xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ 311 “จ่าตำรวจ-มาเฟีย!”

เผยแพร่:   โดย: วาทตะวัน สุพรรณเภษัช

เช้าวันนี้...จิบกาแฟขมถ้วยที่สองแล้ว เตรียมตัวจะออกจากบ้าน ก็ต้องฟังข่าวสารการจราจรของ จ.ส. ๑๐๐ เสียก่อน ซึ่งเป็นการปฏิบัติประจำ เพราะวัยเริ่มอาวุโสมากขึ้น การไปนั่งติดอยู่ในรถ ที่ต้องขับเองเป็นเวลานานๆนั้น ไม่ใช่เรื่องดีแน่

จ.ส.๑๐๐ นั้นเป็นสถานีวิทยุที่ผมเปิดประจำ ในตอนตื่นขึ้นมากกลางดึก เพราะชอบฟังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตชาวบ้าน

ผมชอบดีเจ.ของ จ.ส.๑๐๐ อยู่ท่านหนึ่ง คือคุณวิยะดา ประสาทกิจ เพราะเห็นว่าเธอดำเนินรายการ ด้วยความคล่องแคล่ว น้ำเสียงก็น่าฟัง และยังปฏิภาณไหวพริบ สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีมาก ไม่ว่าในยามที่มีเหตุ หรือเมื่อตั้งประเด็นให้แสดงความคิดเห็น คุณวิยะดา ก็จะกำกับให้ผู้ที่โทรเข้ารายการ อยู่ในกรอบประเด็นที่ตั้งไว้ได้อย่างดี ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า เธอมีประสบการณ์ ในวงการหนังสือพิมพ์มาก่อนนั่นเอง

เมื่อกลางดึกคืนวันเสาร์ที่ ๑๕ ก.ย. คุณวิยะดาฯได้ตั้งประเด็นเรื่อง ‘เหตุการณ์ที่จดจำ ในชีวิต’ และคุยกับผู้เข้ามาสนทนาท่านหนึ่ง เธอเป็นสุภาพสตรีใช้ชื่อว่า “คุณรุ่ง” ซึ่งได้เล่าเรื่องเหตุการณ์สะเทือนใจ ที่ลูกชายไม่ได้รับประทานอาหารกลางวัน จนคุณครูสงสัยโทรไปถามคุณแม่ว่า ไม่ให้สตางค์มาบ้างหรือ ทำให้คุณรุ่งตกใจมาก แต่สอบไปมาปรากฏว่า ลูกชายถูกกลุ่มเด็กที่โตกว่า เรียกว่า “มาเฟีย” ในโรงเรียน รีดไถเอาเงินค่าอาหาร ที่คุณแม่ให้ไปเป็นประจำ

นอกจากนั้น ยังบังคับให้ลูกชายของเธอ เอาเกมไปให้ ‘มาเฟียเด็ก’ พวกนี้ จนแผ่นเกมในบ้าน หายไปเป็นจำนวนมาก

ฟังน้ำเสียงของคุณแม่แล้ว ดูท่าเป็นทุกข์ใจมากทีเดียว!

ผมฟังคุณแม่ท่านนี้พูดแล้วก็สงสาร แต่ฟังการสนทนาแล้ว ดูเหมือนคนที่ถูกมาเฟียรังแกนั้น เป็นลูกชายคนเล็ก สงสัยจริงๆว่าพี่ที่อยู่โรงเรียนเดียวกัน ทำไมจึงไม่ช่วยน้อง? แต่ไม่เป็นไร เพราะพี่อาจอยู่คนละโรงเรียนก็เป็นได้

เรื่องอย่างนี้ก็น่าเห็นใจ แต่เราต้องสั่งสอนให้ลูกรู้จักสู้คน ไม่อย่างนั้นเด็กโตก็รังแกอยู่เรื่อย ผู้เขียนเองตอนเป็นเด็กนั้น ไม่มีปัญหาเรื่องนี้ เพราะพ่อแม่มีลูกผู้ชาย ๓ คน เรื่องชกต่อยเป็นของชอบ เพราะรักมวยมาตั้งแต่เด็ก โดนหมัดโดนเท้าแล้วมัน ‘คัน’ เรื่องถอยหลังไม่มี ต้องทะยานใส่ เดินหน้าสาวหมัดสาวตีนตอบทันที แม้ไม่ได้ชกกับคนอื่น พี่น้องก็ลงนวมชกต่อยกันเองเป็นประจำอยู่แล้ว

ตอนอยู่โรงเรียนที่วชิราวุธ การชกต่อยตะลุมบอนเป็นเรื่องธรรมดา ตามแบบของนักเรียนประจำ แต่โรงเรียนนี้มีแบบธรรมเนียมอีกอย่างคือ หากเราตัวเล็กกว่าคู่ปรับหรือคนที่มารังแก เขาก็มีประเพณีให้คนเล็กกว่า เลือกผู้ช่วยได้อีก ๑ คน ไปชกกับคนโตกว่าได้ จึงทำให้พวกตัวเล็กๆ สามารถอาจหาญท้าคนที่โตกว่าชก ด้วยประโยคที่นักเรียนวชิราวุธรู้จักกันดี ว่า

“สองหนึ่ง...เอาไหมวะ?”

หากคนตัวใหญ่ที่ชอบรังแก โดนท้าอย่างนี้ กลัวเสียหน้า เพราะจะถูกนินทาว่าโดนคนเล็กกว่าท้าชกจึงไม่อาจปฏิเสธได้ ต้องตกลงรับคำท้า หมายความว่าฝ่ายตัวเล็กต้องเลือกผู้ช่วยหรือ “ตัวช่วย” ได้อีก ๑ คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพื่อนสนิทของคนตัวเล็ก เพื่อไปรุมชกคนตัวโตกว่า ตามเวลานัดหมายกัน ซึ่งมักเป็นเวลาว่าง ๑ ชั่วโมง ระหว่างบ่ายสามถึงบ่ายสี่โมงเย็น ซึ่งเป็นเวลาอิสระของนักเรียนหลังเลิกเรียนดนตรีช่วงก่อนถึงเวลากีฬา

ดังนั้น หากได้ยินคำว่า “สาม-สี่ เอาไม้”

หมายถึง ระหว่างบ่ายสามและสี่โมง...“มึงจะชก กับกูไหม!?”

นี่เป็นเรื่องของ ลูกผู้ชายแท้ๆ

บอกกันตรงๆเลยครับว่า กำปั้นนี่แหละครับ ที่ทำให้เด็กผู้ชายทระนงองอาจได้ และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างภาคภูมิ แต่ที่สำคัญอย่างยิ่ง ต้องสอนให้ลูกหลานเป็นผู้มีเมตตาอยู่ในหัวใจ จึงจะเป็นลูกผู้ชายเต็มร้อน และต้องจำให้มั่นว่า...

อย่าได้ทำร้ายคนอื่นก่อน เป็นอันขาด ตรงนี้สำคัญมาก ต้องสอนลูกให้จำเอาไว้ในหัวใจว่า

อย่าเป็นคน ‘รังแก’ ผู้อื่นอย่างเด็ดขาด ในทางกลับกัน เป็นผู้ช่วยเหลือผู้อื่น ที่ด้อยกว่าเรา เมื่อพวกเขา...ถูกรังแกด้วย!

ดังนั้น หน้าที่ของพ่อแม่ ต้องสอนลูกให้ ‘สู้คน’ เพราะการลุกขึ้นต่อสู้เท่านั้น ที่จะทำให้เด็กเล็กๆ ‘มีแสง’ ในตัวเอง ไม่ต้องเป็น ‘ดาวเคราะห์’ อยู่ร่ำไป

การลุกพรวดพราดขึ้นมาตะบันหน้า ฟาดปากคนที่มารังแกเรา นี่แหละครับ จะทำให้ลูกของเราเปลี่ยนสภาพจากการที่ เป็นเพียงดาวเคราะห์ดวงเล็กๆ กลับกลายเป็น ‘ดาวฤกษ์’ และจะมีชีวิตอย่างเชิดหน้าในสังคม ต่อไปได้อย่างภาคภูมิ

ดูอย่างทหารซิครับ

ขนาดปืนอยู่ในมือ พอประชาชนมือเปล่าแท้ๆ ลุกฮือขึ้นต่อต้านเมื่อ ๑๔ ตุลา หรือ พฤษภาทมิฬ ก็ต้องถอยกรูดๆ

ฉะนั้น ทหารพึงต้องระลึก ถ้อยคำผมไว้ให้ดีๆ ว่า

จงอย่าได้คิดว่า หากพวกท่านจะใช้กำลังอีกครั้ง ประชาชนคนไทย...จะไม่คิดสู้!

ขอบอกว่า

พลเมืองไทยนั้น ไม่ได้เป็นชาวบ้านมือเปล่า เหมือนชาวมาเลเซีย หรือคนในเมืองของพม่า ที่อังกฤษปกครองมายาวนาน ซึ่งประเทศที่เขาครองมีกฎเคร่งครัด คนพื้นเมืองอย่าว่าแต่มีปืนเลย แค่กระสุนนัดเดียว ก็ถูกประหารชีวิตแล้ว พอได้เอกราชก็ไม่เลิกกฎเหล็กนี้

แต่คนไทย....มีปืนนะจะบอกให้!!

เฉพาะที่ถูกต้องตามกฎหมายในประเทศ ก็เข้าไป ๗ ล้านกระบอกแล้ว ส่วนปืนไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือปืนเถื่อนคุณภาพดีจากเมืองตาก อุทัย ที่เป็นโรงงานผลิตใหญ่ ก็เต็มบ้านเต็มเมือง เอาแค่คิวรถรอบกรุงเทพ และปริมณฑล ๖,๗๐๐ คิว คิดแค่คิวละ ๓ กระบอก ก็กดเข้าไปสองหมื่นกระบอกแล้ว

สามารถจัดเป็นหน่วยซุ่มโจมตี และหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เข้าปะทะกับทหารที่ยาตราเข้ามายึดเมืองได้สบายมาก

...หรือไม่จริง!?

ตรงนี้ตำรวจอย่างพวกผมรู้ดี และหวั่นใจเสมอมา...แต่พวกทหารยังไม่สำนึก ให้คิดเอาไว้นะว่า

ขนาดรบกับพวกผู้ก่อการร้ายปักษ์ใต้ พวกท่านยังกะพร่องกะแพร่งจะ มารบกับคนกรุงเทพ หรือคนในจังหวัดใหญ่ มันไม่ใช่เรื่องง่ายนะ

ดังนั้น ต่อไปนี้ ทหารอย่าง คมช.อย่าคิดว่า จะมาข่มเหงคนไทยได้ง่ายๆ!

วันนี้ ไม่ได้พูดเรื่องทหารรบกับประชาชน อีกทั้งจะขอยกยอดการพูดถึงเรื่อง การอบรมลูกกันอีกทีในโอกาสต่อไป แต่กำลังจะเล่าเรื่อง “มาเฟีย” ที่คนไทยเราชอบใช้เรียกพวกรังแกคนอื่น เพราะตัวเองสนใจเรื่องนี้ และเคยถูกส่งไปต่างประเทศ เพื่อร่ำเรียน เกี่ยวกับวิธีการสอบสวน เพื่อรับมือและจัดการ เกี่ยวกับการค้นหาเส้นทางเรื่องการเงิน ขององค์กรที่ลือชื่อนี้ด้วย

ผมจึงสร้างหลักสูตร วิชาการสอบสวนคดีเศรษฐกิจ ขึ้นเป็นครั้งแรกให้กับกรมตำรวจ เขียนตำราการสอบสวนคดีวิชานี้ ขึ้นมาให้ใช้กัน ทั้งบัญญัติคำใช้เรียกคำว่า Money Laundering ว่าเป็นการ “ฟอกเงิน” ขึ้นมา โดยใช้ในการบรรยายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก เมื่อ ๒๐ ปี ที่แล้ว และถ้อยคำๆนี้ปรากฏอย่างเป็นทางการในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ซึ่งเคยเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังแล้ว

จึงรู้กลไกและวิธีการฟอกเงิน ซึ่งต่อมาก็ได้บรรยายเกี่ยวกับเรื่องนี้ในต่างประเทศ รวมทั้งองค์กรตำรวจสากลด้วย เพราะเมืองไทยนั้นเป็นแหล่งสำคัญ ในการที่อาชญากรต่างชาติ ได้ใช้เป็นแหล่งซุกซ่อนเงินที่ได้มาจากการกระทำผิด หรือนำมาแปรสภาพในรูปทรัพย์สินอย่างอื่น

คำว่า Mafia หรือภาษาไทยทับศัพท์เรียกว่า “มาเฟีย” หากใช้ในความหมายของชาวฟลอเรนซ์ อิตาลี นั้น แปลว่า “คนตัวเล็กผู้น่าสงสาร” แต่ในเมืองซิซิลีที่เป็นเกาะทางใต้ คำนี้ แต่ในภาษาของชาวซิซิเลียน ซึ่งเป็นเกาะต้นกำเนิดขบวนการนี้ มาจากคำว่า “mafiusu” มีรากศัพท์มาจากภาษาอาราบิค “mahyas” คือการโม้ข่ม หรืออาจมาจากภาษาอาราบิคอีกคำหนึ่งคือ “marfud” แปลว่า “โดนปฏิเสธ” แต่ก็อาจแปลในอีกความหมายหนึ่งคือ คือ “เกียรติยศ-ความหาญกล้า” ซึ่งต่อมากลายเป็นชื่อเรียกองค์กรลับ ที่คนท้องถิ่นรวบรวมกันเป็นพันธมิตร เพื่อต่อต้านการรุกรานของทหารต่างชาติ ได้แก่ทัพพวกนอร์มันและชาวเติร์ก

เมื่อการรุกรานนั้นหมดไป องค์กรลับนี้หาได้สิ้นสุดตามลงไปด้วย แต่กลับมีวิวัฒนาการ กลายเป็นองค์กรอาชญากรรมนามกระเดื่องไปในที่สุด และเมื่อมีการหลั่งไหลของชาวอิตาเลียน เข้าไปในสหรัฐอเมริกา มาเฟียได้แพร่เชื้อติดเข้าไปด้วย พร้อมกับผู้อพยพชาว
อิตาเลียน

องค์กรมาเฟียได้มาตั้งหลักปักฐาน ที่มหานครนิวยอร์ก เพราะเมื่อชาวยุโรปเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติค มาขึ้นฝั่งที่นิวยอร์ก คนอิตาเลียนจำนวนมาก ได้ตั้งเลือกนิวยอร์กเป็นที่เริ่มต้นชีวิตใหม่ มาเฟียได้เข้ามีส่วนเข้ามาจัดระบบชุมชน ด้วยการแทรกแซงเข้ามาในชีวิตของพวกเขา และเรียกค่าตอบแทนในการให้ความคุ้มครอง ให้ความปลอดภัย

มาเฟียก้าวถึงยุคแห่งความรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก เมื่อสหรัฐคลอดกฎหมายที่ชื่อ Volsted Act ๑๙๑๙ ห้ามการจำหน่ายสุรา ทำให้การค้าสุราเถื่อนเฟื่องฟู ทำเงินอย่างมหาศาล ครอบครัวมาเฟียหลายตระกูล กลายเป็นมหาเศรษฐี

ต่อมาองค์กรนี้ ได้ดำเนินธุรกิจกว้างขวางออกไป นอกจากการเรียกค่าคุ้มครองแล้ว ยังได้เข้าควบคุมและหาประโยชน์ จากธุรกิจนอกกฎหมาย เช่นบ่อนการพนัน การค้าหญิงโสเภณี การค้าของเถื่อน และมีบางพวกที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการค้ายาเสพติด จนแผ่ขยายเข้าไปในเมืองใหญ่อีกหลายรัฐ จนครอบคลุมไปเกือบทั่วสหรัฐ

ทายาทของแต่ละตระกูล มีบางส่วน ไม่ยอมเข้ามายุงในกิจการของครอบครัว เพราะไม่ต้องการเป็นปฏิปักษ์กับผู้รักษา กฎหมาย และเมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องแล้ว ชีวิตก็ไม่ปกติสุข และถอนตัวออกยาก อีกทั้งยังมีความขัดแย้งระหว่างตระกูล เกิดขึ้นเนืองๆ เพราะผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายหาจุดสมดุลไม่ได้ กลายเป็นความขัดแย้ง จนถึงเข้าฆ่าฟันกัน ถึงขั้นหนังสือพิมพ์เรียกว่า “สงคราม” หรือ “สงคราม-แก๊งมาเฟีย” กลายเป็นข่าวโด่งดัง จนมีการสร้างเป็นภาพยนตร์นับเรื่องไม่ถ้วน อย่างที่เราได้เห็นกันจนถึงยุค

การควบคุมองค์กรของมาเฟียนั้น มีตระกูลมาเฟียต่างๆแยกกันควบคุม แบ่งกันขยายอิทธิพลครอบคลุมพื้นที่หรือธุรกิจที่ถนัด โดยมีผู้นำองค์กรซึ่งปิดลับ ยากที่จะฝ่ายบ้านเมืองจะเข้าถึงตัวได้

องค์กรมาเฟียนี้ จึงกลายเป็นหนามยอกอก ของฝ่ายผู้รักษากฎหมายสหรัฐมาเนิ่นนาน และยังคงจะดำรงอยู่ต่อไปอีก โดยหาจุดจบได้ยาก

นการขับเคี่ยวระหว่างผู้รักษากฎหมาย กับองค์กรมาเฟียนั้น มีตำรวจนายหนึ่งมียศเป็น “จ่า” ชื่อว่า ราล์ฟ ฟรานซิส ซาเลอร์โน (Ralph Francis Salerno) ซึ่งได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติยศชั้นสูง จากกรมตำรวจนิวยอร์ก เมื่อเซอร์ลาโนลาออกจากองค์กรผู้รักษากฎหมายนั้น ตำแหน่งสุดท้ายของเขาก็อยู่แค่ Detective Sgt. หรือ ‘จ่าสายสืบ’ แต่ผู้คนกลับจำได้ และยกย่องเขาในฐานะผู้รักษากฎหมาย ที่มีชื่อเสียงในเรื่องการปราบปรามแก๊งมาเฟีย

จ่าซาเลอร์โนใช้เวลาในชีวิตยาวนานถึง ๒๐ ปี ในฝ่ายสืบสวนสอบสวนและงานด้านการข่าว เพื่อการปราบปรามอาชญากรรม ในฝ่ายสอบสวนกลางของกรมตำรวจนิวยอร์ก

ความชำนาญในสายงานการปราบปราม ในด้านองค์กรอาชญากรรมของจ่าราล์ฟ แต่จ่าก็ต้องกับมาเป็นพยานผู้เชียวชาญในคดีธุรกิจให้กู้แบบดอกโหด หรือที่เรียกกันว่า loan-sharking ทั้งการเป็นพยานให้ข้อมูลในชั้นศาล ชั้นการสอบสวนของสมาชิกรัฐสภาสหรัฐ และวุฒิสภาอีกด้วย

หลังจากที่เกษียณอายุไปในครั้งแรก เมื่อปี ๑๙๖๗ เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของกระทรวงยุติธรรมในวอชิงตัน ดี.ซี. และสำนักงานอาชญากรรมและเด็กมีปัญหาแห่งชาติ

ปี ๑๙๗๐ นายกเทศมนตรี จอห์น วี ลินด์ซีย์ ผู้มีชื่อเสียงแห่งมหานครนิวยอร์ก ได้เลือกเซอร์ราโน่เป็นที่ปรึกษา ในด้านการพนันของรัฐ มีหน้าที่ทำลายล้าง การแทรกซึมเข้าเจาะธุรกิจการพนันของเหล่ามิจฉาชีพ และต่อมาเขาได้รับการแต่งตั้งจาก Nicholas Ferraro อัยการเขตควีนส์ ให้รับผิดชอบในการสอบสวน เกี่ยวกับคดีองค์กรอาชญากรรม

ซาเลอร์โนลาออกจากการรับใช้ทางการเมื่อปี ๑๙๗๕ แต่ยังเป็นที่ปรึกษาให้กับภาคเอกชน

จ่าตำรวจผู้นี้ เป็นลูกชาวอิตาเลี่ยนผู้อพยพ และเกิดในแถบ Bronx ซึ่งอิทธิพลของมาเฟียแผ่ขยายแถบถิ่นกำเนิด และมีกฎสำคัญในละแวกบ้าน คือกฎแห่งความเงียบ คือชาวบ้านจะไม่ไปปริปาก หรือทำตัวเป็นเบาะแส คอยชี้เป้าให้กับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ไม่ได้เป็นอันขาด

เจ้าตัวเล่าให้ฟัง ว่า

“เรื่องที่ผมจำได้ดีที่สุด เกิดขึ้นเมื่อตอนผมเป็นเด็ก นั่งกินข้าวอยู่ในบ้านกับครอบครัว พวกอันธพาลหลบหนีตำรวจมาทางด้านบันใดหนีไฟ ผ่านห้องที่เขากับครอบครัวอาศัยอยู่

พวกเหล่าร้ายผิวปาก ส่งสัญญาณให้เราเงียบ พวกเราจึงไม่มีใครเปิดปากบอกเจ้าหน้าที่ในเรื่องนี้

พ่อผมเล่าให้ฟังว่า หลังจากเกิดเหตุแล้ว อีกไม่กี่วันพ่อไปตัดผมที่ร้านประจำ ช่างในร้านส่งถุงใส่ของให้ ซึ่งพอพ่อรับมาเปิดออก ก็พบมีดโกนใหม่ แปรงสำหรับชุบสบู่โกนหนวด และถ้วยใส่สบู่โกนหนวดกาไหล่ทอง และมีตราสำนักงานสาธารณสุข ที่พ่อเป็นพนักงานประจำอยู่

นี่แสดงว่าคนพวกนี้รู้ว่า คนแถวบ้านผมใครเป็นใคร ทำงานอะไร ไม่ได้ลอดสายตาพวกนี้ไปได้”


ความทรงจำเหล่านี้เอง ที่กระตุ้นให้เขามาเป็นตำรวจ เมื่อ ปี. ๑๙๔๖ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะปราบปรามอาชญากรรมอย่างเต็มที่ และกลายเป็นตำรวจที่มีชื่อเสียง แม้จะไม่ได้รับยศเป็นตำรวจสัญญาบัตรก็ตาม

เขาจับกุมพวกมาเฟียเชื้อสายอิตาเลี่ยน เช่นเดียวกับเขาหลายต่อหลายคน และมักได้รับคำถามเสมอว่า

“จ่าครับ ทำไมจ่าจึงชอบจับแต่คนอิตาเลี่ยน? คนเชื้อสายเดียวกันกับจ่าแท้ๆ ไม่น่าทำกันเลย!”

จ่าซาเลอร์โนเล่าว่า

“ผมตอบมันไปว่า เอ็งกับข้ามันคนละประเภทกัน กริยาท่าทางของข้า ศีลธรรม และอีกหลายอย่างที่เป็นคุณสมบัติของข้า...มันคนละอย่างกับพวกเอ็งเฟ้ย”

ตำรวจเชื้อสายมักกะโรนี ราล์ฟ ซาเลอร์โน พูดอย่างหนักแน่นต่อไปว่า

“....สิ่งเดียวที่ข้ามีเหมือนกับพวกเอ็ง คือเราเติบโตมาจากวัฒนธรรมเดียวกัน แต่เอ็งมันเป็นไอ้พวกที่ทรยศต่อประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์เรา ซึ่งข้าภาคภูมิใจยิ่งนัก เพราะข้าเป็นหนึ่งในสิ่งเหล่านั้น (ประวัติศาสตร์ชาติและวัฒนธรรม)...”

ฟังคุณจ่าแกพูดแล้ว ให้ฉุกคิดขึ้นมา ว่า

บ้านเมืองของเรานั้น แม้ผู้คนจะเติบโตมาจากประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเดียวกัน มีความภาคภูมิใจ ในสิ่งที่หล่อหลอมความเป็นคนไทยมาเหมือนๆกัน และต่างก็มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ จนดูเหมือนว่า บ้านเมืองเราไม่มีปัญหาเรื่องความแตกต่างนี้ เหมือนอย่างสังคมอื่นเขา (นอกจากปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้)

แต่ไม่น่าเชื่อว่า

ทันทีที่พูดถึงเรื่อง ‘แนวความคิดทางการเมือง’ ของคนบ้านเราแล้ว ปัจจุบันกลับแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว จนยากที่จะผสมกลมกลืน เข้าเป็นหนึ่งเนื้อเดียวกัน ยังผลจะทำให้การอยู่ร่วมกัน ต่อไปในประเทศนี้ในวันข้างหน้า

เพราะคงจะหาความเป็นปกติสุข ได้ยากเต็มที!

เราลองมาคิดดูกันเล่นๆก็ได้ ถ้าหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดใช้วาจา แบบจ่าซาเลอร์โน คือพูดแบบทิ้งทวน ให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย ว่า

“แม้เอ็งกับข้า จะเป็นคนไทยเหมือนกัน แต่ความเชื่อของข้ากับเอ็ง มันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงว่ะ...ไอ้เวรเอ๋ย ! ” หยุดสักนิด เพื่อพิ่มความเข้มเสียงอีกสักหน่อย แล้วพูดต่อ

“พวกข้ารักและศรัทธาในประชาธิปไตย แต่เอ็งกับพวก มันใฝ่ใจ ‘เผด็จการ’!”

แค่นี้เท่านั้น ไอ้เรื่องการที่จะมาเรียกร้องให้ ‘สมานฉันท์’ กัน....บอกได้เลยว่า

“ไม่มีทาง!!”

........................

ท้ายบท

ผมได้อ่านข้อเขียน เกี่ยวกับความแตกแยก ในหมู่อาจารย์ในรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่ได้แบ่งกันเป็น ๒ พวกแล้ว มีการออกเอกสาร และเขียนบทความไล่ถล่มกันในเวปไซด์ รู้สึกสนุกสนานมาก เพราะเขาแยกกันเป็นสองฝักสองฝ่าย อย่างชัดเจน คือ

พวกรักและศรัทธา ในระบอบประชาธิปไตยฝ่ายหนึ่ง กับพวกใฝ่ใจเผด็จการอีกหนึ่งฝ่าย จนนิสิตชักจะงงๆ ไม่รู้ว่าอาจารย์ฝ่ายไหน ที่เป็นฝ่ายถูกต้องชอบธรรมกันแน่

น่าสนใจมาก
เห็นทีจะต้องพูดถึงความตำบอน ที่เกิดขึ้นในสถาบันระดับนี้ แต่นี่ไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัยเดียว ที่สถาบันพระปกเกล้า นีด้าฯ ก็คล้ายๆกัน

พวกอาจารย์ที่เอาหอยกบาล ไปซบไข่เผด็จการ...ก็มีให้เห็น ไม่ได้แตกต่างกันเลย!

คงจะต้องเขียนวิพากษ์วิจารณ์กันให้หนักหน่วง แบบเอาหวายแช่เยี่ยว หวดลงหลังกันบ้าง ที่จะทำเพราะไม่ได้คิดว่า จะไปไม่ช่วยอะไรพวกที่เรียนปริญญาโท ที่นีด้า หรือพวกไปชุบตัวที่สถาบันพระปกเกล้า เพื่อเพิ่มสง่าราศีทางการเมือง...เพราะคนพวกนี้เขาโตๆแล้ว

คงจะคิดกันได้ลึกซึ้ง
ว่าจะเลือกอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย หรือจะนิยมการแก้ปัญหาชาติบ้านเมือง ด้วยการให้ทหารเอาปืนมาไล่จี้ แล้วทำรัฐประหาร

แต่ให้สงสารพวกลูกหลาน นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตรงนั้นสำคัญกว่ากันแยะเลย!!
กำลังโหลดความคิดเห็น