xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ 314 เมตตาไม่มีขาด ‘หมอห้าบาท’...หัวใจหลายพันล้าน!

เผยแพร่:   โดย: วาทตะวัน สุพรรณเภษัช

เช้าวันนี้...จิบกาแฟขมแล้ว ดูข่าวทหารอเมริกันที่ไปปฏิบัติหน้าที่อาฟกานิสถานและอิรักแล้ว ให้สงสารยิ่งนัก เพราะหน่วยทหารที่ไปปฏิบัติงานนั้น มีบางส่วนเป็นหน่วยทหารพลร่ม ซึ่งผ่านการฝึกจาก Fort Bragg, NC ค่ายทหารเดียวกันกับที่คนเขียน เคยได้รับการฝึกศึกษา เมื่อครั้งยังเป็นนายตำรวจหนุ่มๆและไปศึกษาต่อในสหรัฐ

หน่วยนี้ได้ไปปฏิบัติการ ทั้งในลักษณะที่เป็นหน่วยรบตามแบบ และบางครั้งก็ทำหน้าที่หน่วยรบนอกระบบ หรือการรบแบบ ‘กองโจร’ ซึ่งหากบอกแล้ว ท่านผู้อ่านที่อายุยังน้อยอาจไม่เชื่อว่า

ตำรวจอย่างพวกผมนี่แหละครับ ที่ได้รับการฝึกแบบกองโจรก่อนกองทัพอื่น เพราะเรามีหน่วยพลร่มก่อนทหารบก และเป็นกำลังหลัก ในการรักษาชายพระราชอาณาเขต

ทุกวันนี้ยังมีพวกเราจำนวนนับพัน ที่เดินเฝ้าลาดตระเวนทั่วชายแดน รอบขอบขัณฑสีมา ใช่แต่เพียงนั้น ยังตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สอนหนังสือ ให้ผู้คนต่างเผ่าพันธุ์แต่อยู่ร่วมแผ่นดิน ภายใต้พระบรมโพธิสมภารเช่นเดียวกัน ตั้งแต่พวกเขาเป็นเด็กและเยาวชน

จนกระทั่งหลายต่อหลายคน จบปริญญาและกลายเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ

บางส่วนก็กลับมาสอนหนังสือในโรงเรียนเก่า เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับชนเผ่าเดียวกัน ต่อไป โรงเรียน ตชด.นั้นมาบัดนี้มีจำนวนถึง ๑๙๙ แห่ง และมีสมเด็จพระเทพรัตน์ฯทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ แทนพระอัยกีคือสมเด็จพระศรีนครินรา บรมราชชนนี สืบต่อไป

หน่วยรบอีกหน่วยหนึ่งของสหรัฐ ที่มีบทบาทมากในสงครามนอกประเทศคือ หน่วยนาวิกโยธิน เพราะประเทศเขาเป็นมหาอำนาจ ต้องเที่ยวทำสงครามไปทั่วโลก เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติเขาเอาไว้ และในขณะเดียวกัน ก็ทำการปราบปรามการก่อการร้าย ที่เริ่มจะมีมากขึ้นทุกวัน

พวกที่ก่อความไม่สงบในโลกนี้ จึงต้องเริ่มสงครามใหม่ด้วยการก่อการร้าย ตั้งแต่มีเหตุการณ์โจมตีอาคารเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ สหรัฐต้องใช้เงินมากมายมหาศาล ในการต่อต้านการก่อการร้าย

กลายเป็นสงครามแบบใหม่ ที่เป็นเวรกรรมของสหรัฐ ต้องเผชิญไปอีกยาวนาน โดยไม่รู้จุดสิ้นสุดแต่อย่างใด

ชาติไทยของเราเอง ก็ต้องเผชิญกับลัทธิการก่อการร้าย ซึ่งเราจะถอยไม่ได้ ต้องรุกโต้ตอบอย่างมีกลยุทธ์ ทั้งการเมืองและการทหาร

ตรงไหนเป็นปัญหาการเมือง ก็ใช้การเมืองแก้กันไป

ตรงไหนที่เป็นปัญหาทางด้านการใช้อาวุธ หรือเป็นปัญหาทางทหาร ก็ต้องโต้ตอบด้วยอาวุธในสัดส่วนที่เหมาะสม กำราบปราบปรามลงให้ได้


ที่สำคัญคือ
คนในบ้านเมืองเรา จะถอดใจไม่ได้เด็ดขาด ต้องร่วมมือร่วมใจกันเป็นหนึ่ง กำจัดเหตุร้ายใน ๓ จังหวัดภาคใต้นี้ ให้หมดสิ้นไปให้ได้!

พูดถึงเรื่องทหารสหรัฐแล้ว ทำให้ผมคิดถึงภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ที่ประทับใจมาก คือ Saving Private Ryan ซึ่งเป็นผลงานของ ผลงานชิ้นเยี่ยมของสตีเวนส์
สปีลเบิร์ก เกี่ยวกับเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง

เริ่มเรื่องตั้งแต่การบุกนอร์มังดี ซึ่งเขาสร้างออกมาได้สมจริงสมจัง บางช่วงก็ดูน่าสยดสยองเพราะฉากการรบรุนแรง จนคนดูรู้สึกเหมือนกับเข้าไปมีส่วนร่วม ในการยกพลขึ้นบกครั้งนั้นด้วย

เขาถ่ายทำออกมาได้เหมือนจริง และสยดสยองเหลือจะกล่าว เมื่อยกพลขึ้นบกเรียบร้อยแล้ว ก็เดินเข้าสู่เนื้อเรื่องหลัก คือ

การดำเนินการของชุดปฏิบัติการพิเศษ ที่ได้รับคำสั่งให้ตามหาพลทหาร เจมส์ ไรอัน เพื่อส่งตัวเขากลับไปให้แม่ในอเมริกา ทั้งนี้ เพราะกองทัพต้องการชดเชยกับความเสียใจให้กับเธอผู้เป็นแม่ ที่ต้องสูญเสียลูกชายในสนามรบถึงสามคน

กองทัพจึงอยากจะรักษา ทายาทคนสุดท้ายของครอบครัวนี้ คือ พลทหาร ไรอัน เอาไว้เป็นเครื่องปลอบประโลมใจแม่ยามแก่เฒ่า

ภารกิจตามหาหารตัวเล็กๆ เอากลับไปสู่อ้อมอกแม่ครั้งนี้ ได้รับการบรรจุมอบ ให้กับหน่วยทหารขนาดเล็ก ซึ่งประกอบด้วยคนมาจากท้องถิ่น และภูมิหลังที่แตกต่างกัน แต่ต้องมามีรวมกันเป็นทีม เพื่อร่วมกันปฏิบัติภารกิจตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา

ทีมอยู่ใต้นำของร้อยเอก จอห์น มิลเลอร์ (ทอม แฮงส์) รับหน้าที่หัวหน้าทีมค้นหาที่บุคลิกแข็งแกร่ง ทีมประกอบด้วย ทหารชาวนิวยอร์กผู้มีนิสัยเย่อหยิ่งจองหอง ยโสโอหัง (เบิร์นส) และเด็กหนุ่ม ที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักเขียน และอยากแบกเครื่องพิมพ์ดีดมากกว่าแบกปืน (เดวีส์) เป็นต้น

ผู้กองจอห์น มิลเลอร์ ต้องนำลูกน้องข้ามแดนศัตรู เพื่อตามหาพลทหารเจมศ์ ไรอัน ผู้เสียพี่ชายทั้งสามไปแล้วในสงคราม

หลังจากการรบปะทะ และหน่วยต้องเผชิญกับความสูญเสีย ความกังขาว่า

ทำไมพวกตนทั้งแปด ต้องเอาชีวิตมาเสี่ยงเพียงเพื่อตามหา หรือรักษาชีวิตของคนๆเดียว แต่เมื่อพวกเขาหาไรอัน (เดมอน) จนเจอ ก็ปรากฏว่า พลทหารไรอันกลับไม่ต้องการเดินทางกลับบ้าน หากประสงค์อยู่รบ เพื่อประเทศชาติต่อไป

ท่ามกลางความหฤโหดของสงคราม แต่ทหารแต่ละนาย ก็ค้นพบคำตอบให้กับตัวเองและหน่วยด้วยกัน ทั้งได้ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ ด้วยเกียรติ ศักดิ์ศรี และความห้าวหาญ เพื่อชัยชนะอันมีความไม่แน่นอน และมีความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง

การรบตอนท้ายเรื่องนั้น ได้แสดงให้เห็นความสมบูรณ์แบบของหนังสงคราม ทหารทุกนายปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ ผู้บังคับหน่วยตายด้วยเหตุจากการรบปะทะที่ดุเดือด ไม่แพ้ฉากเปิดเลยทีเดียว

สิ่งที่ผมอยากเรียนกับผู้อ่านนั้น อยู่ตรงที่ว่า

ทหารทุกนายนั้น ไม่ได้เป็นทหารอาชีพ ผู้บังคับหน่วยซึ่งแสดงโดย ทอม แฮงส์ ในบทของ ลูกน้องโต้เถียงกันว่า ผู้กองทำงานอะไรมาก่อน นั้นอาชีพเดิมก่อนมาเป็นทหารนั้น จับชอล์กเขียนหนังสือ คือเป็น “ครู” มานานถึง ๑๑ ปี ที่ เขาบอกว่า

“I'm a school teacher. I teach English Composition in this little town called Adley, Pennsylvania. The last eleven years, I've been at Thomas Alva Edison High School.”

ผู้กองจอห์น มิลเลอร์ (ทอม แฮงส์) หัวหน้าทีมค้นหาไรอัน ไม่เคยได้มีความมุ่งหมายที่จะมาจับปืน เดินเข้าสู่สนามรบ แต่เมื่อยามสงครามเกิด ก็มารับใช้ชาติในฐานะทหาร ที่ต้องออกสู่สงคราม ทำหน้าที่ลูกผู้ชาย เมื่อเสร็จภารกิจแล้ว ก็ตั้งใจกลับเป็นครูเหมือนเดิม ไม่ได้มีความรู้สึกที่จะเป็นทหารต่อไป เพราะหน้าที่ของตนนั้นเสร็จสิ้นลงแล้ว

ตรงนี้ต่างหาก ที่ประทับใจผมนัก!

อยากให้ท่านผู้อ่าน ลองย้อนกลับมาดู ประวัติศาสตร์ชาติไทยของเราบ้าง
บ้านเมืองของเรานั้น เราไม่มีกองทัพประจำการมาก่อน เพิ่งมามีทหารตามแบบยุโรปเมื่อรัชกาลที่ ๕ นี่เอง

หากท่านมีโอกาสไปดูการสวนสนาม ของตำรวจไทยที่สนามรัชมังคลา ในวาระปีมหามงคลเฉลิมพระชนม์ครบ ๘๐ พระชันษา จะเห็นริ้วขบวนตำรวจโบราณ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า

เมืองไทยเราในอดีตนั้น แม้แต่การรักษาองค์พระมหากษัตริย์ ก็ไม่ได้เป็นหน้าที่ของทหาร หากแต่เป็นตำรวจหลวง ที่ทำภารกิจอันสำคัญยิ่งนี้

บ้านเราเพิ่งมามีทหารรักษาพระองค์คนแรก ก็คือ พล.อ.เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ในสมัยพระพุทธเจ้าหลวงนี่เอง ดังที่เคยเล่าให้ฟังแล้ว และยังได้บอกต่ออีกด้วยว่า

ชายไทยแต่โบราณนั้น ต้องเป็นทหารทุกคน บ้านเมืองมีศึกสงครามเมื่อใด บรรพบุรุษของเราก็ถืออาวุธประจำกายของตน เข้ากองทัพที่หลวงจัดเตรียม แล้วเดินทัพออกไปประจันหน้ากับผู้รุกราน แล้วสกัดกั้นการเดินทัพของศัตรู

ชาวบ้านอย่างเราๆท่านๆ นี่แหละครับ ที่เข้าประจัญบานกับข้าศึกศัตรู อย่างองอาจ
กล้าหาญ

ด้วยสำนึกของความเป็นคนไทย ทำป้องกันผืนแผ่นดิน อันเป็นมาตุภูมิของเรา!
ครั้นการศึกสงครามเสร็จสิ้นลง ชายไทยก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ไปทำมาหากินตามประสาพลเมืองที่ดี และมีชีวิตอยู่เป็นปกติสุข ในสังคมของตน บ้านเมืองเราเป็นอย่างนี้มาโดยตลอด เพราะคนไทยแต่โบราณนั้น

มีความ ‘สำนึกในหน้าที่’แห่งตน

เมื่อพูดถึงความสำนึกในหน้าที่ และความเป็นพลเมืองทีดีของชาตินั้น มันเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องปลูกฝังให้กับเยาวชนคนของชาติ ให้รู้จักว่า

นี่คือหน้าที่พลเมืองไทย!


ไม่นานมานี้ ผมได้ดูรายการจมูกมด ซึ่งเขาสัมภาษณ์ รศ.นพ.สภา ลิมพาณิชย์การ อาจารย์ประจำโรงเรียนเวชนิทัศน์ โรงพยาบาลศิริราช ผู้ซึ่งได้ฉายาว่า “หมอ ๕ บาท” ใครฟังแล้วก็ต้องประทับใจ

คุณหมอท่านให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ใช่คนเรียนเก่ง อยากจะเรียนถ่ายรูป เพราะหลงใหลการถ่ายภาพ แต่คอรบครัวต้องการให้เป็นหมอ ครั้นเมื่อสอบเข้าได้ จึงใช้เวลาในการศึกษานานกว่าเพื่อนๆ โดยจบทีหลังนักเรียนแพทย์ร่วมรุ่น ๒ ปี

ท่านรับราชการมาจนกระทั่งเกษียณ ได้รับบำนาญปัจจุบันเดือนละ ๒๒,๐๐๐ บาท และมีเงินค่าสอนอีกเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท แต่ต่อมาเทางมหาวิทยาลัยขาดแคลนเงิน ก็ขอลดค่าสอนเหลือเดือนละ ๑๒,๐๐๐ บาท แต่ปีงบประมาณใหม่ คือเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้

ท่านก็จะไม่ได้ไปสอนอีกแล้ว เนื่องจากมีปัญหาทางด้านสุขภาพ

เงินจำนวนนี้ต้องถูกตัดไป เหลือเพียงบำนาญล้วนๆ!

เมื่อจบการศึกษาแพทย์ และทำงานได้สักพัก ท่านอาจารย์หมอก็เช่าห้องแถวไม้ ในซอยระนอง ๑ เขตดุสิต ของเพื่อนเปิดเป็นคลินิก โดยขึ้นป้ายว่า “สำนักงานแพทย์” โดยเริ่มทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๗

นี่ก็เข้าไปเกือบ ๔๐ ปี แล้ว

แม้ท่านอาจารย์หมอจะย่างเข้าวัยชราแล้ว แต่ท่านก็ยังเปิดบริการทางการแพทย์ของท่านอยู่ ที่น่าอัศจรรย์ คือ

ท่านเก็บบริการทางการแพทย์ หรือค่ารักษาครั้งละ ๕ บาท รวมค่ายาด้วย รายใดที่จะต้องใช้ยาดีราคาแพง ก็ไม่เกิน ๗๐ บาท

นั่นหมายความว่า ยาต้องดีและราคาแพงจริง

คุณหมอเล่าว่า เหตุที่คิดราคาได้ถูก เพราะซื้อยาได้ถูก และยาดี เรื่องยานั้นคุณหมอซื้อกับเจ้าประจำมีส่วนลดด้วย เพราะคุณหมอไม่ต้องการให้ผู้ป่วย ไปซื้อยารับประทานเอง

ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ

การตรวจวินิจฉัยที่ละเอียดลออ ของหมอห้าบาทต่างหาก คนไข้ก็หายเป็นปกติทุกราย ส่วนคนที่ไม่หาย เมื่อกลับมาหาท่านอีกครั้ง พอไล่เลียงกันเข้า

อาจารย์หมอสภาก็บอกว่า

“จับได้ทุกครั้งว่า กินยาไม่ครบ กินมื้อเว้นสองมื้อ ให้กิน ๔ เวลา กินเสีย ๒ เวลา เลยต้องกำชับให้กินให้ถูกต้อง...แล้วก็หายทุกราย!”

ยิ่งกว่านั้น ถ้าคนไข้ไม่มีเงินจริงๆ แม้แต่ค่ายาคุณหมอก็ไม่คิด หรือหาก มีไม่พอ ก็มีเท่าไร ก็เท่านั้น

หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เคยทำข่าวเรื่องของคุณหมอมาเมือ ๒ ปีที่แล้ว เคยสัมภาษณ์คนไข้ของคลินิก ๕ บาทแห่งนี้ ชื่อ คุณป้ามารศรี อายุ ๗๒ ปี เจ้าของร้านทำผมแถวๆ ซอยระนอง ๑ ท่านเป็นคนไข้ที่รักษากับคุณหมอ มานานกว่า ๔๐ ปี เล่าว่า

รักษาตั้งแต่สมัยเพื่อนคุณหมอมาเปิดคลินิก จนถึงคุณหมอสภา มาเช่าคลินิกของเพื่อนต่อ ส่วนใหญ่ก็จะมาด้วยโรคหวัด แต่วันนี้ไม่ได้มาด้วยโรคหวัด แต่ระคายเคืองตา คุณหมอบอกว่าเป็นตาแดง ก็นอกจากคุณป้าแล้ว ลูกสาวและหลานสาว หรือแม้แต่ทหารที่ทำงานอยู่ในบ้านก็มารักษา

“คุณหมอสภารักษาดี คิดถูก แล้วก็หายด้วยนะ บางทีเป็นหวัด ๒๐-๓๐ บาทก็หายแล้ว ลูกชายป้าเป็นหวัดไปหาหมอ ที่โรงพยาบาล เอกชนยังตั้ง ๑,๔๐๐...ป้ามานี่แค่ ๔๐ บาท บางคนบ้านอยู่ไกลยังมารักษา เพราะรักษากันชิน...เวิ้งนี้ของหมอสภาทั้งนั้น”

ลูกค้าของคุณป้ามารศรี เล่าให้ฟังพร้อมโชว์ยารักษาในถุงให้ดู
ผู้สัมภาษณ์ได้ถามคุณหมอว่า เดือนหนึ่งมีกำไรเท่าไหร่รักษาแบบนี้? คุณหมอบอกว่าไม่เคยคิด บัญชีก็ไม่เคยทำ

คนถามเลยบอกว่า
“อ้าว...ไม่ทำบัญชีแล้วจะรู้ว่าต้นทุนเท่าไหร่ จ่าไปไปเท่าไหร่ ถ้าเดือนไหนเงินไม่พอจ่ายค่ายา ทำอย่างไรครับ? ”

คุณหมอบอกว่า “ก็ไปกด (เอทีเอ็ม) เอาเงินบำนาญ ออกมาใช้”
ผู้สัมภาษณ์เกาหัว แล้วบอกว่า “แล้วคุณหมอ จะทำไปทำไม?”
ไม่น่าเชื่อว่า อาจารย์หมอตอบว่า

“เพราะคิดว่า...มันเป็นหน้าที่!”
ฟังแล้วอึ้งไปเลย...ผมเองเดาเอาว่า

คุณหมอท่านคงคิดว่า เมื่อตอนเรียนแพทย์ หลวงท่านก็ดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย ค่าเล่าเรียนก็ไม่ค่อยเก็บ เหมือนไปเรียนโรงเรียนเอกชน ที่ค่าเล่าเรียนแพทย์แพงมาก พอจบมีงานทำ เกษียณแล้ว ทางราชการก็มีบำนาญเลี้ยงดู จนกว่าชีวิตจะหาไม่

ตายไปแล้วคนอยู่ข้างหลัง ก็ได้บำเหน็จตกทอดอีกด้วย
ดังนั้น อะไรพอช่วยเหลือประชาชน พี่น้องเพื่อนร่วมชาติได้ ท่านก็ทำด้วยความเต็มใจ และได้ทำอย่างต่อเนื่องมาเนิ่นนานแล้ว

คุณหมอกระทำโดย ไม่ได้หวังในความร่ำรวย แต่กระทำเพราะถือว่าเป็นหน้าที่แห่งตน ทั้งๆที่หลวงท่านก็ให้หยุดพักผ่อนนานแล้ว
แต่คุณหมอท่านไม่ยอม เพราะสงสารพี่น้องเพื่อนร่วมชาติ

คนคิดอย่างอาจารย์หมอสภาฯมีอยู่ ผมเคยเห็น...แต่น้อย น้อยเอามากๆ

อาจารย์หมอไม่เคยทวงบุญคุณ ไม่เคยประกาศยกย่องตัวเองว่าเป็นผู้กล้า วีรบุรุษที่เสียสละให้ชาติบ้านเมือง ไม่เคยทวงบุญคุณไป

ดูคุณหมอแล้ว...น้ำตาซึม
ภาวนาให้คนไทยคิดเหมือนคุณหมอมีจำนวนมากขึ้น...และมากขึ้น
บ้านเมืองเรา จะได้เจริญก้าวหน้าไปอย่างอบอุ่น ด้วยความเมตตามากกว่านี้

ร้อยเอกจอห์น มิลเลอร์ นักรบในหนังเรื่อง Saving Private Ryan ได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว เพราะตายในที่รบ ไม่ได้กลับไปทำหน้าที่ เป็นครูตามที่ได้ดังใจไว้

แต่นักรบอย่าง อาจารย์หมอสภาฯ ที่ชาวบ้านเรียกขานว่า “หมอ ๕ บาท” นั้น ภารกิจท่านยังไม่สิ้น

ทุกวันตอนเย็น คุณหมอพาร่างสูงวัยของท่าน ค่อยๆเดินอย่างช้าๆ เพื่อมาเปิดคลินิกเล็กในซอยระนองของท่าน

ซึ่งเป็น ‘สนามรบ’ ส่วนตัวของ “ไฟว์บาท-ด๊อกเตอร์” (ฝรั่งเรียกอย่างนั้น)

ท่านต้องลงประจำโต๊ะตรวจ ซึ่งเปรียบเสมือน ‘หลุมบุคคลนอนยิง’ ที่มั่นในสมรภูมิแห่งนี้ คว้าอาวุธประจำกายคือ สเททโทสโคปหรือหูฟังขึ้นคล้องคอ และเครื่องมือที่จำเป็น พร้อมลั่นกระสุน ยิงสู้รบประจัญบาน ต่อต้านเจ้าโรคภัยไข้เจ็บ อันเป็นศัตรูตัวร้ายของพี่น้องประชาชน ต่อไปอย่างไม่ยอมหยุดยั้ง โดยไม่ได้หวังเหรียญตรา หรือเกียรติยศใด แต่เพียงเพราะเป็นหน้าที่ของชายชาญทหารไทย

ถ้านำชีวิตของท่านอาจารย์หมอ มาสร้างเป็นหนัง ผมต้องคิดคำโฆษณา หรือพากย์ประกอบเรื่องได้ง่ายๆ เช่น

‘หมอห้าบาท’..เมตตาไม่มีขาด
นักรบแค่ห้าบาท แต่หัวใจ...หลายพันล้าน!
ขุนศึกห้าบาท ทระนงองอาจ ต่อสู้กับโรคร้าย...สมชายชาตรีนัก!...ฯลฯ


กราบเรียน ท่านอาจารย์หมอสภา ที่เคารพ

โปรดได้รับ ความคารวะอย่างสูง จากใจของผู้เขียนด้วย!!

วาทตะวัน สุพรรณเภษัช

..............
กำลังโหลดความคิดเห็น