xs
xsm
sm
md
lg

ข้อสังเกตเพื่อการบริหารความเสี่ยงทางการเงินในทศวรรษหน้าต่อธนาคารแห่งประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: สุรศักดิ์ ธรรมโม

สัปดาห์ที่ผ่านมา (3-4 ต.ค. 2550) มีงานสัมมนาประจำปีของธนาคารแห่งประเทศไทย ...

หัวข้อในปีนี้คือ “การบริหารความเสี่ยงทางการเงินในทศวรรษหน้า” หัวข้อนี้ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นจำนวนมาก ดังที่เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กล่าวว่า ยอดผู้เข้าร่วมสัมมนาสูงที่สุดตั้งแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดสัมมนามา

ช่วงสำคัญช่วงหนึ่งของงานสัมมนาคือการเสวนาของวิทยากรผู้มีชื่อเสียงและมีประสบการณ์ยาวนานอันประกอบด้วย ดร. พิสิฐ ลี้อาธรรม, ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล, ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ และดร.อัจนา ไวความดี

จากประเด็นการเสวนาและบทความที่นำเสนอในงานสัมมนา มีประเด็นที่เกี่ยวข้องและน่าสนใจพอที่จะขยายความเพิ่มเติมเพื่อประกอบการบริหารความเสี่ยงทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยในการเผชิญกับภาวะอำนาจที่ลดลงในการบริหารจัดการนโยบายการเงิน ดังจะอภิปรายต่อไปนี้

1) ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่ธนาคารกลางไม่สามารถบริหารจัดการได้และส่งผลให้อำนาจในการบริหารนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยลดลง ความเสี่ยงดังกล่าวประกอบด้วย

- ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงโดยสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดหลักสำหรับการส่งออกของไทย
- ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้ว่าในแง่ที่ดีที่สุดคืออัตราการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวในอัตราที่น้อยกว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ตาม
- ความเสี่ยงที่ปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (Subprime) จะขยายขอบเขตเป็นวิกฤติสภาพคล่องของโลกและลุกลามเป็นวิกฤติการเงินโลก
- ความเสี่ยงของความไม่สมดุลในระบบการเงินโลก (Global Imbalance) อันเกิดจากการที่ธนาคารกลางชาติต่างๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางประเทศแถบเอเชียซึ่งมีพฤติกรรมอุดหนุนการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดแก่สหรัฐฯ ด้วยการลงทุนในตราสารหนี้และเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวไม่สามารถที่จะกระทำต่อไปเรื่อยๆ จนไม่มีที่สิ้นสุดได้

ความเสี่ยงภายนอกดังกล่าวเป็นปัจจัยที่เกิดในต่างประเทศ พ้นไปจากอำนาจการกำหนดนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีเครื่องมือเชิงนโยบายที่จะบริหารจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้โดยตรง นอกจากตั้งรับด้วยการบรรเทาปัญหาด้วยเครื่องมือเชิงนโยบายการเงินซึ่งได้แก่ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนในตลาดพันธบัตรระยะ 1 วัน) ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวธนาคารแห่งประเทศไทยมีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพของระดับราคาในประเทศเป็นหลัก ดังจะชี้ให้เห็นในข้อถัดไป

นอกจากนี้ ปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์และพัฒนาการทางเครื่องมือทางการเงินสมัยใหม่ อาทิ ตราสารอนุพันธ์ส่งผลให้เอกชนในตลาดการเงินโลกสามารถสร้างสภาพคล่องทางการเงินจำนวนมาก ประมาณ 8 เท่าของ GDP โลก ซึ่งสภาพคล่องดังกล่าวพ้นไปจากอำนาจการบริหารนโยบายของธนาคารกลางชาติต่างๆ ซึ่งสะท้อนว่าอำนาจในการบริหารนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยและอาจจะรวมถึงอำนาจของธนาคารกลางชาติต่างๆ กำลังจะลดลง

2) จุดยืนที่ไม่ชัดเจนของธนาคารแห่งประเทศไทยว่าจะยังคงยึดมั่นนโยบายเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) เป็นเป้าหมายแรกสุดหรือไม่

ทั้งนี้ ดร.อัจนา ไวความดี ผู้แทนของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ระบุในเวทีเสวนาถึง เป้าหมายเสถียรภาพทางการเงิน ควบคู่ไปกับเป้าหมายเสถียรภาพราคาหรือที่รู้จักกันว่า Inflation Targeting อันเป็นเป้าหมายของการดำเนินนโยบายการเงินโดยมีเครื่องมือสำคัญคืออัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย การระบุถึงเป้าหมายเสถียรภาพทางการเงินควบคู่ไปกับเสถียรภาพทางราคา สร้างความสับสนระดับหนึ่งเพราะความเข้าใจทั่วไปในการดำเนินนโยบายการเงินอย่างมีประสิทธิผลนั้นจำนวนเครื่องมือเชิงนโยบายการเงินต้องเท่ากับวัตถุประสงค์ อาทิ เครื่องมืออัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการบรรลุวัตถุประสงค์ในการรักษาเสถียรภาพของระดับราคาในประเทศเพียงประการเดียว

การนำเครื่องมืออัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายไปเป็นเครื่องมือในการบรรลุวัตถุประสงค์ทั้งการรักษาเสถียรภาพทางการเงินควบคู่ไปกับเสถียรภาพทางราคานั้นสร้างความสงสัยว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะใช้หลักเกณฑ์อะไรในการพิจารณาเป้าหมายของวัตถุประสงค์ทั้ง 2 ประการควบคู่ไปพร้อมๆ กัน และจะใช้เครื่องมืออะไรที่นอกเหนือไปจากอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบาย และ อะไรคือนิยามของเสถียรภาพทางการเงินและเป้าหมายในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหมายถึง ในขณะที่เป้าหมายของการรักษาเสถียรภาพทางราคา คือการควบคุมอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ระดับราคาสินค้าทั่วไปที่หักราคาในหมวดอาหารสดและพลังงานออก) ให้อยู่ในระดับร้อยละ 0-3.5 ประการสำคัญ ความเป็นไปได้ในการที่จะบรรลุเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายเสถียรภาพทางการเงินพร้อมๆ กับเสถียรภาพทางราคาในประเทศด้วยเครื่องมืออัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายหรือไม่

ถ้าเป้าหมายของเสถียรภาพทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย คือการลดความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายเพื่อรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน แต่ทว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ซึ่งกันสำรองเงินทุนไหลเข้าประเทศร้อยละ 30 และถ้าเงินทุนดังกล่าวไหลออกจากประเทศไทยก่อน 1 ปี จะถูกหักเงินประมาณร้อยละ 10 มาตรการนี้ได้ส่งผลข้างเคียงไปยังตลาดการเงินประเภทต่างๆ อย่างมากมาย นอกเหนือจากตลาดทุน ได้แก่ตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งตอบรับในเชิงลบต่อมาตรการดังกล่าวอย่างรุนแรงจนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องประกาศยกเลิกมาตรการดังกล่าวในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ในอีก 1 วันถัดจากวันบังคับใช้นโยบาย และมาตรการดังกล่าวไม่สามารถที่จะหยุดยั้งการแข็งค่าของค่าเงินบาทดังที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งใจไว้ โดยครึ่งแรกของปี 2550 (H1 2550) ค่าเงินบาทแข็งขึ้นประมาณร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯเฉลี่ยของปีที่ผ่านมา

ผลข้างเคียงของมาตรการดังกล่าวส่งผลให้พัฒนาการของตลาดตราสารหนี้ของไทยได้รับความกระทบกระเทือนระดับหนึ่ง นอกเหนือจากภาคธุรกิจจริงที่ประสบปัญหาในช่วงต้นปีแรกของปี 2550 ในการระดมทุนจากต่างประเทศ ก่อนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกมาตรการทางเลือกในการประกันความเสี่ยง (Fully Hedge) ควบคู่กับมาตรการกันสำรองเงินทุนไหลเข้า

กล่าวโดยสรุป ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังจะเผชิญปัญหาขีดจำกัดในการบริหารนโยบายการเงินในทศวรรษหน้า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศ ที่เหนือการควบคุมและส่งผลกระทบผ่านปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ซึ่งสินค้า บริการ แรงงาน เงินทุน ข้อมูล ข่าวสาร หรืออาจจะรวมทั้งเชื้อโรค ไหลเวียนไปทั่วโลกด้วยอัตราที่สูงยิ่งกว่าในอดีต นอกจากนี้ มาตรการดั้งเดิมในการรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทยโดยการซื้อขายเงินตราระหว่างประเทศกำลังเผชิญข้อจำกัด ในภาวะเงินดอลลาร์สหรัฐฯกำลังมีทิศทางอ่อนค่า การซื้อดอลลาร์สหรัฐฯเข้าทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศเพื่อรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนจะส่งผลกระทบโดยตรงในด้านสินทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อตีมูลค่าเป็นเงินบาทซึ่งจะประสบกับภาวะสินทรัพย์เสื่อมค่าลงและอาจจะเป็นขาดทุนได้ในที่สุด การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่สามารถจัดตั้งกองทุนบริหารเงินทุนสำรองเหมือนชาติเอเชีย เช่น สิงคโปร์ และจีน ส่งผลให้ ทางเลือกของธนาคารแห่งประเทศไทยในการบริหารจัดการเงินทุนสำรองระหว่างประเทศถูกจำกัด การเพิ่มเป้าหมายเสถียรภาพทางการเงินในภาวะที่อำนาจในการบริหารนโยบายทางการเงินกำลังลดลง

นอกจากนี้ บทเรียนจากวิกฤติการเงิน 2540 และผลสะเทือนจากมาตรการกันสำรองเงินทุนนำเข้าในปลายปีที่ผ่านมาสร้างบทเรียนให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยในด้านการมีมาตรการที่เหนือความคาดหมายของตลาด

ในแง่นี้ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้ออาจจะกล่าวได้ถูกที่ว่า ปัจจุบันตลาดต่างหากที่เป็นผู้กำหนดวินัยให้กับธนาคารกลาง ไม่ใช่ธนาคารกลางเป็นคนกำหนดวินัยให้กับตลาดดังเช่นในอดีต
กำลังโหลดความคิดเห็น