หลังคำพิพากษายุบพรรคไทยรักไทยในปลายเดือนพฤษภาคม 2550 และการระดมทุนเข้าสู่พรรคประชาธิปัตย์ในเดือนกรกฎาคมโดยได้ยอดเงินบริจาคประมาณ 400 ล้านบาท ดูเหมือนว่าอนาคตทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์หลังเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 จะมีแนวโน้มที่สดใส แม้ว่านักวิเคราะห์ทางการเมืองจำนวนมากจะเห็นพ้องต้องกันว่า รัฐบาลหลังเลือกตั้งจะเป็นรัฐบาลผสมแต่พรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสมากที่สุดที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยพรรคพลังประชาชนที่ถือว่าเป็นตัวแทน (Nominee) ของพรรคไทยรักไทยจะต้องเป็นพรรคฝ่ายค้าน แม้ว่าพรรคพลังประชาชนจะเป็นพรรคที่ได้ที่นั่ง ส.ส. ในระบบเขตเลือกตั้งมากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ ก็ตาม
อนาคตที่สดใสของพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงการเลือกตั้งปลายปี เกิดขึ้นจากเงื่อนไขดังต่อไปนี้
ประการแรก การหมดคู่แข่งทางการเมืองที่สำคัญอย่างพรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกยุบพรรคและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่บ่งชี้เหตุที่ต้องยุบพรรคไทยรักไทย ทำให้คะแนนนิยมของชนชั้นกลางต่อพรรคไทยรักไทยหรืออาจจะรวมทั้งพรรคพลังประชาชนลดลง
ประการที่สอง การสนับสนุนจากกลุ่มทุนต่างๆ เมื่อตลาดการเมืองหลงเหลือพรรคประชาธิปัตย์เพียงพรรคเดียวที่มีความพร้อมมากที่สุด ทุนสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจและบุคคลต่างๆ จึงหลั่งไหลเข้าสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ดังจะเห็นได้จากยอดเงินบริจาคของพรรคประชาธิปัตย์หลังการยุบพรรคไทยรักไทย (มิถุนายน 2550-กันยายน 2550 ประมาณ 597 ล้านบาท โดยยอดเงินบริจาคนี้ได้นับรวมกับยอดเงินที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับจากการจัดงานระดมทุนในเดือนกรกฎาคมประมาณ 427 ล้านบาท) เป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 99 ของยอดเงินบริจาคตั้งแต่เดือนมกราคมของปี 2550 ถึงเดือนกันยายนปีเดียวกัน (ยอดเงินบริจาคตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2550 – กันยายน 2550 ประมาณ 603 ล้านบาท ทั้งนี้ยอดเงินบริจาคนี้ได้นับรวมกับยอดเงินที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับจากการจัดงานระดมทุนในเดือนกรกฎาคมประมาณ 427 ล้านบาทด้วย)
ประการที่สาม ผู้คุมกฎกติกาการเลือกตั้ง อาจจะเทใจให้กับพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ
ประการที่สี่ การสนับสนุนของชนชั้นกลางต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เนื่องจากการไม่มีคู่แข่งทางการเมืองเชิงบุคคลที่โดดเด่นพอจะเปรียบเทียบกับนายอภิสิทธิ์ได้ นอกจากนี้การที่บุคคลอย่าง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในความสำเร็จด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดที่แล้วถูกคำพิพากษาของตุลาการรัฐธรรมนูญให้ยุติบทบาททางการเมืองอย่างน้อย 5 ปี ส่งผลให้นายอภิสิทธิ์โดดเด่นที่สุดท่ามกลางหัวหน้าพรรคการเมืองทั้งหมดในความคิดของชนชั้นกลาง ผนวกกับประวัติการศึกษาของนายอภิสิทธิ์ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นเลิศด้วยผลการศึกษาชั้นดีเยี่ยม การตอบคำถามต่อสื่อมวลชนและประชาชน การปราศรัยทั้งในรัฐสภาและนอกรัฐสภาอย่างเฉลียวฉลาดและการยึดมั่นในหลักการดังที่เคยแสดงในสมัยที่ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยในขณะนั้นนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะวิจารณ์ นายชวน หลีกภัยซึ่งเป็นทั้งผู้บังคับบัญชา (นายกรัฐมนตรี) และหัวหน้าพรรคการเมืองที่ตนสังกัด ทำให้คุณสมบัติเหล่านี้ดูจะชดเชยการขาดทักษะในการบริหารของนายอภิสิทธิ์และอายุที่ยังน้อยในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรีได้ในระดับหนึ่ง
ที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งคืออารมณ์ของชนชั้นกลางในปัจจุบันที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งอย่างเร็วที่สุดและให้ประเทศชาติกลับสู่ภาวะปกติทางการเมืองเสียทีเพื่อที่เศรษฐกิจจะได้เดินหน้าต่อไปได้หลังจากที่ชะงักมาเกือบสองปี
จากประวัติการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย เสียงชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ทรงพลังและมีความหมายอย่างยิ่ง ตัวอย่างล่าสุดคือการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลพรรคไทยรักไทย แม้ว่ารัฐบาลพรรคไทยรักไทยจะได้รับการสนับสนุนในกรุงเทพมหานครในจำนวนไล่เลี่ยกับผู้ที่ไม่สนับสนุน (จากผลการเลือกตั้ง เมษายน 2549 จำนวนคะแนนเสียงในกรุงเทพฯ ที่เลือกพรรคไทยรักไทยในบัญชีรายชื่อมีจำนวนไล่เลี่ยกับผู้ที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนน) แม้ว่าจำนวนผู้สนับสนุนและไม่สนับสนุนพรรคไทยรักไทยในกรุงเทพฯจะไม่แตกต่างกัน แต่การไม่สนับสนุนพรรคไทยรักไทยของชนชั้นกลางด้วยจำนวนดังกล่าวมีส่วนสำคัญทำให้รัฐประหาร 19 กันยายน เป็นไปอย่างราบรื่น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า พรรคประชาธิปัตย์จะได้ชนะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ในความเป็นจริง อนาคตหลังเลือกตั้งอาจจะไม่สดใสอย่างที่คาด เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ต่อไปนี้
แรงกดดันในภาคการเมือง ที่มาจากการต่อรองตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีจากภายในพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาล การตรวจสอบจากพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคพลังประชาชนที่มีผู้สนับสนุนจำนวนมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือรวมทั้งแรงกดดันจากระบบราชการโดยมีกองทัพเป็นแกนหลักสำคัญ แรงกดดันในภาคการเมืองกระทำได้โดยง่าย และมีประสิทธิผลเพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ออกแบบให้รัฐบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนมีความอ่อนแอง่ายต่อการตรวจสอบและง่ายต่อการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ผนวกกับการที่วุฒิสภามีสมาชิกส่วนหนึ่งมาจากการสรรหาและบางส่วนคาดว่าจะมาจากระบบราชการ ทำให้การตรวจสอบและกดดันรัฐบาลผสมเป็นไปได้โดยสะดวก ประการนี้แตกต่างจากประสบการณ์รัฐบาลผสมก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 เพราะวุฒิสมาชิกมาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลและจะมีพฤติกรรมและการลงมติที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับรัฐบาล
แรงกดดันจากกลุ่มชนชั้นกลาง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครฯ แม้ว่าช่วงเลือกตั้งในปลายปีที่จะถึง กลุ่มชนชั้นกลางจะสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ให้ชนะเลือกตั้งในกรุงเทพฯ และสนับสนุนให้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสมรวมทั้งสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ให้เป็นนายกรัฐมนตรีแต่มองไปในอนาคตข้างหน้า บนความคาดหวังที่สูงยิ่งของชนชั้นกลางในเมือง พรรคประชาธิปัตย์และอภิสิทธิ์ จะมีช่วงเวลาหวานชื่นของการเป็นรัฐบาลที่น้อยอย่างยิ่ง
ประสบการณ์ของชนชั้นกลางไทย ต่อการบริหารของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต คือเป็นพรรคที่บริหารประเทศโดยอาศัยกลไกราชการเป็นหลัก ไม่ใช่จากนโยบายพรรค มีความล่าช้าในการตัดสินใจ รวมทั้งการไม่มีวิสัยทัศน์ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะนำพาประเทศไทยไปในทิศทางใด
แต่นโยบายเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ที่ประกาศในเร็วๆนี้ (18 ตุลาคม 2550) ต่อนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ โดยยืนยันอย่างชัดเจนว่าพร้อมจะนำมาปฏิบัติทันทีเมื่อเป็นรัฐบาล ได้แก่ การยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองนำเข้าระยะสั้นร้อยละ 30 ของธนาคารแห่งประเทศไทย, การระงับกระบวนการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว, การไม่เห็นด้วยกับนำมาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) เป็นมาตรการแรกสุดในการแก้ไขปัญหายาราคาแพง รวมทั้งนโยบายการสร้างรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายร่วมกันของทุกพรรคการเมือง
แต่ในความเป็นจริง ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี และถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ยอมยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองนำเข้าระยะสั้นร้อยละ 30 นายอภิสิทธิ์จะมีความกล้าหาญในฐานะผู้นำประเทศโดยปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่
นอกจากนี้ความล้มเหลวของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีตคือการถูกประทับตราว่าเป็นรัฐบาลที่ปฏิบัติตามความต้องการของต่างชาติหรือผลประโยชน์ต่างชาติโดยในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ (2540-2543) พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลที่ปฏิบัติตามแรงกดดันของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และนักลงทุนต่างชาติในการเสนอกฎหมายเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 11 ฉบับ จนได้รับการกล่าวหาว่าเป็น “กฎหมายขายชาติ” นั่นเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลให้พรรคไทยรักไทยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนในประเทศและชนชั้นกลางให้ชนะการเลือกตั้งในต้นปี 2544 และนายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ อดีตรัฐมนตรีคลังในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ต้องอำลาจากเวทีการเมืองไทยไป
นโยบายเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ อาทิ การยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองนำเข้าระยะสั้นร้อยละ 30, การชะลอกระบวนการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว, การไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหายาราคาแพงโดยใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) ล้วนสุ่มเสี่ยงที่กลุ่มประชาชนบางกลุ่มในประเทศจะต่อต้านนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) และนักการเมือง รวมทั้งผู้นำความคิดสังคมไทยกลุ่มที่เน้นผลประโยชน์ชนชั้นล่าง เพราะในมุมมองของบุคคลกลุ่มนั้นจะมองนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่เอื้อผลประโยชน์แก่ต่างชาติและลดทอนผลประโยชน์ของชนชั้นล่างในประเทศ จริงอยู่แม้ว่านโยบายที่ประกาศในปัจจุบันของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นนโยบายที่เอื้อต่อผลประโยชน์ ชนชั้นกลางโดยการเน้นการสร้างความมั่นใจแก่นักธุรกิจต่างประเทศและกระตุ้นความคึกคักในตลาดหลักทรัพย์ แต่เมื่อคำนึงว่ารัฐบาลในสมัยหน้าเป็นรัฐบาลผสม ความเข้มแข็งในการปฏิบัติตามนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ย่อมลดลง กล่าวอีกนัยหนึ่งมีโอกาสมากที่นโยบายดังกล่าวจะไม่สามารถนำไปเป็นนโยบายรัฐบาลและปฏิบัติได้จริง ซึ่งนั่นอาจจะทำให้ภาพพจน์ของพรรคประชาธิปัตย์กลับมาเป็นพรรคการเมืองที่บริหารประเทศโดยอาศัยกลไกราชการ ไม่มีนโยบายพรรค ถึงมีก็ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง ตลอดจนมีความล่าช้าในการตัดสินใจ
ในขณะที่แนวโน้มของปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ในปี 2551 ทั้งปัจจัยจากต่างประเทศและในประเทศล้วนมีทิศทางที่เป็นอุปสรรคในการบริหารประเทศให้สอดคล้องกับความคาดหวังของชนชั้นกลาง โดยปัจจัยแวดล้อมจากต่างประเทศ อาทิ สภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงอันเนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของผู้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (Subprime) และคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวตาม ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศโดยเฉพาะจากพรรคพลังประชาชน ความพยายามของนักการเมืองในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน รวมทั้งความอ่อนแอของรัฐบาลผสม ซึ่งส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากกลไกของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ออกแบบให้เป็นเช่นนั้น
ถ้าเป็นเช่นนั้น ในอนาคตชนชั้นกลางคงอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบรูปแบบการบริหารประเทศของพรรคประชาธิปัตย์และนายกฯ ที่ชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกับพรรคไทยรักไทยและอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ถึงตอนนั้นความคาดหวังของชนชั้นกลางคงจะลดลงพร้อมๆ กับการลดลงของการให้การสนับสนุนทางการเมืองแก่พรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
อนาคตที่สดใสของพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงการเลือกตั้งปลายปี เกิดขึ้นจากเงื่อนไขดังต่อไปนี้
ประการแรก การหมดคู่แข่งทางการเมืองที่สำคัญอย่างพรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกยุบพรรคและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่บ่งชี้เหตุที่ต้องยุบพรรคไทยรักไทย ทำให้คะแนนนิยมของชนชั้นกลางต่อพรรคไทยรักไทยหรืออาจจะรวมทั้งพรรคพลังประชาชนลดลง
ประการที่สอง การสนับสนุนจากกลุ่มทุนต่างๆ เมื่อตลาดการเมืองหลงเหลือพรรคประชาธิปัตย์เพียงพรรคเดียวที่มีความพร้อมมากที่สุด ทุนสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจและบุคคลต่างๆ จึงหลั่งไหลเข้าสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ดังจะเห็นได้จากยอดเงินบริจาคของพรรคประชาธิปัตย์หลังการยุบพรรคไทยรักไทย (มิถุนายน 2550-กันยายน 2550 ประมาณ 597 ล้านบาท โดยยอดเงินบริจาคนี้ได้นับรวมกับยอดเงินที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับจากการจัดงานระดมทุนในเดือนกรกฎาคมประมาณ 427 ล้านบาท) เป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 99 ของยอดเงินบริจาคตั้งแต่เดือนมกราคมของปี 2550 ถึงเดือนกันยายนปีเดียวกัน (ยอดเงินบริจาคตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2550 – กันยายน 2550 ประมาณ 603 ล้านบาท ทั้งนี้ยอดเงินบริจาคนี้ได้นับรวมกับยอดเงินที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับจากการจัดงานระดมทุนในเดือนกรกฎาคมประมาณ 427 ล้านบาทด้วย)
ประการที่สาม ผู้คุมกฎกติกาการเลือกตั้ง อาจจะเทใจให้กับพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ
ประการที่สี่ การสนับสนุนของชนชั้นกลางต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เนื่องจากการไม่มีคู่แข่งทางการเมืองเชิงบุคคลที่โดดเด่นพอจะเปรียบเทียบกับนายอภิสิทธิ์ได้ นอกจากนี้การที่บุคคลอย่าง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในความสำเร็จด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดที่แล้วถูกคำพิพากษาของตุลาการรัฐธรรมนูญให้ยุติบทบาททางการเมืองอย่างน้อย 5 ปี ส่งผลให้นายอภิสิทธิ์โดดเด่นที่สุดท่ามกลางหัวหน้าพรรคการเมืองทั้งหมดในความคิดของชนชั้นกลาง ผนวกกับประวัติการศึกษาของนายอภิสิทธิ์ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นเลิศด้วยผลการศึกษาชั้นดีเยี่ยม การตอบคำถามต่อสื่อมวลชนและประชาชน การปราศรัยทั้งในรัฐสภาและนอกรัฐสภาอย่างเฉลียวฉลาดและการยึดมั่นในหลักการดังที่เคยแสดงในสมัยที่ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยในขณะนั้นนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะวิจารณ์ นายชวน หลีกภัยซึ่งเป็นทั้งผู้บังคับบัญชา (นายกรัฐมนตรี) และหัวหน้าพรรคการเมืองที่ตนสังกัด ทำให้คุณสมบัติเหล่านี้ดูจะชดเชยการขาดทักษะในการบริหารของนายอภิสิทธิ์และอายุที่ยังน้อยในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรีได้ในระดับหนึ่ง
ที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งคืออารมณ์ของชนชั้นกลางในปัจจุบันที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งอย่างเร็วที่สุดและให้ประเทศชาติกลับสู่ภาวะปกติทางการเมืองเสียทีเพื่อที่เศรษฐกิจจะได้เดินหน้าต่อไปได้หลังจากที่ชะงักมาเกือบสองปี
จากประวัติการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย เสียงชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ทรงพลังและมีความหมายอย่างยิ่ง ตัวอย่างล่าสุดคือการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลพรรคไทยรักไทย แม้ว่ารัฐบาลพรรคไทยรักไทยจะได้รับการสนับสนุนในกรุงเทพมหานครในจำนวนไล่เลี่ยกับผู้ที่ไม่สนับสนุน (จากผลการเลือกตั้ง เมษายน 2549 จำนวนคะแนนเสียงในกรุงเทพฯ ที่เลือกพรรคไทยรักไทยในบัญชีรายชื่อมีจำนวนไล่เลี่ยกับผู้ที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนน) แม้ว่าจำนวนผู้สนับสนุนและไม่สนับสนุนพรรคไทยรักไทยในกรุงเทพฯจะไม่แตกต่างกัน แต่การไม่สนับสนุนพรรคไทยรักไทยของชนชั้นกลางด้วยจำนวนดังกล่าวมีส่วนสำคัญทำให้รัฐประหาร 19 กันยายน เป็นไปอย่างราบรื่น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า พรรคประชาธิปัตย์จะได้ชนะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ในความเป็นจริง อนาคตหลังเลือกตั้งอาจจะไม่สดใสอย่างที่คาด เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ต่อไปนี้
แรงกดดันในภาคการเมือง ที่มาจากการต่อรองตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีจากภายในพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาล การตรวจสอบจากพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคพลังประชาชนที่มีผู้สนับสนุนจำนวนมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือรวมทั้งแรงกดดันจากระบบราชการโดยมีกองทัพเป็นแกนหลักสำคัญ แรงกดดันในภาคการเมืองกระทำได้โดยง่าย และมีประสิทธิผลเพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ออกแบบให้รัฐบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนมีความอ่อนแอง่ายต่อการตรวจสอบและง่ายต่อการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ผนวกกับการที่วุฒิสภามีสมาชิกส่วนหนึ่งมาจากการสรรหาและบางส่วนคาดว่าจะมาจากระบบราชการ ทำให้การตรวจสอบและกดดันรัฐบาลผสมเป็นไปได้โดยสะดวก ประการนี้แตกต่างจากประสบการณ์รัฐบาลผสมก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 เพราะวุฒิสมาชิกมาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลและจะมีพฤติกรรมและการลงมติที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับรัฐบาล
แรงกดดันจากกลุ่มชนชั้นกลาง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครฯ แม้ว่าช่วงเลือกตั้งในปลายปีที่จะถึง กลุ่มชนชั้นกลางจะสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ให้ชนะเลือกตั้งในกรุงเทพฯ และสนับสนุนให้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสมรวมทั้งสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ให้เป็นนายกรัฐมนตรีแต่มองไปในอนาคตข้างหน้า บนความคาดหวังที่สูงยิ่งของชนชั้นกลางในเมือง พรรคประชาธิปัตย์และอภิสิทธิ์ จะมีช่วงเวลาหวานชื่นของการเป็นรัฐบาลที่น้อยอย่างยิ่ง
ประสบการณ์ของชนชั้นกลางไทย ต่อการบริหารของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต คือเป็นพรรคที่บริหารประเทศโดยอาศัยกลไกราชการเป็นหลัก ไม่ใช่จากนโยบายพรรค มีความล่าช้าในการตัดสินใจ รวมทั้งการไม่มีวิสัยทัศน์ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะนำพาประเทศไทยไปในทิศทางใด
แต่นโยบายเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ที่ประกาศในเร็วๆนี้ (18 ตุลาคม 2550) ต่อนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ โดยยืนยันอย่างชัดเจนว่าพร้อมจะนำมาปฏิบัติทันทีเมื่อเป็นรัฐบาล ได้แก่ การยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองนำเข้าระยะสั้นร้อยละ 30 ของธนาคารแห่งประเทศไทย, การระงับกระบวนการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว, การไม่เห็นด้วยกับนำมาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) เป็นมาตรการแรกสุดในการแก้ไขปัญหายาราคาแพง รวมทั้งนโยบายการสร้างรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายร่วมกันของทุกพรรคการเมือง
แต่ในความเป็นจริง ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี และถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ยอมยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองนำเข้าระยะสั้นร้อยละ 30 นายอภิสิทธิ์จะมีความกล้าหาญในฐานะผู้นำประเทศโดยปลดผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่
นอกจากนี้ความล้มเหลวของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีตคือการถูกประทับตราว่าเป็นรัฐบาลที่ปฏิบัติตามความต้องการของต่างชาติหรือผลประโยชน์ต่างชาติโดยในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ (2540-2543) พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลที่ปฏิบัติตามแรงกดดันของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และนักลงทุนต่างชาติในการเสนอกฎหมายเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 11 ฉบับ จนได้รับการกล่าวหาว่าเป็น “กฎหมายขายชาติ” นั่นเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลให้พรรคไทยรักไทยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนในประเทศและชนชั้นกลางให้ชนะการเลือกตั้งในต้นปี 2544 และนายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ อดีตรัฐมนตรีคลังในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ต้องอำลาจากเวทีการเมืองไทยไป
นโยบายเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ อาทิ การยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองนำเข้าระยะสั้นร้อยละ 30, การชะลอกระบวนการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว, การไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหายาราคาแพงโดยใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) ล้วนสุ่มเสี่ยงที่กลุ่มประชาชนบางกลุ่มในประเทศจะต่อต้านนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) และนักการเมือง รวมทั้งผู้นำความคิดสังคมไทยกลุ่มที่เน้นผลประโยชน์ชนชั้นล่าง เพราะในมุมมองของบุคคลกลุ่มนั้นจะมองนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่เอื้อผลประโยชน์แก่ต่างชาติและลดทอนผลประโยชน์ของชนชั้นล่างในประเทศ จริงอยู่แม้ว่านโยบายที่ประกาศในปัจจุบันของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นนโยบายที่เอื้อต่อผลประโยชน์ ชนชั้นกลางโดยการเน้นการสร้างความมั่นใจแก่นักธุรกิจต่างประเทศและกระตุ้นความคึกคักในตลาดหลักทรัพย์ แต่เมื่อคำนึงว่ารัฐบาลในสมัยหน้าเป็นรัฐบาลผสม ความเข้มแข็งในการปฏิบัติตามนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ย่อมลดลง กล่าวอีกนัยหนึ่งมีโอกาสมากที่นโยบายดังกล่าวจะไม่สามารถนำไปเป็นนโยบายรัฐบาลและปฏิบัติได้จริง ซึ่งนั่นอาจจะทำให้ภาพพจน์ของพรรคประชาธิปัตย์กลับมาเป็นพรรคการเมืองที่บริหารประเทศโดยอาศัยกลไกราชการ ไม่มีนโยบายพรรค ถึงมีก็ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง ตลอดจนมีความล่าช้าในการตัดสินใจ
ในขณะที่แนวโน้มของปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ในปี 2551 ทั้งปัจจัยจากต่างประเทศและในประเทศล้วนมีทิศทางที่เป็นอุปสรรคในการบริหารประเทศให้สอดคล้องกับความคาดหวังของชนชั้นกลาง โดยปัจจัยแวดล้อมจากต่างประเทศ อาทิ สภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงอันเนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของผู้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (Subprime) และคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวตาม ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศโดยเฉพาะจากพรรคพลังประชาชน ความพยายามของนักการเมืองในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คน รวมทั้งความอ่อนแอของรัฐบาลผสม ซึ่งส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากกลไกของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ออกแบบให้เป็นเช่นนั้น
ถ้าเป็นเช่นนั้น ในอนาคตชนชั้นกลางคงอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบรูปแบบการบริหารประเทศของพรรคประชาธิปัตย์และนายกฯ ที่ชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกับพรรคไทยรักไทยและอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ถึงตอนนั้นความคาดหวังของชนชั้นกลางคงจะลดลงพร้อมๆ กับการลดลงของการให้การสนับสนุนทางการเมืองแก่พรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ