xs
xsm
sm
md
lg

ตอนที่ 305 ‘บาดทะยักหัวใจ’...บทรำพึงจากมหาอุปรากร ‘Madama Butterfly’(“พึงตายไว้เกียรติตน อย่ามีชนม์เมื่อเกียรติมลาย!”)

เผยแพร่:   โดย: วาทตะวัน สุพรรณเภษัช


เช้าวันนี้...จิบกาแฟขมแล้ว ดูข่าวนักร้องโอเปร่าผู้ยิ่งใหญ่ของโลก ลูเซียโน พาวารอตติ (Luciano Pavarotti) เสียชีวิตลง ด้วยความรู้สึกสองอย่างปนกัน คือ ทั้งเสียใจและเสียดาย ที่นักร้องขวัญใจของโลก รวมทั้งผมด้วย ต้องมาพบกับวาระสุดท้ายของชีวิต แต่ปลื้มใจแทนครอบครัวของท่าน ที่ผู้คนแห่กันมางานศพอย่างล้นหลาม และยังมีแฟนๆ ที่ดูการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ อยู่ด้านนอกสถานที่ประกอบศาสน์พิธี อีกกว่า ๕๐,๐๐๐ คน

นี่ยังไม่นับรวมผู้คนอีกหลายร้อยล้านคน ทั้งที่เป็นผู้ชื่นชอบในเสียงร้องอันวิเศษ น่าอัศจรรย์ของผู้ล่วงลับ และชาวโลกที่ไม่เคยรู้จักท่านมาก่อน แต่ต้องทึ่งที่ได้เห็นพิธีศพอันยิ่งใหญ่ ของอัครศิลปินแห่งโลกท่านนี้

เมื่อพูดถึงเรื่องท่านพาวารอตติ ราชาโอเปร่าแล้ว ถ้าจะไม่พูดถึงมหาอุปรากรเรื่อง ‘Madama Butterfly’ ที่เพิ่งลงโรงไปเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ดูเหมือนจะไม่ครบเครื่อง เพราะตัวเองได้เขียนเชิญชวน ให้แฟนๆคอลัมน์ไปชมกัน อย่างครอบครัวของท่านอาจารย์อรุณ แสนโกศิก ปรมาจารย์รักบี้ฟุตบอลของนักเรียนวชิราวุธฯซึ่งล่วงลับไปแล้ว แต่ภริยาท่านเป็นแฟน “กาแฟขม...ขนมหวาน” อย่างเหนียวแน่น เมื่อได้อ่านคอลัมน์ที่เขียนถึง ก็ยกขบวนไปชมกันทั้งครอบครัว ทั้งลูกชาย ลูกสาวและคุณหมอลูกเขย

เลยต้องขอเล่า ให้ท่านผู้อ่านฟังว่า

นี่เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่ผมได้เห็นความพยายามอย่างยิ่งยวด ของคุณสมเถา สุจริตกุล โดยความสนับสนุนอย่างแข็งแกร่ง คือคุณถ่ายเถา สุจริตกุล ผู้เป็นมารดา ที่จะหยิบยื่นศิลปการแสดงอีกแขนงหนึ่ง ที่ชาวโลกเขาชื่นชมกันว่าเป็นศิลปะชั้นสูง ให้กับผู้คนในบ้านเราได้ชมกัน ซึ่งต้องลงทุนลงแรงและกำลังทรัพย์ ภายใต้องค์กรชื่อ “มูลนิธิมหาอุปราการ” ที่ทั้งสองท่านเป็นหัวหอกการรุก เพื่อนำการแสดงแบบโอเปร่า มาสู่ความนิยมในบ้านเรา และเป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่ง ที่คนไทยจะได้เสพกันด้วยความอิ่มเอมเปรมใจ

ทำไมคนไทยที่ไปชมโอเปร่าเรื่องนี้แล้ว ต่างก็มีความชื่นชมกันทั่วถ้วน และพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า

ดีใจที่ได้มาดู!?

ผมอยากเรียนว่า ในภูมิภาคเอเชียนั้น คนไทยเป็นชาติที่เป็นอารยะ มีศิลปการแสดง ที่เป็นแบบแผนมั่นคงมายาวนาน ทั้งในราชสำนัก เมืองหลวง และในดินแดนห่างไกลปืนเที่ยง จนเรียกได้ว่าเป็นแม่บท และแม่แบบทางวัฒนธรรม ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน รอบพระราชอาณาเขตมาเนิ่นนานแล้ว

แม้แต่ประเทศคู่ศึกอย่างพม่า ที่รบกันมาหลายร้อยปี ยังมีคำพูดที่ว่า

“โขนเป็นของโยเดีย ลายกระหนก เป็นของโยเดีย”

คำว่า ‘โยเดีย’ ภาษาหม่องแปลว่า “ไทย”

พม่าบอกว่า “โขน ละคร เป็นของคนไทย ลายกระหนก เป็นของไทย”

เรียกได้ว่า เมืองไทยเรานั้นเป็นต้นแบบของศิลปะหลายสิ่งหลายอย่าง ไม่ว่ามวยไทย อาหารไทย นาฏศิลป์ไทย หรือที่คนต่างด้าวท้าวต่างแดนรู้จัก Muay Thai, Thai Food, Thai Classical Dance ซึ่งขจรขจายไปทั่วทุกมุมโลก ฝรั่งมังค่ามุ่งหน้าเข้ามาเรียนมวยไทยในประเทศเรา บ้างก็เข้ามาเรียนการทำอาหารไทย โดยเฉพาะที่โรงแรมใหญ่อย่างโอเรียลเต็ล เป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก เรียนจบกลับไปเปิดค่ายมวยไทย ร้านอาหารไทยที่บ้านเขา อีกทั้งตามภัตตาคารไทยในต่างแดน มีศิลปะไทยแสดงให้เห็นกันเป็นประจำ

นี่เป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจ ที่บ้านเมืองของเราเป็นแหล่งอารยะธรรม แต่ถึงกระนั้นก็ยังอุตส่าห์มีคนไทยขายชาติ ที่ไม่เชื่อว่าเมืองพ่อเมืองแม่ตนนั้น เป็นชาติต้นแบบอารยะธรรม และงานศิลปะในภูมิภาคนี้...มันเป็นไปได้อย่างไรกัน!?

ความมีศิลปะเป็นของคนไทยเรานั้น มีอยู่ในดีเอ็นเอของคนบ้านเรา โดยไม่ต้องเจาะเลือดดูด้วยซ้ำไป นอกจากนั้น หากคนไทยได้ดูศิลปะและการแสดงของชาติอื่น ก็สามารถทำตามหรือลอกเลียน อย่างชาติเจ้าของหรือชาติต้นแบบได้ โดยไม่ยากเย็นอะไร

ขอให้เป็นของดีของงามเพียงพักเดียวเท่านั้น ก็สามารถเข้าถึงจิตใจคนไทยไม่ยากเย็น ยิ่งกว่านั้น เมื่อศิลปะของชาติใดก็ตาม หากได้ตกมาถึงประเทศไทย และมาอยู่ในมือของคนไทยแล้ว ก็สามารถดัดแปลงหรือปรับปรุงให้ดีขึ้น เพราะคนบ้านเรานั้นมีความละมุนละไม อันเป็นคุณสมบัติแสนประเสริฐ ของผู้คนในสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง เมื่อได้สัมผัสงานศิลปะใดแล้ว ก็สามารถต่อยอดต่อไปได้ ด้วยความละเอียดลออ ผลงานที่ออกมาก็จะดูโดดเด่นกว่าฝีมือชาติเจ้าของเสียอีก

เรียกว่าทำให้ดีขึ้น และงามยิ่งกว่าของดั้งเดิม อย่างที่เขาเรียกกันว่า

“ละมุนพร้อม ละม่อมพรัก”

อย่างนั้นนั่นเลย ทีเดียวเชียว!

‘มาดามบัตเตอร์ฟลาย’ นั้น นอกจากที่เคยเล่นหน้าพระที่นั่ง ในเวอร์ชั่นไทยคือ “สาวเครือฟ้า” ในสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ดังที่ผมเล่าเอาไว้ใน กาแฟขม...ขนมหวาน ตอนที่ ๒๙๙ ‘Madama Butterfly’,‘คุณนายผีเสื้อ’ หรือสาวเครือฟ้า’...เสน่ห์นี้ไม่มีวันจาง!?....อยากจะเรียนเพิ่มเติมว่า

ในเมืองไทยนั้น ได้มีการจัดแสดง ‘มาดามบัตเตอร์ฟลาย’ ในรูปแบบละคร เป็นการแสดงต่อหน้าพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบัน และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เป็นการแสดงในภาคภาษาไทยจริงๆ กล่าวคือ

ท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ‘มาดามบัตเตอร์ฟลาย’ มาเป็นภาคภาษาไทย ลักษณะการแปลเป็นแบบคำต่อคำ แล้วจัดการแสดงละครเรื่องนี้ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ผู้ที่แสดงเป็น ‘โจโจ๊ะซัง’ หรือ ‘มาดามบัตเตอร์ฟลาย’ นางเอกนั้น ก็หาใช่ใครที่ไหน คือ คุณถ่ายเถา สุจริตกุล นั่นเอง ดังปรากฏหลักฐาน ตามปกสูจิบัตรที่ท่านเห็นนี่เอง

จึงไม่แปลกใจเลย ที่คุณถ่ายเถาและบุตรชายผู้อัจฉริยะ ได้นำมหาอุปรากรเรื่องนี้ มาสู่สายตาของผู้คนชาวไทยในประเทศของเรา ซึ่งเป็นการแสดงโดยนักแสดงที่มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักไปทั้งโลก ร่วมด้วยนักแสดงบางส่วนที่เป็นคนไทย และวงดนตรีบางกอกซิมโฟนี ที่บรรเลงโดยคนไทยทั้งวง

โดยมีคุณสมเถา สุจริตกุล เป็นวาทยกรเอง!

ผมไปดูการแสดง ‘มาดามบัตเตอร์ฟลาย’ รอบแรก คือค่ำวันที่ วันพุธที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๐ ซึ่งผู้คนก็มากันคับคั่ง ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ที่คุ้นหน้าคุ้นตากันในสังคมกรุงเทพทั้งสิ้น มีทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ อดีตผู้ว่าธนาคารชาติ ผู้บริหารบริษัทและธนาคารที่เกษียณแล้ว และสุภาพบุรุษ-สตรี ที่รู้จักกันดีในวงสังคม ฯลฯ

น่าสังเกตว่า ผู้ชมจำนวนมากทีเดียวที่เป็นผู้สูงอายุ เลยวัยเกษียณแล้ว เพราะเป็นผู้คนรุ่นใกล้เคียงกับผู้เขียน เห็นหน้าค่าตากันมายาวนาน ต่างก็เคยมีชีวิตในยามบ้านดีเมืองดี คือยุคหลังสงคราม ที่การแสดงละครยังเฟื่องฟู โรงละครอย่างเฉลิมไทย ศรีอยุธยา เฉลิมนคร ยังครองใจผู้คนอยู่

ดังนั้น เมื่อมีของดีๆ ถึงกรุงเทพ โดยไม่ต้องถ่อไปดูถึงเมืองนอกเมืองนา คนรุ่นเก่าก็พากันแห่ไปชมกัน แต่ในแง่หนึ่งนั้น ก็อย่างที่ผมบอก ว่า

คนไทยนั้นรู้จักเรื่องศิลปะ มีเรื่องนี้อยู่ในหัวใจ หากมีการแสดงดีๆ มีหรือที่คนไทยจะถอย ถ้ารู้ข่าวและพอที่จะไปดูกันได้ ต่างก็พากันไปชมกัน เพื่อเรียกคืนความหลังเก่าๆ และเป็นกำลังใจให้กับผู้จัด ที่ท่านสู้อุตส่าห์นำของดีๆ อย่างมหาอุปรากรระดับโลกเรื่องนี้ หอบข้ามน้ำข้ามทะเลมาให้พวกเราได้ชมกัน โดยไม่เสียเวลาที่จะถ่อไปดูกันถึงเมืองนอกเมืองนา

จึงหวังใจว่า หากคุณแม่และคุณลูกคู่นี้ คือคุณถ่ายเถาและสมเถา ซึ่งได้จุดประกายการแสดงมหาอุปรากรในเมืองไทยแล้ว หากจะจัดการแสดงที่ดีและมีคุณค่าอย่างนี้อีก คนไทยเราจะพร้อมใจกันไปดู

เพื่อให้ทั้ง ‘สองเถา’ มีกำลังใจ นำสิ่งดีๆมาให้เราชมกันต่อไปอีกนานๆ นั่นเอง!

เมื่อพูดถึงเรื่องการแสดงแล้ว โดยส่วนตัวในฐานะนักดนตรีเก่า ผมคุ้นเคยกับเพลงในมหาอุปรากรเรื่องนี้มานานแล้ว เมื่อได้ยินเสียงของคุณแนนซี่ หย่วน ซึ่งแอบเป็นแฟนเธอมาตั้งแต่เรื่องแม่นากพระโขนง มาร้องเพลงที่ตัวคนเขียนชื่นชอบ ย่อมจะมีความซาบซึ้งและเป็นปลื้มมาก

เสียงของเธอหาที่ตำหนิ “บ่มิได้” เลยจริงๆ เต็มไปด้วยพลังสูงเด่น และการแสดงท่าทีของแนนซี่ หย่วน นั้น ก็สมกับที่สวมบทบาทของสาวชาวแดนปลาดิบ เพราะการเยื้องย่างของเธอทำเลียนแบบนาฏศิลป์ ‘โนะ’ (Noh) ดึกดำบรรพ์ของญี่ปุ่น ได้อย่างแนบเนียน

ท่วงท่าการขยับเท้า เคลื่อนลงบันใดของเธอ ซึ่งมีเพียง ๒ ขั้นในฉาก แล้วสมมติว่าเดินมาในสวน ชมดอกไม้ ก็ทำให้เรารู้สึกเหมือนราวโจจ๊ะซังนางเอกนั้น ได้ก้าวย่างลงบันใดบ้าน มายุรยาตรชมดอกไม้ดอกไร่ในสวน ราวกับยกสวนมาตั้ง

สมจริงสมจัง อย่างนั้นเลยทีเดียว!

ผมเคยเรียนหนังสือที่ญี่ปุ่น จึงพอรู้จักศิลปะแบบโนะนี้อยู่บ้าง เพราะขอบซอกแซกไปดู หากในเรื่องบอกว่า ตัวละครได้เดินทางมา ๕๐๐ ไมล์ แค่ตัวผู้แสดงย่างเท้าไปเพียง ๕ ก้าว ก็สามารถทำให้ผู้ชมในโรง มีความรู้สึกเสมือนว่า

ผู้แสดงคนนั้น ได้เดินทางรอนแรมแสนไกล ในระยะครึ่งพันไมล์

ขนาดนั้นเลยจริงๆ!!

ผู้แสดงนำฝ่ายชาย คือ Israel Lozano ที่เล่นเป็นกัปปิตัน ‘พิงเคอร์ตัน’ นั้น ร้องเสียงเทนเนอร์ได้แบบระเบิดระบัง เสียงของเขามีพลังดังก้องกังวาน ไพเราะเพราะพริ้งจับใจคงจะก้าวหน้าในอาชีพนี้ต่อไปอีกยาวไกล เพราะยังหนุ่มแน่นอยู่มาก เห็นบอกว่าอายุ ๓๐ ปี ต้นๆเท่านั้น ร้องได้ขนาดนี้ก็เหลือกินแล้ว

น่าแปลกที่เป็นคนอเมริกัน นานๆจึงจะมีโผล่มาร้องโอเปร่า จนเป็นดาวเด่นสักคน สำหรับการเล่นบทนี้ คุณถ่ายเถาท่านเล่าให้ฟังอย่างขำๆ ว่า

พระเอกคนนี้ เล่นได้ถึงบทถึงบาท คือเป็นผู้ชายที่เลวได้ไร้ที่ติจริงๆ คือเลวแบบสนิทแน่นิ่ง จนคุณมีสุภาพสตรีไม่น้อยกว่า ๕ ราย ถึงกับบอกกับคุณสมเถาว่า “เกลียดมันเข้าไส้!” ถึงขนาดไม่ยอมตบมือให้เลยทีเดียว

เรียกว่าเล่นได้ สมบทสมบาทมาก

นี่ถ้าเล่นออกโทรทัศน์ ไปตลาดแม่ค้าไม่ยอมขายของให้ทีเดียว หรือไปสั่งอาหาร คนขายนอกจากจะไม่ขายให้ เผลอๆจะเอาตะหลิวเขวี้ยงหน้าเข้าให้

ก็อยาก ใจร้าย กับผู้หญิงนักนี่จ๊ะ!!

นอกจากผู้แสดงนำสองคนนี่แล้ว ตัวประกอบที่สำคัญฝ่ายหญิงและฝ่ายชายนั้น ทั้งร้องและเล่นเนียนไปหมด โดยเฉพาะ Yun Deng, ซึ่งเป็น mezzo-soprano ผู้สวมบทเป็น ‘ซูซูกิ’ สาวใช้ เล่นได้สมกับเป็นมือเก่า การร้องและการแสดงออกถึงอาการสงสาร ‘มาดามบัตเตอร์ฟลาย’ ตอนสามีของเจ้านายควงเมียใหม่มาบ้าน เธอทำได้สมบูรณ์แบบเป็นที่สุด

สำหรับตัวประกอบสำคัญอีกหนึ่งคน คือ Colin Morris ที่แสดงเป็น ‘ชาร์เพลส์’ ซึ่งเป็นกงสุลอเมริกัน เพื่อนของ ‘พิงเคอร์ตัน’ ทั้งเล่นทั้งร้องได้เก่งกาจ เรียกเสียงหัวเราะจากคนดูได้เป็นระยะ ตัวจริงยังหนุ่มอยู่ แต่เล่นเป็นคนมีอายุได้อย่างแนบเนียนจริงๆ โดยเฉพาะการเดินแบบคนสูงอายุ ทำได้เหมือนจนขำเลยทีเดียว

นอกจากนั้น ยังมีนักแสดงไทยคือ พิชญา เขมะสิงคิ เล่นเป็นพระญี่ปุ่น ที่ออกอาการดุด่า ‘มาดามบัตเตอร์ฟลาย’ ซึ่งเปลี่ยนศาสนาตามสามี ก็นับว่าเป็นความก้าวหน้าของคนไทย ที่มีนักแสดง ที่สามารถเข้าร่วมในมหาอุปรากร และแสดงความขับร้องได้อย่างน่าฟังทีเดียว

เรื่องนักบวชนี้ หากท่านผู้อ่านที่เคยดูหนังเรื่อง “สาวเครือฟ้า” คงจะจำได้ว่า เสด็จในกรมพระนราฯ ก็กำหนดในเรื่องที่พระองค์ถอดความมา เป็นสงฆ์ไทยชื่อ “ตุ๊สีป้าย” ซึ่งดุด่าสาวเครือฟ้า ที่ไปแต่งงานกับร้อยตรีพร้อม หนุ่มจากเมืองใต้ (กรุงเทพ) ซึ่งคนเหนือบอกว่า

“ไว้ใจไม่ได้” นั่นเอง

จุดเด่นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การแสดงครั้งนี้ เมื่อผู้แสดงร้องเพลงเป็นภาษาอิตาเลียน มีจอมอนิเตอร์แสดงคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ควบให้เห็นชัดที่ข้างเวทีทั้งสองด้าน จึงไม่มีปัญหาในด้านความเข้าใจ กับผู้ชมทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ที่ฟังภาษาอิตาเลียนไม่ออก นับว่าเป็นความก้าวหน้าอีกแบบหนึ่งทีเดียว

มีผู้เคยวิพากษ์วิจารณ์ ให้ผมได้ยินตั้งแต่ยังเป็นเด็กว่า ที่คนไทยติดอกติดใจบทละครนี้ ที่ถ่ายทอดเป็นภาษาไทยก็ คือ

‘การฆ่าตัวตาย’ ในวรรณคดีไทยนั้น ไม่เคยมีมาก่อนเลย อย่างมากที่สุดที่คนไทยเคยรู้จักก็เห็นแต่ในเรื่องรามเกียรติ์เท่านั้น ก็แค่นางสีดากำลังจะผูกคอตาย แต่ชะตาชีวิตของนางก็ไม่ถึงฆาต เพราะเพียงแต่

“ชายหนึ่งผูกศรอรไท แล้วทอดองค์ลงไปจะให้ตาย”

แค่นั้นผู้ช่วยก็มาทันที ด้วย “บัดนั้น วายุบุตรแก้ได้ดั่งใจหมาย” นั่นคือ หนุมานชาญสมร ได้ทะยานเข้าช่วยนางเอกสีดา เอาไว้ได้โดยฉับพลันทันที แต่เมื่อเสด็จในกรมพระนราฯ ทรงดัดแปลงเรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลาย ออกมาแบบไทยๆเป็น ‘สาวเครือฟ้า’ ท่านก็ให้นางเอกเชือดคอตายตามบทเดิม

เลยเป็นของแปลก คนไทยจึงตื่นเต้นกันนัก!

ทั้งนี้ ก็เพราะบ้านเราในสมัยก่อนนั้น ไม่มีเรื่องผู้คนที่อกหักจากความรัก แล้วฆ่าตัวตายให้หวาดเสียวกัน ด้วยเหตุที่สังคมไทยเราในตอนนั้น ชีวิตผู้คนยังเรียบง่าย ไม่ได้ตึงเครียดอย่างบ้านอื่นเขา การฆ่าตัวตายจึงไม่ได้เป็นแบบธรรมเนียมของเรา และอิทธิพลของศาสนาพุทธที่แผ่คลุมจิตใจคนไทยนั้น ก็ไม่ได้สนับสนุนในเรื่องของความรักรุนแรง และเห็นว่า

การฆ่าตัวตาย เป็น ‘บาป’ เสียด้วยซ้ำไป

การการะทำอัตวินิบาตกรรมของ ‘มาดามบัตเตอร์ฟลาย’ นั้น เป็นเรื่องน่าเห็นใจอย่ายิ่ง เพราะเธอต้องคอยสามีมายาวนานถึง ๓ ปี แล้ว ครั้นกำลังจะได้เห็นผัวรักกลับมา การณ์กลับกลายเป็นอย่างอื่น

เพราะสามีดันพาเมียใหม่มาโชว์ตัว...ทำเหมือนจะเย้ยกันด้วยซ้ำไป!

ดู...ดู๋ ทำกันอย่างนั้นได้อย่างไร เป็นนางวันทองนางเอกไทย คงโดดถีบเมียใหม่ไปแล้ว เคยถามคนที่คุ้นเคยกันว่า ถ้าสามีของหล่อน กระทำอย่างนายเรือพิงเคอร์ตั้น โดยพาเมียใหม่มาถึงบ้านจะทำอย่างไร คำตอบที่ได้รับ ก็คือ

“ฆ่าแม่ง...ทั้งคู่เลยค่ะ!”

ไม่ได้พูดเปล่าๆ หากแต่กำหมัดแน่น แถมหายใจดังฟืดฟาด แล้วยังทำตาขวางด้วย ดูน่ากลัวจริงๆ แต่นั่นแหละ.

..มันจะได้สาสม กับความเก็บช้ำ!!

ไม่น่าเชื่อว่า เมียชาวอาทิตย์อุทัย อย่าง‘มาดามบัตเตอร์ฟลาย’ ทำใจได้อย่างไร ไม่ยักหยิบมีดมาฟันกบาลหัวผัวกับเมียใหม่ อย่างเมียไทยทำกัน นี่คงเป็นเพราะเธอคิดถึงอนาคตของลูก จึงยอมยกลูกให้สามี นำไปเลี้ยงดูที่สหรัฐอเมริกา เมืองของพ่อเด็กนั่นเอง ส่วนตัวเธอนั้น

อยู่ดูโลกต่อไป...ไม่ได้แล้ว!!!

การรอคอยที่ยาวนาน แต่พฤติกรรมของสามีกลับทำให้เธอปวดร้าว เหมือนสร้างแผลขนาดใหญ่ในหัวใจ แม้จะยกลูกให้สามีกับภริยาใหม่ไปแล้ว แต่ตัวมาดามจะอยู่ต่อไปอย่างไร เพราะบาดแผลนั้น มันไม่มีวันหาย หรือเรื้อรังจนกลายเป็น ‘แผลเป็น’ เสียเมื่อไหร่กัน

แผลนั้นจะติดเชื้อเน่าเฟะ ทิ้งร่องรอยเหวอะหวะในอก จนเกิดอาการกลัดหนอง และติดเชื้อ กลายเป็น

‘บาดทะยักหัวใจ’ ไปในที่สุด

ยังไงก็ต้องตาย เพราะพิษร้ายของความปวดร้าวร้ายกาจ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!

อย่ากระนั้นเลย เธอต้องขอลาโลกนี้ไป และฉากสุดท้ายก่อนที่ ‘มาดามบัตเตอร์ฟลาย’ จะตัดสินใจปลิดชีพตนนั้น เธออุ้มลูกรักแนบอก แล้วคร่ำครวญด้วยความรักอาลัยอย่างสุดซึ้ง พูดกับลูกว่า

แม่จะต้องตาย เพื่อลูก!

เธอหยิบดาบสั้นของบิดา ซึ่งเป็นซามูไร และได้ใช้ในการกระทำอัตวินิบาตกรรม ด้วยการคว้านท้องแบบ ‘ฮาราคีรี’ อย่างสมเกียรติในฐานะชายชาติซามูไร แต่การเป็นหญิงนั้น การทำฮาราคีรีเป็นการต้องห้าม ต้องกระทำด้วยวิธีอื่น

ดาบสั้นเล่มนี้ มีข้อความสลักเอาไว้ ว่า

“พึงตายไว้เกียรติตน อย่ามีชนม์เมื่อเกียรติมลาย”

จากนั้นนางเอกผู้แสดง คือแนนซี่ หย่วน ได้ชูดาบขึ้น แล้วปาดคอตัวเองอย่างรวดเร็ว แล้วพลิกหงายผลึ่งไปด้านหลัง แล้วแน่นิ่งไปได้อย่างแนบเนียน จนผู้ชมดูแทบจะไม่ทัน ก่อนที่เธอจะถอดเสื้อคลุมตัวสวยกองกับพื้น แล้วลุกขึ้นด้วยชุดรองในสีขาวบริสุทธิ์ แสดงลักษณะวิญญาณ ที่หลุดลอยออกจากร่างแล้ว พร้อมกับร้องเพลงคร่ำครวญอีกครั้ง

ถึงตอนนี้ ผมแอบมองไปรอบๆ เห็นผู้ชมที่เป็นสุภาพสตรี

ยกผ้าเช็ดหน้า ขึ้นซับน้ำตากันเพียบ!

การแสดงจบลง ด้วยเสียงปรบมือของผู้ชมทั้งโรง อย่างหนักแน่นและยาวนาน บอกได้ว่า

ทุกคนประทับใจและอิ่มเอมเปรมสุข กับการได้ไปชมมหาอุปรากร ‘Madama Butterfly’...ในคืนนั้น!!

..........................

กำลังโหลดความคิดเห็น