างเสียไม่ได้
โครงการที่เคยมีประสิทธิภาพ เมื่อไม่ได้รับการสานต่อ ชาวบ้านก็ไม่ได้รับประโยชน์!

ยิ่งกว่านั้น เมื่อโครงการที่ชาวบ้าน มีส่วนร่วมด้วยการลงทุนทรัพย์นอกจากลงแรงอีกด้วยแล้ว ก็เท่ากับพวกเขาถูกตัดประโยชน์ ซึ่งจะนำมาซึ่งความเดือดร้อนต่อประชาชน

การที่ไม่รู้จักการเรียนรู้ จากศัตรูคู่แข่งทางการเมือง เหมือนอย่างนายพลแพตตันทำอย่างที่เล่าให้ฟังนี้เอง จึงทำให้ผู้คนที่มีส่วนร่วม ในโครงการของรัฐบาลเดิม มีความรู้สึก “ชิงชัง” รัฐบาลใหม่ที่มารับช่วงบริหารบ้านเมืองต่อ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง...
หากรัฐบาลใหม่ มาจากการยึดอำนาจจากโดยการกระทำของฝ่ายทหาร หรือเข้ามาสู่อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม

ประชาชนยิ่งสาปแช่ง มากขึ้นทุกที อย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้ แต่น่าประหลาดใจมาก ที่รัฐบาล ‘โลซก’ นี้ กับทหารเผด็จการ ‘ลกเจ๊ก’

ไม่ยักรู้สำนึกเสียทีว่า ผู้คนจำนวนมาก เขาเกลียดชังตัวอย่างไร!?

หากตัวคนเขียนเองเป็นรัฐบาลปัจจุบัน หรือรัฐบาลที่กำลังจะเข้ามาใหม่ จะศึกษาเรื่องดีๆ ที่รัฐบาลเก่าๆ เขาทำมา เช่น

โครงการช่วยเหลือเด็กให้มีอนาคต ด้วยการส่งไปศึกษาต่างประเทศ เพราะเยาวชนเหล่านี้ หากสำเร็จการศึกษา ก็จะเป็นหลักหรือแกนนำในอำเภอได้ แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ

ทุนเช่นว่านี้ เป็นแรงจูงใจให้เด็กอื่นในต่างจังหวัด มีความหวัง ก่อให้เกิดมานะ เรียกว่าเป็นการจุดประกายทั่วทุกตำบล อำเภอ ในส่วนภูมิภาค นี่เป็นของดี แต่รัฐบาลนี้

ยกเลิกไปเสียดื้อๆ!

อยากจะบอกเผื่อไปถึงรัฐบาล ที่กำลังจะเข้ามาใหม่ (เพราะรัฐบาลที่มีอยู่ คิดแบบดักดาน อย่างไม่สร้างสรร) ว่า

รัฐบาลที่ดีนั้น จะต้องเป็นผู้ที่ใจกว้าง ถ้ารัฐบาลเก่าเขาทำมาดี ไม่เห็นจะต้องไปอับอาย หรือถือเป็นเรื่องเสียหน้า หากจะมายอมรับหรือทำตาม จึงยกเลิกเสีย เช่น

โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือเรียกสั้นๆ ว่า โอทอป (OTOP) เป็นโครงการของรัฐบาลทักษิณ ที่ส่งเสริมให้ชาวบ้าน ในแต่ละตำบลสร้างอาชีพในการผลิตสินค้า เพื่อออกจำหน่าย โดยสร้างสินค้าที่เป็นสินค้าประจำตำบลนั้นๆ อย่างนี้ต้องรักษาส่งเสริมเอาไว้ให้มั่นคง

เหมือนอย่างนายพลแพตตัน รับเอาความคิดจากศัตรู โดยการเอาหนังสือของขุนทัพข้าศึก เอาไว้ศึกษาหาความรู้

จนสามารถนำทัพ ไปสู่ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ได้!

ราวนี้ลองย้อนกลับมาดู บ้านเมืองของเรากันบ้าง
หลังทหารทำรัฐประหาร รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาชนนั้น ก็ได้พยายามอย่างเหลือกำลัง ที่จะเปลี่ยนแปลงไปใช้ชื่ออื่น แต่ไม่สำเร็จเพราะมันติดปากประชาชนไปแล้ว

นี่ก็เพียงอยากให้คนไทย...ลืม “ทักษิณ” เท่านั้น!
ไม่รู้ว่า รัฐบาลนี้ทราบหรือเปล่าว่า ความจริงแล้วเรื่องของโอทอปนี้ เอาเข้าจริงแล้ว ก็ไม่ใช่ว่า...

...ทักษิณแก ‘คิดขึ้นมาเอง’ เสียเมื่อไหร่กัน?

อยากจะเล่า ให้ท่านผู้อ่านฟังว่า
ผมสนใจในเรื่องของโอทอปนี้มาก จนถึงสืบสาวราวเรื่องว่า ใครเป็นคนที่คิดนำเอามาใช้ในเมืองไทย สืบไปสืบมาพบว่า ข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ตำแน่งไม่ใหญ่โตนัก ปัจจุบันก็อยู่ระดับรองอธิบดี แต่เป็นวิศวกรที่จบจากจุฬาลงกรณ์ และไปเรียนต่อปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยลีดส์ในอังกฤษ (University of Leeds) กลับมารับราชการในกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

ข้าราชการผู้นี้ได้ไปดูงานที่ญี่ปุ่น และเห็นว่าทางเมืองอาทิตย์อุทัยมีโครงการที่ดี ซึ่งเป็นต้นแบบของ ‘โอทอป’ เขาได้นำแนวความคิดมาเป็นหลัก ในการร่างแผนงาน เสนอตามสายงานการบังคับบัญชา ต่อไปยังผู้บังคับบัญชาในกระทรวง โดยใส่แนวความคิดปรับให้เหมาะกับเมืองไทย และมีความเห็นเสนอไปว่า

เมืองไทยเรา ควรมีโครงการอย่างนี้

เมื่อพรรคไทยรักไทย ได้รับการเลือกจากประชาชน ให้เข้ามาเป็นรัฐบาล ได้หยิบยกเอาความคิดนี้ไปใช้ในการดำเนินการ แต่ก็ไม่ได้ให้เกียรติ กับข้าราชการผู้เป็นต้นคิด

หากสวมหมับเข้าเป็นโครงการ ของพรรคตัวเลย!

จากนั้นนำออกมา เผยแพร่กับประชาชน

บังเอิญเป็นคราวโชคดีของพรรคไทยรักไทย เพราะเมื่อเอาโครงการนี้ลงไปสู่การปฏิบัติแล้ว ทำให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึก ตื่นตัวขึ้นอย่างแรงมาก มีความหวังขึ้นมารำไร เพราะเป็นโครงการที่รัฐบาลที่ผ่านๆ มาอย่างพรรคเก่ากะลา ก็คิดไม่เป็น

และไม่เคยมาหยิบยื่น โอกาสให้กับชาวบ้าน!

เมื่อประชาชนที่ได้รับการชักจูงให้เข้าร่วมดำเนินการก็เร่งผลิตสินค้าที่พวกเขาเห็นว่า หากนำออกสู่ตลาดโดยมีรัฐบาลช่วย กิจการก็จะดำเนินไปได้ด้วยดี

รัฐบาลไทยรักไทยเอา OTOP นี้ ไปเป็นโครงการหลักที่เด่นของตัว ดำเนินการสนับสนุนโครงการนี้อย่างหนักหน่วง เพื่อมัดใจชาวบ้าน แต่ที่สำคัญคือ

พรรคทักษิณไม่ได้ดำเนินการ เหมือนญี่ปุ่นที่เป็นต้นแบบ อย่างที่ข้าราชการผู้นั้นเขาเขียนเอาไว้ นั่นคือ

...สร้างสินค้าขึ้นซื้อขายภายในตำบลก่อน แล้วจากก็ค่อยๆ แพร่จากตำบลไปยังอำเภอ และจังหวัด ตามลำดับ จนขยายไปหลายๆ จังหวัดและส่งไปทั่วประเทศ เมื่อกิจการแข็งแรงก็ส่งออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ ....

แต่พรรคไทยรักไทย ต้องการประสบความสำเร็จอย่างแรงและเร็ว จึงไม่ได้ทำตามลำดับอย่างต้นแบบคือญี่ปุ่น เขาดำเนินการไว้!

พรรคทักษิณนั้น มีนักการตลาดอย่างนาย “สมคิด จตุศรีพิทักษ์” (ที่รัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ฯนี้ เคยคิดจะกลับไปพึ่งบริการอีก แต่โดนต่อต้านหนัก จนต้องถอนตัวไป) อาจารย์ทางการตลาด เขาสบช่องกับโครงการของข้าราชการเล็กๆ

ใช้การตลาดเป็นตัวนำ ปั่นกระแสเรื่องโอทอป ที่ตัวเขาเองหยิบฉวยมาจากข้าราชการตัวเล็กๆ

แล้วกระโดด ‘ข้ามขั้นตอน’ ญี่ปุ่น ต้นแบบไปเลย!

ทั้งนี้ นายสมคิดฯ(ซึ่งต้องถูกดองเป็น ‘ไชโป๊ว’ อยู่ตอนนี้) เข็นรัฐบาลทักษิณให้เร่งการกระจายสินค้าไปทั่วประเทศ รวมทั้งการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ แต่ก็น่าเสียดายมาก เพราะการเร่งรัดอย่างนี้ ทำให้ชาวบ้านที่ไม่จัดเจนในเรื่องการค้า

หน้ามืดล้มฟุบลง ก่อนประสพความสำเร็จ หลายต่อหลายราย!
ถึงกระนั้น ก็ยังมีชาวโอทอปอีกจำนวนไม่น้อย ที่ยังเอาตัวรอดได้ และยังมีจำนวนหนึ่ง ที่สามารถฝ่ามรสุม

จนสามารถยืนบนขาของตัวเอง ได้อย่างแข็งแรงมาจนทุกวันนี้...น่าภาคภูมิใจมาก!!

รัฐบาลทักษิณนั้น ทุ่มเทในเรื่องโอทอปมาก สนับสนุนอย่างจริงจัง ใช้ทุนในการจัดแต่ละครั้งจำนวนไม่น้อย เช่น

การเช่าอิมแพค อารีน่าเมืองทองธานี ซึ่งค่าใช้จ่ายสูง เพื่อให้ชาวบ้านได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานโดยรัฐบาลลงทุนจัดงานให้ ชาวบ้านขนของมาขายเท่านั้น บางครั้งออกค่ารถค่าเรือให้ด้วยซ้ำ การจัดงานโอทอป ซิตี้ ครั้งแรกก็มีประชาชนเข้าชมงานกว่า ๑.๕ ล้านคน หรือประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ คนต่อวัน

ถึงอย่างนั้น ก็ยังขอยืนยันว่า การที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะมายกเอาผลงานเรื่องโอทอปว่า ว่าเป็นความคิดของตนนั้น

ผมรับรองว่า...ไม่ใช่!
หากแต่นายสมคิด ฉกฉวยเอาโครงการนี้ ไปสมอ้างเป็นของตน แล้วพัฒนาข้ามขั้นตอนอย่างนั้นต่างหาก...

ที่เป็นเรื่องจริง!

อย่างไรก็ตาม แม้โอทอปจะมีช่วงเจ็บปวดอยู่บ้าง เพราะความใจเร็วด่วนได้ของนายสมคิดฯ แต่โอทอปยังฝ่าคลื่นลมมาได้ จนกลายเป็น Brand Name สำคัญของชาติไปแล้ว

แต่รัฐบาลเขายายเที่ยง รู้หรือเปล่าว่า
บัดนี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์ของท่านประธานาธิบดี มาร์คาปากัล อาโรโย่ มาดูงานประเทศเรา ศึกษาจากนายกฯ ทักษิณ และไม่อายที่จะเขาลอกไปใช้ แถมยังเห็นว่าชื่อ OTOP นั้นดีมาก คงไว้ดีกว่า โดยเปลี่ยนแปลงนิดหน่อย เป็น One Town One Product หรือ “หนึ่งเมืองหนึ่งผลิตภัณฑ์” โดยใช้คำว่า Town แทนคำว่า Tambon เท่านั้น

(สนใจลองเข้าไปดู ที่ http://www.otopphilippines.gov.ph/default.aspx )

ปัจจุบัน ชาวบ้านจำนวนไม่น้อย ที่ลืมหน้าอ้าปากได้ เพราะเรามีสินค้าวิสาหกิจชุมชน ที่คนไทยเป็นผู้ผลิตสินค้า โดยอาศัยคนและภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมสนับสนุนอย่างแข็งขันและทุ่มเทจากรัฐบาลเก่า ทำให้การดำเนินการของชาวบ้าน มีศักยภาพยิ่งขึ้น

นี่เอง เป็นเหตุให้สังคมท้องถิ่นของเรา เพิ่มความแข็งแกร่งขึ้น และพบโอกาสในการขยายช่องทางการตลาดโดย ได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองในด้านการขาย การบริหารจัดการด้านการตลาด โดยกลุ่มคนในตำบลหมู่บ้านเอง ด้วยการส่งเสริมของรัฐบาลเก่า ที่คอยดูแลประคับประคองมาตลอดเวลาหลายปี

ทำให้ ‘ตอม่อ-โอทอป’ ลงหลักปักถ่อ ในสังคมไทยได้อย่างมั่นคงแล้ว ในหลายตำบลของประเทศไทย...

จึงอยากจะบอก กับรัฐบาลชุดทหารตั้งนี้ ว่า

มเข้าใจดีว่า รัฐบาลของ นายกฯ สุรยุทธ์ มาเพียงชั่วคราว ไม่มีความจำเป็นต้องรักษาน้ำใจของชาวบ้าน เนื่องจากท่านไม่ใช่นักการเมือง หรืออย่างที่ชาวบ้านพูดกันทุกวันนี้ว่า

“มาแล้ว...ประเดี๋ยวก็ไป”

จึงไม่จำเป็นต้องหาเสียง เพื่อกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง!
ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้ยกเลิกโครงการ ของรัฐบาลทักษิณไปมาก บางโครงการก็น่ายกเลิกจริงๆ แต่บางโครงการนั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย หลายโครงการที่รัฐบาลนี้จำใจให้คงอยู่ ก็เพราะเป็นโครงการที่ดี และประชาชนได้รับประโยชน์ รัฐบาลทหารตั้งก็จับมาแต่งหน้าแต่งตา แล้วเปลี่ยนชื่อโครงการเสียใหม่

เพียงหวังจะให้คนลืมผลงาน ของผู้ที่เขาสร้างมาเท่านั้น

การเปลี่ยนชื่อโครงการใหม่นั้น นอกจากไม่สมเหตุสมผลแล้ว ยังเป็นการถีบช่องว่างความไม่เข้าใจ ระหว่างรัฐบาลสุรยุทธ์กับชาวบ้าน ให้ถ่างออกไปอีก

ไม่เชื่อผม ลองส่งคนที่เป็นกลางอย่าง ‘สำนักงาน สถิติแห่งชาติ’ ลงไปสำรวจความเห็นชาวบ้านดูหน่อยเถอะ แต่ผมต้องขอร้องอย่างจริงจัง อย่าเอาประเภทที่ชาวบ้านเขาเรียกว่า ‘โพล-สอพลอ’ หรือ “สอพลอ-โพล” อย่าง “เอแบ๊ดโพล” (A-BAD POLL) หรือ “สวนสอพลอ โพล”

พวกนี้ผมไม่เคยเชื่อถือ ใครขึ้นมามีอำนาจ มันก็เทไปข้างนั้น!

จึงอยากให้มองกันให้ยาวๆ แม้จะขับไล่รัฐบาลเก่าไปได้ สิ่งที่คนเก่าเขาทำไม่ดี ก็ต้องโละทิ้งไป ไม่มีใครเขาว่า...

ถ้าทำผิดทุจริตคอร์รัปชั่น ก็ต้องฟาดกันให้ถึงแก่น
แต่หากสิ่งที่พวกเขา เคยทำดีมาก่อน และสามารถช่วยเหลือประชาชน ทั้งคนยากคนจนอย่างได้ผล นั้น

ท่านผู้มาใหม่ ก็ควรเปิดใจกว้างรับกันเอาไว้ เพื่อประโยชน์ของชาวบ้าน ที่เขายังทุกข์ยากลำบากอยู่ ก็ได้มีโครงการของรัฐนี่แหละ

ไปช่วยให้พวกเขา...ลืมตาอ้าปากได้!

ไม่ต้องกลัวใครเขาจะบอกว่า เป็นการไปเดินตามตูดทักษิณ หรือใครจะว่า “เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง” ก็ช่างเขาไปเถิด

ดีกว่าให้ชาวบ้านนินทา ด่าเช็ดกันอย่างทุกวันนี้ และวิพากษ์วิจารณ์กันว่า

“ทักษิณ ‘โอทอป’..สุรยุทธ ‘โอถีบ’...”

หมายความว่า อะไรที่เขาทำไว้ดีๆ มาแต่ก่อนเก่า มาถึงยุคปฏิรูปของพวกรัฐประหาร โดนถีบทิ้งเกลี้ยงไปเลย.

..นี่ชาวบ้านเขาว่านะ...ผมไม่ได้ว่าเองนะ!
จึงอยากฝากไปถึง รัฐบาลที่กำลังจะมาใหม่ด้วย... ไม่ว่าท่านจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม หากเห็นว่าของสิ่งไหนหรือโครงการใดที่ดี

ก็ควรพิจารณาเก็บเอาไว้ เป็นประโยชน์กับชาวบ้านต่อไป


แค่ไม่เอาเอาอย่าง รัฐบาลน่าสมเพศชุดนี้...ก็เป็นการสงเคราะห์ กับประเทศไทยแล้ว!!

...............

หมายเหตุ

สำหรับกลุ่มการเมือง ที่ชาวบ้านเขาบอกว่า เป็นประเภท ‘ดักดาน’ และ ‘หัวคิด-ไม่มี’ คอยแต่เหล่ทำสายตายาว แอบชำเลืองลอกแนวความคิด หรือโครงการของคนอื่นเขา แบบคอยแต่ลอกคำตอบข้อสอบของเพื่อน เหมือนสมัยยังเป็นนักเรียนนั้น (ชาวบ้านคิดได้ ก็คงไม่เลือก)

ขอเตือนพรรคพันธุ์นี้ เอาไว้บ้าง ว่า

เวลาจะลอกเขาไป ก็ต้องลอกให้ถูกๆ ส่วนจะไปต่อเติมเสริมยอดอะไรนั้น ก็ต้องฟังเสียงชาวบ้านเขาบ้าง

ผู้คนเขายิ่งนินทาว่า “บริหาร-ไม่เป็น” อยู่นะ!

ลอกเขาก็ไม่เป็นไร เพียงแต่ขอให้คัดลอกอย่างมีหัวคิดด้วย

ลอกแบบผิดๆถูกๆ ระวังชาวบ้าน...เขาจะด่าเอานะจ๊ะ!!!...๕๕๕
กำลังโหลดความคิดเห็น